“เสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล” ยื่นเรื่อง ก.ล.ต.ขวาง “สมาร์ทคอนกรีต” เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ทนายแฉเหตุแจ้งข้อมูลเท็จ มีคดีฟ้องพัลวันเป็นชนักปักหลัง แถมงบก็เคยมีปัญหาถึงขั้นพักใบอนุญาตผู้สอบบัญชี ด้าน ก.ล.ต.ระบุอยู่ระหว่างพิจารณาไฟลิ่ง ยืนยันตรวจสอบข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย
นายนิลมล หนูสังข์ ผู้อำนวยการฝ่ายนิติกรรมและสัญญา บริษัท คิงส์ เทเลคอม จำกัด กล่าวว่า ตนในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก นายเสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล ได้ทำหนังสือขอคัดค้าน และให้ระงับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ของ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับเรื่องไว้แล้ว
สืบเนื่องจากบริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือเดิมชื่อ บริษัท ออโตเครป แอเรทเต็ท คอนกรีต โปรดัก จำกัด มีข้อพิพาททางกฎหมายที่อาจมีผลกระทบด้านลบต่อสินทรัพย์ จำนวนสูงกว่าร้อยละ 5 ของส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่เป็นความจริงตามที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ไว้กับ ก.ล.ต. โดยบริษัทฯ ซึ่งมี นายประทีป ทีปกรสุขเกษม เป็นกรรมการผู้ทำการแทน กับ นายเสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล ได้มีข้อพิพาทกันทางกฎหมายหลายคดีเกี่ยวกับหุ้น และการดำเนินกิจการงานของบริษัทฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2548 เรื่อยมา และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของทั้งศาลชั้นต้น รวมถึงศาลฎีกา อีกทั้งการพิพาทนี้ยังมีผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อสินทรัพย์ของบริษัทฯ สูงกว่าร้อยละ 5 ของส่วนผู้ถือหุ้นด้วย
ทั้งนี้ บริษัทสมาร์ทคอนกรีต ได้ทำการยื่นไฟลิ่งให้ ก.ล.ต. โดยระบุว่า บริษัทไม่มีข้อพิพาททางกฏหมายที่อาจมีผลด้านลบต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ และไม่มีผลกระทบทางกฎหมายที่มีกระทบต่อสัดส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าร้อยละ 5 แต่ฝ่ายผู้คัดค้านระบุ บริษัทไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพราะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และสัดส่วนผู้ถือหุ้นสูงกว่าร้อยละ 5 ทำให้ต้องคัดค้านเรื่องดังกล่าวเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจผิด
โดยบริษัทสมาร์ทคอนกรีตก่อนตั้งขึ้นเมื่อ ม.ค.2547 จากการร่วมมือ 3 ฝ่าย ได้แก่กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) ของนายประทีป ทีปกรสุขเกษม สัดส่วน 40% กลุ่มซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น สัดส่วน 40% และนายเสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล สัดส่วน 20% ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อ “ออโตเครป แอเรทเต็ท คอนกรีต โปรดัก” ทุนจดทะเบียน 105 ล้านบาท ลงทุนหุ้นครั้งแรก ก.พ.2547 ในราคาหุ้นละ 3 บาท ถัดมาไม่นานบริษัทออโตเครปฯ มีแผนต้องใส่เงินลงทุนเพิ่ม โดยให้ผู้ถือหุ้นเดิมชำระค่าหุ้นเพิ่มเติม แต่กลุ่มซิโน-ไทย ที่นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล ได้ถอนหุ้นออกไปช่วง เม.ย.2547 เนื่องจากมีข้อขัดแย้งในการซื้อที่ดิน และเครื่องจักร และฝ่ายนายประทีป กลับไม่ชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้นายเสรี ซึ่งเป็นฝ่ายที่ร่วมลงทุนอีกรายให้รับทราบ แต่เรียกร้องให้นายเสรี ใส่เงินลงทุนชำระค่าหุ้นในส่วนเพิ่มในบริษัทออโตเครปฯ ทั้งที่ไม่มีเอกสารการชำระค่าหุ้นของฝ่ายอื่นๆ มาชี้แจง ทำให้นายเสรี ไม่ใส่เงินลงทุนเพิ่มในบริษัทดังกล่าวจนเกิดข้อพิพาท
ต่อมา ธ.ค.2547 นายเสรี ไปร้องเรียนต่อสำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในกรณีงบบัญชีปี 2547 ของบริษัทออโตเครปฯ ซึ่งเมื่อ มี.ค.2555 สภาวิชาชีพบัญชีฯ มีคำสั่งพักใบอนุญาติผู้สอบบัญชี บมจ.สมาร์ท คอนกรีต ในขณะนั้น คือนายเนติรัฐ เปี่ยมศิริมงคล เนื่องจากงบบัญชีปี 2547 ไม่มีหลักฐานการชำระหุ้นลงทุนเพิ่มของกลุ่มซิโน-ไทย ตามที่บันทึกไว้ในงบบัญชี ขณะที่สำนักกำกับดูแลธุรกิจฯ ระบุว่า งบการเงินในรอบบัญชีดังกล่าวบกพร่อง จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
นอกจากนี้ พบว่าต่อมา กลุ่มนายประทีป ได้นำชื่อของนายเสรี ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทออโตเครปฯ เนื่องจากไม่จ่ายเงินชำระหุ้นเพิ่มเติม ขณะที่ผลการสอบสวนของสำนักกำกับดูแลธุรกิจ ต่อผู้สอบบัญชีบริษัทออโตเครปฯ ในปี 2547นั้น ผู้สอบบัญชียอมรับว่า มีการปลอมบัญชีผู้ถือหุ้นเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ในการกู้เงินกับธนาคารไทยพาณิชย์
“จุดนี้ระบุได้ว่า งบการเงินของบริษัทไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ปี 2547 และจะเอาเข้าตลาดหุ้นได้อย่างไร อีกทั้งยังพบว่ามีบริษัทหนึ่งชื่อ ดี เจ ทีฯ เข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้นในบริษัท ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน แทนที่จะเป็นการลงทุนด้วยเงินสด เหตุที่ยื่นคัดค้านการเข้าจะทะเบียน เพราะเรามองว่าบริษัทขาดคุณสมบัติ”
ด้านนายเสรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เหตุที่ยื่นร้องเรียนต่อ ก.ล.ต.เพราะต้องการให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ว่า บริษัทมีข้อพิพาทดังกล่าวอยู่ ไม่ใช่ตามที่บริษัทยื่นรายละเอียดไปในไฟลิ่ง และโดยส่วนตัวก็รู้จักกับนายประทีป และมีข้อพิพาทเรื่องการกู้เงินจากตนซึ่งมีการฟ้องร้องระหว่างกันอยู่ด้วย
สำหรับ บมจ.สมาร์ทคอนกรีต ได้ยื่น Filing version แรก เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชน (IPO) จำนวน 115 ล้านหุ้น โดยบริษัทออกหุ้นใหม่จำนวน 70.45 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นของ บมจ.ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) จำนวนไม่เกิน 46 ล้านหุ้น และเสนอขายประชาชน จำนวน 24.45 ล้านหุ้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ คือ บริษัท ชลประทีปสินทรัพย์ จำกัด ได้นำหุ้นเดิมของบริษัทออกมาเสนอขาย 44.55 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ บริษัทมีความประสงค์จะนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บมจ.ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี (CCP) ถือหุ้น 132,300,008 หุ้น หรือคิดเป็น 33.96% หลังขาย IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 28.76% และ บจก.ชลประทีปสินทรัพย์ (CPP) ถือหุ้น 244,387,471 หุ้น หรือคิดเป็น 62.74% หลังขาย IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 43.44% ถือหุ้น 199,837,471 หุ้น
อนึ่ง ในช่วงปี 2548 บริษัท CCP เคยมีข่าวว่าได้ซื้อหุ้นในบริษัท ออโตเครป แอเรทเต็ด คอนกรีตโปรดัก จำกัด (AACP) คืนจาก บมจ.ซิโนไทยฯ และได้ทยอยซื้อหุ้นคืนจากกลุ่มผู้ร่วมทุนอีก 3 ราย คือ เนชั่นแนลยูเนี่ยน เพอร์เพชวลพรอสเพอร์ตี้ และ DJT โดยให้เหตุผลในการซื้อหุ้นคืนว่า เป็นเพราะมีความพร้อมในการบริหารงาน ทำให้เหลือผู้ถือหุ้นใน AACP เพียง 2 ราย คือ CCP ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 80% กับ “เสรี จุลศักดิ์ศรีสกุล” ที่ถือในนามส่วนตัวอีก 20%
ก.ล.ต.ระบุพิจารณาข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย
ด้านนายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานเลขาธิการ สำนัก ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้รับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนการเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอ ของ บมจ.สมาร์ทคอนกรีต แล้ว ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนของบริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูลไฟลิ่งที่ยื่นมา และยังไม่มีการอนุญาตให้บริษัทดำเนินการกระจายหุ้น ขณะเดียวกัน ทาง ก.ล.ต.จะพิจารณาข้อมูลในไฟลิ่ง ควบคู่ไปกับข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย