xs
xsm
sm
md
lg

ผู้คน 3 ล้านทั่วโลกร่วมสืบหาร่องรอย MH370 ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม DigitalGlobe

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ประชาชนราว 3 ล้านคนทั่วโลกเข้าร่วมโครงการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมของบริษัท ดิจิตอลโกลบ (DigitalGlobe) เพื่อค้นหาร่องรอยของเครื่องบินโดยสารมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไปนานกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจนับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา (crowdsourcing) ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ดิจิตอลโกลบ ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ให้บริการด้านภาพถ่ายดาวเทียม แถลงเมื่อวานนี้ (17) ว่า ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบิน MH370 เวลานี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 24,000 ตารางกิโลเมตร และมีการเพิ่มภาพใหม่ๆ ทุกวัน รวมถึงภาพถ่ายดาวเทียมเหนือมหาสมุทรอินเดีย

บริษัทฯ ระบุว่ามีประชาชนกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกเข้าร่วมโครงการค้นหาเครื่องบิน โดยล่าสุดมีผู้เข้าชมภาพถ่ายดาวเทียม 257,000,000 แมปวิว และมีพื้นที่ที่ถูก “แท็ก” ถึง 2,900,000 แห่ง

เที่ยวบิน MH370 ซึ่งนำผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิตออกเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงปักกิ่งเมื่อกลางดึกวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม สูญหายไปจากจอเรดาร์ขณะบินอยู่เหนือทะเลจีนใต้ นำมาซึ่งปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่พบเศษชิ้นส่วนที่จะยืนยันการตกของเครื่องบินได้

ดิจิตอลโกลบได้เปิดแพลตฟอร์ม “Tomnod” ขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม และเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปตรวจดูภาพถ่ายที่มีความคมชัดสูงจากดาวเทียมทั้ง 5 ดวง โดยหวังว่าจะพบร่องรอยของเครื่องบินที่สูญหาย

โครงการนี้ได้รับการตอบสนองอย่างล้นหลาม และมีผู้เข้าใช้ระบบจนโอเวอร์โหลดในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

“นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญของดิจิตอลโกลบจะตรวจสอบแท็กที่มีผู้ตั้งไว้ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่เป็นไปได้มากที่สุด 10 แห่ง และจะแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวให้แก่ลูกค้าหรือทางการ” ถ้อยแถลงของดิจิตอลโกลบระบุ

“ดิจิตอลโกลบสามารถติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้โดยตรง และให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินครั้งนี้ รวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก”

แม้จะยังไม่เคยมีการจดบันทึกสถิติเกี่ยวกับการกระจายปัญหาให้ประชนทั่วไปได้ร่วมค้นหาคำตอบ (crowdsourcing) แต่ดิจิตอลโกลบเชื่อว่า โครงการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมครั้งนี้น่าจะเป็น crowdsourcing ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ยิ่งกว่าการระดมความช่วยเหลือสู่ผู้ประสบภัยไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในฟิลิปปินส์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเสียอีก

เลีย แชนลีย์ นักวิจัยซึ่งศึกษาเรื่อง crowdsourcing จากสถาบันนานาชาติสำหรับนักวิชาการวูดโรว์วิลสัน ระบุว่า “แม้จะมีโครงการอื่นๆ ที่มวลชนเข้าร่วมมากพอๆ กัน แต่ไม่ใช่ในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้”

“แม้โครงการนี้อาจไม่สามารถบอกพิกัดที่แน่นอนของเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์สได้ แต่อย่างน้อยก็จะสามารถบอกได้ว่า จุดไหนที่ไม่พบเครื่องบิน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานของนักวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมมืออาชีพได้อย่างมาก”
กำลังโหลดความคิดเห็น