xs
xsm
sm
md
lg

‘ตอลิบาน’ปฏิเสธไม่ได้มีแผนโจมตีเขื่อนใหญ่อัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: โกล อาหมัด เอร์ซอน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Taliban deny Afghan dam attack plan
By Gol Ahmad Ehsan
15/05/2013

มีข่าวแพร่สะพัดว่าพวกผู้ก่อความไม่สงบของกลุ่มตอลิบานหลายร้อยคน ซึ่งมีทั้งที่เป็นชาวอัฟกันและที่เป็นคนต่างชาติ กำลังรวมกำลังกันเพื่อเข้าโจมตีเขื่อนคาจากี ที่ถือเป็นผลงานชิ้นเอกในความพยายามของนานาชาติที่จะดำเนินงานฟื้นฟูบูรณะในจังหวัดเฮลมันด์ ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน ชาวบ้านบางคนบอกว่า การที่ตอลิบานอวดอ้างว่ากองกำลังของพวกเขาไม่เคยเข้าโจมตีทำลายทรัพย์สินของประเทศชาติเลยนั้นเป็นเพียงการโกหกอย่างโต้งๆ ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆ มองว่าพวกคนนอกที่ไม่ใช่ชาวอัฟกันนั้นมีเหตุผลแรงจูงใจที่จะทำลายโครงการซึ่งยังสร้างไม่เสร็จแห่งนี้

พวกตอลิบานออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่ได้กำลังรวมพลเพื่อเข้าโจมตีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ คาจากี (Kajaki) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเฮลมันด์ (Helmand) ทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน ในช่วงจังหวะเวลาที่กำลังมีการถ่ายโอนความรับผิดชอบในการก่อสร้างและในการรักษาความปลอดภัยจากฝ่ายอเมริกัน มาอยู่ในความควบคุมของฝ่ายอัฟกัน

ภายหลังที่ได้ทำการลงทุนซ่อมแซมและปรับปรุงยกระดับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหน่วยต่างๆ ของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้มาหลายปี เวลานี้สหรัฐฯกำลังส่งมอบอำนาจการควบคุมงานส่วนที่ยังคั่งค้างอยู่ไปให้แก่บริษัทไฟฟ้าแห่งรัฐของอัฟกานิสถาน ในเวลาเดียวกันนั้น กองทัพอัฟกันและกองตำรวจอัฟกันก็กำลังเข้ารับมอบความรับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในจังหวัดเฮลมันด์ ก่อนหน้าการถอนตัวของกองกำลังนานาชาติในปี 2014

อับดอร์รอเซก มัซลุมยาร์ (Abdorrazeq Mazlumyar) นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในอำเภอคาจากี บอกว่าเขาได้รับข่าวมาว่ามีพวกตอลิบานทั้งที่เป็นชาวอัฟกันและคนต่างชาติรวมแล้วหลายร้อยคนทีเดียว กำลังวางแผนการที่จะเข้าโจมตีเขื่อนแห่งนี้ด้วยจุดประสงค์ที่จะทำลายหรือทำให้มันใช้การไม่ได้

“รัฐบาลจะต้องเพิ่มกำลังตำรวจในพื้นที่บริเวณนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเป็นเรื่องลำบากเหลือเกินที่จะทำการระวังป้องกันการโจมตีเช่นนี้ เพียงด้วยจำนวนคนที่มีอยู่ในเวลานี้” เขากล่าว

ขณะที่ ไฟซุลเลาะห์ (Faizullah) วิศวกรผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งดูแลรับผิดชอบการผลิตกระแสไฟฟ้าในจังหวัดเฮลมันด์ กล่าวสำทับว่าพวกตอลิบานได้วางแผนมานานแล้วที่จะเข้าโจมตีอ่างเก็บน้ำและโรงไฟฟ้าคาจากี แต่สิ่งที่น่าวิตกก็คือในเวลานี้พวกนี้กำลังระดมเสริมกำลังเพิ่มจำนวนของพวกตนให้มากขึ้น

“เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ยินข่าวมาว่ามีพวกก่อความไม่สงบเดินทางเข้ามาจากอิหร่านและปากีสถาน และพวกนี้ต้องทำการทำลายเขื่อนแห่งนี้” เขาบอก พร้อมกับเสริมว่าตัวเขาเองมีความมั่นใจว่าชาวบ้านในท้องถิ่นจะต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายเช่นนี้ขึ้นมา

“ในระหว่างสงครามสู้รบกับพวกรัสเซีย (ในช่วงทศวรรษ 1980) มีพวกหัวหน้านักรบ (มุญาฮีดีน) บางคน ถูกปากีสถานสั่งการให้ระเบิดเขื่อนคาจากี แต่พวกเขาไม่ยอมทำเพราะพวกเขาเป็นคนอัฟกัน และพวกเขารู้ดีว่ามันเป็นทรัพย์สินของประเทศชาติ” เขากล่าวต่อ “ผมหวังว่าพวกข้าศึกในเวลานี้ของเราก็จะหลีกเลี่ยงไม่ยอมทำเรื่องอย่างนี้เช่นเดียวกัน”

ทางด้าน โอมาร์ ซวัก (Omar Zwak) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโฆษกแถลงข่าวให้แก่ โมฮัมหมัด นาอิม (Mohammad Naim) ผู้ว่าการจังหวัดเฮลมันด์ ระบุว่าในเวลาอีกไม่นานต่อจากนี้ กองกำลังความมั่นคงจะเปิดการรกวาดล้างเพื่อขับดันพวกผู้ก่อความไม่สงบให้ออกไปจากบริเวณเขื่อนคาจากี “เรากำลังตระเตรียมเพื่อตอบโต้รับมือกับภัยคุกคามไม่ว่าจะมาไม้ไหนก็ตาม” เขาคุย

สำหรับ โคไดดัด (Khodaidad) นักศึกษาผู้หนึ่งของมหาวิทยาลัยในเฮลมันด์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลัชการ์ กาห์ (Lashkar Gah) เมืองเอกของจังหวัดนี้ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าพวกผู้ก่อความไม่สงบกำลังระดมรวบรวมกำลังอยู่ในพื้นที่รอบๆ เขื่อนแห่งนี้

“พวกสายเคเบิลและสายไฟฟ้าถูกตัดบ่อยๆ เลย ... ไฟฟ้าก็ดับเป็นประจำเป็นอาทิตย์ๆ หรือกระทั่งเป็นเดือนๆ” เขาเล่า และบอกต่อไปว่า ตัวเขาเชื่อว่าต้องเป็นฝีมือพวกผู้ก่อความไม่สงบซึ่งเป็นคนต่างชาติแน่ๆ ที่ก่อเหตุแบบนี้ขึ้นมา

“คนอัฟกันที่แท้จริงและคนมุสลิมที่แท้จริง จะไม่มีทางทำลายดินแดนของเขาเองและเข่นฆ่าประชาชนของเขาเอง เพราะถูกคนอื่นๆ สั่งให้เขาทำหรอก ความปั่นป่วนวุ่นวายในประเทศชาติของเราเวลานี้กำลังถูกเติมเชื้อโหมกระพือให้คุโชนโดยฝีมือของคนจากภายนอก” เขายืนยันความเชื่อของตนเอง

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวอัฟกันจำนวนมากเชื่อว่า ปากีสถานและอิหร่านมีผลประโยชน์พิเศษที่ต้องการก่อกวนทำลายโครงการไฟฟ้าพลังน้ำของอัฟกานิสถาน ไม่ได้มีเพียงเรื่องความต้องการที่จะทำลายการพัฒนาของอัฟกานิสถานเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเพราะรัฐเหล่านี้ไม่ต้องการเห็นสายน้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่ไหลต่อไปยังดินแดนของพวกเขา ถูกเก็บกักเอาไว้

ในส่วนของตอลิบาน โฆษกผู้หนึ่งได้ออกมาปฏิเสธว่ากลุ่มของพวกตนไม่ได้มีความมุ่งหมายตั้งใจใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเข้าโจมตีเขื่อนแห่งนี้

“เราไม่เคยทำเรื่องแบบนี้มาก่อนเลย และเราก็ไม่มีความปรารถนาที่จะทำลายทรัพย์สินของประเทศชาติ” โฆษก กอรี ยูซุฟ อาห์มาดี (Qari Yusuf Ahmadi) แถลง “เรามีความสามารถที่จะเข้าโจมตีค่ายทหารใหญ่ๆ , สนามบิน, และสถานทูตต่างประเทศ ถ้าหากเราต้องการที่จะทำลายเขื่อนคาจากี จริงๆ แล้ว เรามีความสามารถที่จะทำเช่นนั้ได้แน่นอน ซึ่งถ้าเราต้องการทำ เราก็คงทำไปตั้งนมนานแล้ว”

อย่างไรก็ตาม เตมอร์ ชาห์ (Temor Shah) ชาวบ้านที่พำนักอาศัยอยู่ในเมืองลัชการ์ กาห์ ไม่เชื่อถือการแถลงปฏิเสธนี้

“ตอลิบานกำลังโกหก” เขาบอก “ผมรู้จักพวกตอลิบานบางคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเฮลมันด์ แล้วพวกนี่แหละที่จุดไฟเผาโรงเรียนและคอยตัดสายไฟฟ้า พวกเขาไม่เข้าใจหรือว่าใครกันที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการมีไฟฟ้าใช้ คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือพวกเจ้าหน้าหน้าที่รัฐบาล หรือคือประชาชนกันแน่?”

เขื่อนคาจากี เริ่มสร้างขึ้นมาตอนแรกสุดในช่วงทศวรรษ 1950 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมนำเอาสายน้ำของแม่น้ำเฮลมันด์มาผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในบริเวณภาคใต้ของอัฟกานิสถาน ทว่าการก่อสร้างเสร็จไปได้เพียงบางส่วน จากนั้นก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีการซ่อมแซมไม่มีการบำรุงรักษาตลอดจนระยะเวลา 2 ทศวรรษแห่งการสู้รบขัดแย้งกัน ซึ่งบังเกิดขึ้นภายหลังการรุกรานของสหภาพโซเวียตในปี 1979

หลังจากที่รัฐบาลตอลิบานถูกโค่นล้มขับไล่ลงจากอำนาจในปี 2001 ประชาคมนานาชาติได้ถือเรื่องการซ่อมแซมบูรณะโรงไฟฟ้าคาจากี ให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นความสำคัญลำดับต้นๆ เพื่อให้มีไฟฟ้าสำหรับสร้างคุณูปการแก่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอนาคต ในบริเวณจังหวัดเฮลด์มันและจังหวัดกันดาฮาร์ (Kandahar)

ทหารของกองกำลังนานาชาติบาดเจ็บล้มตายไปหลายสิบคนทีเดียว เมื่อตอนที่พวกเขาพยายามคุ้มครองรักษาถนนสายต่างๆ ที่มุ่งตรงมายังเขื่อนแห่งนี้ ในปี 2008 มีการลำเลียงขนส่งเครื่องกังหันตัวที่ 3 เข้ามายังโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นการปฏิบัติการที่ใช้เวลา 5 วันและต้องระดมทหารจำนวนมากมาเพื่อการนี้ อย่างไรก็ดี ปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นปัจจัยที่ชะลอการติดตั้งเครื่องกังหันนี้ให้ต้องล่าช้าออกไป

วิศวกร ไฟซุลเลาะห์ บอกกับสถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) ว่า เขาไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าทำไมโครงการคาจากีจึงยังคงไม่เสร็จเสียทีทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปตั้งหลายปีแล้วเช่นนี้ “พวกเขาให้สัญญากับประชาชนในจังหวัดเฮลมันด์หลายครั้งหลายหนเต็มทีว่าจะมีการบูรณะสร้างเขื่อนขึ้นมาใหม่ให้สำเร็จ แต่แล้วสถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม” เขากล่าว

ฝ่ายจัดการน้ำและพลังงานของจังหวัดเฮลมันด์ระบุว่า ปัจจุบันมีครัวเรือนในจังหวัดนี้ที่ได้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนคาจากีประมาณ 40,000 ครัวเรือน ถึงแม้การได้ใช้ไฟฟ้านี้มีความหมายเพียงแค่ว่าได้ใช้กันวันละ 3 ชั่วโมง แถมบางครัวเรือนได้ใช้กันแค่ไม่กี่ชั่วโมงในทุกๆ 3 วันด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีครัวเรือนอีกราว 100,000 ครัวเรือนในจังหวัดกันดาฮาร์ ซึ่งอยู่ติดกันกับเฮลมันด์ ก็ได้ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของเขื่อนแห่งนี้เช่นเดียวกัน

ทางด้านผู้กำกับการตำรวจของจังหวัดเฮลมันด์ พ.ต.อ.อับดอล นบี เอลฮัม (Abdol Nabi Elham) แสดงความสงสัยว่า ภัยคุกคามล่าสุดต่อเขื่อนแห่งนี้อาจจะเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าจะมีความเสี่ยงอยู่จริงๆ

“มีหลักฐานชัดเจนว่าพวกกลุ่มติดอาวุธฝ่ายตรงข้าม ได้มาปรากฏตัวอยู่รอบๆ เขื่อนแห่งนี้ แต่ผมแน่ใจว่าพวกเขายังไม่มีความสามารถที่จะเข้าโจมตีหรอก” ผู้กำกับการตำรวจผู้นี้บอก “บางครั้งบางคราวพวกนี้ก็เที่ยวปล่อยข่าวลือทำนองนี้ เพื่อที่จะได้กลายเป็นข่าวเกรียวกราวปรากฏอยู่ตามสื่อมวลชนต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างภาพให้เห็นว่าพวกเขามีกำลังเข้มแข็งขนาดไหน”

โกล อาหมัด เอร์ซอน เป็นผู้สื่อข่าวในเฮลมันด์ ที่ได้รับการอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และความเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น