xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายทำให้ ‘มะกัน’ ส่งข้าวไปช่วย ‘ฟิลิปปินส์’ล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: แครีย์ ไบรอน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Typhoon aid slow to reach Philippines
By Carey L Biron
19/11/2013

วอชิงตันตอบสนองด้วยความรวดเร็วและความใจกว้าง ต่อวิกฤตทางมนุษยธรรมซึ่งเกิดขึ้นจากการที่พายุไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” พัดถล่มใส่ฟิลิปปินส์ กระนั้นก็ตามที ในขณะที่อาหารบางส่วนถูกนำขึ้นเครื่องบินส่งไปจากสหรัฐฯอย่างฉับไวทันใจ กลับมีข้าวกองโตประมาณ 1,020 ตัน ซึ่งจะยังไปไม่ถึงมือผู้หิวโหยจนกว่าจะย่างเข้าเดือนธันวาคมแล้ว ทั้งนี้ต้องโทษบทบัญญัติในกฎหมายหลายๆ ฉบับในอเมริกา

วอชิงตัน – แม้กระทั่งในขณะที่วอชิงตันกำลังเร่งดำเนินการตอบสนองอย่างแข็งขันน่าประทับใจ ต่อวิกฤตทางด้านมนุษยธรรมซึ่งเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ แต่ความพยายามที่กำลังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องอยู่นี้ ก็ยังคงตอกย้ำให้เห็นช่องโหว่ฉกรรจ์ๆ ในศักยภาพด้านการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินของสหรัฐฯ โดยเป็นช่องโหว่ซึ่งสามารถเริ่มต้นแก้ไขคลี่คลายได้ ด้วยการปฏิรูปทางด้านกฎหมาย ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการอภิปรายถกเถียงกันในรัฐสภาอเมริกัน

เพียงไม่นานหลังจากที่มหาพายุไต้ฝุ่นลูกนี้เคลื่อนขึ้นฝั่งในบริเวณภาคกลางของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน รัฐบาลสหรัฐฯก็ประกาศว่าในเบื้องต้นจะจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ไปให้แก่ผู้รอดชีวิต ไม่ใช่แค่นั้น เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯลำหนึ่งพร้อมหมู่เรือรบเรือบรรทุกสัมภาระ ยังได้รีบเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย เพื่อเสนอศักยภาพทางด้านเทคนิคอันสำคัญมากสำหรับหน่วยกู้ภัยและกลุ่มช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมทั้งหลาย

ตามเอกสารข้อมูลขององค์การยูเสด (USAID) ที่เป็นหน่วยงานหลักในด้านการช่วยเหลือต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ครึ่งหนึ่งของความช่วยเหลือ 20 ล้านดอลลาร์ที่กล่าวถึงข้างต้น จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อนำอาหารไปสู่ชุมชนต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหายหนักจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (หรือ “โยลันดา” Yolanda ตามชื่อที่เรียกขานกันในฟิลิปปินส์) กระนั้นก็ตามที ในขณะที่ในเบื้องต้นอาหารจำนวน 55 ตันได้ถูกนำขึ้นเครื่องบินลำเลียงออกมาจากสหรัฐฯในทันที กลับยังมีข้าวอีกเป็นจำนวน 1,020 ตัน ซึ่งจะยังไม่ถูกขนลงเรือเดินทางถึงฟิลิปปินส์ จนกว่าจะย่างเข้าสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมแล้ว ทั้งนี้ตามเอกสารแสดงข้อมูลของยูเสด

ภาวะล่าช้าเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นมา ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงอยู่ว่าข้าวเหล่านี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเตรียมพร้อมเอาไว้ในศรีลังกา เพื่อจะได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อภาวะฉุกเฉินชนิดนี้ซึ่งเกิดขึ้นในแถบเอเชีย การที่การส่งข้าวต้องดำเนินไปอย่างอ้อยสร้อยเช่นนี้ เป็นผลมาจากบทบัญญัติประหลาดๆ ในกฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดเอาไว้ว่าความช่วยเหลือในรูปอาหารที่จะนำไปเอื้อเฟื้อเจือจานต่างประเทศ ก่อนอื่นจะต้องเป็นสิ่งที่ปลูกขึ้นมาในสหรัฐฯ และเลือกใช้เรือติดธงสหรัฐฯก่อนเรืออื่นๆ ในการลำเลียงขนส่งไปสู่จุดหมายปลายทาง

“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์นี้ ควรที่จะถือเป็นบททดลองอันล้ำค่า สำหรับบรรดาสมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย ตลอดจนสำหรับยูเสด ในเรื่องการขบคิดพิจารณาว่าอะไรคือเรื่องจำเป็นที่จะช่วยรับมือและบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติลงได้จริงๆ ” อีริก มูนอซ (Eric Munoz) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของ “ออกซ์แฟม อเมริกา” (Oxfam America) องค์การการกุศลแห่งหนึ่ง บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)

“รัฐสภาก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้นมา จากการละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าการตอบสนองทางด้านมนุษยธรรมที่ดีนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งแตกต่างออกไปจากที่รัฐสภาเรียกร้องกำหนดให้ยูเสดและกลุ่มให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ต้องนำมาใช้ในเวลาลงมือปฏิบัติการเช่นนี้ และมาถึงตอนนี้ ก็ถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องดูแล (แก้ไขกฎหมาย) กันเสียที”

เป็นเวลาหลายๆ ปีมาแล้ว พวกผู้สนับสนุนให้แก้ไขกฎหมาย ได้พยายามผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเปิดทางให้มีความยืดหยุ่นกันได้มากยิ่งขึ้น ในเวลาดำเนินการตอบสนองรับมือกับวิกฤตมนุษยธรรม ทั้งนี้หลักการที่สำคัญมากๆ ก็คือ ควรให้ความช่วยเหลือในรูปเงินสด ซึ่งจะสามารถจัดหามาได้แทบจะในทันที แล้วนำไปใช้จัดซื้ออาหารและสิ่งของอื่นๆ ในท้องถิ่น แทนที่จะให้ความช่วยเหลือในรูปของการจัดหาสิ่งของ ซึ่งจะต้องมีการบรรจุหีบห่อและขนส่งลำเลียงไปยังพื้นที่เกิดวิกฤต

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้กลับถูกสกัดกั้นขัดขวางโดยพวกกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะหลายๆ กลุ่ม ทั้งๆ ที่หน่วยงานสอบบัญชีของรัฐบาลได้ออกมาเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า กระบวนการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และกำลังก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบเป็นส่วนใหญ่ ต่อชุมชนต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯต้องการช่วยเหลือ

พวกเจ้าหน้าที่ของยูเสดก็ยอมรับว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดทางให้ใช้ความยืดหยุ่นได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ตามเอกสารข้อมูลของยูเสดที่นำออกมาเผยแพร่ในวันเสาร์ (16 พ.ย.) ที่ผ่านมา เงินทุนจากสหรัฐฯในเวลานี้กำลังนำไปช่วยเหลือ โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ให้จัดซื้อข้าวในท้องถิ่นเพิ่มเติมอีก 10,000 ตัน

“ในจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯใช้เพื่อให้เป็นความช่วยเหลือทางด้านอาหารนั้น มากกว่า 75% ทีเดียวเป็นการจัดซื้อจากในระดับท้องถิ่นและในระดับภูมิภาค” มูนอซ ระบุ “เรื่องนี้สาธิตให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ยูเสดมีความคิดเห็นว่าเป็นการสมเหตุสมผลที่ส่วนใหญ่ที่สุดของความช่วยเหลือในเวลานี้ ควรจัดหามาด้วยการจัดซื้อจากท้องถิ่น”

อันที่จริงแล้ว ยูเสดสามารถนำเอากองทุนฉุกเฉินมาใช้ ซึ่งจะทำให้เรื่องการให้ความช่วยเหลือในรูปเงินสด เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ว่าหากทำเช่นนั้นในตอนนี้ ก็จะทำให้กองทุนฉุกเฉินดังกล่าวพร่องไปมาก ในขณะที่จะต้องใช้จ่ายกันให้ได้ตลอดทั้งปีงบประมาณ ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“เนื่องจากทางยูเสดกำลังใช้เงินก้อนนี้กันตั้งแต่ตอนนี้เพื่อใช้ซื้ออาหารในท้องถิ่น มันก็ทำให้ยูเสดจะมีเงินน้อยลงไปมากสำหรับใช้ในซีเรีย” ทีมี่ เกอร์สัน (Timi Gerson) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ องค์การชาวยิวอเมริกันช่วยเหลือโลก (American Jewish World Service ใช้อักษรย่อว่า AJWS) ที่เป็นกลุ่มสนับสนุนด้านการพัฒนา บอกกับไอพีเอส

“ปัญหาทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อตอนที่การสู้รบขัดแย้งในซีเรียเริ่มต้นขึ้นมา และฉับพลันนั้นยูเสดก็ถูกบังคับให้ต้องเลือกเอาระหว่างการใช้เงินทุนเหล่านี้เพื่อช่วยเหลือซีเรีย หรือว่าจะใช้ช่วยเหลือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เนื่องจากในทั้งสองประเทศนี้ คุณไม่สามารถที่จะนำเอาซัปพลายอาหารที่มีอยู่ ลำเลียงขนส่งเข้าไปได้ แล้วยังมาในคราวนี้อีก สถานการณ์ในฟิลิปปินส์กำลังทำให้มองเห็นกันได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมจึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบนี้กันเสียที”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น