xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ?? “ชาวสวิส” ลงประชามติคว่ำมาตรการให้ “จำกัดเงินเดือนซีอีโอ 1:12”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - สื่ออังกฤษ เช่น บีบีซี ในวันอาทิตย์(24)ประชาชนชาวสวิสได้เข้าคูหาลงประชามติ “คัดค้าน” มาตรการจำกัดเงินเดือนผู้บริหารสูงของบริษัท หรือซีอีโอ ให้มีความต่างกับเงินเดือนพนักงานขั้นต่ำสุดราว 12 เท่า ที่รู้จักในนาม “1:12” ซึ่งถือเป็นมาตราการที่ก้าวหน้ามากที่สุดกว่าประเทศอุตสาหกรรมใดๆทั้งหมด โดยผลคะแนนเสียงคัดค้านมาตรการ“1:12” อยู่ที่ 65.3% ต่อเสียงสนับสนุนที่ 34.7%

เมื่อวานนี้(24)รัฐบาลสวิสได้เปิดเผยผลการลงประชามติมาตรการจำกัดเงินเดือนผู้บริหารบริษัทระดับสูงอยู่ที่ 12 เท่าของเงินเดือนพนักงานขั้นต่ำสุด หรือที่รู้จักในนาม “1:12” พบว่าชาวสวิสคัดค้านมาตรการนี้อย่างท่วมท้นถึง65.3% ทางด้านประธานของสมาคมนายจ้างแห่งสวิตเซอร์แลนด์ วาเลนติน โวจต์ กล่าวยอมรับในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งชาติสวิส SRFว่า “มันเหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะผลประชามติครั้งนี้ส่งสัญญาณว่า การกำหนดเงินเดือนนั้นไม่อยู่ภายใต้การสั่งการของรัฐ” ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์นั้นไม่มีการจำกัดค่าแรงขั้นต่ำ

มีซีอีโอ5 คนจากท็อปลิสต์ 20ของผู้บริหารที่ได้รับค่าตอบแทนที่สูงที่สุดอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งแดนนาฬิกานี้ถือเป็นบ้านของบริษัทยาขนาดยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Novartis และRoche รวมไปถึงบริษัทประกันภัย เช่น Swiss Re และ Zurich Insurance group ตลอดจนสถาบันการเงินชั้นนำ เช่น UBS และ Credit Suisseเป็นต้น โดยเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์นั้นขึ้นอยู่กับภาคการธนาคารเป็นหลัก ดังนั้นมาตรการ“1:12” จะเป็นหายนะสำหรับเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังจะเป็นการทำลายศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และยังทำให้สวิตเซอร์แลนด์ไม่น่าดึงดูดเพราะไม่สามารถเสนอเงินจูงใจก้อนโตให้กับคนเก่งๆระดับโลกได้

นอกจากนี้นักธุรกิจชั้นนำสวิสยังมองว่า มาตรการจำกัดเงินเดือนนี้จะจำกัดการลงทุนจากต่างชาติ และรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เองก็คัดค้านมาตรการนี้เช่นกัน ด้านรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์โยฮานน์ ชไนเดอร์-อัมมานน์ ถึงกับออกปากว่า มาตรการจำกัดเงินเดือนนี้ “ไร้สาระสิ้นดี” และรู้สึกยินดีต่อผลประชาติครั้งนี้ และเขาย้ำว่า “สวิตเซอร์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่น่าลงทุนอยู่” รวมไปถึงสมาชิกรัฐสภาของสวิตเซอร์แลนด์ Ruedi Noser ได้ให้ความเห็นว่า “มาตรการ “1:12” จะทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นเกาหลีเหนือ”

ทางด้านเดวิด รอต ผู้นำพรรค Young Socialists ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มขอเปิดการลงประชามติมาตรการ “1:12” ครได้ยอมรับถึงความพ่ายแพ้ในการให้สัมภาษณ์กับทีวี SRFว่า “ตอนนี้พวกเราแพ้แล้ว แต่พวกเรายังจะสู้ต่อในอีกระยะยาว” โดยทางพรรคอ้างว่ามาตรการนี้จะช่วยทำให้มีความโปร่งใสและมีความเป็นธรรมมากขึ้น และยังอ้างว่าหากมาตรการนี้ได้มีผลบังคับใช้ จะมีผลกับแค่จำนวน 0.3% ของบริษัทที่ตั้งอยู่ภายในสวิตเซอร์แลนด์ และมีเพียงผู้บริหารระดับสูงจำนวนเพียง 3,400 รายเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ

ซึ่งมาตรการ“1:12”นี้ได้ออกมาหลังจากชาวสวิสได้ลงประชามติโหวตสนับสนุนในเดือนมีนาคมล่าสุด ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนกว่า 68% ในมาตรการที่เรียกว่า “แมวอ้วน” ที่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นสามารถหยุดยั้งการจ่ายโบนัสและห้ามจ่ายเงินก้อนโตให้กับผู้บริหารบริษัทที่เพิ่งเข้ามาใหม่หรือกำลังจะออกจากบริษัท

ในขณะที่ประเทศอื่นๆในยุโรปต่างมีแนวคิดที่คล้ายกันที่ต้องการออกมาตรการจำกัดเงินเดือนของซีอีโอ ในสเปน พรรคโซเชียลลิสต์ของแดนกระทิงดุได้เสนอมาตรการจำกัดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงที่คล้ายกับมาตรการ “1:12” ในเยอรมัน จากผลสำรวจของ Gfk ซึ่งทำเพื่อหนังสือพิมพ์เยอรมัน Welt am Sonntag พบว่า ชาวเยอรมันจำนวนมากกว่า 3 ใน 4 ต่างสนับสนุนมาตรการจำกัดเงินเดือนซีอีโอ และหนังสือพิมพ์เยอรมัน Bild am Sonntag รายงานว่า กลุ่มของพรรครัฐบาลเยอรมันได้ตกลงในร่างกฏหมายร่วมที่จะให้มีการจำกัดการจ่ายเงินเดือนของผู้บริหารบริษัทชั้นสูง

และจากข้อมูลของ OECD พบว่า สวิตเซอร์แลนด์มีความเท่าเทียมกันด้านรายได้สูงกว่าประเทศสมาชิก 34 ชาติ โดยช่องว่างระหว่างคนที่รวยที่สุด 10% ในสวิตเซอร์แลนด์และคนที่จนที่สุดนั้นน้อยกว่าในญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐฯ และแคนาดา

อนึ่ง การหย่อนบัตรลงประชามติซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงนั้นเป็นเรื่องปกติมากในสวิตเซอร์แลนด์ โดยที่หัวข้อมาตรการในการออกเสียงนั้นมีความหลากหลายตั้งแต่เรื่องสุขภาพไปจนถึงเรื่องสมาชิกกลุ่มอียู โดยกำหนดการทำประชามติว่าต้องมีรายชื่ออย่างน้อย 100,000 ราบชื่อจึงจะสามารถเปิดให้โหวตลงคะแนนทั่วประเทศได้ และผู้ออกเสียงชาวสวิสส่วนใหญ่ส่งใบลงคะแนนทางไปรษณีย์
กำลังโหลดความคิดเห็น