xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ฟ้อง S&P กรณีแจกเรตติ้ง “ตราสารหนี้” จุดชนวนวิกฤตปี 2008

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - รัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจาก สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) และ แมคกรอว์-ฮิลล์ คอมพานีส์ อิงค์ บริษัทแม่ของสำนักเครดิตเรตติ้งรายยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งนี้ จากการจัดเรตติ้งพวกตราสารหนี้ซึ่งอิงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างผิดพลาดจนกลายเป็นหัวใจสำคัญของวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่าทั้งสองฝ่ายได้เจรจาต่อรองกันมาตลอดกระทั่งถึงสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเรียกร้องค่าประนอมยอมความอย่างต่ำ 1,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนทางด้านเอสแอนด์พีออกมาแถลงตอบโต้ในวันจันทร์ (4) ว่า การกล่าวหาของรัฐบาลไม่มีมูล เพราะตนเองกระทำไปด้วยความสุจริตตามข้อมูลที่มีอยู่ในเวลานั้น

ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ รัฐบาลได้ยื่นฟ้องเอสแอนด์พี กับแมคกรอว์-ฮิลล์ ไปแล้ว โดยในคำบรรยายฟ้องระบุว่า ขอเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งเพื่อเป็นการลงโทษ จากการที่สำนักเครดิตเรตติ้งแห่งนี้และบริษัทแม่ ได้รับค่าธรรมเนียม, ส่วนแบ่งตลาด, ผลกำไร และสายสัมพันธ์ จากพวกวาณิชธนกิจที่ออกตราสารหนี้ จนกระทั่งส่งอิทธิพลอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมต่อหลักเกณฑ์และโมเดลในการกำหนดเรตติ้งของเอสแอนด์พี

ปรากฏว่าหุ้นของแมคกรอว์-ฮิลล์ ร่วงลง 13.8% ในวันจันทร์ ภายหลังบริษัทแถลงว่ากำลังคาดหมายว่าจะถูกรัฐบาลฟ้อง นอกจากนั้นข่าวนี้ยังทำให้หุ้นของ มูดี้ส์ คอร์ป บริษัทแม่ของ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส สำนักเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดของเอสแอนด์พี หล่นฮวบ 10.7% เช่นกัน

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ทำไมพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบของทางการสหรัฐฯ จึงทำท่ามุ่งเล่นงานเอสแอนด์พีอยู่ในเวลานี้ แทนที่จะเป็น มูดี้ส์ หรือฟิตช์ เรตติ้งส์ ของบริษัทฟิมาแลค เอสเอ

ทั้งมูดี้ส์ และฟิตช์ ต่างไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของเอสแอนด์พี อย่างไรก็ดี ฟิตช์สำทับว่า เชื่อมั่นว่าตนเองจะไม่เป็นเป้าหมายการฟ้องร้องในกรณีเดียวกันนี้แต่อย่างใด

ในส่วนเอสแอนด์พีได้ระบุในการแถลงเมื่อวันจันทร์ว่า เป้าหมายการฟ้องร้องคดีแพ่งของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ คือ เรื่องการจัดอันดับพวกตราสารหนี้ซึ่งอิงอยู่กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เรียกว่า collateralized debt obligations (CDO) ในปี 2007

CDO เป็นตราสารหนี้ที่เกิดจากธุรกรรมการเงินอันซับซ้อน โดยแรกทีเดียวมีการรวมเอาสินเชื่อที่อยู่อาศัยนับพันๆ รายที่พวกแบงก์ปล่อยให้ผู้ซื้อบ้านทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นพวกวาณิชธนกิจก็ใช้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันพวกตราสารหนี้ CDO ซึ่งออกมาขายให้นักลงทุน โดยปรากฏว่าบริษัทเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างประเมินว่าแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯมีความมั่นคง และหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันจึงมีความมั่นคง มีการให้เรตติ้งอันดับสูงๆ แก่พวกตราสารหนี้ CDO เหล่านี้

เอสแอนด์พีแถลงว่าจะสู้คดีที่ถูกฟ้องนี้จนถึงที่สุด และระบุว่าการที่รัฐบาลกล่าวหาบริษัทจัดอันดับว่าได้แรงกระตุ้นจากปัจจัยธุรกิจ และปราศจากความสุจริตใจในการวิเคราะห์นั้น เป็นการกล่าวหาที่ไม่มีมูลและไม่มีความถูกต้องเหมาะสมทางกฎหมายโดยสิ้นเชิง

บริษัทเครดิตเรตติ้งแห่งนี้แจกแจงว่า CDO ทั้งหมดที่กระทรวงยุติธรรมพาดพิงถึงนั้น ก็ได้รับการจัดอันดับจากสำนักเรตติ้งอื่นๆ ในระดับเดียวกับของเอสแอนด์พีเช่นกัน

เอสแอนด์พีสำทับว่า ในปี 2007 และก่อนหน้านั้น บริษัทได้ลดอันดับหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกันไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง CDO ด้วย โดยกระทำก่อนบริษัทจัดอันดับรายอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ เอสแอนด์พีเปิดเผยว่า ได้ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC)ตรวจสอบกรณีการจัดอันดับตราสาร CDO มูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ที่มีชื่อว่า เดลฟินัส CDO 2007-1 ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ทำให้มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ปของญี่ปุ่น ต้องจ่ายค่าประนอมยอมความ 127 ล้านดอลลาร์มาแล้ว จากข้อกล่าวหาว่า บริษัทในเครือมิซูโฮในอเมริกา ได้ใช้สินทรัพย์สมมุตินับร้อยล้านดอลลาร์เพื่อให้ได้รับเรตติ้งปลอมสำหรับ CDO นี้

อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เดลฟินัสเป็นส่วนหนึ่งในคำฟ้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ต่อเอสแอนด์พีหรือไม่

เอสแอนด์พียังยืนยันว่า ไม่ได้มีเพียงตนเท่านั้นที่ล้มเหลวในการคาดการณ์ระดับความรุนแรงของวิกฤตตลาดที่อยู่อาศัยอเมริกา ซึ่งทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหลายหายวับหลายแสนล้านดอลลาร์ บีบให้วอชิงตันต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือแบงก์ใหญ่ๆ ที่ลงทุนในตราสารเหล่านี้

เอสแอนด์พีอ้างอิงคำให้การของอดีตประธานSECต่อรัฐสภาที่ระบุว่า SEC ตลอดจนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และหน่วยงานอีก 3 แห่งของรัฐบาล ไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะพังครืนเช่นนี้

ทางด้านโฆษกกระทรวงยุติธรรมปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สื่อก็รายงานคาดหมายว่าพวกมลรัฐต่างๆ จะร่วมสมทบฟ้องร้องด้วย ซึ่งถือเป็นการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากพวกบริษัทเครดิตเรตติ้งเป็นคดีแรกในสหรัฐฯ สืบเนื่องจากกรณีวิกฤตซับไพรม์

ที่ผ่านมา เอสแอนด์พี มูดี้ส์ และฟิตช์ ต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักลงทุน นักการเมือง และหน่วยงานกำกับตรวจสอบ จากการปล่อยปละไม่เข้าไปขุดคุ้ยปัญหาจาก CDO บางรายการ ซ้ำยังแจกเรตติ้ง AAA ให้แก่พวกสินเชื่อซับไพรม์ หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ โดยที่หลังจากตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯย่ำแย่ทรุดฮวบ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเหล่านี้ตลอดจนตราสารหนี้ซึ่งอิงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหลายก็พากันมีมูลค่าดิ่งเหวอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่วิกฤตในภาคการเงินทั่วโลก

ในอีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่ามีอัยการสหรัฐฯ หลายคนได้ซักถามอดีตนักวิเคราะห์ของเอสแอนด์พีว่า บริษัทละเลยมาตรฐานของตนเองเมื่อจัดอันดับหลักทรัพย์พวกนี้ สืบเนื่องจากได้รับค่าธรรมเนียมจากวาณิชธนกิจใช่หรือไม่

ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมและเอสแอนด์พีมีการเจรจาต่อรองกันมาตลอดจนกระทั่งสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่กระทรวงยุติธรรมระบุว่า จะเรียกค่ายอมความอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์
สหรัฐฯฟ้องS&Pกรณีแจกเรตติ้ง“ตราสารหนี้”
รัฐบาลสหรัฐฯยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจาก สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) และ แมคกรอว์-ฮิลล์ คอมพานีส์ อิงค์ บริษัทแม่ของสำนักเครดิตเรตติ้งรายยักษ์ใหญ่ของโลกแห่งนี้ จากการจัดเรตติ้งพวกตราสารหนี้ซึ่งอิงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯอย่างผิดพลาดจนกลายเป็นหัวใจสำคัญของวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่าทั้งสองฝ่ายได้เจรจาต่อรองกันมาตลอดกระทั่งถึงสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเรียกร้องค่าประนอมยอมความอย่างต่ำ 1,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนทางด้านเอสแอนด์พีออกมาแถลงตอบโต้ในวันจันทร์ (4) ว่า การกล่าวหาของรัฐบาลไม่มีมูล เพราะตนเองกระทำไปด้วยความสุจริตตามข้อมูลที่มีอยู่ในเวลานั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น