xs
xsm
sm
md
lg

แอฟริกาใต้สิ้น ‘แมนเดลา’ โลกสิ้น ‘ยุคผู้นำที่ยิ่งใหญ่’(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: จอห์น เฟฟเฟอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The twilight of leadership
By John Feffer
12/12/2013

จากการถึงแก่อสัญกรรมของ เนลสัน แมนเดลา โลกไม่เพียงกำลังโศกเศร้าอาลัยถึงการลาลับของนักปลดแอกผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งเท่านั้น หากแต่กำลังโหยไห้ให้แก่ยุคสมัยแห่งผู้นำและรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่รูดม่านปิดฉากไปด้วย สังคมสมัยใหม่ในทุกวันนี้อยู่ในภาวะสลับซับซ้อนจนเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถควบคุมสั่งการได้เสียแล้ว แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกไม่สามารถชื่นชอบได้จริงๆ กับพวกนักการเมืองจืดๆ ชืดๆ และพวกเทคโนแครตไร้สีสันซึ่งกำลังเป็นผู้ปกครองพวกเราอยู่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ในสโลวาเกีย ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ มิชัล ซิเมกคา (Michal Simecka) บุตรชายของบุคคลผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลคนสำคัญ (โดยที่บิดาของมิชัล ซิเมกคาเอง ก็เป็นบุตรชายของผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลคนสำคัญอีกผู้หนึ่ง) ปัจจุบัน เขาทำงานเป็นนักวิจัยด้านนโยบายยุโรปอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ (ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงของเบลเยียม และก็เป็นเมืองหลวงในทางพฤตินัยของสหภาพยุโรป -ผู้แปล) และมีวิธีการในการตั้งคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างออกไปจากคนรุ่นบิดาของเขา

“เราจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการขบคิดพิจารณาเรื่องประชาธิปไตย อย่างชนิดที่มีสารัตถะเพิ่มมากขึ้นและมีหลากมิติหลายมุมมองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มิติหนึ่งของประชาธิปไตยซึ่งขาดหายไปอย่างสิ้นเชิงจากกระบวนทัศน์ (paradigm) ในยุคทศวรรษ 1990 มิติดังกล่าวนี้ก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน (civic participation)” เขาบอกกับผมเช่นนี้ “ผู้นำโดยทั่วไปมักขบคิดพิจารณาในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย หรือการไม่มีประชาธิปไตย โดยพิจารณากันมากที่สุดในแง่มุมของค่านิยมแบบเสรีนิยมต่างๆ หรือแง่มุมของการที่รัฐเข้าไปล่วงละเมิดค่านิยมเหล่านี้อย่างไรหรือไม่ ทว่าพวกเขาไม่ได้ขบคิดจากแง่มุมของการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย เป็นต้นว่า ประชาชนสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน? หรือ เราสามารถไล่เลียงเล่นงานผู้ที่รับผิดชอบนโยบายด้านต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด? แง่มุมเช่นนี้จำเป็นที่ต้องมีกรอบความคิดจิตใจแบบใหม่ หรือมีกรอบโครงแม่บททางความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างใหม่ขึ้นมา”

สหภาพยุโรปนั้นได้พิสูจน์ตัวให้เห็นแล้วว่ามีเสถียรภาพทางด้านประชาธิปไตยอย่างสมเหตุสมผลตามเหมาะตามควรแล้ว ดังนั้น ทิศทางเน้นหนักของกิจกรรมจึงมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การพยายามทำให้ประชาธิปไตยลงรากปักฐานอย่างมั่นคงแน่นหนายิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นเรื่องความพยายามที่จะก่อให้เกิดประชาธิปไตยเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก แนวความคิดที่ว่ารัฐต่างๆ จะต้องก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ยังคงเป็นความเชื่ออันง่อนแง่นโอนเอนไปมา และรัฐยังคงมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา จำนวนของรัฐประชาธิปไตยในโลกแท้ที่จริงแล้วกำลังลดต่ำลง –โดยที่ในปี 2012 ลดลงมา 3% เหลือ 60%-- ขณะที่เกิด เนลสัน แมนเดลา ขึ้นในแอฟริกาใต้ หรือ (มิเชล) บาเชเลต์ (Michelle Bachelet) ในชิลี ก็จะต้องมี (โยเวรี) มูเซเวนี (Yoweri Museveni) ในยูกันดา หรือ (วลาดิมีร์) ปูติน (Vladimir Putin) ในรัสเซีย ขึ้นมาด้วย สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมตรงกันข้ามกับกระบวนการแห่งการสลายตัวของอาณานิคม ซึ่งหลังจากที่อดีตเมืองขึ้นกลายเป็นเอกราชแล้วก็แทบไม่มีเอาเลยที่จะมีการหวนคืนกลับไปเป็นอาณานิคมอีก

ด้วยเหตุนี้เอง ในพม่า การนำของ อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ทั้งความเป็นผู้นำทางด้านศีลธรรมและความเป็นผู้นำในทางการเมือง จึงยังคงมีความสำคัญมาก ส่วนในจีน หลิว เสี่ยวโป (Liu Xiaobo) ยังคงอยู่ในเรือนจำเนื่องจากการรณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2010 ในรัสเซีย อเล็กเซย์ นาวัลนืย์ (Alexei Navalny) นักเคลื่อนไหวและนักกฎหมายคนสำคัญมาก กำลังเผชิญหน้ากับโทษจำคุกหลายๆ คดี ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องมาจากการที่เขาออกมาคัดค้าน วลาดิมีร์ ปูติน นักเคลื่อนไหวผู้องอาจกล้าหาญคนอื่นๆ ก็ยังคงสืบต่อมุ่งหน้าไปตามก้าวเดินของ แมนเดลา ภายในประเทศของพวกเขาเอง

กระนั้นก็ตามที ถึงแม้ยังคงมีนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเหล่านี้ ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อลดทอนอำนาจเผด็จการในรัฐของพวกเขาเองกันอยู่ พวกเขาก็ดูเหมือนจะเป็นข้อยกเว้นมากกว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป ในเวลาเดียวกันนั้น พวกเราเองก็กำลังมีความเชื่อมั่นไว้วางใจลดน้อยลงทุกทีๆ ต่อศักยภาพของเหล่าผู้นำและการนำของพวกเขา เรื่องนี้มีเหตุผลสำคัญอยู่ 2 ประการ

การนำในแบบฉบับของแมนเดลานั้น มีประโยชน์มากเมื่ออยู่ในบริบทเฉพาะบางอย่างบางประการ แต่อาจไม่มีประโยชน์อะไรในบริบทอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป ขอยกตัวอย่างประเด็นปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ เวลานี้แอฟริกาใต้ไม่ได้ทุกข์ยากเดือดร้อนภายใต้ระบบแบ่งแยกเหยียดผิว (apartheid) อีกต่อไปแล้ว ส่วน ชิลี ก็ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจเผด็จการของ (เอากุสโต) ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ทว่าทั้งสองประเทศกลับยังคงอยู่ในหมู่ชาติที่ประชาชนมีความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลก ปัญหาชนิดนี้ย่อมเรียกร้องให้บรรดานักเคลื่อนไหว, นักสหภาพแรงงาน, ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย, ผู้คนในแวดวงธุรกิจที่ “ตาสว่าง”, และคนอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ เข้ามาร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไข

สังคมสมัยใหม่นั้นพูดง่ายๆ ก็คืออยู่ในสภาพสลับซับซ้อนจนเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถควบคุมบงการได้แล้ว มันเป็นเรื่องหนึ่งที่จะยืนหยัดมั่นคงต่อต้านระบบอันชั่วร้าย หรือระบอบปกครองที่เป็นเผด็จการ นี่อาจจะไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายดายสะดวกสบาย แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นภารกิจซึ่งง่ายที่จะทำความเข้าใจ ทว่าถ้าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศล่ะ? และในขณะที่คุณต้องเข้าไปวุ่นวายพัวพันกับปัญหานี้อยู่แล้ว ยังจะต้องขอให้คุณได้โปรดจัดการกับปัญหาสำคัญอย่างอื่นๆ อีกด้วย เป็นต้นว่า การปฏิรูปภาคการเงิน, การรับมือกับภัยคุกคามของอาวุธทำลายร้ายแรง (weapon of mass destruction หรือ WMD), ตลอดจนการผลักดันให้คนยากจนของโลกมีโอกาสได้ใช้ยาสามัญ (generic drug) ที่มีราคาถูกกว่ายาต้นตำรับของพวกบริษัทยา

ตัวอย่างต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งท้าทายอันใหญ่โตเท่านั้น หากยังเป็นคำถามอันยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยความพยายามทำงานกันเป็นจำนวนมากอย่างมานะอดทน ในแวดวงปริมณฑลสีเทาแห่งการประนีประนอม กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะเป็นความท้าทายทางการเมืองมากกว่าที่จะเป็นความท้าทายในทางศีลธรรม

ประการที่สอง พวกผู้นำของเราต่างก็ทำให้เรารู้สึกผิดหวังเป็นทิวแถว อองซานซูจี ไม่ได้ยืนหยัดด้วยความมั่นคงและตรงแน่วยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ในเรื่องการคัดค้านความรุนแรงทางเชื้อชาติที่กระทำต่อชาวมุสลิมในพม่า ส่วน วาคลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel) ประธานาธิบดีคนแรกของเชโกสโลวะเกีย และประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐเช็ก ก็ไปให้ความสนับสนุนการที่สหรัฐฯเข้ารุกรานและยึดครองอิรัก สำหรับ บารัค โอบามา ได้สั่งขยายแผนงานของสหรัฐฯในการสังหารผู้คนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าเดิมนักหนา บางทีความผิดหวังเหล่านี้ก็ขับดันให้พวกเราหันเหไปสู่อ้อมแขนของผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นผู้นำคนอื่นๆ (เอลิซาเบธ วอร์เรน Elizabeth Warren [1] พอจะถือเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ไหม?) ทว่าผลกระทบกระเทือนซึ่งสำคัญมากกว่านั้นก็คือ พวกเขากัดกร่อนความศรัทธาเชื่อมั่นที่เรามอบให้แด่ผู้นำทั้งหลายโดยถ้วนหน้าทีเดียว เฉกเช่นเดียวกับความผิดหวังต่อคณะผู้นำการปฏิวัติสีส้มได้ก่อให้เกิดขึ้นในยูเครนนั่นเอง

ดังนั้น เราจึงไม่ได้มี “แมนเดลา” เหลืออยู่อีกสักกี่คนนักหรอก ในเวลาเดียวกันเราก็รู้สึกไม่สามารถชื่นชอบได้จริงๆ กับพวกนักการเมืองจืดๆ ชืดๆ ซึ่งกำลังเป็นผู้ปกครองพวกเราอยู่ เราอาจจะเลือกใช้วิธีเลิกเข้าไปยุ่งเกี่ยวและตัดสินใจปล่อยให้พวกเทคโนแครต (technocrat) ขึ้นครองอำนาจเสียเลย เทคโนแครตนั้นต้องถือว่าเป็นพวกที่มีความแตกต่างอย่างชนิดเป็นตรงกันข้ามกับพวกผู้นำ พวกเขามีความรู้เป็นอย่างดีในเรื่องๆ หนึ่ง และนำเอาความเชี่ยวชาญของพวกเขามาประยุกต์ใช้อย่างแคบๆ กับประเด็นเชิงเทคนิคต่างๆ กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ แบบจำลองสำหรับอนาคตอาจจะมองดูได้ที่กรุงบรัสเซลส์ มีหนังสือคำชี้แนะในเรื่องแล้วเรื่องเล่าออกมาไม่หยุดไม่หย่อน และมีเสถียรภาพความมั่นคงที่แสนจะไร้สีสัน

เรายังคงพยายามสืบต่อค้นหาโมเดลใหม่ๆ และ กรอบความคิดจิตสำนึกใหม่ๆ กันอยู่ –เป็นต้นว่า แนวความคิดในเรื่อง การค้นหาคำตอบโดยอาศัยฝูงชนเป็นผู้ตัดสิน (crowdsourcing) และประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือผู้คนภาคส่วนต่างๆ (deliberative democracy) ตลอดจนการจัดทำงบประมาณแบบประชาชนมีส่วนร่วม (participatory budgeting) เราเศร้าโศกอาลัยแมนเดลา แต่เราก็ยังกำลังเศร้าโศกอาลัยคุณสมบัติความแจ่มชัดทางศีลธรรมที่เขามีอยู่ ตลอดจนความสามารถของเขาที่จะกระตุ้นให้เราบังเกิดความมุ่งมาดปรารถนาในบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ในขณะที่เรากำลังเคลื่อนห่างออกมาจากโมเดลแบบที่มีผู้นำผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งคนเดียว ความท้าทายสำคัญยิ่งที่เรายังจะต้องหาคำตอบให้พบ ก็คือ การสร้างระบบที่มีประชาชนเข้าร่วม ซึ่งสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการระบุชื่อ ผู้รับผิดชอบโดยรวม หรือทำให้ต้องมีการระบุชื่อผู้รับผิดชอบโดยรวมให้น้อยที่สุด ทว่ายังคงมีคุณสมบัติอันเลิศล้ำในแบบของแมนเดลา นั่นคือ ยกระดับเกมของเราให้สูงส่งยิ่งขึ้นไปอีก

**หมายเหตุผู้แปล**
[1] เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren เกิด 22 มิ.ย.1949) เป็นนักวิชาการและนักการเมืองชาว
อเมริกัน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ สังกัดพรรคเดโมแครต เธอเคยเป็นศาสตราจารย์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายล้มละลาย วอร์เรนเป็นผู้ที่มุ่งมั่นทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง โดยผลงานของเธอได้นำไปสู่แนวความคิดและการจัดตั้งหน่วยงาน “สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินของสหรัฐฯ” (US Consumer Financial Protection Bureau) ขึ้นมา

ตอนที่เกิดวิกฤตภาคการเงินปี 2008 วอร์เรนเข้าดำรงตำแหน่งประธานของคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบของรัฐสภา (Congressional Oversight Panel) ทำหน้าที่กำกับติดตามการดำเนินงานของโครงการบรรเทาผลกระทบจากสินทรัพย์ที่มีปัญหา (Troubled Asset Relief Program หรือ TARP) ในเวลาต่อมาในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เธอได้เข้าไปเป็น ผู้ช่วยประธานาธิบดี (Assistant to the President ) และเป็นที่ปรึกษาพิเศษของรัฐมนตรีว่าการคลัง ทำหน้าที่ดูแลสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน วอร์เรนลงเล่นการเมืองเต็มตัวด้วยการลงแข่งขันชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของแมสซาชูเซตส์ โดยสังกัดพรรคเดโมแครต และก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2012 ผลงานและบุคลิกภาพอันโดดเด่นของเธอ ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะในฝ่ายก้าวหน้า คิดผลักดันเธอลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในสมัยต่อไปซึ่งก็คือปี 2016 แต่เธอยังคงปฏิเสธเรื่อยมา ทั้งนี้ผลโพลของซีเอ็นเอ็นที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2013 พบว่า วอร์เรนมีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 3 รองลงมาจาก ฮิลลารี คลินตัน และ รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน (ข้อมูลจาก Wikipedia และซีเอ็นเอ็น)

จอห์น เฟฟเฟอร์ เป็นผู้อำนวยการร่วมของ “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) ซึ่งมุ่งเสนอบทวิเคราะห์อันทันการณ์ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯและด้านกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกต่างๆ ทางด้านนโยบาย FPIF เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น