xs
xsm
sm
md
lg

เนลสัน แมนเดลา (1918-2013)

เผยแพร่:   โดย: เอเชียไทมส์ออนไลน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Nelson Mandela - 1918-2013

By Asia Times Online
06/12/2013

การถึงแก่อสัญกรรมของ เนลสัน แมนเดลา ในวัย 95 ปี ภายหลังที่สุขภาพของเขาย่ำแย่อย่างยืดเยื้อและทรุดโทรมลงเรื่อยๆ นั้น เป็นเรื่องที่ได้รับการคาดหมายกันล่วงหน้ามานานแล้ว กระนั้นก็ตามที ข่าวนี้ยังคงทำให้อาณาบริเวณจำนวนมากของโลกนอกเหนือไปจากแอฟริกาใต้ บังเกิดความรู้สึกถึงความสูญเสียอย่างล้ำลึก ขณะที่พวกผู้นำทางการเมืองทั้งหลายต่างเปล่งเสียงขับขานคำยกย่องสรรเสริญอย่างเป็นทางการของพวกเขา ให้แก่บุรุษผู้ซึ่งมีอะไรมากมายเกินกว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงเดียวกันกับพวกเขาอยู่นั้น บางทีอาจจะเป็นประชาชนคนสามัญนั่นแหละที่จะรู้สึกเสียใจเศร้าโศกมากที่สุดสำหรับจากการไปของเขา และก็คงไม่มีแห่งหนไหนอีกแล้วที่จะรู้สึกอาลัยโหยหามากไปกว่าในประเทศบ้านเกิดอันเป็นที่รักยิ่งของเขาเอง

การถึงแก่อสัญกรรมของ เนลสัน แมนเดลา ในวัย 95 ปี ภายหลังที่สุขภาพของเขาย่ำแย่อย่างยืดเยื้อและทรุดโทรมลงเรื่อยๆ นั้น เป็นเรื่องที่ได้รับการคาดหมายกันล่วงหน้ามานานแล้ว กระนั้นก็ตามที ข่าวนี้ยังคงทำให้อาณาบริเวณจำนวนมากของโลกนอกเหนือไปจากแอฟริกาใต้ บังเกิดความรู้สึกถึงความสูญเสียอย่างล้ำลึก

ข้อเขียนยกย่องไว้อาลัยอดีตนักปฏิวัติและอดีตประธานาธิบดีผู้นี้ กำลังปรากฏอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ชั้นนำทั้งหลาย ตั้งแต่จีนไปจนถึงอินเดีย ไปจนถึงอเมริกาใต้ และทุกๆ ส่วนทั้งหมดเหล่านี้ก็กำลังขับขานเรื่องราวของพวกเขาเองพร้อมกันไปด้วย โดยที่บรรดาผู้นำที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ต่างกำลังเปล่งเสียงถ้อยคำสรรเสริญอย่างเป็นทางการของพวกเขา ทั้งนี้รวมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้ซึ่งบอกว่าจะเดินตามก้าวเดินของแมนเดลาในเรื่องการสร้างความปรองดอง

นายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอิเดีย กล่าวว่า อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ผู้นี้ “คือตัวอย่างของการทำงานเพื่อความสามัคคีกลมเกลียวกัน” และ “เป็นตัวแทนแห่งจิตสำนึกของโลก” ส่วนเลขาธิการใหญ่ยูเอ็น บัน คีมูน บอกว่า แมนเดลาเป็น “ยักษ์ใหญ่ในเรื่องความยุติธรรม”

ความมีศีลธรรมจรรยาอย่างหนักแน่นมั่นคง และความปรารถนาอันแรงกล้าในเรื่องการปรองดอง คือมรดกที่โดดเด่นแวววับที่สุดของแมนเดลา โดยที่ความสำเร็จของเขาในประการหลัง ไม่ว่ามองในแง่ส่วนตัวหรือในแง่แนวร่วมทางการเมืองวงกว้างออกไป คือสิ่งที่จะถูกจารึกจำหลักเอาไว้ในประวัติศาสตร์อย่างไม่ต้องสงสัย

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ คอลิน พาวเวลล์ ของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแอฟริกาใต้เมื่อปี 1994 ของแมนเดลา ผู้ซึ่งถูกจองจำคุมขังอยู่ในคุกเป็นเวลาราว 28 ปี ปรากฏว่า “พวกที่จองจำคุมขังท่านนั่นเองที่นั่งอยู่แถวหน้าสุดในพิธีสาบานตนของท่าน ผมจะไม่มีวันลืมเลือนท่านเลย และโลกก็จะไม่มีวันลืมเลือนเช่นเดียวกัน”

สำหรับนักการเมืองอเมริกันคนอื่นๆ อาจจะเต็มใจน้อยกว่าที่จะยกโทษให้แก่บทบาทของแมนเดลา ในการยุติยุคแห่งการเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ –ในเมื่อชื่อของเขายังคงปรากฏอยู่ในบัญชีเฝ้าจับตาผู้ก่อการร้ายของสหรัฐฯ จวบจนกระทั่งถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2008 เมื่อตอนที่เขามีอายุเกือบจะ 90 ปีแล้วนั่นแหละ จึงได้มีการถอนชื่อของเขาออไป

ถึงแม้ในช่วงปีหลังๆ แห่งชีวิตของเขา แมนเดลาได้รับเกียรติยศอย่างสูงส่งและได้รับความเคารพยกย่องจากสาธารณชน แต่เขาก็ไม่ได้คิดเอาตัวรอดด้วยการพูดแต่คำหวานภาษาดอกไม้ ดังที่เขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อออกมาแถลงต่อต้านการทำสงครามอิรักในปี 2003 โดยกล่าวว่า “สิ่งที่ผมกำลังประณามอยู่ในขณะนี้ ก็คือ มหาอำนาจรายหนึ่ง ซึ่งมีประธานาธิบดีผู้หนึ่ง (หมายถึงประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช) ที่ขาดไร้สายตาอันยาวไกล ที่ไม่สามารถขบคิดอย่างถูกต้องเหมาะสมได้ และเวลานี้มหาอำนาจรายนี้ก็กำลังต้องการดึงโลกให้จมถลำลงไปในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

แมนเดลาแทบไม่ได้มีบทบาทอะไรเลยในการเมืองวงกว้างของแอฟริกาใต้ในช่วงเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา กระนั้นก็ตาม ข้อเท็จจริงอันยังคงกลืนกินยอมรับได้อย่างลำบาก เกี่ยวกับการจากไปของเขา ก็ทำให้ชาวแอฟริกาใต้รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของประเทศชาติของพวกเขา ดังที่มีชาวแอฟริกาใต้ผู้หนึ่งกล่าวว่า “เวลานี้ทุกๆ คนกำลังจะทำอะไรก็ได้ตามแต่ที่พวกเขาต้องการ ถ้าหากท่านยังมีชีวิตอยู่นะ สิ่งที่ว่านี่แหละจะเป็นสิ่งที่พวกเขาจะบอกกันว่า มันเป็นสิ่งที่ผิดนะ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะ”

เฟรด บริดแกลนด์ (Fred Bridgland) นักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่งซึ่งเฝ้ารออยู่ตรงประตูของเรือนจำวิกเตอร์ เวอร์สเตอร์ (Victor Verster) เพื่อทำข่าวการปลดปล่อยแมนเดลาออกจากคุกในเดือนกุมภาพันธ์ 1990 มีความเห็นว่า การถึงแก่อสัญกรรมของเขาต้องถือเป็น “เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของแอฟริกาใต้ที่ทรงความสำคัญระดับชี้เป็นชี้ตาย ทัดเทียมกับวันที่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของรัฐแห่งยุคหลังระบบเหยียดผิว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1994”

บริดแกลนด์ เตือนว่า “ในทันทีที่ช่วงแห่งการไว้อาลัยผ่านพ้นไป --โดยที่ช่วงดังกล่าวนี้น่ายืดเยื้อและเข้มข้นยิ่ง ต่อจากนั้นแอฟริกาใต้ก็จะกลายเป็นสถานที่ซึ่งมีเสถียรภาพลดน้อยกว่าเดิมมาก”

ข้อเขียนรายงานของสื่อมวลชนว่าด้วยชีวิตและยุคสมัยของแมนเดลา จุดแข็งและจุดอ่อนของเขา เวลานี้มีท่วมท้นเยอะแยะไปหมด แต่บางทีในโลกที่ไม่ค่อยจะมีเวลาแม้แต่จะให้แก่การแสดงความเคารพไว้อาลัยบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ถึงขนาดนี้ มีสื่ออยู่ 2 สื่อซึ่งน่าจะเลือกหยิบขึ้นมาอ่านได้อย่างคุ้มค่าในวันนี้

สื่อแรกคือ โซเวตัน (Sowetan http://www.sowetanlive.co.za) สิ่งพิมพ์ซึ่งใช้ชื่อที่หมายถึงชาวเมืองโซเวโต เมืองที่อาจจะสะสมสร้างชื่อเลื่องระบือยิ่งกว่าสถานที่แห่งอื่นๆ ในการสะท้อนให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างความมุ่งมั่นตั้งใจอันโหดเหี้ยมทารุณของคนผิวขาวแอฟริกาใต้ กับความมุ่งมาดปรารถนาและความโกรธเกรี้ยวของประชากรผิวดำวัยหนุ่มสาวของประเทศนี้

สำหรับสื่อที่สองคือ ข้อเขียนไว้อาลัยที่ทั้งครอบคลุมรอบด้านและทั้งพูดถึงด้านดีด้านเสียของแมนเดลาอย่างสมดุล ซึ่งเขียนโดย เดวิด เบเรสฟอร์ด (David Beresford) ในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian http://www.theguardian.com/world/2013/dec/05/nelson-mandela-obituary) โดยที่หนังสือพิมพ์ของอังกฤษฉบับนี้ ได้มีส่วนช่วยทำให้คนรุ่นใหม่ๆ บังเกิดความเข้าอกเข้าใจเพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับความเลอะเทอะเลวร้ายต่างๆ ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาในยุคที่ยังเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมได้เคยช่วยสร้างขึ้นมา และเป็นความเลอะเทอะเลวร้ายซึ่งแมนเดลาได้ลงแรงอย่างมากมายเป็นเวลายาวนานถึงขนาดนี้และด้วยราคาที่ต้องจ่ายอย่างมหาศาลถึงเพียงนี้เพื่อแก้ไขคลี่คลาย

ในบรรดาถ้อยคำสรรเสริญไว้อาลัยทั้งหลายทั้งปวงที่หลั่งไหลออกมาเนื่องในวาระการจากไปของแมนเดลานั้น บางทีประชาชนคนสามัญนั่นแหละจะเป็นผู้ที่มีความรู้สึกสูญเสียอย่างใหญ่หลวงที่สุด – และบางทีอาจจะเป็นคุณสมบัติความเป็นสามัญชนที่ยังแฝงฝังอยู่ในตัวเขานี่เอง ซึ่งอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐฯ ค้นพบ เมื่อตอนที่เขาแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในปี 1998 ว่า “ทุกๆ ครั้งที่ เนลสัน แมนเดลา ก้าวเข้ามาในห้อง พวกเราทั้งหมดต่างรู้สึกว่าตัวกำลังขยายใหญ่ขึ้นมาหน่อย พวกเราทั้งหมดต่างต้องการที่จะยืนขึ้นมา พวกเราทั้งหมดต่างต้องการส่งเสียงเชียร์ เพราะพวกเราต่างปรารถนาที่จะเป็นตัวท่านในช่วงวันเวลาอันดีที่สุดของพวกเรา”

สำหรับ เนลสัน แมนเดลา แล้ว ถึงแม้มีข้อจำกัดข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งอาจจะยังไม่ได้มีการเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางนักก็ตามที แต่จวบจนกระทั่งถึงตอนท้ายๆ ที่สุดของเขาทีเดียว เขาก็ยังคงเป็นตัวแทนของสปิชีส์ที่หาได้ยากที่สุดในบรรดาสปีชีส์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นนักการเมืองผู้ซึ่งเราสามารถมองดูและรับฟังได้โดยไม่เกิดความรู้สึกอยากถากถางเยาะเย้ยหรือเกลียดชังโลกมนุษย์ ด้วยความเชื่อว่าในหัวใจของเขานั้นมีอะไรที่มากมายเกินเลยไปกว่าแค่เพียงผลประโยชน์ของตัวเขาเอง

ดังที่หนังสือพิมพ์ โอ โกลโบ (O Globo) ของบราซิล พาดหัวข่าวของพวกเขาว่า "O Mundo Perde Nelson Mandela" ใช่แล้ว โลกต้องสูญเสีย เนลสัน แมนเดลา ไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น