xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ผู้นำโลกร่วมอาลัยรัฐบุรุษ “เนลสัน แมนเดลา” วีรบุรุษต้านแบ่งแยกผิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษนักต่อต้านลัทธิแบ่งผิวแห่งแอฟริกาใต้
แม้จะเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหมาย และทำใจกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ข่าวการจากไปของอดีตประธานาธิบดี และวีรบุรุษนักต่อต้านลัทธิเหยียดผิวแห่งแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา ก็ยังนำความเศร้าสะเทือนใจมาสู่ประชาชนชาวแอฟริกาใต้ รวมไปถึงผู้คนทั่วโลกที่ได้ทราบเรื่องราวการต่อสู้ของเขา

ทันทีที่ข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ แมนเดลา ถูกประกาศ ผู้นำประเทศ และบุคคลสำคัญจากหลากหลายแวดวงต่างกล่าวถ้อยคำไว้อาลัยต่อรัฐบุรุษซึ่งได้ชื่อว่าต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และความเท่าเทียมของพลเมืองแอฟริกาใต้อย่างแท้จริง

รัฐบุรุษ, นักเคลื่อนไหวต่อต้านความอยุติธรรม, เจ้าของรางวัลโนเบล และนักโทษผู้ปลุกจิตสำนึกมหาชนได้จากโลกนี้ไปแล้วมากต่อมาก แต่ไม่มีผู้ใดเลยที่จะได้รับการกล่าวขานยกย่องจากคนทุกกลุ่มทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ, ผู้นำศาสนา, หัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ, นักคิด, นักเขียน, ศิลปิน, นักกีฬา หรือนักเคลื่อนไหว ดังที่ แมนเดลา กำลังได้รับในเวลานี้

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ยก แมนเดลา ให้มีฐานะเป็น “วีรบุรุษของผู้คนทุกยุคสมัย” และยอมรับว่าตนเองซึ่งเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของอเมริกาได้แรงบันดาลใจใหญ่หลวงจากอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ผู้ยืนหยัดต่อสู้กับระบอบปกครองโดยชนผิวขาวกลุ่มน้อย และตกเป็นนักโทษการเมืองอยู่นานถึง 27 ปี กว่าจะได้รับอิสรภาพ

บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ได้ประกาศให้ แมนเดลา เป็น “ยักษ์ใหญ่แห่งความยุติธรรม” ซึ่งเป็นต้นแบบแห่งการ “ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี, ความเท่าเทียม และเสรีภาพของมนุษย์อย่างไร้ความเห็นแก่ตัว” เช่นเดียวกับนาง อองซานซูจี วีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวพม่าที่ยกย่อง แมนเดลา เป็น “มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่” ที่สร้างแรงบันดาลใจต่อผู้อื่นในการเปลี่ยนแปลงโลกนี้
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ทักทายและปลอบโยน กราซา มาเชล ภรรยาหม้ายของ แมนเดลา
เนลสัน โรลีห์ลาห์ลา แมนเดลา เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1918 ที่หมู่บ้านอึมเวโซ เมืองอุมตาตู เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ระหว่างปี 1994-1999 และเป็นผู้นำแอฟริกาใต้คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งมาตามกระบวนการประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้น แมนเดลา เป็นที่รู้จักในฐานะนักเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายถือผิว เขาได้เป็นแกนนำพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกาใต้ต่อต้านรัฐบาลคนผิวขาวกลุ่มน้อย และถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปี 1990 และใช้นโยบายเชื่อมไมตรีกับกลุ่มก้อนต่างๆ ในสังคม จนนำมาสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกของประเทศในปี 1994

แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1993 ร่วมกับประธานาธิบดี เอฟ. ดับเบิลยู. เดอ เคลิร์ก ผู้นำคนสุดท้ายของแอฟริกาใต้ในยุคแบ่งแยกผิว เนื่องจากทั้งคู่ได้ร่วมผลักดันจนทำให้แอฟริกาใต้ก้าวข้ามยุคแห่งการปกครองโดยชนผิวขาวมาสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยพลเมืองทุกสีผิวได้มีสิทธิออกเสียงอย่างเท่าเทียมกัน

หลังพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว แมนเดลา ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง และเป็นแบบอย่างสำหรับนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังๆ ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางสังคม

แมนเดลา เริ่มป่วยเป็นโรคปอดตั้งแต่ถูกขังอยู่ในเรือนจำบนเกาะร็อบเบน อาการของเขาทรุดหนักลงในช่วงปลายปี 2012 และต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ก่อนจะสิ้นลมอย่างสงบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2013 ที่บ้านพักในนครโยฮันเนสเบิร์ก สิริอายุ 95 ปี

แม้ แมนเดลา จะแทบไม่มีบทบาทในเชิงการเมืองตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การจากไปของเขาก็ทำให้ชาวแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่รู้สึกเคว้งคว้าง และกังวลเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ ดังที่มีชาวแอฟริกาใต้ผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า “เวลานี้ทุกคนจะทำอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ ถ้าหากว่าท่านยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาคงจะบอกกันว่านี่มันเป็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะ”

รัฐบาลแอฟริกาใต้นำโดยประธานาธิบดี จาค็อบ ซูมา ได้จัดพิธีไว้อาลัยอย่างเป็นทางการแก่ เนลสัน แมนเดลา ในวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สนามกีฬาโซเวโต นครโยฮันเนสเบิร์ก ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศเมื่อปี 2010 โดยมีผู้นำประเทศ และบุคคลสำคัญของโลกเกือบ 100 คน เดินทางมาร่วมพิธี เช่น เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน, ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ, อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ และครอบครัว, นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ, ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส, ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถาน และประธานาธิบดีราอูล คาสโตร แห่งคิวบา เป็นต้น
ชาวแอฟริกาใต้หลายหมื่นคนเดินทางมาร่วมพิธีไว้อาลัย แมนเดลา ณ สนามกีฬาโซเวโต เมืองโยฮันเนสเบิร์ก
พิธีไว้อาลัยเริ่มต้นขึ้นในเวลาประมาณเที่ยงท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาตั้งแต่เช้า และแม้จะเป็นการไว้อาลัยต่ออดีตประธานาธิบดีผู้จากไป แต่บรรยากาศก็ไม่ได้เศร้าหมองนัก เนื่องจากชาวแอฟริกาใต้นับหมื่นคนล้วนมีเจตนารมณ์ที่จะฉลองให้กับความทรงจำ และคุณงามความดีที่ แมนเดลา หรือ “มาดิบา” ของพวกเขาได้กระทำไว้ต่อบ้านเมือง

สนามกีฬาซึ่งมีความจุเต็มที่ 95,000 ที่นั่ง มีคนราว 2 ใน 3 เท่านั้นขณะเริ่มพิธี เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่หนาวเหน็บ ตลอดจนปัญหาการขนส่งมวลชนที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาไม่ถึง หรือเปลี่ยนความตั้งใจเสียก่อน

ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ยกย่อง แมนเดลา ว่าเป็น “ยักษ์ใหญ่แห่งประวัติศาสตร์” ผู้ผลักดันประเทศชาติไปสู่ความยุติธรรม และยังเหน็บแนมผู้นำเผด็จการบางคนที่สรรเสริญวีรกรรมของ แมนเดลา แต่กลับไม่เคยปฏิบัติตาม

“มีผู้นำหลายคนเหลือเกินที่อ้างว่าตนสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของมาดิบา แต่กลับไม่เคยอดทนอดกลั้นเมื่อถูกต่อต้านจากพลเมืองตัวเอง” โอบามา กล่าว

พิธีไว้อาลัยที่จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานศพแบบรัฐพิธีซึ่งจะเสร็จสิ้นในวันอาทิตย์นี้ (15) โดยการนำศพของ แมนเดลา ไปฝังที่สุสานในหมู่บ้านกูนู ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก

รัฐบาลแอฟริกาใต้มีกำหนดตั้งศพ แมนเดลาไว้ 3 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม ณ อาคาร Union Buildings ในกรุงพริทอเรีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1994 โดยแต่ในช่วงเช้าของแต่ละวันจะมีการแห่โลงศพของ แมนเดลา ไปตามท้องถนน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความเคารพต่ออดีตผู้นำอันเป็นที่รักของพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย
ขบวนรถยนต์ซึ่งนำศพ แมนเดลา ไปยังอาคาร Union Buildings ในกรุงพริทอเรีย
เยาวชนแอฟริกาใต้ร่วมแสดงความอาลัยรักต่ออดีตประธานาธิบดีผู้จากไป
กำลังโหลดความคิดเห็น