xs
xsm
sm
md
lg

มี‘ธงเอกราช’อยู่ในกลุ่มชาวอุยกูร์ที่ต่อสู้กับตำรวจจีน

เผยแพร่:   โดย: โชห์เรต โฮชู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Independence flag among shot Uyghurs
By Shohret Hoshur
20/11/2013

หนุ่มวัยรุ่นชาติพันธุ์อุยกูร์กลุ่มหนึ่ง ถูกยิงเสียชีวิตหมดขณะพวกเขาบุกเข้าไปในสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในมณฑลซินเจียงของจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะชักธงของเตอร์กิสถานตะวันออก เป็นการเลียนแบบเหตุการณ์โจมตีที่เคยเกิดขึ้นในจุดอื่นในดินแดนไร้ความสงบทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแดนมังกรแห่งนี้ ทั้งนี้ธงชาติของสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก ซึ่งก่อตั้งขึ้นมา 2 ครั้งในช่วงปี 1933 และปี 1944 ยังคงมีชาวอุยกูร์จำนวนมากถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกราชของดินแดนแห่งนี้

หนุ่มวัยรุ่นชาติพันธุ์อุยกูร์กลุ่มหนึ่ง ถูกยิงเสียชีวิตหมดขณะพวกเขาบุกเข้าไปในสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในซินเจียง (ซินเกียง) ดินแดนอันเต็มไปด้วยความวุ่นวายทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะชักธงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกราชของดินแดนนี้ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของตำรวจซึ่งระบุด้วยว่า เป็นไปได้ทีเดียวว่าการกระทำคราวนี้อาจจะเป็นการปฏิบัติภารกิจแบบตั้งใจฆ่าตัวตาย

ตำรวจกล่าวว่า เหตุการณ์โจมตีโดยฝีมือของหนุ่มวัยรุ่น 9 คน ซึ่งมีอายุระหวางสิบกว่าปีปลายๆ จนถึงยี่สิบปีต้นๆ คราวนี้ มีเป้าหมายอยู่ที่สถานีตำรวจตำบลสิริกบูยา (Siriqbuya ภาษาจีนเรียกว่า Selibuya) ในอำเภอมารัลเบชิ (Maralbeshi ภาษาจีนเรียกว่า Bachu) ของจังหวัดคัชการ์ (Kashgar) โดยที่เชื่อกันว่าพวกเขารีบลงมือกระทำการคราวนี้ ภายหลังมีการจับกุมตัวชาย 2 คนซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันกับพวกเขา

วัยรุ่นทั้ง 9 คนซึ่งมีมีดและเคียวเป็นอาวุธ สังหารตำรวจตายไป 3 คนในการบุกโจมตีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนคราวนี้ โดยที่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น การโจมตีของ “ผู้ก่อการร้าย”

มาห์มุต ดาวุต (Mahmut Dawut) รองสารวัตรสถานีตำรวจตำบลสิริกบูยา บอกกับสถานีวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาอุยกูร์ (RFA's Uyghur Service) ว่า วัยรุ่นกลุ่มนี้มีธงสีฟ้าขาว ซึ่งเคยใช้เป็นธงชาติของสาธารณรัฐเอกราชที่ก่อตั้งขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ 2 ช่วงเมื่อ 70-80 ปีก่อน ภายในดินแดนที่เป็นเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง ของจีนในเวลานี้

เขาเล่าว่า วัยรุ่นกลุ่มนี้พยายามที่จะยึดสถานีตำรวจ แล้วชักธงชาติสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก (republics of East Turkestan) ขึ้นเหนืออาคารสถานี เป็นการเลียนแบบการโจมตีซึ่งเกิดขึ้นในเมืองโฮตัน (Hotan) ทางตอนใต้ของซินเจียง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2011 โดยในคราวนั้นหนุ่มๆ ชาวอุยกูร์กลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าจับตัวประกันเอาไว้หลายคนในสถานีตำรวจแห่งหนึ่งของเมืองดังกล่าว จากนั้นก็นำเอาธงชาติจีนลงมา และชักธงเตอร์กิสถานตะวันออกขึ้นไปแทนที่ (หมายเหตุผู้แปล -เหตุการณ์ครั้งนั้นก็จบลงด้วยการนองเลือด โดยมีผู้เสียชีวิตไป 18 คน เป็นคนร้ายที่เข้าโจมตี 14 คน, เจ้าหน้าที่ 2 คน, ตัวประกัน 2 คน –ข้อมูลจาก Wikipedia)

สำหรับชาวอุยกูร์จำนวนมาก ธงชาติของสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก ซึ่งสถาปนาขึ้นครั้งแรกในปี 1933 (ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 1933 ถึงวันที่ 6 มีนาคม 1934 –ข้อมูลจาก Wikipedia) และครั้งที่สองในปี 1944 (ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 1944 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 1949 –ข้อมูลจาก Wikipedia) ยังคงถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกราชของดินแดนนี้

เอห์เมตจัน โอบุล (Ehmetjan Obul) ตำรวจผู้หนึ่งที่เข้าเวรอยู่ในสถานีตำรวจสิริกบูยา ในวันเกิดเหตุโจมตี เล่าว่าได้พบธงเตอร์กิสถานตะวันออกผืนหนึ่งในศพของผู้เข้าโจมตี 4 คน ซึ่งถูกฆ่าตายตรงบริเวณหน้าประตูของอาคารหลักของสถานีตำรวจ

“ในตัวพวกคนที่ถูกยิงตายถัดไปจากประตูของเรา มีธงสีฟ้าผืนหนึ่งที่มีรูปพระจันทร์เสี้ยวและดาว” เขากล่าว ขณะที่ เกยิม นิจัต (Qeyim Nijat) ตำรวจอีกคนหนึ่งที่สถานีสิริกบูยา ยืนยันเช่นกันว่าพวกที่บุกโจมตีนำเอาธงดังกล่าวมาด้วย

ตอนที่ หลิว เฉิง (Liu Cheng) สารวัตรสถานีตำรวจสิริกบูยา และรองสารวัตร เฮเซน อับเลต (Hesen Ablet) พูดกับวิทยุเอเชียเสรีในวันที่เกิดเหตุโจมตีนั้น พวกเขาไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องคนร้ายนำเอาธงมาด้วย โดยกล่าวแต่เพียงว่าหนุ่มวัยรุ่นเหล่านี้บุกเข้าไปในป้อมรักษาการณ์ของสถานีตอนช่วงบ่ายวันนั้น และถูกยิงตายขณะพยายามรุกคืบหน้าเข้าสู่ตัวอาคารหลักของสถานี

วิทยุเอเชียเสรียังไม่สามารถติดต่อกับ หลิว และ อับเลต อีกครั้ง เพื่อขอคำยืนยันรายงานข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการโจมตีในวันนั้น ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองของสิริกบูยา ในรอบ 7 เดือน

ในเหตุการณ์โจมตีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีพลตำรวจสำรอง 2 คนถูกตีด้วยไม้กระบองจนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และตำรวจอีกคนหนึ่งตายขณะอยู่ในเส้นทางไปโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ยุติลงอย่างรวดเร็วเมื่อชุดตำรวจความมั่นคงที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี เดินทางมาถึงและยิงผู้ก่อเหตุตายเรียบทั้ง 9 คน

**ปฏิบัติการชิงผู้ต้องหา?**

แหล่งข่าวตำรวจอื่นๆ หลายรายบอกกับวิทยุเอเชียเสรีว่า การโจมตีคราวนี้อาจจะเกิดขึ้น สืบเนื่องจากการจับกุมชาย 2 คนเมื่อช่วงบ่ายของวันนั้น ที่หมู่บ้านอลากีร์ (Alaghir) ซึ่งตั้งอยู่นอกตัวตำบลสิริกบูยาออกไปไม่กี่กิโลเมตร ตำรวจไม่ได้บอกว่าบุคคลทั้ง 2 ซึ่งถูกนำตัวไปคุมขังอยู่ที่ศูนย์กักขังของอำเภอในตอนที่เกิดเหตุโจมตีสถานีตำรวจ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนร้ายทั้ง 9 แต่กล่าวว่าชาย 2 คนนี้เป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ของผู้โจมตีทั้ง 9 คน

ทางด้านรองสารวัตรดาวุต บอกว่า การโจมตีสถานีตำรวจอาจจะเป็นความพยายามของพวก 9 คนที่จะช่วยเหลือ 2 คนที่ถูกขัง ด้วยความหวาดกลัวว่า 2 คนที่ถูกจับกุมนี้อาจจะยอมเปิดปากซัดทอดเผยข้อมูลการกระทำผิดของพวกเขาต่อตำรวจ

“พวกเขาโจมตีสถานีตำรวจของเราก็เพื่อช่วยผู้สมรู้ร่วมคิดทั้ง 2 คนของพวกเขา ซึ่งถูกเพื่อนร่วมงานของเราจับตัวได้เมื่อสัก 1 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น แล้วจากนั้นก็ถูกส่งตัวต่อไปที่ศูนย์กักขังในตัวอำเภอ” เขาเล่า

นอกจากนั้น มันก็ยังอาจจะเป็นการ “ปฏิบัติภารกิจฆ่าตัวตาย” ซึ่งลงมือทำทันทีที่พวกเขาทราบว่าพวกเขาอาจเผชิญโทษหนัก จากข้อมูลที่ 2 คนที่ถูกจับเปิดเผยซัดทอดออกมา รองสารวัตรผู้นี้กล่าวสันนิษฐาน

“พวกเขารู้ดีอยู่แล้วว่า พวกเขาไม่สามารถช่วย 2 คนนั้นได้หรอก แต่อุดมการณ์แบบพวกสุดโต่งของพวกเขาทำให้พวกเขามีแรงจูงใจที่จะลองทำดู” เขาบอก “บางทีพวกเขาอาจจะนึกทึกทักไปแล้วว่าพวกเขาคงจะถูกจับและถูกลงโทษหนักตามกฎหมาย หลังจากที่เพื่อนร่วมงานของพวกเขายอมรับสารภาพ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมพวกเขาเลือกที่จะตายด้วยการบุกโจมตีสถานีตำรวจเสียเลยดีกว่า”

ตำรวจระบุว่าทราบชื่อเสียงเรียงนามของผู้เข้าโจมตีแล้ว 5 คน

**ถูกแบ่งแยกกีดกัน**

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนมักกล่าวหาชาวอุยกูร์ว่ามีกิจกรรมแบบผู้ก่อการร้าย ทว่าผู้เชี่ยวชาญซึ่งคุ้นเคยกับดินแดนแถบนี้บอกว่า ปักกิ่งกำลังขยายเรื่องภัยคุกคามจากการก่อการร้ายให้เกินเลยความเป็นจริง เพื่อจะได้ลดทอนกระแสประณามตำหนินโยบายภายในประเทศด้านต่างๆ ของพวกเขาเอง ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นมา

ขณะที่ชาวอุยกูร์หลายรายระบุว่า พวกเขาเผชิญความลำบากมานานแล้วทั้งจากการถูกแบ่งแยกกีดกันสืบเนื่องจากชาติพันธุ์, การถูกควบคุมทางด้านศาสนาที่มีลักษณะกดขี่, ตลอดจนภาวะยากจนและไม่มีงานทำอย่างต่อเนื่องในซินเจียง ขณะที่มีชาวจีนฮั่นที่เป็นคนส่วนใหญ่ในแดนมังกร หลั่งไหลทะลักเข้ามาในดินแดนซึ่งมั่งคั่งด้วยทรัพยากรแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย

การโจมตีสถานีตำรวจคราวนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มทวีขึ้นในซินเจียง ภายหลังจากมีชาวอุยกูร์ก่อเหตุขับรถยนต์พุ่งเข้าชนกลุ่มคนในจัตุรัสเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้ว

รัฐบาลนั้นประณามว่าการโจมตีที่เทียนอันเหมินเป็นฝีมือของ “ผู้ก่อการร้าย” จากซินเจียง แต่อดีตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคนหนึ่งกล่าวว่า ชาวอุยกูร์ซึ่งก่อเหตุนี้ขึ้น อาจจะกระทำเช่นนั้นเพราะโกรธแค้นเรื่องที่ตำรวจบุกเข้าไปรื้อถอนส่วนหนึ่งของมัสยิดแห่งหนึ่งที่บ้านเกิดของเขาก็ได้

ซินเจียงเกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องไม่ขาดสายในระยะไม่กี่ปีหลังๆ นี้ ขณะที่ปักกิ่งได้เพิ่มมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และขยายการใช้วิธีการบุกตรวจค้นบ้านโดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ครอบครัวชาวอุยกูร์

โชห์เรต โฮชูร์ (Shohret Hoshur ) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ให้แก่วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาอุยกูร์ (Radio Free Asia's Uyghur Service) มามัตจัน จูมา (Mamatjan Juma)และ โชห์เรต โฮชูร์ (Shohret Hoshur ) เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ราเชล แวนเดนบริงก์ (Rachel Vandenbrink) เป็นผู้เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น