xs
xsm
sm
md
lg

‘โคคา-โคล่า’จะตรวจสอบกรณีแย่งยึดที่ดินชาวบ้านใน‘กัมพูชา’

เผยแพร่:   โดย: เสมียน ยุน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Coca-Cola to check Cambodia land-grab claim
By Samean Yun
12/11/2013

โคคา-โคล่าประกาศจะเข้าตรวจสอบคดีความที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมายาวนานคดีหนึ่งในกัมพูชา โดยในคดีดังกล่าว พวกชาวบ้านกำลังฟ้องร้องต่อศาลให้ลงโทษบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าแย่งยึดเอาที่ดินของพวกเขาไปทำไร่อ้อยขนาดใหญ่เพื่อใช้ผลิตน้ำตาล ทั้งนี้ผลผลิตจากไร่เหล่านี้มีส่วนโยงใยเกี่ยวข้องกับน้ำตาล ซึ่งโคคา-โคล่าใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

โคคา-โคล่า ออกมาประกาศตัวใช้นโยบาย “ไม่ยินยอมเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนใดๆ เลย” (zero tolerance) กับเรื่องการแย่งยึดที่ดินจากชาวบ้าน และได้ตกลงที่จะเข้าตรวจสอบคดีความที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมายาวนานคดีหนึ่งในกัมพูชา โดยในคดีดังกล่าว พวกชาวบ้านกำลังฟ้องร้องต่อศาลให้ลงโทษบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าแย่งยึดเอาที่ดินของพวกเขาไปทำไร่อ้อยขนาดใหญ่เพื่อการผลิตน้ำตาล และผลผลิตจากไร่เหล่านี้เองมีส่วนโยงใยเกี่ยวข้องกับน้ำตาล ซึ่งโคคา-โคล่าใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

“บริษัทโคคา-โคล่าเชื่อว่า การแย่งยึดที่ดินเป็นพฤติการณ์ที่ไม่อาจยอมรับได้” กิจการขนาดยักษ์ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่ที่เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา กล่าวเช่นนี้ในคำแถลงฉบับสำคัญ ซึ่งบริษัทประกาศว่าตกลงที่จะศึกษาทบทวนสภาพความเป็นไปของพวกซัปพลายเออร์ที่ส่งน้ำตาลให้โคคา-โคล่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าซัปพลายเออร์เหล่านี้ไม่ได้ซื้อผลผลิตจากพวกไร่อ้อยซึ่งขับไล่ไสส่งชาวบ้านในท้องถิ่นออกจากที่ดินทำกินของพวกเขาอย่างไม่ถูกกฎหมาย

“บริษัทของเราไม่ได้เป็นกิจการประเภทที่ซื้อหาวัตถุดิบต่างๆ จากฟาร์มจากไร่โดยตรง อีกทั้งเราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของฟาร์มหรือไร่ที่ปลูกพืชซึ่งนำมาใช้ผลิตน้ำตาลใดๆ เลย แต่ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ซื้อน้ำตาลรายใหญ่รายหนึ่ง เราขอยอมรับความรับผิดชอบที่จะลงมือกระทำการ และความรับผิดชอบที่จะใช้อิทธิพลของเรา เพื่อช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองสิทธิในที่ดินของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ” โคคา-โคล่า ระบุในคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (7 พ.ย.) ที่แล้ว

ความเคลื่อนไหวคราวนี้บังเกิดขึ้น หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือนนับตั้งแต่ที่ “ออกซ์แฟม” (Oxfam) องค์การระดับโลกในด้านการกุศลและการต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน พร้อมกับพวกผู้สนับสนุนต่างๆ ได้เริ่มต้นเปิดการรณรงค์เรียกร้อง โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค (PepsiCo), และ แอสโซซิเอเต็ด บริติช ฟูดส์ (Associated British Foods), 3 ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมน้ำตาล ให้ประกาศคำมั่นสัญญาที่จะไม่ยินยอมเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนใดๆ เลยต่อการแย่งยึดที่ดินชาวบ้าน ในการรณรงค์ดังกล่าวนี้ ออกซ์แฟมได้ยกตัวอย่างกรณีต่างๆ ขึ้นมาหลายๆ กรณี และหนึ่งในนั้นก็คือคดีแย่งยึดที่ดินในกัมพูชาที่ดำเนินยืดเยื้อต่อเนื่องมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ชาวบ้านประมาณ 200 ครอบครัวในอำเภอ สเร อัมเบล (Sre Ambel) ของจังหวัดเกาะกง (Koh Khong) กำลังต่อสู้เรียกร้องให้คืนที่ดินซึ่งพวกเขาถูกขับไล่ออกมาเมื่อปี 2006 เพื่อเปิดทางให้ผู้ทำไร่อ้อยเพื่อการผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่รายหนึ่งเข้าไปแทนที่ โดยที่ผู้ผลิตรายนี้เป็นผู้ส่งน้ำตาลให้แก่ เทต แอนด์ ไลล์ ชูการ์ส (Tate & Lyle Sugars) ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายน้ำตาลให้แก่พวกผู้ทำสัญญาแฟรนไชส์ผลิตและบรรจุผลิตภัณฑ์ให้แก่ โคคา-โคล่า ตลอดจน เป๊ปซี่โค

ทั้งนี้ ไร่อ้อยขนาดใหญ่ในเกาะกงแห่งนี้ควบคุมโดยพวกบริษัท ซึ่งทางยักษ์ใหญ่น้ำตาลสัญชาติไทยอย่าง บริษัทน้ำตาลขอนแก่นจำกัด (Khon Kaen Sugar Co Ltd) หรือ KSL เป็นเจ้าของอยู่ 70%

ในเดือนเมษายน 2013 ครอบครัวชาวบ้านกัมพูชาเหล่านี้ ได้ยื่นฟ้องร้อง เทต แอนด์ ไลล์ ชูการ์ส ต่อศาลสูงของสหราชอาณาจักร (UK High Court) และยื่นเรื่องผ่านกลไกร้องเรียนของ “บอนซูโคร” (Bonsucro) ซึ่งเป็นแผนการริเริ่มของภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่มุ่งจะลดผลกระทบทางลบของการผลิตน้ำตาล

**”การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม”**

โคคา-โคล่าแถลงว่า จะเข้าไปเกี่ยวข้องติดตามบรรดาซัปพลายเออร์และผู้เพาะปลูกทุกรายที่ส่งวัตถุดิบให้แก่ทางโคคา-โคล่า เพื่อให้ข้อพิพาทใดๆ ก็ตามซึ่งเกิดขึ้นในสายโซ่อุปทาน (supply chains) ทั้งหลาย มี “การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม”

ในกรณีที่เกิดขึ้นในกัมพูชานั้น โคคา-โคล่าให้สัญญาที่จะเข้าไปติดต่อติดตามกับทาง เทต แอนด์ ไลล์ ชูการ์ส และ “ลงมือกระทำการตลอดจนใช้อิทธิพลของเราต่อผลลัพธ์สุดท้ายที่จะออกมา” ของการพิพาทคราวนี้

ทางด้านออกซ์แฟมได้แถลงแสดงความยินดีต่อความเคลื่อนไหวของโคลา-โคล่า โดยระบุว่า “นี่แหละคือการเกี่ยวข้องติดตามประเภทที่ทางเราต้องการที่จะเห็น เพื่อให้บังเกิดความแน่ใจว่าชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในความขัดแย้งด้านที่ดินเช่นนี้ในกัมพูชา ... กำลังได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม” พร้อมกันนั้นองค์การเอ็นจีโอแห่งนี้ก็ย้ำว่า “ออกซ์แฟมไม่ได้กำลังขอให้ โคคา-โคล่า ยกเลิกสัญญาซึ่งทำไว้กับพวกซัปพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในกรณีเหล่านี้ ตรงกันข้าม ออกซ์แฟมขอให้โคคา-โคล่า ใช้อำนาจอันมหาศาลของพวกเขา เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขข้อพิพาทด้านที่ดินซึ่งเกิดขึ้นในตลอดสายโซ่อุปทานของพวกเขา”

ทางด้านรัฐบาลกัมพูชาได้แถลงว่า ยินดีต้อนรับการตรวจสอบกรณีนี้ของทางโคคา-โคล่า

“เรื่องนี้เป็นสิทธิของบริษัทโคคา-โคล่า” ฟาน สีฟาน (Phay Siphan) โฆษกคณะรัฐมนตรีกัมพูชาแถลง “เมื่อพวกเขาดำเนินการตรวจสอบ พวกเขาก็จะพบวิธีการว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทนี้ได้ หรือไม่ก็จะพบว่าการร้องเรียนต่างๆ เหล่านี้ เป็นเพียงการหยิบยกขึ้นมาของพวกที่กำลังคัดค้านโจมตีรัฐบาลเท่านั้น” เขาบอก

เขาระบุว่า การตรวจพิสูจน์เช่นนี้จะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนชื่อเสียงเกียรติภูมิในทางระหว่างประเทศของกัมพูชาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กัมพูชากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดากลุ่มเรียกร้องสิทธิทั้งหลาย จากการปล่อยให้มีกรณียึดครองที่ดินขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในระยะไม่กี่ปีมานี้ ท่ามกลางข้อกล่าวหาดังอึงคะนึงที่ว่าหลายๆ กรณีเหล่านี้มีลักษณะเป็นข้อตกลงทุจริตคอร์รัปชั่นลับๆ นั่นเอง

**ความเป็นมาของการสูญเสียที่ดิน**

ในกรณีพิพาทที่จังหวัดเกาะกง ตอนแรกเริ่มทีเดียวมีครอบครัวชาวบ้านร่วมๆ 500 ครอบครัวจากหมู่บ้าน 3 แห่ง ต้องสูญเสียที่ดินไปในกระบวนการปฏิบัติการขับไล่ไสส่งเพื่อนำเอาผืนดินมาทำเป็นไร่อ้อยขนาดใหญ่สำหรับการผลิตน้ำตาล ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของเหล่าตัวแทนทางกฎหมายของฝ่ายชาวบ้านที่ ศูนย์กลางการศึกษาทางกฎหมายเพื่อชุมชน (Community Legal Education Center ซึ่งเป็นองค์การเอ็นจีโอของกัมพูชาที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงพนมเปญ -ผู้แปล)

ชาวบ้านที่ประท้วงคัดค้านการถูกผลักดันให้ออกไปจากที่ดินเหล่านี้ ระบุว่าพวกเขาได้ทำกินใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงนี้อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา โดยที่มีบางรายสามารถสาวย้อนกลับไปได้ไกลถึงปี 1979 ด้วยซ้ำ

พวกเขาบอกว่าไม่เคยมีการนำข้อตกลงเรื่องนี้มาหารือกับพวกเขาก่อนเลย และในระหว่างการประท้วง พวกเขาก็ถูกข่มขู่ถูกคุกคาม ตลอดจนถูกจำกัดความเคลื่อนไหว ในระหว่างนั้นมีหลายครอบครัวที่ยอมรับค่าชดเชยและถอนตัวออกไป แต่ก็ยังคงมีอีก 200 ครอบครัวซึ่งต่อสู้ต่อไป และมีที่ดินซึ่งพิพาทกันรวมแล้วเป็นเนื้อที่ 1,365 เฮกตาร์ (ประมาณ 8,531 ไร่ )

ออกซ์แฟมระบุว่า จากความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นที่เกาะกง ครอบครัวชาวบ้านที่ถูกขับออกจากที่ดิน ต่างกำลังต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างลำบากเพื่อเอาชีวิตรอด ในเมื่อปราศจากรายได้ซึ่งเคยได้มาจากการใช้ที่ดินตรงนั้นปลูกข้าว, ผลไม้, ข้าวโพด, และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ชาวบ้านยังระบุด้วยว่าวัวควายที่พวกเขาเลี้ยงไว้หากเกิดหลุดเข้าไปในเขตที่ดินของไร่อ้อย ก็จะถูกยิงหรือถูกริบไปเลย

ทางด้านตัวแทนของไร่อ้อยกล่าวว่า พวกเขาได้จ่ายเงินชดเชยไปอย่างถูกต้องแล้ว และยืนยันว่าบริษัทเสียค่าธรรมเนียมให้แก่รัฐบาลกัมพูชาในอัตราปีละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

KSL ได้เคยพบปะเจรจากับชาวบ้านเมื่อเดือนมีนาคม 2013 โดยบอกว่าจะคืนที่ดินซึ่งพิพาทกันอยู่ให้ ทว่าตามรายงานของออกซ์แฟม หลังจากการพบหารือกันคราวนั้น ก็ยังไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ว่าทางบริษัทมีการเดินเรื่องติดตามเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์

ขณะที่รัฐบาลกัมพูชาบอกว่า ได้ “ให้สัมปทานการใช้ที่ดินทางเศรษฐกิจ” แก่ KSL โดยดำเนินการไปตามตัวบทกฎหมาย และมีเพียง 13 ครอบครัวเท่านั้นซึ่งยังไม่ได้รับการชดเชย สืบเนื่องจากพวกเขาไม่สามารถที่จะยื่นหลักฐานหรือเอกสารทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวจริง

**ขนส่งน้ำตาล 2 งวด**

สำหรับ เทต แอนด์ ไลล์ ชูการ์ส ซึ่งเป็นกิจการของ อเมริกัน ชูการ์ โฮลดิ้งส์ (American Sugar Holdings) ยักษ์ใหญ่ระดับโลกของอุตสาหกรรมน้ำตาล แถลงว่าเวลานี้บริษัทไม่ได้มีการทำสัญญาใดๆ กับทาง KSL ถึงแม้บริษัทยอมรับว่าในระยะไม่กี่ปีมานี้ได้เคยรับมอบน้ำตาลจำนวน 2 งวดจาก KSL นั่นคือในเดือนพฤษภาคม 2011 และในเดือนมิถุนายน 2012 ขณะเดียวกัน เทต แอนด์ ไลล์ ชูการ์ส ก็ระบุว่าทาง KSL ได้ที่ดินของพวกเขามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

มาร์ก มัวร์สไตน์ (Mark Moorstein) ทนายความที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านจากจังหวัดเกาะกง ตอบโต้โดยยืนยันว่า การสอบสวนต่างๆ เกี่ยวกับกรณีนี้เท่าที่เคยทำกันมานั้น ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างละเอียดถี่ถ้วนเลย

“จากการตรวจสอบของพวกเราเองในกรณีนี้ ได้พบเห็นว่ามีความไม่ปกติต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนจบ และไม่ได้เคยถูกตรวจสอบยืนยันกันเลย อย่างน้อยที่สุดก็ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมต่างๆ ทางด้านที่ดินในเกาะกง มันยังมีอะไรอีกมากมายที่จะต้องตรวจสอบไล่เรียงกันต่อไปอีก” เขากล่าวกับวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเขมร (RFA's Khmer Service) “ผมคิดว่าสิ่งที่ โคคา-โคล่า ประกาศออกมาในคราวนี้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ เลยในเรื่องธรรมาภิบาลภาคบรรษัท”

เสมียน ยุน (Samean Yun ) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ให้แก่ วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเขมร (Radio Free Asia's Khmer Service) และเป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ปรเมศวรัน ปอนนูดูไร (Parameswaran Ponnudurai) เป็นผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น