xs
xsm
sm
md
lg

จีนประกาศเขตฯ ป้องกันภัยทางอากาศ ญีปุ่น มะกันถาม แล้วยังไง

เผยแพร่:   โดย: เกรียงไกร

เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense   Identification Zone - ADIZ) ที่จีนประกาศ  อันมีพื้นที่ครอบคลุมน่านฟ้าเหนือหมู่เกาะพิพาทที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่าง  อ้างอธิปไตย โดยจีนเรียกว่า เตี้ยวอี๋ว์ ขณะที่ ญี่ปุ่นเรียกหมู่เกาะนั้นว่า  เซ็งกากุ และที่ผ่านมาทั้งสองชาติก็ส่งเครื่องบินรบและเรือยามฝั่งเข้าไป  ปฏิบัติการในบริเวณดังกล่าวจนเกิดการกระทบกระทั่งอยู่เนืองๆ (ภาพจากกระทรวงกลาโหมจีน)
เอเยนซี - แม้ว่าจีนจะไม่ได้ตั้งใจสร้างความกดดันใดๆ ให้กับคู่พิพาทฯ ทางทะเลของตนก็ตาม แต่การประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone - ADIZ) เหนือทะเลจีนตะวันออก ซึ่งครอบคลุมบริเวณหมู่เกาะเตี้ยวอิ๋ว์ หรือเซงกากุ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น ก็นับเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้ญี่ปุ่น รวมทั้งพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ออกมาโต้แย้งไม่ยอมรับและเผชิญหน้ากับจีนอีกรอบ

สื่อต่างประเทศรายงาน (26 พ.ย.) อ้างความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญฯ ว่า เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone - ADIZ) นี้เป็นการแสดงเขตอธิปไตย เพื่อป้องกันตนเองจากอากาศยานที่รุกล้ำฯ เข้ามาโดยแจ้งให้เปิดสัญญาณวิทยุให้เจ้าหน้าที่จีน สามารถสอบถามข้อมูลกำหนดการเดินทางและสัญชาติที่ชัดเจน ซึ่งหากฝ่าฝืนก็จะบังคับให้ลงจอด หรือขับไล่ออกไปด้วยเครื่องบินขับไล่ จนมาตรการสุดท้ายคือโจมตียิงให้ตก ซึ่งเขตแสดงตนฯ นี้ หลายๆ ประเทศต่างก็ประกาศใช้ในเขตแดนของตนมากกว่า 20 ประเทศ รวมทั้ง สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และโดยส่วนใหญ่ เขตแสดงตนเหล่านี้ ก็มักจะตกเป็นข้อถกเถียงหวาดระแวงของประเทศเพื่อนบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขตแสดงตนเหล่านี้ ครอบคลุมไปยังพื้นที่ซึ่งมีข้อพิพาททับซ้อนกันอยู่

จากข้อมูลนั้น ญี่ปุ่นเองก็มีเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (เขต ADIZ) ของประเทศเช่นกัน โดยเคยประกาศเขตฯ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1945 หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และกองทัพญี่ปุ่นได้ถูกจำกัด ลดบทบาทจากกองทัพมาเป็นเพียงแค่กองกำลังป้องกันตนเอง มีนโยบายการรักษาความมั่นคงของญี่ปุ่นอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ อันเป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา ในปีนั้นสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศเขต ADIZ ตลอดแนวชายฝั่งญี่ปุ่น และใช้มาจนถึงปี ค.ศ. 1969 จึงได้โอนการจัดการดังกล่าวให้ญี่ปุ่น จากนั้นมาญี่ปุ่น ก็ได้ขยายเขต ADIZ นี้ ไปทางตะวันตกถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 1972 อีกครั้งในปี 2010 ที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เกิดข้อพิพาทพื้นที่อธิปไตยบริเวณหมู่เกาะคูริลกับเพื่อนบ้านรัสเซีย โดยรัสเซีย ได้แสดงความไม่ยอมรับเส้นเขตแสดงตนฯ ที่ญี่ปุ่นประกาศมาตลอด

เขต ADIZ ที่จีนประกาศนี้ก็เข้าลักษณะเดียวกัน คือมีพื้นที่ครอบคลุมน่านฟ้าเหนือหมู่เกาะพิพาทที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างอ้างอธิปไตย โดยจีนเรียกว่า เตี้ยวอี๋ว์ ขณะที่ญี่ปุ่นเรียกหมู่เกาะนั้นว่า เซ็งกากุ และที่ผ่านมาทั้งสองชาติก็ส่งเครื่องบินรบและเรือยามฝั่งเข้าไปปฏิบัติการในบริเวณดังกล่าวจนเกิดการกระทบกระทั่งอยู่เนืองๆ

อากิฮิโร โอตะ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่น ยืนกรานว่าสิ่งที่จีนประกาศออกมานั้นไร้ผลในทางกฎหมาย และรัฐบาลญี่ปุ่น ยังได้เรียกเอกอัครราชทูตจีน เฉิง ยงหัว เข้าพบเมื่อวันที่ 25 พ.ย. เพื่อขอให้รัฐบาลจีนยกเลิกการประกาศเขต ADIZ ที่ญี่ปุ่นเห็นว่าละเมิดเสรีภาพด้านการบินเหนือน่านน้ำสากล ทว่าเอกอัครราชทูตจีน เฉิง ยงหัว ได้ตอบกลับว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ “ไร้เหตุผล”

ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ว่า ญี่ปุ่นไม่อาจยอมรับการกระทำล่าสุดของจีนได้ เพราะเป็นปฏิบัติการฝ่ายเดียวของความพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะอาณาเขตทะเลจีนตะวันออก ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี ก็ระบุว่า สหรัฐฯ รู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อการกระทำของจีนที่อาจเป็นชนวนไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจเอเชียที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์อันตรายเกินคาดหมาย

ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังร่วมย้ำว่า หมู่เกาะเซ็งกากุ (เตี้ยวอี๋ว์) นั้นได้รับความคุ้มกันภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่า สหรัฐฯ มีพันธกรณีที่จะต้องยื่นมือเข้าช่วยญี่ปุ่น หากว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกประเทศที่สามรุกราน

สำหรับความเห็นฝั่งของจีนนั้น จาง จุ้น ผู้เชี่ยวชาญการทหารฯ กล่าวว่าการประกาศเขต ADIZ เป็นเรื่องของอธิปไตยและความมั่นคง ซึ่งจีนทำอย่างตรงไปตรงมา สอดคล้องและตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ

พีแอลเอ เดลี่ สื่อของกองทัพจีน ระบุในบทความว่า บางประเทศคงคิดว่าปัญหาเศรษฐกิจจีนจะเป็นข้อต่อรองใหญ่ ที่ทำให้จีนยอมอ่อนข้อต่อชาติต่างๆ ซึ่งเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง แต่เมื่อถึงเรื่องที่เกี่ยวกับอธิปไตยและบูรณาการชาติแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่จีนไม่ยอมต่อรอง แลกเปลี่ยนกับใครทั้งสิ้น

หยิ่น โจว ผู้เชี่ยวชาญการทหารจาก คณะกรรมาธิการที่ปรึกษากองทัพเรือจีน กล่าวว่า ความมั่นคงอธิปไตย กับการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเดียวกัน เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta - YRD) ทางฝั่งทะเลจีนตะวันออกอันเป็นพื้นที่รอยต่อยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออก จัดเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของจีน กำลังเศรษฐกิจในอาณาบริเวณนี้มีสัดส่วนในจีดีพีของจีนสูงมาก ดังนั้นการรักษาความมั่นคงฯ ในพื้นที่นี้ จึงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจยิ่ง

ชาร์ล สแกนลอน บรรณาธิการข่าวภูมิภาคเอเชียตะวันออกของสำนักข่าวบีบีซี กล่าวว่า การประกาศเขตแสดงตนของจีนจะเป็นประเด็นให้เกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้น ในเขตพื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรล้ำค่ามหาศาลใต้ท้องทะเล และคงเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีทางยอมถอยไปอยู่จุดเดิมของตน

ผู้เชี่ยวชาญฯ ญี่ปุ่น นารุชิเกะ มิจิชิตะ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษาแห่งชาติญี่ปุ่น กล่าวกับรอยเตอร์สว่า เขต ADIZ นี้คือเขตสับสนอันตรายของเครื่องบินทั้งสองชาติ

อย่างไรก็ตาม บอนนี่ เกลเวอร์ จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ กล่าวกับลอสแอนเจลิสไทม์ แสดงความเห็นว่า การประกาศเขตแสดงตนทางอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มหาอำนาจสมัยใหม่ล้วนทำกัน และไม่คิดว่าจะเป็นการมุ่งร้ายต่อญี่ปุ่น ซึ่งจีนกับญูี่ปุ่นได้ผ่านความตึงเครียดบาดหมางหนักกันมาแล้ว ต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันมากกว่า แม้จะมีการกระทบกระทั่งกัน ก็เป็นมรสุมย่อยๆ และต่างก็คงทำได้เพียงยันกันอยู่ในสถานะอย่างนี้ไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานมากกว่าจะรบแตกหักกันไปในรุ่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น