xs
xsm
sm
md
lg

แอร์ไลน์ US ยอมแจ้งแผนการบิน ‘จีน’ ญี่ปุ่นว้าวุ่นรอหารือ ‘รองปธน.ไบเดน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่แสดงเขต ADIZ ของจีน (เส้นสีแดง) และของญี่ปุ่น (เส้นสีน้ำเงิน) ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งทับซ้อนกันอยู่
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – สายการบินใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ทั้ง ยูไนเต็ด แอร์ไลน์, อมริกัน แอร์ไลน์, และ เดลตา แอร์ไลน์ ต่างแจ้งแผนการบินต่อทางการจีน เมื่อเครื่องบินโดยสารของพวกตนผ่านเขตป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนตะวันออกตามคำแนะนำของรัฐบาลอเมริกัน โดยที่วอชิงตันยังคงยืนยันว่า เป็นเพียงแนวทางปกติ และไม่ได้แปลว่าอเมริกายอมรับกฎของปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กำลังทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นสับสนว้าวุ่น เพราะได้บอกให้สายการบินแดนอาทิตย์อุทัย บินผ่านบริเวณดังกล่าวตามปกติโดยไม่ต้องแจ้งปักกิ่ง

จีนนั้นประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ในทะเลจีนตะวันออกเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว โดยครอบคลุมน่านฟ้าเหนือหมู่เกาะที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยแต่เป็นข้อพิพาทแย่งชิงกันอยู่กับญี่ปุ่น ซึ่งจีนเรียกชื่อว่า เตี้ยวอี๋ว์ แต่ญี่ปุ่นขนานนามว่า เซงกากุ

อันที่จริง ประเทศใหญ่ๆ จำนวนมากในโลก รวมทั้ง สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ ต่างก็ประกาศเขตเช่นนี้กันมานานปีแล้ว โดยในกรณีของญี่ปุ่นเพิ่งปรับขยาย ADIZ ไปทางตะวันตกเพิ่มขึ้น 22 ก.ม.เมื่อเดือนพฤษภาคมนี้เอง ทว่าในขณะที่โตเกียวเรียกร้องให้เครื่องบินที่บินผ่านเขตเช่นนี้ของตน ต้องแสดงตัวตนเฉพาะในรายที่จะเข้ามาลงจอดในแดนอาทิตย์อุทัยเท่านั้น กฎเกณฑ์ที่ปักกิ่งประกาศนั้นกำหนดให้ต้องแจ้งให้ทราบก่อนทุกๆ ลำ

ปรากฏว่าหลังการประกาศของจีน ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ต่างออกมาประณามไม่ยอมรับ และ “ลองของ” ด้วยการส่งเครื่องบินทหาร ซึ่งรวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 ของสหรัฐฯ บินผ่านบริเวณดังกล่าวโดยไม่แจ้งจีน

อย่างไรก็ดี ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ย.) รัฐบาลสหรัฐฯออกคำแถลงระบุว่า คาดหมายให้สายการบินพาณิชย์ทั้งหลายของอเมริกา จะดำเนินการตามประกาศของต่างประเทศทั้งหลายซึ่งแจ้งหน่วยงานการบินต่างๆ แต่คำแถลงก็ย้ำว่า การตัดสินใจนี้ไม่ได้หมายความว่า วอชิงตันยอมรับข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของจีนแต่อย่างใด

หลังจากนั้น เดลตา แอร์ไลน์ ออกมาระบุว่า ได้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของจีนโดยการแจ้งแผนการบินขณะบินผ่านเขตป้องกันภัยทางอากาศของแดนมังกรในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านอเมริกันและยูไนเต็ดแถลงในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ได้บอกว่า จะทำเช่นนั้นอีกนานแค่ไหน

ตรงข้ามกับสายการบินชั้นนำสองแห่งของญี่ปุ่นคือ เอเอ็นเอ โฮลดิ้งส์ และเจแปน แอร์ไลน์ ที่ปฏิบัติตามคำขอของทางการโตเกียวในการบินผ่าน ADIZ โดยไม่แจ้งจีน และเผยว่า ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด

สายการบินทั้งสองแถลงว่าพวกเขายังคงยึดมั่นกับนโยบายนี้ แม้ภายหลังวอชิงตันแถลงแนะนำพวกสายการบินสหรัฐฯแล้ว

หากมีสัญญาณใดๆ ก็ตามที่บ่งบอกเป็นนัยว่าสหรัฐฯกำลังยอมรับเขตป้องกันของจีน ย่อมจะสร้างความสับสนว้าวุ่นให้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังวาดหวังว่าจะได้โอกาสแสดงความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอเมริกา ในโอกาสที่รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 34 ชั่วโมงตั้งแต่คืนวันจันทร์ (2 ธ.ค.) ทั้งนี้นอกจากแวะญี่ปุ่นแล้ว ไบเดนยังจะไปจีนและเกาหลีใต้ด้วย

“เราจะมีการพูดจาหารือแบบเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้” สำนักข่าวเกียวโดอ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของแดนอาทิตย์อุทัย “ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯจะรับมือคลี่คลายเรื่องนี้ด้วยความร่วมมือประสานงานกันและกันอย่างใกล้ชิด”

อย่างไรก็ดี เขายืนกรานด้วยว่า สหรัฐฯไม่ได้แนะนำสายการบินของประเทศตนให้ทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายจีน โดยตามรายงานของเกียวโด อาเบะบอกว่า “เราได้รับการยืนยันผ่านทางช่องทางการทูตหลายๆ ช่องทางว่า รัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้ขอร้องให้พวกสายการบินเพื่อการพาณิชย์ยอมส่งแผนการบิน (ต่อฝ่ายจีน)”

ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหม อิสึโนริ โอโนเดระ ก็กล่าวสำทับตามนายกรัฐมนตรีว่า โตเกียวกับวอชิงตันกำลังทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานกัน

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯกำลังใช้จุดยืนเดียวกันกับรัฐบาลญี่ปุ่น” เขากล่าวเช่นนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุโทรทัศน์เอ็นเอชเค ของทางการแดนอาทิตย์อุทัย

ตั้งแต่ที่เริ่มประกาศใช้เขต ADIZ ของตน จีนยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนอะไรเลยต่อความปลอดภัยของเที่ยวบินพลเรือนระหว่างประเทศทั้งหลาย โดยที่กระทรวงการต่างประเทศแดนมังกรได้ออกมาแถลงเรื่องนี้อีกในวันพฤหัสบดี (28 พ.ย.) รวมทั้งระบุว่า จีน “หวัง” ว่าสายการบินต่างๆ จะให้ความร่วมมือ

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวซินหวาของทางการจีน รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเฉิน จินเก๋อ โฆษกกองทัพอากาศแดนมังกรว่า เมื่อวันศุกร์ จีนได้ส่งเครื่องบินไอพ่นของตนออกติดตามเครื่องบินสอดแนมสหรัฐฯ 2 ลำ และเครื่องบินของญี่ปุ่น 10 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินขับไล่ เอฟ-15 หลายลำ ที่ได้บินเข้า ADIZ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การปฏิบัติการติดตามตรวจสอบดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี หยาง อี้ว์จิว์น โฆษกกระทรวงกลาโหมยืนยันว่า จีนไม่มีเจตนายิงเครื่องบินต่างชาติที่เข้าสู่ ADIZ โดยไม่เปิดเผยตัวตนตามที่หลายฝ่ายพูดกัน แม้จีนหวังว่า สายการบินพาณิชย์ของประเทศต่างๆ จะปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดก็ตาม

ขณะเดียวกัน ฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ตอบโต้คำวิจารณ์ของ แคทเธอลีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ปักกิ่งหวังว่า อียูจะปฏิบัติเกี่ยวกับสถานการณ์นี้อย่างเป็นกลางและมีเหตุผล เนื่องจากบางประเทศในยุโรปก็มี ADIZ เช่นเดียวกัน

การตอบโต้คราวนี้มีขึ้นหลังจากแอชตันแสดงความกังวลว่า การที่จีนก่อตั้ง ADIZ และประกาศใช้ “มาตรการป้องกันฉุกเฉิน” กับผู้ไม่ปฏิบัติตาม อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ตึงเครียดรุนแรงภายในภูมิภาค พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังและอดกลั้น

ทางด้านหนังสือพิมพ์โกลบัล ไทมส์ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการเมื่อวันศุกร์ยกย่องปักกิ่งที่ตอบโต้ “การยั่วยุ” อย่างสงบ และว่า จีนจะไม่พุ่งเป้าที่อเมริกา ตราบที่อเมริกา “ไม่กระทำการที่มากเกินพอดี" แต่เตือนญี่ปุ่นรอรับการตอบโต้ ถ้ายังขืนส่งเครื่องบินทหารผ่าน ADIZ โดยไม่บอกกล่าว

“หากแนวโน้มนี้ยังคงอยู่ต่อไป อาจเกิดการขัดแย้ง เผชิญหน้า หรือกระทั่งการชนกันกลางอากาศ ดังนั้น จีนจึงมีภารกิจเร่งด่วนในการฝึกฝนกำลังพลของกองทัพอากาศเพื่อเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการรับมือสถานการณ์ขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น” บทบรรณาธิการระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น