เอเอฟพี – กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชื่อดังเช่น กรีนพีซ กองทุนสัตว์ป่าโลก และแอคชันเอด ต่างรู้สึกโกรธจัด จนพากันเดินออกจากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ของยูเอ็น ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ วานนี้ (21 พ.ย.) ขณะที่พวกประเทศร่ำรวย และยากจนทุ่มเถียงกันโดยไม่มีทีท่าจะยุติลงได้ ในเรื่องที่ว่าประเทศไหนจะทำอะไรเพื่อสกัดกั้นภาวะโลกร้อน
พวกผู้แทนของชาติต่างๆ ที่เจรจากันยังคงขัดแย้งไม่ลงรอยกันหนัก ในขณะที่การประชุมย่างเข้าสู่วันท้ายๆ แล้ว ทั้งในเรื่องการแบ่งความรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในเรื่องการยกระดับการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากอากาศเปลี่ยนแปลง
ครั้นแล้ว องค์การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชื่อดังๆ ของโลก 6 กลุ่มก็ได้สร้างความเกรียวกราว และก่อให้เกิดความตะลึงงัน เมื่อพวกเขาพร้อมใจกันเดินออกจากที่ประชุม โดยให้เหตุผลว่าการประชุมประจำปีรอบนี้แทบหาสาระอะไรไม่ได้เลย นับตั้งแต่ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน
“การหารือเรื่องภูมิอากาศที่กรุงวอร์ซอว์คราวนี้ ซึ่งควรจะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตอันยั่งยืน กลับไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเลยจริงๆ” นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ ระบุในคำแถลง ประกาศการตัดสินใจของพวกเขาที่จะ “ขอถอนตัวด้วยความสมัครใจ”
องค์กรต่างๆ ที่ลงนามในประกาศฉบับนี้ ได้แก่ กรีนพีซ, กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF), อ็อกซ์แฟม (Oxfam) , แอ็คชันเอด (ActionAid), สมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (ITUC) และ เฟรนด์ออฟดิเอิร์ธ (Friends of the Earth)
พวกเขาระบุด้วยว่า นอกจากองค์กรของพวกเขาแล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับการรับรองจากยูเอ็นอีกกว่า 800 คน เข้าร่วมการประท้วงใหญ่ครั้งนี้ด้วย
องค์กรเหล่านี้กล่าวโทษโปแลนด์ที่เห็นชอบให้มีการประชุมซัมมิตผู้ผลิตถ่านหินระดับโลก ที่เมืองเดียวกัน และในเวลาเดียวกันกับการประชุมภูมิอากาศ นอกจากนี้พวกเขายังได้ตำหนิญี่ปุ่น ที่ลดตัวเลขการปล่อยก๊าซไอเสียคาร์บอนที่ตั้งเป้าไว้ ตลอดจนออสเตรเลียที่ตัดสินใจยกเลิกแผนการเก็บภาษีจากพวกผู้ปล่อยก๊าซไอเสียรายใหญ่
“รัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่มาเข้าร่วมประชุมที่นี่ กำลังตบหน้า ผู้ประสบความทุกข์ยากจากผลร้ายของภาวะโลกร้อน” คูมี ไนดู ประธานอำนวยการขององค์การกรีนพีซ เน้นย้ำ
ทั้งนี้ องค์การไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ในฐานะผู้สังเกตการณ์และที่ปรึกษา ส่วนผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องต่างๆ คือเหล่าประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
เมื่อวันพุธ (20) บัน คีมุน เลขาธิการขององค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ลงมือป้องกันหายนะที่เกิดขึ้นกับโลกให้จริงจังกว่านี้
การประชุมที่มีผู้มาเข้าร่วมจากอย่างน้อย 190 ชาติคราวนี้ มุ่งปูทางให้มีการทำข้อตกลงภายในสิ้นปี 2015 เพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่าระดับในยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยใช้วิธีควบคุมการปล่อยก๊าซไอเสียคาร์บอน ที่เกิดจากการนำเอาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซมาเผาเพื่อผลิตพลังงาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสังเกตจากแนวโน้มการปล่อยก๊าซไอเสียในปัจจุบัน บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวเตือนว่า โลกอาจร้อนขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดมหาพายุ น้ำทะเลขึ้นสูงจนท่วมแผ่นดิน ขณะที่อาณาบริเวณจำนวนมากจะประสบภัยแล้งหนัก