เอเอฟพี – มูดี้ส์ บริษัทเครดิตเรตติ้งรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ระบุในวันพฤหัสบดี (16 ม.ค.) ว่า ความไม่สงบทางการเมืองซึ่งกำลังเกิดขึ้นในไทย อาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว แต่ระดับสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่ถึงกับจะทำให้ต้องมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง
สเตฟเฟน ไดค์ นักวิเคราะห์ความเสี่ยงระดับประเทศของมูดี้ส์ อธิบายกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การประท้วงต่อต้านรัฐบาลยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และยังไม่ได้ไปถึงจุดที่จะคุกคามฐานะทางการคลังของประเทศ
“ถ้าหากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองพัฒนาไปจนถึงระดับที่ปัจจัยพื้นฐานด้านความน่าเชื่อถือทั้งหลาย เกิดการอ่อนตัวลงอย่างรุนแรงแล้ว เราก็จะลงมือดำเนินการด้านปรับเรตติ้ง” เขาบอก และกล่าวต่อไปว่า “หรือถ้าหากเรามองเห็นการเบี่ยงเบนใดๆ จากการรักษาวินัยการคลัง ซึ่งจะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล และยอดหนี้สินภาคสาธารณะก็พุ่งลิ่วแล้ว สภาพเช่นนี้แหละที่จะจุดชนวนให้ลงมือปรับเรตติ้งลง”
อย่างไรก็ดี มูดี้ส์ ซึ่งจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ไทยอยู่ที่เกรด “Baa1” โดยทิศทางแนวโน้ม (outlook) อยู่ในขั้น “คงที่” (stable) ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการประท้วงที่จะมีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
ไดค์ ชี้ว่า ทั้งภาคการท่องเที่ยว, แผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานตามที่รัฐบาลวางแผนเอาไว้, และอัตราเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ล้วนแต่อาจได้รับความเสียหายได้ทั้งสิ้น
มูดี้ส์นั้นได้หั่นลดการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีของไทยในปี 2013 ลงมาอยู่ที่ราวๆ 3.0% จากที่เคยให้ไว้ในระดับ 3.7% สืบเนื่องจากผลกระทบของการประท้วงซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว
ไดค์ ระบุว่า ผลของการประท้วงยังน่าจะเป็นที่รู้สึกกันในช่วงครึ่งแรกของปี 2014 นี้ด้วย โดยที่เวลานี้มูดี้ส์พยากรณ์ว่าตลอดปีนี้ไทยจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับ 3-4% จากที่เคยให้ไว้ที่ 4.5%
การคาดการณ์เกี่ยวกับปีนี้ “ต้องขึ้นอยู่กับว่า การประท้วงครั้งนี้จะยืดเยื้อลากยาวไปถึงขนาดไหน และจะพัฒนาต่อไปอย่างไร แต่เท่าที่เป็นอยู่จนถึงเวลานี้ ผมคิดว่าเรายังคงได้เห็นการประท้วงแทบทั้งหมดจำกัดอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น” ไดค์อธิบาย
“เราไม่ได้เห็นว่าการประท้วงกำลังส่งผลกระทบกระเทือนอะไรต่อสนามบิน ... เราไม่ได้เห็นว่าการประท้วงกำลังรบกวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน” เขาระบุ
ไดค์ บอกว่า “ภาวะความไร้เสถียรภาพทางการเมืองนั้นไม่ใช่ของใหม่อะไรสำหรับประเทศไทย” และชี้ด้วยว่า แม้กระทั่งการปฏิวัติรัฐประหารในปี 2006 และความไม่สงบทางการเมืองในปี 2010 ก็ยังไม่ได้จุดชนวนให้มูดี้ส์เคลื่อนไหวปรับลดเรตติ้ง
ถึงแม้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ได้ปรับลดทิศทางแนวโน้มของไทยลงมาอยู่ที่ “ลบ” (negative) ในปี 2008 เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลได้เข้ายึดท่าอากาศยานนานาชาติในเมืองหลวงอยู่เป็นเวลาหลายวัน