xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’เยือน ‘ปักกิ่ง’ ผลักดันสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ‘คืบหน้า’ แม้ยัง ‘ไม่ไว้ใจกัน’

เผยแพร่:   โดย: แดน สไตน์บ็อก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Biden in Beijing: Progress, despite distrust
By Dan Steinbock
06/12/2013

กระทั่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ในเรื่องที่จีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ ก็ไม่สามารถที่จะบดบังความคืบหน้าในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ซึ่งบังเกิดขึ้นจากการที่รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พบปะเจรจาที่กรุงปักกิ่งเป็นเวลาถึง 5 ชั่วโมงกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน สิ่งที่ควรต้องให้น้ำหนักความสำคัญอย่างแท้จริงนั้นอยู่ตรงที่ว่า วอชิงตันกับปักกิ่งยังคงพูดจาหารือกันต่อไป แม้กระทั่งในเวลาที่พวกเขามีความคิดเห็นแตกต่างไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรง

สำหรับผู้สังเกตการณ์จำนวนมากแล้ว กำหนดการของรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ที่เดินทางไปเยือนปักกิ่ง ในช่วงเวลาซึ่งข้อพิพาทอันเกิดขึ้นจากการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (air defense identification zone หรือ ADIZ) ของจีน กำลังเดือดพล่านพอดิบพอดีนั้น คงเป็นโชคร้ายสุดๆ อย่างชนิดหาใดเปรียบปานทีเดียว อย่างไรก็ตาม ทัศนะเช่นนั้นเป็นการมองโลกในแง่มืดมนมากเกินไปหน่อย อย่างที่พวกพยายามมองโลกในแง่บวกชอบพูดว่า แทนที่จะบอกว่าน้ำในแก้วพร่องหายไปตั้งครึ่งหนึ่ง ทำไมไม่บอกว่าน้ำในแก้วยังเหลืออยู่อีกตั้งครึ่ง กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่ควรต้องให้น้ำหนักความสำคัญอย่างแท้จริงนั้นอยู่ตรงที่ว่า วอชิงตันกับปักกิ่งยังคงพูดจาหารือกันต่อไป แม้กระทั่งในเวลาที่พวกเขามีความคิดเห็นแตกต่างไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรง

ทั้งนี้เราจะต้องไม่ลืมว่า ถึงแม้การถกเถียงโต้แย้งกันในเรื่องเขต ADIZ จะมีความสำคัญขนาดไหนก็ตามที แต่มันก็เป็นเพียงหนึ่งในประเด็นปัญหาจำนวนมากที่วางอยู่บนโต๊ะ ในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนในปัจจุบัน

**วิธีจัดการปัญหาแบบเดินหน้าทั้งสองด้าน**

การเยือนของไบเดนคราวนี้ กลายเป็นตัวอย่างรูปธรรมของวิธีจัดการปัญหาแบบเดินหน้าทั้งสองด้าน ในประเด็นเชิงนโยบายทั้งหลายของความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-จีน ระหว่างที่ไบเดนเจรจาหารือเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้น จุดเน้นหนักอันแท้จริงอยู่ที่เรื่องการพัฒนาแผ้วถางเส้นทางใหม่ สำหรับให้ชาติทั้งสองบริหารจัดการความผิดแผกแตกต่างทางด้านนโยบายของพวกเขา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทั้งสองฝ่ายยังคงสามารถร่วมมือประสานงานกันได้ แม้กระทั่งในท่ามกลางการขัดแย้งไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรง

ในอีกด้านหนึ่ง ไบเดนก็ได้ถือโอกาสอธิบายถึงจุดยืนของสหรัฐฯ และ “ความวิตกกังวลอย่างล้ำลึก” ของฝ่ายอเมริกัน ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับเขต ADIZ, สิทธิมนุษยชน, รวมทั้งเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์สหรัฐฯที่ทำงานอยู่ในจีน นอกจากนั้น เขายังพูดเรื่องสถานการณ์ในเกาหลีเหนือ, ข้อตกลงว่าด้วยการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน, ตลอดจนประเด็นทางเศรษฐกิจหลายหลาก

ตั้งแต่ตอนที่ประธานาธิบดีสี เดินทางไปพูดจาหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในการประชุมซัมมิตแบบสบายๆ ที่คฤหาสน์แรนโชมิราจ (Rancho Mirage) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ทั้งสองฝ่ายได้ใช้น้ำเสียงและสีสันของการพูดคุยกัน ชนิดตรงไปตรงมาและซึ่งๆ หน้า นั่นเป็นสไตล์ที่ฝ่ายอเมริกันพออกพอใจ และไบเดนก็เดินหน้าสืบต่อ ในระหว่างการเจรจาที่ปักกิ่งคราวนี้

โจ ไบเดน นั้นเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเดโมแครตที่มีประสบการณ์โชกโชน เขาได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นวุฒิสมาชิกสมัยแรกตั้งแต่เมื่อราว 40 ปีก่อน นั่นคือในปี 1972 ตอนที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นักสิน เดินทางไปเยือนปักกิ่งเป็นครั้งแรก และความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนได้ออกเดินหน้าไปบนเส้นทางใหม่ที่มุ่งผลในทางบวก ระหว่างที่นั่งอยู่ในวุฒิสภาอย่างยาวนาน ไบเดนทั้งเคยเป็นกรรมาธิการและเป็นประธานของคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ โดยที่ได้แสดงบทบาทสำคัญยิ่งยวดจำนวนมากในเรื่องกิจการระหว่างประเทศ พอมานั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดี เขาก็ยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกมายกับกระบวนการตัดสินใจของประธานาธิบดีโอบามา เขายังมีบทบาทกำกับตรวจสอบอันทรงสำคัญยิ่งยวด ในเรื่องการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของโอบามา ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯและทั่วโลกถลำลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างมโหฬารในปี 2008/09

เป็นที่เลื่องลือกันว่า ไบเดนเป็นคนที่กล้าพูดจาเปิดอกตรงไปตรงมา แต่เขาก็มีความสามารถในการเจรจาต่อรองเพื่อให้บรรลุข้อตกลงยากๆ อีกด้วย หากประธานาธิบดีโอบามารู้วิธีในการเข้าถึงพวกชนชั้นนำที่ทำงานตามออฟฟิศสำนักงานทั้งหลายแล้ว เสียงของไบเดนก็ก้องกังวานเป็นที่พออกพอใจในหมู่ชาวอเมริกันสามัญชนผู้ใช้แรงงาน ความสามารถของเขาในการเจรจาต่อรองกับพวกรีพับลิกันในรัฐสภานั้นมีความสำคัญเหลือเกิน ตั้งแต่ตอนที่เกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกปี 2008 ไปจนถึงการผ่านรัฐบัญญัติผ่อนคลายภาระผู้เสียภาษีชาวอเมริกันปี 2012 (the American Taxpayer Relief Act of 2012) ซึ่งมุ่งหมายที่จะรับมือกับวิกฤต “หน้าผาการคลัง” (fiscal cliff) อันกำลังย่างกรายใกล้เข้ามาทุกทีๆ ในตอนนั้น

ในกรุงปักกิ่ง ไบเดนสามารถแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นรองประธานาธิบดีชนิดที่จะไม่พูดจาอ้อมค้อม แต่ก็จะยังคงใจเย็นครองสติเอาไว้ได้ในท่ามกลางแรงบีบคั้นกดดัน

ดร.แดน สไตน์บ็อก เป็น ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ของสถาบันอินเดีย จีน และสหรัฐฯ (India China and America Institute) ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา และเป็นนักวิจัยอาคันตุกะของ สถาบันเพื่อการระหว่างประเทศศึกษาแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Institutes for International Studies) ที่ตั้งอยู่ในจีน นอกจากนั้นเขายังมีกิจกรรมในด้านการให้คำปรึกษา/ที่ปรึกษา อีกด้วย ทั้งนี้สามารถติดตามเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ ของ Difference Group (http://www.differencegroup.net/)
กำลังโหลดความคิดเห็น