xs
xsm
sm
md
lg

แอฟริกาใต้เกิดกระแส "แมนเดลาฟีเวอร์" สารพัดสินค้ารูปผู้นำผิวสีวางขายเกลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – “แมนเดลา” หนึ่งในชื่อที่ได้รับความเคารพนับถือมากที่สุดในโลก กำลังกลายเป็นแบรนด์ดังที่สามารถดูดเม็ดเงินได้เป็นกอบเป็นกำด้วยเช่นกัน ทำให้มีบางฝ่ายวิตกกังวลว่า ชื่อของเขาอาจถูกนำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ และถูกลดทอนคุณค่าลงด้วยน้ำมือของคนซึ่งที่จริงแล้วควรจะเป็นผู้ปกป้อง อย่างเช่นพวกลูกๆ หลานๆ ของเขา

ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ชายซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะที่เขาเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัวและเสียสละผู้นี้ ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการค้า

อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนท้ายๆในชีวิตแมนเดลา ได้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่คนใกล้ชิด และสมาชิกในครอบครัวของแมนเดลา ในเรื่องการนำชื่อของแมนเดลาไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ทุกอย่าง นับตั้งแต่ไวน์ ไปจนถึงงานศิลปะ จนบางครั้งดูเหมือนว่าสินค้าเหล่านั้นจะสามารถดึงความสนใจของผู้คนได้มากกว่าตัวชายผู้ยิ่งใหญ่คนนี้เองเสียอีก

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่า ในแง่การเงินแล้ว แบรนด์ “แมนเดลา” จะผุดเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดเสียยิ่งกว่าเดิม ในเวลาที่รัฐบุรุษผู้นี้เสียชีวิตไปแล้ว

ทางด้าน จาโก จองเกอร์ ซีอีโอของเว็บไซต์ประมูลออนไลน์ “bidorbuy” กล่าวกับเอเอฟพีว่า “ตอนนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ที่เมื่อกฎแห่งธรรมชาติซึ่งไม่มีใครหนีพ้น มาพรากชีวิตของประธานาธิบดีแอฟริกาใต้คนแรก ที่มาจากการเลือกตั้งไปจากพวกเราแล้ว ผู้คนก็อยากจะมีของชิ้นเล็กๆ ไว้ดูต่างหน้าวีรบุรุษผู้นี้”

เสื้อยืด ธง หมวก และเข็มติดเสื้อที่มีภาพเหมือน และชื่อของแมนเดลาถูกนำมาวางขายตามแผงลอย บนทางเท้าอย่างแพร่หลาย นับตั้งแต่แมนเดลา ผู้ที่ได้รับคำเรียกขานอย่างแสดงความรักใคร่ว่า “ตาตา” (พ่อ) และ “มาดิบา” (ชื่อเผ่าของเขา) ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ด้วยวัย 95 ปี

นอกจากนี้ ยอดขายหนังสือได้ทะยานสูงขึ้น และเว็บไซต์ประมูลออนไลน์ “bidorbuy” รายงานว่า ความต้องการในสินค้าที่เกี่ยวกับแมนเดลาเพิ่มสูงขึ้นอย่างชนิดเป็น “ปรากฏการณ์” โดยในช่วง 3 วันหลังจากที่เขาเสียชีวิตนั้น สามารถจำหน่ายสินค้าประเภทนี้ได้ถึงวันละ 378 ชิ้น เมื่อเทียบกับยอดขายสินค้าเฉลี่ย ตามปกติที่ขายได้วันละ 60 ชิ้น

** คำถามซึ่งยังไร้คำตอบที่ชัดเจน **

อย่างไรก็ดี คำถามที่ว่า ใครเป็นเจ้าของสิทธิในการอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้รูปหรือชื่อของแมนเดลานั้น ยังคงมีคำตอบที่คลุมเครือ

มูลนิธิเนลสัน แมนเดลา องค์การการกุศลที่รัฐบุรุษซึ่งได้รับการเทิดทูนผู้นี้ก่อตั้งขึ้น ได้นำเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนแล้วอย่างน้อย 18 ชิ้น “เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมาย ไว้ป้องกันไม่ให้มีการนำชื่อและรูปภาพของมาดิบา ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม” เวอร์เน แฮร์ริส ประธานศูนย์ “เซนเตอร์ออฟเมโมรี” ของมูลนิธิแห่งนี้ กล่าวกับเอเอฟพี

“เหตุผลหลักของการจดทะเบียนคือ ... เพื่อป้องกันการนำ (ชื่อแมนเดลา) ไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า”

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลของสำนักงานจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและบริษัทของแอฟริกาใต้ มีบริษัทที่มาจดทะเบียนเอาไว้ ซึ่งใช้ชื่อแมนเดลาทั้งหมด 130 แห่ง เป็นต้นว่า ลาเตลิเชียส แมนเดลา สแควร์ (ร้านกาแฟในนครโยฮันเนสเบิร์ก), แมนเดลา ออโต บอดี พาร์ทส์, แมนเดลาโคลตธิง และสหกรณ์สัตว์ปีกเมนเดลา จำกัด

นอกจากนั้นแล้ว ก็มีถนน อาคาร สะพาน สวนสาธารณะ โรงเรียน และห้างสรรพสินค้าอีกหลายสิบแห่งซึ่งใช้ชื่อแมนเดลา หรือแม้แต่เมืองแมนเดลาเบย์ ในมณฑลอีสเทิร์นเคป ก็ตั้งตามชื่ออันโด่งดังชื่อนี้

เจเรมี แซมป์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างตราผลิตภัณฑ์ตั้งข้อสังเกตว่า การปกป้องชื่อแมนเดลาไม่ให้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าอย่างเด็ดขาดนั้นเป็นไปไม่ได้ และการพยายามทำเช่นนั้นดูจะ “เริ่มต้นช้าเกินไปหน่อย”

แซมป์สันยังกล่าวด้วยว่า ถึงแม้จะมี “บางกิจการที่แมนเดลาจะเป็นคนสั่งให้ดำเนินการ และก่อตั้งขึ้นมา แต่ก็มีบางอย่างที่สมาชิกในครอบครัวของเขาเป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งทั้งตัวแมนเดลา และทนายความของเขาไม่สามารถควบคุมได้”

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายคือ ลูก หลาน และเหลนของแมนเดลาที่มีกว่า 30 คนจะมีสิทธิ ในการใช้ชื่อที่จดทะเบียนแล้วมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อ “แมนเดลา” ก็เป็นชื่อของพวกเขาเช่นกัน

ลูกสาวสองคนของบุคคลสำคัญผู้นี้ กำลังพยายามแย่งชิงอำนาจควบคุมบริษัทจัดการลงทุนสองแห่ง ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการขายผลงานศิลปะรูปลายมือแมนเดลา จากพวกคนใกล้ชิดของแมนเดลา มาเป็นของครอบครัวตัวเอง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผลงานศิลปะ ซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงปี 2004 ถึง 2005 เหล่านี้ถูกขายให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงในราคากว่า 1.7 ล้านดอลลาร์

แต่ในที่สุดแล้วลูกสาวทั้งสองคนของแมนเดลาก็ได้ละความพยายาม

ฝ่ายแมนดลา ได้เคลื่อนย้ายศพพ่อของตน และญาติอีก 2 คนไปไว้ที่เอ็มเวซโซ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่แมนเดลาเกิด และสถานที่ซึ่งแมนดลาเป็นหัวหน้าเผ่า โดยครอบครัวของเขาอ้างว่า ที่แมนดลาทำเช่นนั้นก็เพราะ ก่อนเสียชีวิตแมนเดลาเคยกล่าวไว้ว่าต้องการให้ร่างของเขาอยู่ท่ามกลางญาติๆ ดังนั้นการย้ายร่างของพ่อและญาติๆ ไปไว้ที่นั่น ก็จะทำให้ต้องฝังศพแมนเดลาไว้ในที่เดียวกัน และเมื่อเป็นเช่นนั้นเขาซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าในหมู่บ้าน ก็อาจได้รับกำไร หากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเยี่ยมหลุมศพของแมนเดลา

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งให้แมนดลานำร่างของพ่อ และญาติอีก 2 คนของตนกลับไปไว้ที่หมู่บ้านกูนู ซึ่งแมนเดลาเคยอาศัยอยู่ตอนเด็กๆ และเป็นที่ที่เขาแสดงความประสงค์ว่าต้องการให้ฝังร่างเขาไว้

ทั้งนี้ หมู่บ้านกูนู ซึ่งในที่สุดได้กลายเป็นสถานที่ฝังร่างของแมนเดลาเมื่อวันอาทิตย์ (15) คือ ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แมนเดลา

ก่อนหน้านี้ แฮร์ริสบอกว่าแมนเดลาไม่ต้องการให้ชื่อของเขาถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

“ในพินัยกรรมยังระบุด้วยว่า ผมไม่ต้องการให้ใบหน้าของตัวเองไปปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์ทางการค้า ผมไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับบุหรี่ แอลกอฮอล์ และอื่นๆ”

แม้กระนั้น ลูกสาว และหลานสาวของแมนเดลากลับเปิดตัวไวน์ราคาแพงหลายประเภทยี่ห้อ “House of Mandela” โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการรำลึกถึงอดีตผู้นำผิวสีผู้นี้

นอกจากนี้ หลานสาวอีก 2 คนของแมนเดลายังแสดงรายการเรียลลิตีโชว์ที่มีชื่อว่า “Being Mandela” ขณะที่คนอื่นๆ เปิดตัวแบรนด์เสื้อผ้าชื่อ “Long Walk to Freedom” ซึ่งเป็นชื่อหนังสืออัตชีวประวัติของบรรพบุรุษของเธอ

คนจำนวนมากยังกลัวอีกว่า การต่อสู้แย่งชิงชื่อ และทรัพย์สมบัติของแมนเดลา จะทวีความร้อนระอุมากยิ่งขึ้น หลังจากช่วงเวลาไว้ทุกข์ผ่านพ้นไป

“ผมคิดว่าครอบครัวของเขาทำลายชื่อเสียงของเขาไปมากพอแล้ว” แซมป์สันกล่าว

ขณะที่ “ชื่อเสียงส่งผลต่อแบรนด์ แบรนด์ก็ส่งผลต่อชื่อเสียงเหมือนกัน”

แมนดลา แมนเดลา หลานชายของ เนลสัน แมนเดลา

กำลังโหลดความคิดเห็น