รอยเตอร์ - ทำเนียบขาวชี้เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defence Identification Zone – ADIZ) ที่จีนประกาศเมื่อเดือนที่แล้วนั้น “รับไม่ได้” พร้อมขอให้ปักกิ่งระงับมาตรการบังคับใช้ แต่ไม่ถึงกับเรียกร้องให้จีน “เพิกถอน” เขต ADIZ เสีย
เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาว ออกมาแถลงวานนี้ (5) ว่า คำประกาศของจีนเป็น “สิ่งอันตรายและยั่วยุ” ซึ่งอาจก่อวิกฤตความขัดแย้งในภูมิภาค และไม่ใช่พฤติกรรมที่ชาติมหาอำนาจควรทำ
“สหรัฐฯ ไม่รับทราบและไม่ยอมรับเขต ADIZ ที่จีนประกาศ และปฏิบัติการทางทหารของอเมริกาในภูมิภาคดังกล่าวก็จะไม่เปลี่ยนแปลง” คาร์นีย์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
เขต ADIZ ที่จีนประกาศออกมาแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน และครอบคลุมเหนือหมู่เกาะพิพาท “เซ็งกากุ” ในทะเลจีนตะวันออก นำมาซึ่งเสียงคัดค้านรุนแรงจากทั้งวอชิงตัน, โตเกียว และโซล
แม้สหรัฐฯ จะยืนยันมั่นคงว่าพร้อมปกป้องหมู่เกาะเซ็งกากุซึ่งญี่ปุ่นควบคุมอยู่ตามกฎหมาย แต่ก็ยังลังเลที่จะถูกดึงเข้าไปร่วมวง ในกรณีที่ญี่ปุ่นกับจีนเกิดการปะทะกัน
จีนกำหนดให้เครื่องบินทุกลำที่จะผ่านเข้าสู่เขต ADIZ แจ้งกำหนดการเดินทางให้จีนทราบ และเปิดสัญญาณวิทยุให้สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่จีนได้ ทว่าที่ผ่านมาเครื่องบินของสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างเพิกเฉยต่อระเบียบดังกล่าว
รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ซึ่งเดินทางเยือนปักกิ่งในสัปดาห์นี้ ก็ได้พยายามกดดันจีนเรื่องเขต ADIZ โดยใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าอเมริกาไม่ต้องการปลุกเร้าสถานการณ์ให้ลุกลามยิ่งไปกว่านี้
ผู้สื่อข่าวได้ถามเน้นจุดยืนของสหรัฐฯ ว่าต้องการให้จีน “เพิกถอน” ประกาศ ADIZ หรือวอชิงตันยังรับได้หากเขต ADIZ จะยังคงอยู่แต่ไม่มีการบังคับใช้จริง ซึ่งก็ได้รับคำตอบเลี่ยงๆ จาก คาร์นีย์ ว่า “เป็นเรื่องที่ตีความได้อยู่แล้ว”
“ผมและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆพูดชัดเจนแล้วว่า มันรับไม่ได้... เราขอร้องให้จีนอย่าบังคับใช้ ซึ่งผมคิดว่า การไม่บังคับใช้ก็เป็นอะไรที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าสหรัฐฯมีนโยบายอย่างไร เราไม่ยอมรับเขตดังกล่าว”
คาร์นีย์ ยังขอให้จีนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเช่นนี้ในอนาคต และร่วมมือญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกัน หรืออาจเปิดช่องทางสื่อสารในกรณีฉุกเฉิน “เพื่อบรรเทาปัญหาอันเกิดจากการประกาศเขต ADIZ”
ด้าน พล.อ.มาร์ติน เด็มป์ซีย์ ประธานเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ยืนยันว่า ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในแปซิฟิกจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะวอชิงตันได้เอ่ยกับจีนอย่างชัดเจนแล้วว่า ข้อพิพาทดินแดนไม่ควรแก้ไข “ฝ่ายเดียว” และไม่ใช่ด้วยการ “ข่มขู่”
“เราทุกประเทศต่างได้ประโยชน์จากความมีเสถียรภาพของภูมิภาคแปซิฟิก และผมประเมินว่าจีนเองก็ฉลาดพอที่จะทราบในข้อนี้”