xs
xsm
sm
md
lg

‘ศาลโลก’ตัดสินให้ ‘พื้นที่ตั้งปราสาทพระวิหาร’เป็นของ ‘กัมพูชา’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

UN court awards temple site to Cambodia
By Radio Free Asia
12/11/2013

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ได้พิพากษาให้กัมพูชาเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่รอบๆ ตัวปราสาทพระวิหาร อันตั้งอยู่ตรงชายแดนติดต่อกับประเทศไทย ในคำตัดสินครั้งสำคัญซึ่งมุ่งหมายยุติข้อพิพาทอันยืดเยื้อหลายสิบปี ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและสั่นประสาทของผู้คนในทั้งสองประเทศมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ศาลสูงสุดของสหประชาชาติแห่งนี้ ยังได้สั่งให้รัฐบาลไทยถอนกำลังรักษาความมั่นคงของตนออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

ศาลสูงสุดของสหประชาชาติอ่านคำพิพากษาในคดีสำคัญเมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) ที่ผ่านมา โดยตัดสินให้กัมพูชาเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งอยู่ประชิดรอบๆ โบราณสถานเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่ตรงแนวชายแดนติดต่อกับประเทศไทย อีกทั้งออกคำสั่งให้รัฐบาลไทยที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว ต้องถอนกำลังรักษาความปลอดภัยใดๆ ก็ตามซึ่งตั้งประจำอยู่ในบริเวณนั้น

อย่างไรก็ตาม ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แห่งนี้ ก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของกัมพูชา ที่ระบุว่าตนมีกรรมสิทธิ์เหนือภูเขาลูกหนึ่งในเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับปราสาทพระวิหารอันเก่าแก่อายุ 900 ปีแห่งนี้

การตัดสินคราวนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะยุติข้อพิพาททางชายแดนซึ่งสาวย้อนหลังกลับไปได้หลายสิบปี และฝ่ายกัมพูชานั้นได้กล่าวแสดงความยินดีต่อการตัดสิน “ครั้งประวัติศาสตร์” ของศาลโลกคราวนี้ ขณะที่ฝ่ายประเทศไทยบอกว่า เป็นคำพิพากษาซึ่ง “เป็นที่น่าพอใจ” ของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ ศาลชี้ว่าในคำพิพากษาเมื่อปี 1962 ของคณะผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแห่งนี้ ได้ตัดสินให้กัมพูชาเป็นเจ้าของชะง่อนผา (promontory) ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ด้วย และระบุว่าประเทศไทยต้องถอนกำลังทหารตำรวจของตนออกไปจากบริเวณตรงนั้น

ทว่าคำตัดสินคราวนี้ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเส้นพรมแดนของทั้งสองประเทศในบริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วแห่งนี้ จึงเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของฝ่ายกัมพูชาที่ว่า ตนเองเป็นมีอำนาจอธิปไตยเหนือภูเขาพนมตรวบ (Phnum Trap ซึ่งก็คือ ภูมะเขือ) ที่อยู่ใกล้ๆ กับปราสาท

รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอร์ นัมฮง (Hor Namhong) ของกัมพูชา แถลงที่กรุงเฮกว่า คำพิพากษานี้ “ดีเพียงพอทีเดียว” ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยกล่าวว่าพวกเขาจะเปิดการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป

ทางด้านนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา ได้ออกคำแถลงยกย่องชมเชยคำตัดสินนี้ของศาลโลกว่า เป็น “การก้าวไปข้างหน้าครั้งสำคัญ” และบอกว่าเป็นคำตัดสินที่มี “ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ... ในการแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทเหนือปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบๆ ปราสาทอย่างสันติ เราขอให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำการใดๆ ในทางยั่วยุซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสอง และจะป้องกันไม่ให้บุคคลใดๆ ยั่วยุให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสอง” ฮุนเซน ระบุในคำแถลง

“เราจะเอาใจใส่พยายามรักษาและเพิ่มพูนความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง”

**ไม่มีความตึงเครียด**

ผู้สื่อข่าวของวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาเขมร (RFA's Khmer Service) ซึ่งอยู่ตรงบริเวณเขาพระวิหาร รายงานว่าไม่มีความตึงเครียดใดๆ เกิดขึ้นระหว่างกองกำลังความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายที่ประจำอยู่ตรงแนวชายแดนบริเวณนั้น

ขณะที่พวกชาวบ้านใกล้ๆ พื้นที่พิพาท ได้พากันอพยพออกไปแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าศาลโลกอ่านคำพิพากษา

ช่วงเวลา 3 ปีภายหลังปราสาทพระวิหารได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี 2008 ได้เกิดการปะทะกันหลายครั้งรอบๆ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไป 28 คน และทำให้ประชาชนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่อีกหลายพันคน ยังผลให้ฝ่ายกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้ตัดสินสร้างความกระจ่างเพิ่มเติมให้แก่คำพิพากษาในปี 1962

เมื่อปีที่แล้ว ศาลโลกซึ่งในปี 1962 ได้ตัดสินให้กัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารโดยที่มิได้มีการพูดถึงอธิปไตยของพื้นที่รอบๆ ปราสาท ได้ออกคำสั่งให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารของทั้งสองฝ่ายออกจากพื้นที่ใกล้เคียง (vicinity) กับปราสาท

ในวันจันทร์ (11 พ.ย.) ปีเตอร์ ทอมกา (Peter Tomka) ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้อ่านคำตัดสินว่า ตามคำพิพากษาเมื่อปี 1962 นั้น “กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดของชะง่อนผาของปราสาทพระวิหาร” และประเทศไทย “มีพันธกรณี” ที่จะต้องถอนกองกำลังความมั่นคงออกจากพื้นที่ดังกล่าว

“กัมพูชาและไทยจักต้องร่วมมือในระหว่างกันเอง และร่วมมือกับประชาคมโลก ในการพิทักษ์ปกป้องสถานที่แห่งนี้ในฐานะที่เป็นมรดกโลก” ผู้พิพากษาผู้นี้ระบุ

**การหารือระหว่างไทยกับกัมพูชา**

ทางด้านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย กล่าวในระหว่างการแถลงทางโทรทัศน์ภายหลังศาลโลกมีคำพิพากษาแล้วว่า เธอจะจัดการเจรจากับกัมพูชา พร้อมกับให้สัญญาว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของไทย

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แถลงที่กรุงเฮกว่า “คำตัดสินนี้เป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย” และประเทศทั้งสองจะจัดการเจรจากันในคณะกรรมการซึ่งวางแผนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน

ภายหลังคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคราวนี้ ตามท้องถนนของกรุงพนมเปญไม่ได้มีบรรยากาศของการเฉลิมฉลองใดๆ ถึงแม้วันตัดสินนี้มีขึ้น 1 วันหลังจากกัมพูชาจัดการเฉลิมฉลองทั่วประเทศเนื่องในวันประกาศเอกราช

พวกชาวบ้านที่พำนักอาศัยในกรุงพนมเปญบอกว่า คำตัดสินนี้จะช่วยทำให้สองประเทศมีสันติภาพ

“ประเทศทั้งสองจะไม่มีการจับอาวุธสู้รบกัน ประชาชนจากทั้งสองฝ่ายจะอยู่กันอย่างสันติ” เยือน ฮอน (Yoeun Hon) ชาวเมืองพนมเปญผู้หนึ่ง กล่าว

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาได้เสริมกำลังตำรวจที่รักษาการณ์อยู่ด้านนอกของสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงพนมเปญ

ส่วนโรงเรียนแห่งต่างๆ ของไทยที่ถูกติดกับชายแดนได้หยุดการเรียนการสอน โดยที่ในกรุงเทพฯ ผู้ชุมนุมเดินขบวนรายหนึ่งได้จุดไฟเผาธงชาติกัมพูชาบนถนนสายหนึ่ง ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นของบริการภาคภาษาเขมร ของวิทยุเอเชียเสรี ซึ่งแปลโดย เสมียน ยุน (Samean Yun) และเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย ราเชล แวนเดนบริงก์ (Rachel Vandenbrink)

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น