xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านในเวียงจันทน์เป็นฝ่ายแพ้เหมือนเคยในศึกกรรมสิทธิ์ที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Laos residents lose capital land battle
By Radio Free Asia
02/08/2013

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในลาวเพิ่งบอกกับชาวบ้านซึ่งยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาเมืองมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯว่า พวกเขาไม่ต้องมาคิดวางแผนขายที่ดินของพวกเขาอีกแล้ว เพราะเวลานี้มันตกเป็นของนักพัฒนาเจ้าของโครงการนี้ซึ่งมาจากประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในลาวเพิ่งออกคำสั่งแจ้งให้ชาวบ้านซึ่งยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่โตมหึมาว่า พวกเขาไม่ต้องมาคิดวางแผนขายที่ดินของพวกเขาอีกแล้ว เพราะเวลานี้มันตกเป็นของนักพัฒนาเจ้าของโครงการนี้ซึ่งมาจากประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว

คำสั่งดังกล่าวปรากฏขึ้นมาท่ามกลางความวิตกกังวลกันโดยทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่บกพร่องผิดพลาดของรัฐบาล และการทุจริตคอร์รัปชั่นของพวกเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีพิพาทต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านกับนักลงทุนพัฒนา

สำหรับโครงการพัฒนาเมืองในพื้นที่บึงธาตุหลวง ของเวียงจันทน์ ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างกันอยู่นี้ โดยที่วางแผนไว้ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านดอลลาร์นั้น ได้รับการยกย่องชมเชยว่าจะกลายเป็นศูนย์การค้าระดับอวดแขกบ้านแขกเมืองได้ในนครหลวงซึ่งกำลังเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วแห่งนี้ ทว่าพวกชาวบ้านบอกว่าได้รับข้อเสนอจ่ายค่าชดเชยสำหรับที่ดินของพวกเขาซึ่งจะถูกนำเอาไปใช้ทำโครงการนี้ ในราคาที่ต่ำเอามากๆ ระดับไม่ถึง 1 ใน 10 ของมูลค่าในตลาดด้วยซ้ำ

โครงการพัฒนาที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง (That Luang Marsh Specific Economic Zone) ซึ่งมีเนื้อหาใหญ่โตกว้างขวาง 3.25 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์กันไปแล้วในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทว่าในขณะที่ชาวบ้านส่วนข้างมากยินยอมรับเงินชดเชยและรื้อถอนโยกย้ายกันออกไปแล้ว ปรากฏว่ายังมีอีกกว่า 100 ครอบครัวซึ่งยังไม่ยอมย้ายไปไหนและเรียกร้องขอค่าชดเชยสูงขึ้นอีก

จากนั้นเมื่อไม่นานมานี้ ทางการเทศบาลนครเวียงจันทน์ก็ได้ออกคำสั่งห้ามขาย ห้ามซื้อ และห้ามเปลี่ยนมือทุกๆ ประการ สำหรับที่ดินซึ่งอยู่ในเขต 8 หมู่บ้านของเขตไชยเชษฐา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการนี้ ทั้งนี้เป็นการบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งที่รับผิดชอบการบริหารเขตพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special and Specific Economic Zones) กับทางวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว

ตามคำสั่งฉบับดังกล่าว หมู่บ้านเหล่านี้ได้ถูกรวมเข้าไปในสิทธิการใช้ที่ดินเนื้อที่ 365 เฮกตาร์ (ประมาณ 2,280 ไร่) ซึ่งอนุญาตให้แก่บริษัทจีนผู้พัฒนาโครงการนี้ ที่มีชื่อว่า เซี่ยงไฮ้ ว่าน เฟิง กรุ๊ป (Shanghai Wan Feng Group) เจ้าหน้าที่ลาวผู้นี้เล่าต่อในเงื่อนไขที่ขอให้ปิดบังชื่อของเขาเอาไว้

“จะไม่มีการพิจารณาให้อะไร” ชดเชยแก่ประชาชนผู้อ้างว่าพวกเขาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในที่ดินและทรัพย์สินในหมู่บ้านเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ลาวผู้นี้กล่าว ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะยังคงจัดหาค่าชดเชยเป็นตัวเงินเอาไว้จ่ายให้แก่พวกที่ยินยอมยกที่ดินของพวกเขาให้แก่โครงการนี้ เขาบอกโดยไม่ได้แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการจ่ายเงินดังกล่าวนี้

โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปรับปรุงนครเวียงจันทน์ให้ทันสมัย และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มายังเมืองหลวงแห่งนี้กันเพิ่มมากขึ้น โครงการนี้ประกอบด้วยสวนสาธารณะ, ศูนย์กีฬา, ศูนย์การค้า, ศูนย์นันทนาการ, และศูนย์บริการต่างๆ ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานนานาเอาไว้สำหรับบรรดาธุรกิจที่ปรารถนาจะจัดตั้งสำนักงานขึ้นในเวียงจันทน์

มีชาวบ้านอยู่ประมาณ 435 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากโครงการนี้ และชาวบ้านพากันร้องเรียนว่าพวกเขาแทบไม่มีปากเสียงอะไรเลยในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่นี้ ซึ่งได้มีการวางแผนการดำเนินการกันมาหลายครั้งหลายหนแล้วตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา

เมื่อปี 2010 แผนการสำหรับโครงการพัฒนาเมืองในพื้นที่นี้เช่นเดียวกัน แถมมีขนาดใหญ่โตกว่านี้อีก นั่นคือใช้พื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร แต่เป็นของนักพัฒนาชาวจีนอีกรายหนึ่ง ได้ถูกยกเลิกไป ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของ สินลาวง โคตไพทูน ผู้เป็นรัฐมนตรีการวางแผนและการลงทุนของลาวในเวลานั้น สาเหตุมาจากการที่บริษัทจีนแห่งนี้ลังเลที่จะจ่ายเงิน 400 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นค่าชดเชยการรื้อถอนโยกย้าย ให้แก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจำนวนราวๆ 7,000 ครัวเรือน

**ปัจจัยที่ทำให้เกิดการพิพาทกัน**

เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (State Inspection Agency) ของลาว บอกกับวิทยุเอเชียเสรีเมื่อช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า การพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างพวกบริษัทที่ได้รับสิทธิใช้ที่ดิน กับพลเมืองของลาวนั้น ส่วนใหญ่แล้วมาจากการบริหารจัดการที่บกพร่องผิดพลาดของรัฐบาลและการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เขามิได้เอยระบุโครงการหนึ่งโครงการใดอย่างเฉพาะเจาะจง

เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้นี้ซึ่งขอพูดในเงื่อนไขสงวนนาม ระบุว่าวิธีปฏิบัติธรรมดาสามัญที่สุดของพวกรัฐบาลระดับท้องถิ่นซึ่งนำไปสู่การพิพาทกันในเรื่องที่ดินขึ้นมา ก็คือการอนุญาตให้นักลงทุนมีสิทธิใช้ที่ดิน โดยที่ไม่ได้มีการสำรวจรางวัดที่ดินให้ถูกต้องชัดเจนเสียก่อน ตลอดจนการที่รัฐบาลท้องถิ่นใช้ที่ดินมาเป็นทุนสำหรับการเข้าร่วมโครงการพัฒนาต่างๆ

เขาชี้ต่อไปว่าวิธีปฏิบัติอย่างอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาเช่นกัน ยังมีดังเช่นการโยกย้ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการการพัฒนาโดยที่ให้ค่าชดเชยที่ต่ำเตี้ยสุดๆ และการใช้อำนาจโดยมิชอบของพวกเจ้าหน้าที่ผู้รับสินบนแล้วจัดการแย่งยึดที่ดินจากชาวบ้านเอามาปล่อยเช่าแก่นักลงทุน

เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้นี้เผยต่อไปว่า ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การรับสินบนกำลังกลายเป็นความประพฤติอันเลวร้ายที่ทำกันอยู่ทั่วไปในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ นอกเหนือไปจากการใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มขู่คุกคาม ตลอดจนการอ้างอิงตัวบทกฎหมายที่ไม่ถูกต้องเพื่อบังคับให้พลเมืองที่ไม่มีความรู้ปฏิภาณต้องยินยอมโยกย้ายออกไปจากที่ดินของพวกเขา

แต่กระทั่งในกรณีของชาวบ้านที่มีความรู้อยู่บ้างเกี่ยวกับสิทธิทางกฎหมายของตนเอง และดำเนินการต่อสู้โดยไม่ยินยอม พวกเขาก็ยังมักกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่นั่นเอง เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้นี้บอก และกล่าวต่อไปว่าเวลานี้มีคดีความที่ฟ้องร้องรัฐบาลมากกว่า 4,000 คดีทีเดียวกำลังค้างคาอยู่ตามศาลต่างๆ ทั่วประเทศ

เขาชี้ว่า จากการตรวจสอบในภาคสนามได้พบว่า การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐบาล มักมีการรุกล้ำที่ดินของเอกชน ในเวลาเดียวกันพวกนักลงทุนที่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิใช้ที่ดิน บ่อยครั้งทีเดียวจะรุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อประกอบกิจกรรมอันผิดกฎหมายต่างๆ เป็นต้นว่า ตัดไม้เพื่อการส่งออก

ลาว ซึ่งมีฐานะเป็นหนึ่งในรัฐพัฒนาน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังกลายเป็นเป้าหมายของโครงการลงทุนขนาดมหึมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกบริษัทในจีน, ไทย, และเวียดนาม

โดยที่การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของลาวในเวลานี้ มีที่มาสำคัญจากการให้สัมปทานการให้สิทธิใช้ที่ดินเพื่อการขุดค้นหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งเรื่องการตัดไม้, เหมืองแร่, พลังงาน, และผลิตผลทางการเกษตร ขณะเดียวกันนั้น ก็มีหลายๆ ฝ่ายรู้สึกวิตกกังวลว่าการเติบโตด้วยหนทางดังกล่าวนี้ บังเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความทุกข์ยากเดือดร้อนของพวกที่ต้องสูญเสียที่ดินของตนเองไป

วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว (Radio Free Asia's Lao Service) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ เวียงไซ หลวงโคต (Viengsay Luangkhot) เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และ โจชัว ลิปส์ (Joshua Lipes) เป็นผู้เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น