(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
In Afghan schools, black is the new black
By Mina Habib
14/08/2013
พวกเด็กนักเรียนหญิงกำลังร้องขอให้รัฐบาลอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับซึ่งกำหนดให้พวกเธอต้องสวมเครื่องแบบที่ประกอบด้วยเสื้อสีดำ, กางเกงดำ, และผ้าคลุมศีรษะสีขาว แต่ก็มีบางคนที่เย้ยเยาะไม่เชื่อถือในคำมั่นสัญญาของทางกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า จะมีการปรึกษาหารือรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ว่าควรหรือไม่ที่จะเปลี่ยนสีสันของเครื่องแต่งกายซึ่งทั้งดูดความร้อนอบอ้าวถึงขนาดทำให้เป็นลมได้ และทั้งคล้องจองกับชุดไว้ทุกข์ที่ชวนให้จิตใจหดหู่ท้อแท้
คาบูล, อัฟกานิสถาน – พร้อมๆ กับที่ใช้ผ้าเช็ดหน้าซับเหงื่อที่ไหลย้อยออกจากใบหน้าของเธอ มารจัน (Marjan) เด็กสาวชาวอัฟกันที่ปัจจุบันอายุ 16 ปีก็กล่าวว่า ชุดเครื่องแบบนักเรียนสีดำของเธอ ทำให้ความร้อนของอากาศฤดูร้อนในกรุงคาบูลอยู่ในขั้นที่ทนไม่ไหวทีเดียว
“ท่านรัฐมนตรีศึกษาธิการนั้น ท่านกำลังนั่งอยู่ในออฟฟิศติดแอร์ แล้วท่านจะรู้อะไรเกี่ยวกับสภาพที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ หรือว่ามันร้อนขนาดไหนเมื่อต้องใส่เสื้อผ้าสีดำพวกนี้” นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนมัธยมศึกษาอาเรียนา (Ariana High School) บ่นอุบอิบ “พวกเราได้เห็นนักเรียนหญิงเป็นลมกันอยู่ทุกวันเลยในช่วงฤดูร้อน เหตุผลก็มีอยู่อย่างเดียวคือสีดำทำให้อุณหภูมิในร่างกายของคุณเพิ่มสูงขึ้นอย่างชนิดควบคุมไม่ได้”
ทั้งเด็กนักเรียนหญิงและคุณครูจำนวนมาก ต่างกำลังร้องขอให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับซึ่งกำหนดให้นักเรียนหญิงต้องสวมชุดเครื่องแบบที่ประกอบด้วยเสื้อสีดำ, กางเกงดำ, และผ้าคลุมศีรษะสีขาว แม้กระทั่งในจังหวัดต่างๆ ซึ่งอุณหภูมิตอนฤดูร้อนอาจจะพุ่งปริ๊ดไปถึงระดับ 50 องศาเซลเซียสทีเดียว
ชิริน (Shirin) อาจารย์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาอาเลมฟาอิซซาดา (Alem Faizzada High School) ให้ความเห็นว่า สีน้ำเงินหรือสีเทาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสีดำมาก ระหว่างที่ทำงานเป็นครูอาจารย์สอนหนังสือเป็นเวลา 12 ปีแล้ว เธอได้เห็นกรณีจำนวนมากที่เด็กนักเรียนหญิงถึงกับเป็นลมเนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าว
“ดิฉันเองก็เคยเป็นนักเรียนมาก่อน ดิฉันก็เคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันนี้มาแล้ว ดิฉันจึงทราบดีว่าการสวมชุดสีดำนั้นมีผลกระทบกระเทือนที่เลวร้ายขนาดไหนต่อตัวนักเรียน ไม่ว่าจะในทางร่างกายหรือในทางจิตใจ” เธอกล่าว
ตามขนมประเพณีแล้ว ชุดสีดำกับสีเขียวอ่อนคือสีหลักๆ ที่นักเรียนหญิงสามารถเลือกใช้ได้ ทว่าในเวลานี้สีดำกลายเป็นสีที่ถูกบังคับให้ใช้ไปแล้ว โดยเหตุผลที่เลือกสีนี้ก็ดูจะมาจากอิทธิพลของความคิดความเข้าใจที่ว่ามันทำให้เกิดความรู้สึกเคร่งขรึมเรียบร้อย ตามคำอธิบายของ อับดอล โมนีร์ เนกาห์ (Abdol Monir Negah) ผู้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการวิชาการ (academic council) ของกระทรวงศึกษาธิการอัฟกานิสถาน การกำหนดให้นักเรียนหญิงต้องสวมเครื่องแบบที่ประกอบด้วยเสื้อดำ กางเกงดำ และผ้าคลุมศีรษะสีขาว ก็เพราะ “ประการแรก นักเรียนหญิงต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากคนอื่นๆ ประการที่สอง สีดำนั้นปกปิดความงามตลอดจนลักษณะต่างๆ ของเด็กผู้หญิงและผู้หญิงจากสายตาของพวกผู้ชาย มันไม่ดึงดูดความสนใจ”
เขากล่าวเตือนว่า การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงใดๆ ควรที่จะต้องคำนึงถึงค่านิยมแบบอนุรักษนิยมซึ่งยังเป็นที่เคารพยกย่องของสังคมชาวอัฟกันด้วย
ทางด้าน โกลาไล (Golalai) แพทย์โรคผิวหนังแห่งโรงพยาบาลกลาง (Central Hospital) ของกรุงคาบูล กล่าวอธิบายว่าเป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ว่าเสื้อผ้าสีดำนั้นสามารถดูดซับแสงและความร้อนได้มากกว่าสีที่อ่อนลงมา “มีคนไข้จำนวนมากที่มาหาดิฉันด้วยอาการโรคผิวหนัง ซึ่งมีสาเหตุจากเสื้อผ้าสีดำ” เธอบอก พร้อมกับเสริมด้วยว่า ถึงแม้การใช้ยาจะสามารถบรรเทาอาการเหล่านั้นได้ แต่วิธีแก้ไขอันแท้จริงก็คือการหันไปสวมใส่เสื้อผ้าที่สีอ่อนลง
สำหรับเครื่องแบบนักเรียนนั้น เธอให้ความเห็นว่า “ดิฉันเชื่อว่าจะเป็นการดีกว่า ถ้าหากเปลี่ยนจากสีดำให้เป็นสีอื่นๆ แทน”
ส่วน ฮิไล (Hilay) นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนมัธยมศึกษาอาเรียนา มีความมั่นอกมั่นใจมากว่า สีที่มืดมัวมีผลกระทบกระเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนเราอย่างแน่นอน
“สีดำนอกจากทำให้พวกเรารู้สึกร้อนมากขึ้นในเวลาที่อากาศร้อนแล้ว มันยังเป็นสีที่ไม่สดชื่น ผู้หญิงจะสวมชุดสีดำกันเมื่อพวกเธอจะไปงานพิธีไว้อาลัยต่างๆ เมื่อหนูต้องสวมเครื่องแบบนักเรียน หนูก็คิดไปโดยจิตใต้สำนึกถึงเรื่องงานศพและความเศร้าโศก และนั่นทำให้คิดไปในเรื่องความตายของตัวหนูเองด้วย”
เตมอร์ (Temor) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แห่งโรงพยาบาลจิตเวชของกรุงคาบูล เห็นด้วยกับเรื่องที่ว่าสีดำมีความหมายทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง “เป็นเรื่องทั่วไปเลยที่คิดกันว่าสีดำเป็นสัญลักษณ์ของความโศกเศร้า, ความผิดหวัง, และความหายนะ เมื่อนักเรียนหญิงสวมใส่ชุดเครื่องแบบสีดำ ความรับรู้ความเข้าใจเหล่านี้ก็ย่อมได้รับการแฝงฝังแบบอยู่ในจิตใต้สำนึก และมันก็จะมีผลกระทบในทางลบต่อการศึกษาเล่าเรียนของนักเรียนหญิงเหล่านี้” เขากล่าว
ด้านพวกเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการบอกว่า นักเรียนควรต้องยื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการถ้าหากต้องการเปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียนกันจริงๆ แต่พวกเขาก็เตือนว่าคงจะต้องใช้เวลานานทีเดียวก่อนที่กระบวนการปรึกษาหารือกันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างจริงจัง โมฮัมหมัด อาซิม คาร์บาไล (Mohammad Azim Karbalai) ประธานคณะกรรมการวิชาการของกระทรวง กล่าวว่ากำลังมีการพิจารณาเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ โดยที่อาจจะอนุญาตให้มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้นในเรื่องสีและเรื่องการออกแบบ ทั้งนี้ให้พิจารณากันเป็นแต่ละภาคไป
“เราอาจจะส่งประเด็นนี้ไปขอความเห็นของผู้ปกครองและชาวบ้านท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับชุดเครื่องแบบของนักเรียนหญิงในพื้นที่ภาคของพวกเขาเอง โดยให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางภูมิอากาศและบรรทัดฐานทางสังคมของแต่ละภาค” เขาบอก ก่อนที่จะเตือนสำทับว่า “ยังมีร่างกฎหมายและระเบียบข้อบังคับฉบับอื่นๆ ที่สำคัญกว่าเรื่องนี้ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยและตัดสินใจกันก่อน”
นักเรียนหญิงคนหนึ่งของโรงเรียนมัธยมศึกษาไอชาดูร์รานี (Aisha Durrani High School) ซึ่งขอให้สงวนนามของเธอ กล่าวเยาะเย้ยแนวความคิดในเรื่องการปรึกษาหารือกับผู้ปกครองและชาวบ้าน เธอบอกว่า ในทางเป็นจริงแล้ว “กระทรวงศึกษาธิการก็เที่ยวตัดสินใจอะไรต่างๆ ไปตามแต่ที่ตัวเองจะพอใจเท่านั้นแหละ” เธอกล่าวต่อไปว่า “พวกเขาเคยมาถามนักเรียนว่ามีความคิดเห็นยังไงกันเมื่อไหร่ล่ะ? ท่านรัฐมนตรีน่ะมองไม่เห็นปัญหาที่พวกเรากำลังเจอกันอยู่หรือยังไง?”
มีนา ฮาบิบ เป็นผู้สื่อข่าวในกรุงคาบูล ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และความเปลี่ยนแปลง
In Afghan schools, black is the new black
By Mina Habib
14/08/2013
พวกเด็กนักเรียนหญิงกำลังร้องขอให้รัฐบาลอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับซึ่งกำหนดให้พวกเธอต้องสวมเครื่องแบบที่ประกอบด้วยเสื้อสีดำ, กางเกงดำ, และผ้าคลุมศีรษะสีขาว แต่ก็มีบางคนที่เย้ยเยาะไม่เชื่อถือในคำมั่นสัญญาของทางกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า จะมีการปรึกษาหารือรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ว่าควรหรือไม่ที่จะเปลี่ยนสีสันของเครื่องแต่งกายซึ่งทั้งดูดความร้อนอบอ้าวถึงขนาดทำให้เป็นลมได้ และทั้งคล้องจองกับชุดไว้ทุกข์ที่ชวนให้จิตใจหดหู่ท้อแท้
คาบูล, อัฟกานิสถาน – พร้อมๆ กับที่ใช้ผ้าเช็ดหน้าซับเหงื่อที่ไหลย้อยออกจากใบหน้าของเธอ มารจัน (Marjan) เด็กสาวชาวอัฟกันที่ปัจจุบันอายุ 16 ปีก็กล่าวว่า ชุดเครื่องแบบนักเรียนสีดำของเธอ ทำให้ความร้อนของอากาศฤดูร้อนในกรุงคาบูลอยู่ในขั้นที่ทนไม่ไหวทีเดียว
“ท่านรัฐมนตรีศึกษาธิการนั้น ท่านกำลังนั่งอยู่ในออฟฟิศติดแอร์ แล้วท่านจะรู้อะไรเกี่ยวกับสภาพที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ หรือว่ามันร้อนขนาดไหนเมื่อต้องใส่เสื้อผ้าสีดำพวกนี้” นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนมัธยมศึกษาอาเรียนา (Ariana High School) บ่นอุบอิบ “พวกเราได้เห็นนักเรียนหญิงเป็นลมกันอยู่ทุกวันเลยในช่วงฤดูร้อน เหตุผลก็มีอยู่อย่างเดียวคือสีดำทำให้อุณหภูมิในร่างกายของคุณเพิ่มสูงขึ้นอย่างชนิดควบคุมไม่ได้”
ทั้งเด็กนักเรียนหญิงและคุณครูจำนวนมาก ต่างกำลังร้องขอให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับซึ่งกำหนดให้นักเรียนหญิงต้องสวมชุดเครื่องแบบที่ประกอบด้วยเสื้อสีดำ, กางเกงดำ, และผ้าคลุมศีรษะสีขาว แม้กระทั่งในจังหวัดต่างๆ ซึ่งอุณหภูมิตอนฤดูร้อนอาจจะพุ่งปริ๊ดไปถึงระดับ 50 องศาเซลเซียสทีเดียว
ชิริน (Shirin) อาจารย์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาอาเลมฟาอิซซาดา (Alem Faizzada High School) ให้ความเห็นว่า สีน้ำเงินหรือสีเทาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสีดำมาก ระหว่างที่ทำงานเป็นครูอาจารย์สอนหนังสือเป็นเวลา 12 ปีแล้ว เธอได้เห็นกรณีจำนวนมากที่เด็กนักเรียนหญิงถึงกับเป็นลมเนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าว
“ดิฉันเองก็เคยเป็นนักเรียนมาก่อน ดิฉันก็เคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันนี้มาแล้ว ดิฉันจึงทราบดีว่าการสวมชุดสีดำนั้นมีผลกระทบกระเทือนที่เลวร้ายขนาดไหนต่อตัวนักเรียน ไม่ว่าจะในทางร่างกายหรือในทางจิตใจ” เธอกล่าว
ตามขนมประเพณีแล้ว ชุดสีดำกับสีเขียวอ่อนคือสีหลักๆ ที่นักเรียนหญิงสามารถเลือกใช้ได้ ทว่าในเวลานี้สีดำกลายเป็นสีที่ถูกบังคับให้ใช้ไปแล้ว โดยเหตุผลที่เลือกสีนี้ก็ดูจะมาจากอิทธิพลของความคิดความเข้าใจที่ว่ามันทำให้เกิดความรู้สึกเคร่งขรึมเรียบร้อย ตามคำอธิบายของ อับดอล โมนีร์ เนกาห์ (Abdol Monir Negah) ผู้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการวิชาการ (academic council) ของกระทรวงศึกษาธิการอัฟกานิสถาน การกำหนดให้นักเรียนหญิงต้องสวมเครื่องแบบที่ประกอบด้วยเสื้อดำ กางเกงดำ และผ้าคลุมศีรษะสีขาว ก็เพราะ “ประการแรก นักเรียนหญิงต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากคนอื่นๆ ประการที่สอง สีดำนั้นปกปิดความงามตลอดจนลักษณะต่างๆ ของเด็กผู้หญิงและผู้หญิงจากสายตาของพวกผู้ชาย มันไม่ดึงดูดความสนใจ”
เขากล่าวเตือนว่า การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงใดๆ ควรที่จะต้องคำนึงถึงค่านิยมแบบอนุรักษนิยมซึ่งยังเป็นที่เคารพยกย่องของสังคมชาวอัฟกันด้วย
ทางด้าน โกลาไล (Golalai) แพทย์โรคผิวหนังแห่งโรงพยาบาลกลาง (Central Hospital) ของกรุงคาบูล กล่าวอธิบายว่าเป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ว่าเสื้อผ้าสีดำนั้นสามารถดูดซับแสงและความร้อนได้มากกว่าสีที่อ่อนลงมา “มีคนไข้จำนวนมากที่มาหาดิฉันด้วยอาการโรคผิวหนัง ซึ่งมีสาเหตุจากเสื้อผ้าสีดำ” เธอบอก พร้อมกับเสริมด้วยว่า ถึงแม้การใช้ยาจะสามารถบรรเทาอาการเหล่านั้นได้ แต่วิธีแก้ไขอันแท้จริงก็คือการหันไปสวมใส่เสื้อผ้าที่สีอ่อนลง
สำหรับเครื่องแบบนักเรียนนั้น เธอให้ความเห็นว่า “ดิฉันเชื่อว่าจะเป็นการดีกว่า ถ้าหากเปลี่ยนจากสีดำให้เป็นสีอื่นๆ แทน”
ส่วน ฮิไล (Hilay) นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนมัธยมศึกษาอาเรียนา มีความมั่นอกมั่นใจมากว่า สีที่มืดมัวมีผลกระทบกระเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนเราอย่างแน่นอน
“สีดำนอกจากทำให้พวกเรารู้สึกร้อนมากขึ้นในเวลาที่อากาศร้อนแล้ว มันยังเป็นสีที่ไม่สดชื่น ผู้หญิงจะสวมชุดสีดำกันเมื่อพวกเธอจะไปงานพิธีไว้อาลัยต่างๆ เมื่อหนูต้องสวมเครื่องแบบนักเรียน หนูก็คิดไปโดยจิตใต้สำนึกถึงเรื่องงานศพและความเศร้าโศก และนั่นทำให้คิดไปในเรื่องความตายของตัวหนูเองด้วย”
เตมอร์ (Temor) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แห่งโรงพยาบาลจิตเวชของกรุงคาบูล เห็นด้วยกับเรื่องที่ว่าสีดำมีความหมายทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง “เป็นเรื่องทั่วไปเลยที่คิดกันว่าสีดำเป็นสัญลักษณ์ของความโศกเศร้า, ความผิดหวัง, และความหายนะ เมื่อนักเรียนหญิงสวมใส่ชุดเครื่องแบบสีดำ ความรับรู้ความเข้าใจเหล่านี้ก็ย่อมได้รับการแฝงฝังแบบอยู่ในจิตใต้สำนึก และมันก็จะมีผลกระทบในทางลบต่อการศึกษาเล่าเรียนของนักเรียนหญิงเหล่านี้” เขากล่าว
ด้านพวกเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการบอกว่า นักเรียนควรต้องยื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการถ้าหากต้องการเปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียนกันจริงๆ แต่พวกเขาก็เตือนว่าคงจะต้องใช้เวลานานทีเดียวก่อนที่กระบวนการปรึกษาหารือกันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างจริงจัง โมฮัมหมัด อาซิม คาร์บาไล (Mohammad Azim Karbalai) ประธานคณะกรรมการวิชาการของกระทรวง กล่าวว่ากำลังมีการพิจารณาเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ โดยที่อาจจะอนุญาตให้มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้นในเรื่องสีและเรื่องการออกแบบ ทั้งนี้ให้พิจารณากันเป็นแต่ละภาคไป
“เราอาจจะส่งประเด็นนี้ไปขอความเห็นของผู้ปกครองและชาวบ้านท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับชุดเครื่องแบบของนักเรียนหญิงในพื้นที่ภาคของพวกเขาเอง โดยให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางภูมิอากาศและบรรทัดฐานทางสังคมของแต่ละภาค” เขาบอก ก่อนที่จะเตือนสำทับว่า “ยังมีร่างกฎหมายและระเบียบข้อบังคับฉบับอื่นๆ ที่สำคัญกว่าเรื่องนี้ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยและตัดสินใจกันก่อน”
นักเรียนหญิงคนหนึ่งของโรงเรียนมัธยมศึกษาไอชาดูร์รานี (Aisha Durrani High School) ซึ่งขอให้สงวนนามของเธอ กล่าวเยาะเย้ยแนวความคิดในเรื่องการปรึกษาหารือกับผู้ปกครองและชาวบ้าน เธอบอกว่า ในทางเป็นจริงแล้ว “กระทรวงศึกษาธิการก็เที่ยวตัดสินใจอะไรต่างๆ ไปตามแต่ที่ตัวเองจะพอใจเท่านั้นแหละ” เธอกล่าวต่อไปว่า “พวกเขาเคยมาถามนักเรียนว่ามีความคิดเห็นยังไงกันเมื่อไหร่ล่ะ? ท่านรัฐมนตรีน่ะมองไม่เห็นปัญหาที่พวกเรากำลังเจอกันอยู่หรือยังไง?”
มีนา ฮาบิบ เป็นผู้สื่อข่าวในกรุงคาบูล ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และความเปลี่ยนแปลง