xs
xsm
sm
md
lg

“อินเดีย” สั่งตอบโต้ “สหรัฐฯ” หลังเจ้าหน้าที่การทูตสตรีประจำนิวยอร์ก ถูก “ใส่กุญแจมือ-เปลื้องผ้าค้นตัว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - สื่อสหรัฐฯ เช่น หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ และ ฟ็อกซ์นิวส์ ได้รายงานว่า ในวันอังคาร(17) ที่ผ่านมา อินเดียได้ออกชุดมาตรการตอบโต้สหรัฐฯหลังจากที่ “เทพยานี โคบราเกด” วัย 39 ปีผู้ช่วยกงสุลอินเดียประจำกรุงนิวยอร์ก ได้ถูกจับกุมตัวในนิวยอร์ก โดยเธอถูกจับใส่กุญแจมือ เปลื้องผ้าค้นตัว รวมถึงถูกส่งเข้าไปคุมขังรวมอยู่กับผู้ต้องหาคดีร้ายแรง ซึ่งเธอถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสารเพื่อขอวีซ่าการทำงานสำหรับคนทำงานในบ้าน และจ่ายค่าตอบแทนให้กับคนงานต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สหรัฐฯกำหนด

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและสหรัฐฯได้ตรึงเครียดมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์จับกุมตัวของ “เทพยานี โคบราเกด” วัย 39 ปี ผู้ช่วยกงสุลอินเดียประจำกรุงนิวยอร์กในข้อหาปลอมแปลงเอกสารเพื่อขอวีซ่าการทำงานสำหรับคนทำงานในบ้าน และจ่ายค่าตอบแทนให้กับคนงานต่ำกว่าที่สหรัฐฯกำหนด

ซึ่งทางอินเดียได้อ้างว่า โคบราเกดนั้นถูกจับกุมโดยใส่กุญแจมือกลางถนนในวันพฤหัสบดี(12)หลังจากที่เธอได้ส่งลูกสาวเข้าโรงเรียนไปแล้ว นำเธอไปขังรวมกับผู้ต้องหายาเสพติดก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวออกมาช่วยคราวภายใต้เงินประกันจำนวน 250,000 ดอลลาร์ หลังจากให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และรวมไปถึงการเปลื้องผ้าเพื่อค้นตัว ซึ่งตำรวจมาร์แชลสหรัฐฯได้ออกมายืนยันในวันอังคาร(17)กับการจับกุมว่า การเปลื้องผ้าค้นตัวนั้นเป็นความจริงตามมาตรฐานกระบวนการจับกุมทั่วไป และได้คุมขังเธอในห้องขังที่ว่างและเหมาะสม

สื่อยักษ์ใหญ่อินเดีย India Express ได้รายงานเมื่อวานนี้(17)ว่า เจ้าหน้าที่กงสุลสหรัฐฯและภรรยาถูกสั่งให้คืนบัตรประจำตัว และเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐฯถูกสั่งให้รายงานข้อมูลของลูกจ้างอินเดียที่พวกเขาจ้างไว้ และทางสื่อยังได้รายงานว่า มาตรการเหล่านี้อาจเป็นการบ่งบอกถึงการทบทวนความคุ้มกันอื่นๆ(immunity)หรือผลตอบแทน(benefit)ของเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐฯในอินเดีย

นอกจากPress Trust of India ได้รายงานว่า รัฐบาลอินเดียได้สั่งให้ยกเลิกแอร์พอร์ตพาส (Airport Pass)สำหรับเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐฯ และยังพบว่า ตำรวจอินเดียได้รื้อถอนแบริเออร์ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานทูตที่วางไว้รอบนอกสถานทูตสหรัฐฯประจำอินเดียออกทั้งหมด

ในขณะที่โฆษกหญิงประจำกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ มารี ฮาร์ฟ ได้กล่าวในวันอังคาร(17)ที่ผ่านมาถึงการรื้อถอนแบริเออร์ว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯได้ทำความเข้าใจกับอินเดียว่า “สถานทูตสหรัฐฯมีความจำเป็นที่ต้องได้รับความคุ้มครอง”

และในวันจันทร์(16) ฮาร์ฟได้กล่าวว่า “การจับกุมตัวของโคบราเกดในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นไปตามมาตรฐานของสหรัฐฯ และเธอยังย้ำว่าโคบราเกดมีความคุ้มกันทางกงสุล(consular immunity) ซึ่งต่างจากความคุ้มกันทางการทูต(diplomatic immunity) หมายความว่าโคบราเกดไม่มีความคุ้มกันทางการทูตอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจากอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตได้ระบุไว้ว่า โคบราเกดจะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูตโดยการไม่ถูกจับกุมในคดีที่เกี่ยวข้องมาจากการทำงานของเธอเท่านั้น

ทางด้านอัยการในนิวยอร์กเผยว่า โคบราเกดได้อ้างว่า เธอได้จ่ายเงินค่าจ้างให้กับแม่บ้านชาวอินเดีย 4,500 ดอลลาร์ ต่อเดือน แต่แท้จริงแล้วเธอได้จ่ายเงินต่ำกว่ามาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำกว่าที่กฎหมายสหรัฐฯกำหนดไว้ ซึ่งในการที่เจ้าหน้าที่การทูตต่างชาติที่ต้องการยื่นขอวีซ่าสำหรับลูกจ้างส่วนตัว หรือ วีซ่าA-3 นั้น พวกเขาต้องพิสูจน์ว่าลูกจ้างพวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างในสหรัฐฯ

ซึ่งลูกจ้างชาวอินเดียของโคบราเกดเปิดเผยว่า นายจ้างของเธอตกลงว่าจะให้ค่าตอบแทนจำนวน 30,000 รูปีต่อเดือน หรือ 573 ดอลลาร์ (3.31 ดอลลาร์ ต่อ ชม.) โดยแม่บ้านชาวอินเดียผู้นี้ได้ทำงานให้กับโคบราเกดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2012 จนถึงเดือนมิถุนายน 2013 และกล่าวว่า เธอทำงานมากกว่า 40 ชม. ต่อสัปดาห์ และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ได้ตกลงไว้ที่ 30,000 รูปีต่อเดือน

และหากโคบราเกดถูกตัดสินว่าผิดจริง เธออาจต้องถูกจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 10 ปีในข้อหาปลอมวีซ่า และอีก 5 ปี ในข้อหาให้การเท็จ แต่ทางทนายส่วนตัวของโคบราเกดยืนยันว่าเธอจะต่อสู้ในคดีนี้จากพื้นฐานของเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูต

ที่ผ่านมาข่าวการจับกุมตัวนักการทูตอินเดียนี้สั่นสะเทือนไปทั่วอินเดีย ในวันอังคาร(17) ผู้นำนักการเมืองจากทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านในอินเดียได้ปฎิเสธที่จะพบกับตัวแทนของสภาคองเกรสสหรัฐฯในกรุงนิวเดลี ด้านรัฐบาลอินเดียได้กล่าวถึงการจับกุมครั้งนี้ว่า “คาดไม่ถึงและตกใจที่นักการทูตของอินเดียได้รับการปฎิบัติที่ทำให้รู้สึกอับอายในสหรัฐ” และShivshankar Menon ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของอินเดีย ถึงกับประนามการเปลื้องผ้าค้นว่า “เลวทราม” และ “ป่าเถื่อน”

จากรายงานพบว่า ไม่เป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใดที่คนทำงานบ้านที่อินเดียจะได้รับค่าตอบแทนต่ำในขณะที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่า 60 ชมต่อสัปดาห์ และถูกนายจ้างปฎิบัติอย่างเลวร้าย ซึ่งพบเสมอว่าลูกจ้างมักถูกทารุณและคุมขัง

แต่ทว่าข่าวของสตรีอินเดียชนชั้นกลางที่ถูกจับกุมและถูกเปลื้องผ้าค้นตัวนั้นกลับเป็นที่ “น่าตกใจ” ในแดนภารตะแห่งนี้ ระบบความปลอดภัยของสนามบินในอินเดียมีแถวเฉพาะสำหรับสตรี และหากมีการตรวจค้นตัวมักจะทำหลังม่าน

นอกจากนี้ยังพบว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดียจะได้รับสิทธิพิเศษโดยที่ไม่ต้องตรวจค้น และมีรายชื่อของเจ้าหน้าที่อินเดียแปะไว้ที่สนามบินหลายแห่งทั่วประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษผ่านจุดตรวจได้ทันที และเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศต้องผ่านจุดตรวจเช็กในสนามบินสหรัฐฯหรือประเทศอื่นๆ เหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นหัวข้อข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์และถือว่าเป็นการดูหมิ่นประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น