xs
xsm
sm
md
lg

ความรุนแรงในซินเจียง ปัญหาใหญ่อยู่ที่ปากท้อง ไม่ใช่ดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์รถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันหนึ่งแล่นเข้าใส่ฝูงชน ริมรั้วกั้นสะพานจินซุ่ยของประตูทางเข้าเทียนอันเหมิน ใจกลางมหานครปักกิ่ง เกิดเพลิงลุกไหม้จนเป็นเหตุให้คนขับและผู้โดยสารรวม 3 รายเสียชีวิตคาที่ เมื่อเวลา 12.05 น. วันที่ 28 ต.ค. (ภาพเอเอฟพี)
เอเยนซี - ชาวบ้านมุสลิมอุยกูร์ และผู้เชี่ยวชาญซินเจียง เผยปัญหาความไม่สงบในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์นั้น สิ่งที่คุกคามความมั่นคงของจีนมากกว่าลัทธิก่อการร้ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนอิสลาม คือปัญหาความยากจน ปากท้องของประชาชน

สื่อต่างประเทศรายงาน (3 พ.ย.) บทวิเคราะห์ปัญหาร้อนของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน หรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่า เตอร์กิสถานตะวันออก โดยการลงพื้นที่สอบถามความเห็นของชาวพื้นเมืองซินเจียง ในอูรุมฉี อาบูดูวาฮาปู หนุ่มอุยกูร วัย 22 ปี กล่าวว่า รากของปัญหาความรุนแรงในซินเจียงนั้น เป็นเรื่องของการขัดแย้งทางวัฒนธรรม ซึ่งเขาแสดงความเห็นว่า ชาวฮั่นนั้นไม่นับถือศาสนา ไม่มีศรัทธาลัทธิความเชื่อใดๆ ขณะที่ชาวอุยกูรจะตรงกันข้าม และความที่ไม่เหมือนกันในพื้นฐานนี้ ทำให้เข้ากันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจกันด้วย

อาบูดูวาฮาปู ไม่เห็นด้วยกับการกล่าวหาของรัฐบาลจีน ที่ว่า เหตุการณ์ระเบิดรถยนต์ที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการกระทำของกลุ่มเรียกร้องเอกราช อิสลามหัวรุนแรง (Uygur Islamist extremists)สืบเนื่องจากเหตุการณ์กลุ่มชายหญิงชาวซินเจียงใช้รถยนต์ขนาดเล็กเป็นเครื่องมือก่อเหตุระเบิดพลีชีพ บริเวณหน้าประตูเทียนอันเหมิน ใจกลางนครหลวงแดนมังกร เมื่อช่วงเที่ยงของวันจันทร์ที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 40 คน และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยชาวซินเจียงจำนวน 5 รายได้วานนี้ พร้อมมุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคลชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียงว่าอยู่เบื้องหลังเหตุความวุ่นวายทั้งหมด

นายเมิ่ง เจี้ยนจู้ เลขาธิการสำนักกฎหมายและการเมืองแห่งชาติ และรมต.ว่าการกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ของจีน ได้กล่าวกลางที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยความปลอดภัยแห่งภูมิภาค ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน โดยระบุว่า “เหตุก่อการร้ายในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น เป็นการกระทำที่มีการไตร่ตรองและจัดการวางแผนล่วงหน้าไว้อย่างรอบคอบ ภายใต้การควบคุมของขบวนการอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออก ซึ่งพยายามสร้างอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันตกอยู่ในปัจจุบัน"

ขบวนการอิสลามแห่งเตอร์กิสถานตะวันออก หรืออีทีไอเอ็ม (ETIM) เป็นกลุ่มกองกำลังชาวมุสลิมที่มีแนวคิดลัทธิแบ่งแยกดินแดนอย่างชัดเจน และได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเฝ้าระวังจากองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) ตั้งแต่ปี 2545 โดยจีนเชื่อว่า อีทีไอเอ็มมีเป้าหมายพยายามก่อตั้งรัฐอิสระขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียง ชนชาติอุยกูร์ของจีน รวมถึงเป็นตัวบงการเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

นอกจากนี้ นายเมิ่งยังได้กล่าวกระตุ้นความร่วมมือจากนานาชาติในการต่อกรกับขบวนการก่อร้ายต่างๆ อีกด้วย โดยเขาระบุว่า “เราควรยกระดับความร่วมมือและเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการปัญหาการก่อการร้าย เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบปลอดภัยและความมั่นคงในภูมิภาค”
พ่อค้าหยกชาวอุยกูร์ตั้งแผงขายสินค้าของพวกตนอยู่บริเวณนอกประตูตลาดแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งวันนี้ (30 ต.ค.) โดยที่มีรายงานจากชาวอุยกูร์ลี้ภัยว่า ประชาชนชาวอุยกูร์ในปักกิ่งถูกจับกุมไป 93 คน ภายหลังเกิดเหตุรถพุ่งชนฝูงชนที่บริเวณประตูเทียนอันเหมิน เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ต.ค. (ภาพเอเยนซี)
อาบูดูวาฮาปู ชาวอุยกูร์ผู้ย้ายมาจากเมืองคาชการ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซินเจียง ชายแดนปากีสถานและอัฟกานิสถาน เพื่อเข้ามาทำงานหาเลี้ยงชีพกล่าวว่า "คนอุยกูร์บางคนอาจจะสนับสนุนการกระทำของกลุ่มดังกล่าว แต่ไม่ใช่ทุกคน และโดยส่วนใหญ่ของคนที่สนับสนุนนั้น ก็มาจากเหตุปัจจัยของความยากจน ทำมาหากินฝืดเคือง"

"ชาวฮั่นมักมองชาวอุยกูร์ว่า เป็นคนหัวรุนแรง และกลัวว่าจะถูกคนอุยกูรทำร้าย ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามยกประเด็นว่า ต้องปราบกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง พร้อมๆ ไปกับเข้ามาตักตวงทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่ามากมายใต้ผืนดินที่พวกเขาอาศัย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิด เพราะก่อนหน้านี้ นับสิบๆ ปีแล้ว จีนใช้เหตุการณ์ ก่อวินาศกรรม 9/11 ในประเทศสหรัฐฯ มาเปรียบและอ้างว่ากลุ่มอัลกออิดะฮ์ มีส่วนสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในอุยกูร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ภาพของชาวอุยกูรไม่ใช่แบบนี้เลย สิ่งที่ชาวอุยกูรเป็นคือ ชนพื้นเมืองที่รักสันติ แต่ที่สุดภาพลักษณ์ของชาวอุยกูร์ก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นคนที่รัฐเฝ้าหวาดระแวง สงสัย"

รัฐบาลจีน อ้างว่า มีกลุ่มอัลกออิดะฮ์ กับกลุ่มเตอรกิสตะวันออก เคลื่อนไหวในซินเจียง และประกาศจับ ฮิซบ์ อัต-ทาฮรีร ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีเป้าหมายก่อตั้งรัฐมุสลิม

อาบูดูวาฮาปู กล่าวว่า เหตุการณ์ล่าสุด ที่เทียนอันเหมิน ดูจะยิ่งทำให้ชาวฮั่นมองชาวอุยกูร์อย่างหวาดกลัวแบบไร้เหตุผล

ทั้งนี้ ย้อนไปในปี 2001 จีนได้ใช้นโยบายกวาดล้าง จำกัดสิทธิเสรีภาพ และ กลืนวัฒนธรรมของชาวอุยกูร ขนบธรรมเนียมประเพณี และภาษา ซึ่งชาวอุยกูรเชื่อว่า ยิ่งทำอย่างนั้น ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน และยิ่งทำให้ชาวอุยกูร์ต่อต้านเพื่อป้องกันวัฒนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของตนมากยิ่งขึ้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนประจำการคุมเข้มอยู่ริมถนนสายหนึ่งใกล้กับจัตุรัสเทียนอันเหมินของกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น (ภาพ - เอเอฟพี)
ก่อนหน้านี้ สตรีชาวอุยกูรก็แต่งตัวตามสมัยเหมือนชาวฮั่นทั่วไป แต่กลายเป็นว่าปัจจุบัน เริ่มมีการสวมใส่ชุดประเพณีกันมากขึ้น ซึ่งปกติเป็นชุดที่เห็นกันทั่วไปในปากีสถาน หรืออัฟกานิสถาน มากกว่าในซินเจียง

โจแอน สมิธ ผู้บรรยายวิชาจีนศึกษา จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล สหราชอาณาจักร ซึ่งเชี่ยวชาญกรณีซินเจียง กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่รัฐบาลจีน กดดันระงับชาวอุยกูรเกี่ยวกับการดำเนินพิธีกรรม การนับถือศาสนาอย่างหนัก นั่นเอง ที่ทำให้ชาวมุสลิมอุยกูร์ ลุกขึ้นปกป้องประเพณีท้องถิ่น และทำให้มีวัฒนธรรมอิสลามเหนียวแน่น อีกทั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เธอเสริมว่า ในซินเจียงไม่มีลักษณะของมุสลิมหัวรุนแรงเลย

ทั้งนี้ รัฐบาลจีน ได้ตระหนักว่าปัญหาเศรษฐกิจ เป็นปัญหาใหญ่ในซินเจียง จึงทุ่มงบประมาณเข้าไปเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล และถนนหนทาง สาธารณูปโภค พร้อมกับสร้างรายได้ครัวเรือนให้มากขึ้น โดยข้อมูลระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว รายได้ต่อปีของชาวชนบท นั้นต่ำกว่า 6,400 หยวน ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีก่อนหน้า แม้ว่า จะต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ราว 1,500 หยวน และต่ำกว่ารายได้ของชาวชนบทในเขตเซี่ยงไฮ้ กว่า 11,000 หยวน

ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ ต่อต้านชาวอุยกูร์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ให้ตก เพราะทุกวันนี้ จะพบเห็นป้ายโฆษณา สมัครงานทั่วไปที่พิมพ์ข้อความว่า "ไม่รับชาวอุยกูร"

อิลฮัม โตหติ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอุยกูร์ ซึ่งติดตามนโยบายของรัฐบาลจีนที่มีต่อซินเจียงมาเป็นเวลานาน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินทำให้เขากังวลว่า จะปลุกกระแสความเกลียดชัง หวาดระแวงชาวอุยกูรเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันจะกลายเป็นผลกระทบระยะยาว ก่อความเสียหายต่อชาวอุยกูร์ และทำให้พวกเขาอยู่ยากขึ้นในสังคมที่ปกครองโดยชาวฮั่น
กำลังโหลดความคิดเห็น