xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-อัฟกานิสถาน’ยังทำ‘ข้อตกลง’ไม่สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: ฮาฟิซุลเลาะห์ การ์เดช

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Afghan-US pact still hangs in the balance
By Hafizullah Gardesh
16/10/2013

ข้อตกลงความมั่นคงซึ่งประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถาน และรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ แถลงในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า สามารถทำความตกลงในเบื้องต้นกันได้แล้วนั้น ในความเป็นจริงยังคงห่างไกลนักหนาจากการเป็นดีลที่เสร็จสิ้นเรียบร้อย ทั้งนี้การเจรจากันมีอันต้องสะดุดติดขัดในประเด็นที่ทรงความสำคัญที่สุด นั่นคือการยินยอมให้ทหารอเมริกันซึ่งจะอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไปภายหลังปี 2014 มีสิทธิพิเศษที่จะไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาในประเทศนี้

พวกนักวิเคราะห์ชาวอัฟกานิสถานต่างบอกว่า ข้อตกลงด้านความมั่นคงซึ่งประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) ของอัฟกานิสถาน กับ รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ของสหรัฐฯแถลงในสัปดาห์ที่แล้วว่าสามารถที่จะทำความตกลงกันในเบื้องต้นได้แล้วนั้น ในทางเป็นจริงแล้วยังคงห่างไกลนักหนาจากการเป็นดีลที่สำเร็จเรียบร้อย

ข้อตกลงที่รอคอยกันมานานและมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคี (Bilateral Security Agreement) ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้เป็นกรอบกำหนดความร่วมมือทางด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯกับอัฟกานิสถาน ภายหลังที่กองทหารซึ่งนำโดยองค์การนาโต้ถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานเป็นส่วนใหญ่แล้วในปีหน้า เวลานี้ยังคงไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงเงื่อนไขต่างๆ ในข้อตกลงดังกล่าวแบบเต็มทั้งฉบับ ถึงแม้ทั้งเคร์รี และคาร์ไซ ต่างระบุในตอนสิ้นสุดการเจรจาหารือระหว่างวันที่ 11-12 ตุลาคมของพวกเขาว่า ประเด็นสำคัญๆ ส่วนใหญ่ได้รับการคลี่คลายทำความตกลงกันได้แล้ว

คาร์ไซบอกว่า เขาได้รับหนังสือค้ำประกันเป็นลายลักษณ์อักษรจากสหรัฐฯว่าจะเคารพอธิปไตยของอัฟกานิสถาน โดยที่มีการระบุรายละเอียดว่าวอชิงตันให้คำมั่นสัญญาที่จะป้องกันประเทศนี้จากการถูกโจมตีจากภายนอก อีกทั้งให้ความมั่นใจว่ากองกำลังอเมริกันจะไม่เปิดการปฏิบัติการอย่างเป็นอิสระ

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดเจนว่าการเจรจาอย่างยืดเยื้อเป็นเวลา 2 วันคราวนี้ ยังคงประสบความล้มเหลวไม่สามารถตกลงกันในประเด็นที่ทรงความสำคัญที่สุด นั่นคือ ทหารอเมริกันที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไปเพื่อฝึกอบรมกองกำลังความมั่นคงแห่งชาตินั้น ควรที่จะได้สิทธิพิเศษให้ไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาในอัฟกานิสถานหรือไม่

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าหากจะให้ทหารอเมริกันอยู่ต่อไปแล้ว เรื่องสิทธิพิเศษที่จะไม่ถูกดำเนินคดีนี้คือสิ่งจำเป็นที่ไม่มีไม่ได้ ทว่าคาร์ไซบอกว่าปัญหานี้จำเป็นที่จะต้องถกเถียงอภิปรายกันใน “โลยา จิรกา” (loya jirga) หรือสภาผู้อาวุโสของชนเผ่าระดับทั่วประเทศ โดยที่เขาระบุว่าจะสามารถจัดขึ้นได้ภายในเดือนหน้า

“การให้สิทธิพิเศษตามกฎหมายที่จะไม่ถูกดำเนินคดีนั้น ไม่ได้เป็นอำนาจของรัฐบาลอัฟกานิสถาน หากแต่เป็นเรื่องของประชาชนอัฟกานิสถาน ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้ โลยา จิรกา เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้” เขาบอกกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับเคร์รีภายหลังทั้งคู่เสร็จสิ้นการเจรจากัน

สำหรับทางรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯนั้น เขาแถลงว่าการได้รับสิทธิพิเศษทางกฎหมายเช่นนี้เป็นเรื่องจำเป็น และเป็นสิทธิพิเศษอย่างเดียวกับที่กองทหารสหรัฐฯไม่ว่าตั้งอยู่ที่ไหนในทั่วโลกก็จะได้รับกันทั้งสิ้น

“สิทธิพิเศษเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กองกำลังของสหรัฐฯปลอดจากการถูกกล่าวโทษดำเนินคดีเมื่อกระทำความผิดแต่อย่างใด ถ้าหากทหารของเราในอัฟกานิสถานกระทำอาชญากรรม พวกเขาก็ยังจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายของสหรัฐฯในสหรัฐฯ” เขาบอก “เราจำเป็นที่จะต้องบอกว่า ถ้าประเด็นเรื่องเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้แล้ว ก็เป็นโชคร้ายที่จะไม่สามารถทำข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคกันได้”

ทางด้าน รามาซาน บาชาร์โดสต์ (Ramazan Bashardost) สมาชิกรัฐสภาของอัฟกานิสถานผู้ซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เป็นประจำ กล่าวว่าการเจรจากันระหว่างเคร์รีกับคาร์ไซแท้จริงแล้วยังไม่ได้มีผลลัพธ์อันชัดเจนแต่อย่างใด

“สิ่งที่ประโคมข่าวกันในสื่อมวลชนนั้นแตกต่างไปจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นข้างหลังฉาก ไม่ว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานหรือรัฐบาลสหรัฐฯต่างก็ไม่ได้บอกเล่าความจริงให้ประชาชนของพวกเขารับทราบ” เขาบอก “ผมไม่มีความเชื่อมั่นเอาเลยว่าการเจรจาเหล่านี้ที่กระทำโดย ฮามิด คาร์ไซ จะมีความจริงใจและเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของอัฟกานิสถาน”

บาชาโดสต์เปรียบเทียบร่างข้อตกลงฉบับนี้ กับข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สหรัฐ-อัฟกานิสถาน (US-Afghanistan Strategic Partnership Agreement) ที่ลงนามกันไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาที่มุ่งวางพื้นฐานให้แก่ความสัมพันธ์ทวิภาคีภายหลังปี 2014 เขาระบุว่าเอาเข้าจริงแล้วสหรัฐฯก็ไม่ได้เคารพกระทำตามข้อตกลงที่ลงนามกันไปแล้วนี้ ซึ่งมีเนื้อหาระบุให้ส่งมอบหน้าที่บริหารเรือนจำสถานที่กักกันต่างๆ ที่ฝ่ายอเมริกันเป็นผู้ดำเนินการอยู่ ตลอดจนหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติการพิเศษทั้งหลาย ไปให้แก่กองกำลังของฝ่ายอัฟกานิสถาน นอกจากนั้นข้อตกลงนี้ยังมีเนื้อหาครอบคลุมถึงเรื่องความช่วยเหลือและการพัฒนาด้วย

สมาชิกรัฐสภาอัฟกานิสถานผู้นี้ให้ความเห็นว่า สำหรับข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีที่ยังคงเจรจากันอยู่นั้น ควรที่จะขยายเนื้อหาให้ครอบคลุมถึงการปกป้องคุ้มครองอัฟกานิสถานจากการถูกยิงจรวดถล่มโจมตี อันเป็นเรื่องที่คาบูลกล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเป็นฝีมือของปากีสถานที่ยิงข้ามพรมแดนเข้ามา ทว่าพวกเจ้าหน้าที่ปากีสถานพากันปฏิเสธว่ากองกำลังของพวกเขาไม่ได้เคยจงใจยิงจรวดเข้าอัฟกานิสถานเช่นนี้แต่อย่างใด

“ก็เหมือนกับที่สหรัฐฯปล่อยปละละเลยไม่ลงมือทำอะไรในเรื่องที่มีการยิงจรวดโจมตีจากปากีสถานเข้ามาในอัฟกานิสถาน และก็เพิกเฉยกับข้อตกลงยุทธศาสตร์ทวิภาคี ในเรื่องของข้อตกลงความมั่นคงนี้สหรัฐฯก็จะทำแบบเดียวกัน เพราะไม่ได้มีอะไรที่จะรับประกันเลยว่าพวกเขาจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเหล่านี้” เขาบอก

สำหรับ วาฮิด โมซดา (Wahid Mozhda) ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์การเมืองบอกว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นที่แตกต่างห่างไกลกันมาก

“สิ่งที่คาร์ไซพูดกับสิ่งที่เคร์รีพูดมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เคร์รีไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นต่างๆ ซึ่งคาร์ไซบอกว่าพวกเขาสามารถทำความตกลงกันได้แล้ว” โมชดา กล่าวกับสถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) “เคร์รีเพียงแค่ยืนกรานว่าสิทธิพิเศษทางกฎหมายที่จะไม่ดำเนินคดีกับคนอเมริกันในอัฟกานิสถาน คือเงื่อนไขที่สหรัฐฯไม่สามารถอ่อนข้อประนีประนอมได้ ทว่าเขาไม่ได้ให้ความเห็นเพื่อเป็นการยืนยันสิ่งที่คาร์ไซพูดออกมาเลย นั่นจึงหมายความว่าบางทีเคร์รีอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนั้นก็ได้”

โมชดา ชี้ว่าจากการที่กองทหารนาโต้กำลังจะถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถาน กำลังทำให้ความตึงเครียดต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้นว่า ข้อตกลงอายุ 40 ปีที่รัสเซียทำกับทาจิกิสถานเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นการขยายการปรากฏตัวทางทหารของรัสเซียในชาติเอเชียกลางแห่งนั้น เขาระบุว่า เรื่องนี้จะช่วยปกป้องทาจิกิสถานจากการคุกคามของพวกหัวรุนแรงที่ออกไปจากอัฟกานิสถานก็จริงอยู่ แต่มันก็จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่มอสโก ซึ่งเป็นปรปักษ์ของสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน

นักวิเคราะห์การเมืองผู้นี้ยังให้ความเห็นว่า ไม่ได้มีความจำเป็นเลยที่จะต้องเรียกประชุม โลยา จิรกา เพื่อพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางกฎหมายแก่ทหารสหรัฐฯ ในเมื่อประเด็นนี้ได้เคยอภิปรายถกเถียงกันมาแล้วในการประชุมเช่นนี้คราวก่อน และก็ถูกปฏิเสธไม่ยอมรับกันไปแล้ว

เขายังกล่าวเตือนด้วยว่า ถ้าหากยังเดินหน้าทำข้อตกลงความมั่นคงนี้ต่อไป ก็จะไม่ก่อให้เกิดผลในทางสร้างเสถียรภาพแต่อย่างใด

“เมื่อมีการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้กับสหรัฐฯ ทางอัฟกานิสถานจะไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก เพราะพวกที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯทั้งในอัฟกานิสถานและในประเทศอื่นๆ จะไม่ยอมอยู่เฉยนิ่งเงียบ พวกเขาจะเริ่มต้นการต่อสู้กับพวกอเมริกัน และเหล่าประเทศที่อยู่เบื้องหลังพวกศัตรูเหล่านี้ ก็จะยิ่งเพิ่มการหนุนหลังพวกเขา”

ทั้งนี้ โมฮัมหมัด โอมาร์ (Mohammad Omar) ผู้นำของกลุ่มตอลิบาน ได้ระบุในคำปราศรัยเนื่องในเทศกาลวันตรุษอีดอัลอัฎฮา ซึ่งนำออกโพสต์ทางออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขายืนกรานว่า “จะไม่มีวันยอมรับ” ข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคี พร้อมกับเตือนด้วยว่าขบวนการของเขาจะยังทำการต่อสู้ต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีนักวิเคราะห์บางรายที่แสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานนั้นอยู่ในฐานะที่อ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง จนไม่มีทางที่จะทำการต่อรองอย่างเหนียวแน่นกับสหรัฐฯได้เลย

จาวัด โคฮิสตานี (Jawed Kohistani) นักวิเคราะห์กิจการทางการเมืองและทางการทหาร บอกว่าตัวเขาเข้าใจว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ของอัฟกานิสถาน ไม่ได้สบายใจกับวิธีที่คาร์ไซใช้รับมือกับเคร์รีเลย และได้เคยร้องเรียนแล้วว่าคาร์ไซใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวเกินไปอย่างไม่จำเป็น

โคฮิสตานีกล่าวว่า รัฐที่อ่อนแออย่างเช่นอัฟกานิสถานนั้น จำเป็นที่จะต้องได้หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งอย่างสหรัฐฯ และการที่ทหารอเมริกันยังคงปรากฏตัวอยู่ในประเทศต่อไป ก็จะช่วยคุ้มครองอัฟกานิสถานทั้งจากการต่อสู้ขัดแย้งกันภายในและภัยคุกคามจากภายนอก

“เราต้องพึ่งพาอาศัยการสนับสนุนของสหรัฐฯอยู่แล้ว รวมทั้งกองทัพของเราก็ต้องการการสนับสนุนของสหรัฐฯด้วย เรามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯต่อไปอีกจนกระทั่งถึงจุดที่เราจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้” เขาบอก พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า “เชื่อผมเถอะ ถ้าสหรัฐฯหยุดช่วยเหลือกองทัพของเราเพียงแค่สักเดือนเดียว กองทัพของเราก็จะต้องสลายตัวแน่นอน”

เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์คนอื่นๆ โคฮิสตานีก็ชี้ว่ากิริยาท่าทางของคาร์ไซและของเคร์รีในระหว่างที่ทั้งคู่ออกมาแถลงข่าวร่วมกันนั้น บ่งบอกให้เห็นว่าทั้งสองคนนี้มีความขัดแย้งกันอยู่

ทางด้านประชาชนทั่วไปในกรุงคาบูลก็มีความเข้าใจเช่นเดียวกันนี้ด้วย

“ระหว่างที่มีการแถลงข่าว ผมมองเห็นชัดเลยว่า พวกเขาพูดถึงอะไรอย่างหนึ่ง แต่เวลาเดียวกันนั้นกิริยาท่าทางและการแสดงออกทางใบหน้ากลับบอกให้รู้ถึงสิ่งที่แตกต่างออกไป” นูร์ โมฮัมเหม็ด (Nur Mohammed) ผู้ทำงานในองค์การระหว่างประเทศแห่งหนึ่งกล่าวให้ความเห็น “พวกเขา 2 คนดูเหมือนกับเป็นศัตรูกัน ไม่มีแม้กระทั่งรอยยิ้มแย้มธรรมดาๆ ให้เห็นเอาเลย ดังนั้นจึงชัดเจนว่ายังคงมีปัญหากันอยู่อย่างมากมายทีเดียว”

เขาบอกว่าวอชิงตันจำเป็นที่จะต้องเคารพความประสงค์ของคาร์ไซ ถ้าหากตั้งใจที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันเอาไว้ต่อไป พร้อมกับกล่าวว่าความเป็นจริงทางการเมืองนั้นมีความสลับซับซ้อนเหลือเกินจนกระทั่งเป็นเรื่องยากที่ชาวอัฟกานิสถานจะรู้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่จะให้ประโยชน์สูงสุดแก่พวกเขา

“ถ้าหากสหรัฐฯออกไปจากอัฟกานิสถาน เราก็จะเผชิญกับพวกตอลิบาน, อัฟกานิสถาน, และอิหร่าน” เขากล่าว “ถ้าหากสหรัฐฯยังคงอยู่ในอัฟกานิสถาน สงครามก็จะยืดเยื้อต่อไปอีก, มีความโหดเหี้ยมมากขึ้นและมีความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นทางไหน ชาวอัฟกานิสถานก็มีแต่เจ็บปวดทุกข์ยากทั้งนั้น”

ฮาฟิซุลเลาะห์ การ์เดช เป็นบรรณาธิการด้านอัฟกานิสถานของ สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความ ขัดแย้ง, วิกฤต, และความเปลี่ยนแปลง ข้อเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Institute for War and Peace Reporting (เว็บไซต์ http://iwpr.net)
กำลังโหลดความคิดเห็น