2013 นอกจากจะเป็นปีที่โลกต้องเผชิญกับเหตุวุ่นวายทางการเมืองในหลายประเทศ รวมไปถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงอย่างซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในฟิลิปปินส์, ไซโคลนไพลินในอินเดีย และเฮอริเคนฝาแฝด “มานูเอล-อิงหริด” ในเม็กซิโกแล้ว ยังเป็นอีกรอบปีหนึ่งที่โลกต้องสูญเสียบุคคลสำคัญและผู้มีชื่อเสียงทั้งในด้านบวกและลบไปหลายคน
ฮูโก ชาเบซ (1954-2013)
อดีตประธานาธิบดีหัวซ้ายแห่งเวเนซุเอลา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่มีสีสันที่สุดคนหนึ่งของภูมิภาคละตินอเมริกา ทั้งจากจุดยืนต่อต้านระบอบทุนนิยมและมักอยู่ตรงข้ามกับมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาอยู่เป็นประจำ รวมไปถึงวาทะและลีลาที่สามารถสะกดใจผู้ฟังได้อย่างอยู่หมัดยามที่เขาอยู่ต่อหน้าฝูงชน แม้จะถูกมองในแง่ลบจากสายตาของสื่อตะวันตก โดยเฉพาะสื่อสหรัฐฯ ที่ให้ฉายาเขาว่า “ผู้นำแห่งความขัดแย้ง” แต่ชาเบซกลับเป็นผู้นำที่ชาวเวเนซุเอลาส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถืออย่างสูง เห็นได้จากคะแนนนิยมที่พุ่งสูงลิ่วตลอดช่วงระยะเวลาที่เขาครองอำนาจตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1999 จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในวันที่ 5 มีนาคม ปี 2013 ยิ่งไปกว่านั้นชาเบซยังเป็นผู้นำเพียงไม่กี่คนในซีกโลกตะวันตก (Western Hemisphere) ที่สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ถึง 4 สมัย
การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของชาเบซ นำมาซึ่งกระแสข่าวลือว่ารัฐบาลสหรัฐฯ วางแผนแพร่เชื้อมะเร็งร้ายเข้าสู่ร่างกายของเขา เพื่อหวังกำจัดบุคคลที่เป็น “เสี้ยนหนาม” ที่สำคัญในการที่สหรัฐฯจะกอบโกยผลประโยชน์จากภูมิภาคละตินอเมริกาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาเบซ เองเคยกล่าวเตือนผู้นำชาติละตินอเมริกาอื่นๆ ในเรื่องนี้ และแม้แต่ ฟิเดล คาสโตร อดีตผู้นำคิวบา ก็ยืนยันว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปมี “เทคโนโลยีลับ” บางอย่างที่สามารถแพร่เชื้อโรคร้ายหลายชนิดให้แก่บุคคลเป้าหมาย โดยที่เหยื่อไม่ทันรู้ตัว
แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับการตายของ ชาเบซ แต่ก็มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ผู้นำประเทศในละตินอเมริกาหลายคนป่วยเป็นมะเร็งอย่างกะทันหันในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งตัว ชาเบซ, ประธานาธิบดีคริสตินา เคิร์ชเนอร์ แห่งอาร์เจนตินา, อดีตประธานาธิบดี เฟร์นันโด ลูโก แห่งปารากวัย, ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์แห่งบราซิล และอดีตผู้นำแดนแซมบ้าอย่าง ลุยช์อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวาซึ่งผู้นำที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนมีจุดยืนเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯทั้งสิ้น
เอียง สารี (1925-2013)
สมาชิกคนสำคัญขบวนการคอมมิวนิสต์เขมรแดง (Khmer Rouge) และเป็นหนึ่งในผู้นำไม่กี่คนของขบวนการนี้ที่ถูกนำตัวขึ้นศาลไต่สวนอาชญากรรมที่ได้กระทำไปในช่วงที่ระบอบเขมรแดงเรืองอำนาจในกัมพูชาช่วงปี 1975-1979 เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม ปี 2013 สิริอายุได้ 87 ปี
เอียง สารี ตกเป็นจำเลยและถูกพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษภายในศาลยุติธรรมแห่งกัมพูชา (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia - ECCC) ซึ่งเป็นศาลพิเศษที่สนับสนุนโดยองค์การสหประชาชาติเพื่อทำหน้าที่พิจารณาความผิดของพวกเขมรแดงโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจาก เอียง สารี แล้ว ยังมีผู้นำอาวุโสของเขมรแดงอีก 2 คนที่ตกเป็นจำเลยในคดีเดียวกัน
สาเหตุการตายของเขาไม่เป็นที่ชัดเจนแต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เอียง สารี มีอาการความดันโลหิตสูงและมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เขาได้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 4 มีนาคมก่อนจะลาโลกในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ต่อมา
การตายของเอียง สารี เกิดขึ้นก่อนที่ศาลจะทันมีคำพิพากษาลงโทษเขาซึ่งสำหรับชาวกัมพูชาโดยเฉพาะเหยื่อเขมรแดงตลอดจนญาติมิตรพี่น้อง ความตายของ เอียง สารี เหมือนเป็นใบอนุญาตให้เขารอดจากความรับผิดชอบในอาชญากรรมสารพัดอย่างที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำในยุคเขมรแดง
เอียง สารี เป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (Communist Party of Kampuchea -CPK) เช่นเดียวกับ โปลโปต (Pol Pot) ซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ของเขมรแดง
มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (1925-2013)
อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งสหราชอาณาจักรซึ่งคนทั่วโลกต่างให้สมญานามว่า “หญิงเหล็ก” (Iron Lady) เธอถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการเส้นโลหิตเลี้ยงสมองอุดตันเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 8 เมษายน ปี 2013 สิริรวมอายุได้ 87 ปี
แธตเชอร์คือนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษยุคใหม่ และเป็นสตรีคนแรกที่ก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของมหาอำนาจตะวันตก เธอชนะการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกันถึง 3 ครั้ง และครองอำนาจอยู่เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 11 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 1979 จนถึงเดือนมีนาคม ปี 1990
แธตเชอร์ นำสหราชอาณาจักรผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่กับสหภาพแรงงาน, การทำสงครามชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอาร์เจนตินา หรือแม้แต่การปฏิเสธที่จะนำอังกฤษเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปอย่างไม่ไยดี
นโยบายโดดเด่นซึ่งยังคงเป็นที่กล่าวขานถึงเมื่อเอ่ยถึงรัฐบาล แธตเชอร์ ได้แก่ การลดอัตราเงินเฟ้อโดยใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบการเงินนิยม (monetarism), การลิดรอนอำนาจสหภาพแรงงาน, การขายรัฐวิสาหกิจ และการเปิดเสรีตลาดหุ้น เป็นต้น
เนลสัน แมนเดลา (1918-2013)
วีรบุรุษต่อต้านลัทธิเหยียดผิว เนลสัน โรลีห์ลาห์ลา แมนเดลา เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1918 ที่หมู่บ้านอึมเวโซ เมืองอุมตาตู เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ระหว่างปี 1994-1999 และเป็นผู้นำแอฟริกาใต้คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งมาตามกระบวนการประชาธิปไตย
โลกเริ่มรู้จัก แมนเดลา ในฐานะนักเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายถือผิว เขาได้เป็นแกนนำพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกาใต้ต่อต้านรัฐบาลคนผิวขาวกลุ่มน้อย และถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปี 1990 และใช้นโยบายเชื่อมไมตรีกับกลุ่มก้อนต่างๆ จนนำมาสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกของประเทศในปี 1994
แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1993 ร่วมกับประธานาธิบดี เอฟ.ดับเบิลยู.เดอเคลิร์ก ผู้นำคนสุดท้ายของแอฟริกาใต้ในยุคแบ่งแยกผิว จากการที่ทั้งคู่มีส่วนผลักดันจนทำให้แอฟริกาใต้ก้าวข้ามยุคแห่งการปกครองโดยชนผิวขาวมาสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยพลเมืองทุกสีผิวได้มีสิทธิ์ออกเสียงอย่างเท่าเทียมกัน
หลังพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว แมนเดลา ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง และเป็นแบบอย่างสำหรับนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังๆ ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางสังคม
แมนเดลา ป่วยเป็นโรคปอดตั้งแต่ถูกขังอยู่ในเรือนจำบนเกาะร็อบเบน อาการของเขาทรุดหนักลงในช่วงปลายปี 2012 และต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ก่อนจะสิ้นลมอย่างสงบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2013 ที่บ้านพักในนครโยฮันเนสเบิร์ก สิริอายุได้95 ปี