xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องรบกวนใจชาวอัฟกันซึ่งกลับจากแสวงบุญที่เมกกะ

เผยแพร่:   โดย: ฮิจราตุลลาห์ เอคตะยาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Afghanistan’s competitive pilgrims
By Hijratullah Ekhtyar
06/12/2012

ชาวอัฟกันบางคนซึ่งทยอยเดินทางกลับจากการไปประกอบพิธีฮัจญ์ประจำปีที่นครเมกกะ บอกว่าการจาริกแสวงบุญของพวกเขากำลังเกิดความหม่นหมอง จากภาระในการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองอย่างฟุ่มเฟือยเป็นการตอบแทนบรรดาญาติมิตรที่มาต้อนรับ นักวิจารณ์หลายคนเรียกการเลี้ยงอาหารแบบโอ้อวดแข่งขันกัน ตลอดจนการจัดขบวนรถแห่กันไปรับหรือไปแสดงความยินดีกับผู้แสวงบุญ ว่าเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับหลักอิสลาม อย่างไรก็ดี ยังคงมีคนอื่นๆ กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า มันเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับการจับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบและ ได้“เชิดหน้าชูตาในหมู่พี่น้อง”

ในอัฟกานิสถานก็เฉกเช่นเดียวกับในประเทศมุสลิมอื่นๆ ผู้แสวงบุญที่เดินทางกลับจากการไปประกอบพิธีฮัจญ์ประจำปี ได้รับการต้อนรับด้วยความปลาบปลื้ม ทว่าในอัฟกานิสถานนั้น พวกเขายังได้รับการคาดหมายว่าจะต้องตอบแทนผู้มาแสดงความยินดีด้วยการเลี้ยงดูอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ซึ่งทัศนะของบางฝ่ายเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเลย

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวอัฟกันกำลังทยอยกลับมาถึงบ้านหลังจากเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งในปีนี้มีขึ้นในเดือนตุลาคม การประกอบพิธีฮัจญ์นี้ เป็น 1 ในหลักศาสนกิจ 5 ประการที่ผู้ที่เป็นมุสลิมต้องปฏิบัติ ดังนั้น ชาวมุสลิมที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ก็จะต้องไปแสวงบุญยังนครเมกกะกันอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต

แต่ละปีมีชาวอัฟกันประมาณ 30,000 คนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้นสำหรับผู้คนจำนวนมากแล้ว มันจึงเป็นประสบการณ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิตของพวกเขา ครั้นเมื่อพวกเขากลับมาถึงบ้าน ก็จะมีญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียนต้อนรับผู้แสวงบุญเหล่านี้ซึ่งได้รับเรียกขานกันว่า “ฮัจญี” ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาในอัฟกานิสถานนั้น พวกเขาได้รับการคาดหมายว่าจะใช้เวลาหลายๆ สัปดาห์ทีเดียวในการต้อนรับแขกเหรื่อ โดยที่จะต้องเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงดูและแจกของขวัญ ประเพณีเช่นนี้ทำให้มีบางคนรู้สึกเสียใจว่า แทนที่การเฉลิมฉลองจะอยู่ในรูปแบบของการแสดงความศรัทธาในศาสนา มันกลับกลายเป็นรูปแบบของการอวดมั่งอวดมี

ฮัจญี โมฮัมหมัด ยากุบ (Hajji Mohammad Yaqub) ซึ่งปัจจุบันอายุ 60 ปี เล่าว่าตั้งแต่ที่กลับมาถึงบ้านเกิดของเขาในจังหวัดนันการ์ฮาร์ (Nangarhar)ทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน เขาใช้จ่ายเงินทองไปแล้วประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อเลี้ยงดูแขกเหรื่อ

“ผมต้องทำแบบนี้” เขากล่าว “ผมต้องใช้จ่ายเงินทองแบบนี้ไม่ว่าผมจะชอบหรือไม่ก็ตามที เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพี่น้องของคุณและเกี่ยวกับหมู่บ้านของคุณ คนอื่นๆ จะต้องหัวเราะเยาะคุณแน่ๆ ถ้าคุณไม่มีของขวัญมามอบให้พวกเขา ไม่จัดเลี้ยงอาหาร ไม่เป็นเจ้าบ้านคอยรับแขกเหรื่อเป็นเวลาประมาณเดือนหนึ่ง นี่เป็นประเพณี”

ยากุบ ยอมรับว่าการทำตัวให้ถูกต้องเหมาะสมตามความคาดหมายของญาติมิตรเช่นนี้ต้องสิ้นเปลืองเงินทองมากทีเดียว “ค่าใช้จ่ายของการไปประกอบพิธีฮัจญ์ บวกกับค่าของขวัญ ค่าอาหาร และการต้อนรับต่างๆ แล้ว รวมกันก็อยู่ในราว 12,000 ดอลลาร์ ถึง 13,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมากทีเดียวสำหรับคนยากคนจนอย่างพวกเราที่จะหาเงินทองมาให้ได้ขนาดนี้” เขากล่าวต่อ “แต่เราจะทำอะไรได้ล่ะ เราก็ต้องดิ้นรนหาเงินหาทองใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้แหละ”

ไซนาบา (Zainaba) นักเรียนของโรงเรียนมัธยม บิบิ ฮาวา (Bibi Hawa High School) ในจังหวัดจาลาลาบัด (Jalalabad) ทางตอนกลางของประเทศ หวนคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมี ฮัจญี ผู้หนึ่งซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในย่านเดียวกับเธอ เดินทางกลับถึงบ้าน

“มีการหุงหาอาหารทำกับข้าวต่างๆ อยู่ในตรอกแห่งนั้นอยู่ตั้งหลายวัน คนก็แห่กันมากินเลี้ยงตอนกลางวัน ทำให้กลายเป็นปัญหาสำหรับเพื่อนบ้านทุกคนเลย เพราะพวกผู้หญิงและเด็กๆ ไม่สามารถเดินผ่านเข้าออกได้” เธอเล่า “การไปประกอบพิธีฮัจญ์เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่คนเรากำลังทำให้ประเพณีกลายเป็นภาระหนักที่พวกเขาต้องแบกต้องหามเพิ่มเติมขึ้นมาอีก”

ทางด้านครอบครัวต่างๆ ซึ่งไปต้อนรับหรือไปเยี่ยมเยียนญาติมิตรผู้จาริกแสวงบุญที่กลับจากเมกกะ ก็มีการแข่งขันเอาชนะคะคานกันด้วยการหารถยนต์มาประดับตกแต่งอย่างเต็มที่และขับกันเป็นขบวนแห่ให้ได้มากคันที่สุด เป็นต้นว่า ลัล มีร์ (Lal Mir) ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตบาติคอต (Batikot) ของจังหวัดนันการ์ฮาร์ เขาพยายามจัดรถยนต์มาเข้าขบวนแห่ได้รวม 8 คันเพื่อต้อนรับการเดินทางกลับของพ่อของเขา และรู้สึกดีใจมากเพราะเป็นจำนวน 2 เท่าตัวของขบวนรถที่พี่น้องของเขาคนหนึ่งจัดหามาได้เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่เขากำลังสาละวนประดับประดารถยนต์โตโยตา โคโรลลา ของเขาด้วยดอกไม้พลาสติก เขาก็พูดให้ฟังไปด้วยว่า ขบวนรถเช่นนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจ

“มันเป็นที่มาของความสุขอันยิ่งใหญ่มาก” เขาบอก “คนเราหาเงินหาทองมาก็เพื่อสิ่งนี้แหละ คนเราทำการทำงานก็เพื่อสิ่งนี้นี่เอง มันทำให้พวกเขาสามารถที่จะเชิดหน้าชูตาในหมู่พี่น้องและในหมู่เพื่อนฝูงได้”

ระหว่างเดินทางกลับพร้อมกับ ฮัจญี รถยนต์ในขบวนแห่เหล่านี้มักชอบแข่งขันประลองความเร็วกัน และเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาบ่อยๆ ชาวาลี (Shawali) นักศึกษาทางด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอาเรียนา (Ariana University) ในจาลาลาบัด ย้อนความหลังเมื่อเขาเข้าร่วมอยู่ในรถคันหนึ่งของขบวนแห่แบบนี้

“รถยนต์ในขบวนมีด้วยกัน 7-8 คัน และคอยแข่งคอยแซงกันไปแซงกันมาตลอดเส้นทาง ทันใดนั้นมีรถคันหนึ่งอยู่ตรงหน้าเรา คนขับรถคันของเราพยายามหักหลบแต่ก็ไม่พ้น เกิดอุบัติเหตุและรถก็พังยับเยิน ผมได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและที่ขา รถของเรามีคนนั่งไป 5 คน พวกเราทุกๆ คนต่างได้รับบาดเจ็บเหมือนกับตายไปแล้วเลย” เขาเล่า

ไม่เพียงแค่อุบัติเหตุเท่านั้น ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อีกด้วย โดยที่เราต้องไม่ลืมว่าอัฟกานิสถานนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอันตรายทางด้านความมั่นคง ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เกิดการระเบิดจากระเบิดแสวงเครื่องซึ่งคนร้ายวางไว้บนถนน ทำให้มีพลเรือนตายไป 10 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงคนหนึ่งและเด็กๆ อีก 5 คน เหตุคราวนี้เกิดขึ้นในจังหวัดอูรุซกัน (Uruzgan) พวกเขาเหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปเยี่ยมฮัจญีผู้หนึ่งที่เพิ่งเดินทางกลับมาถึงบ้าน

ไซเอ็ด อาหมัด ฟาเตมี (Sayed Ahmad Fatemi) คณบดีคณะกฎหมายอิสลาม แห่งมหาวิทยาลัยนันการ์ฮาร์ ยืนยันว่า การแข่งกันอวดร่ำอวดรวยเช่นนี้ คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณของอิสลาม

“ในโลกหน้า ผู้คนจะถูกถามว่าเขาทำมาหากินหาเงินหาทองยังไง และใช้จ่ายยังไง คนเราไม่ได้มีอิสระเสรีที่จะหาเงินและจับจ่ายตามใจอยากหรอกนะ คนเราไม่ควรใช้จ่ายน้อยเกินไปหรือใช้จ่ายมากเกินไป จนกระทั่งเป็นอันตรายต่อพวกเขาเองและต่อสังคม” เขาอธิบาย

ทางด้าน นาบี บาซิรัต (Nabi Basirat) อาจารย์สอนนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนันการ์ฮาร์ บอกว่า เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่การนำเอาของขวัญไปแจกจ่ายเพื่อนฝูงนั้นเป็นเรื่องที่หลักศาสนาอนุญาตให้ทำได้ แต่ธรรมเนียมอื่นๆ อย่างเช่นการจัดเลี้ยง และขบวนรถแห่ประดับประดาอะไรเต็มไปหมดนั้น ไม่ได้สอดคล้องกับศาสนาอิสลามเลย รวมทั้งยังเป็นผลร้ายสำหรับสังคมของชาวอัฟกันอีกด้วย เมื่อคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน

ส่วน อับดุล กายุบ มัชวานี (Abdul Qayum Mashwani) สมาชิกผู้หนึ่งของบัณฑิตยสถานทางวิทยาศาสตร์ (Academy of Sciences) ของอัฟกานิสถาน ให้สัมภาษณ์ขณะกำลังรับประทานอาหารในงานเลี้ยงซึ่งจัดโดย ฮัจญี ผู้หนึ่ง โดยกล่าวว่า “ประเพณีด้านลบเหล่านี้กำลังสร้างภาระทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน และทำให้พวกเขาไม่สามารถเดินทางไปประกอบศาสนกิจที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือฮัจญ์ ได้ ผมรู้สึกคนจำนวนมากเลยที่ไม่อาจไปประกอบพิธีฮัจญ์ สืบเนื่องจากมีเงินทองไม่พอที่จะทำตามธรรมเนียมเหล่านี้”

มัชวานีกล่าวต่อไปว่า ถ้าหากตัวเขาเองเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เขาจะใช้วิธีไม่พูดอะไรทั้งสิ้น และจะบอกเพื่อนฝูงเพียงแค่ว่าเขากำลังจะเดินทาง โดยไม่บอกว่าไปไหน

ฟาเตมา (Fatema) ชาวเมืองนันการ์ฮาร์ เห็นด้วยว่าการเฉลิมฉลองต่างๆ ภายหลังกลับจากพิธีฮัจญ์ ไม่ใช่สิ่งที่สอดคล้องกับหลักศาสนา “เพื่อนของฉันคนหนึ่งกลับจากฮัจญ์เมื่อไม่กี่วันก่อน แต่ฉันยังไม่ไปเยี่ยมเธอเลย เพราะเห็นว่ามันจะทำให้เธอเสียเวลา และก็เสียเวลาของฉันด้วย” เธอบอก

มีคนจำนวนไม่น้อยซึ่งสามารถรวบรวมเงินทองได้เพียงพอสำหรับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว ทว่าต้องล้มเลิกความคิดที่จะไปแสวงบุญ เนื่องจากคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องแบกรับหลังจากกลับมาบ้าน โมอาเลม โมฮัมหมัด กานี (Moalem Mohammad Ghani) พนักงานขายของหน้าร้าน ในเมืองเมห์ตาร์ลัม (Mehtarlam) เมืองเล็กๆ ในจังหวัดลักมาน (Laghman) ซึ่งอยู่เหนือถัดขึ้นไปจากนันการ์ฮาร์ เป็นคนหนึ่งซึ่งเข้าข่ายกรณีแบบนี้

“ผมมีเงินทองพอที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ แต่ผมไม่มีเงินทองสำหรับจับจ่ายในเรื่องอื่นๆ ซึ่งคนเขาทำให้กลายเป็นภาระเพิ่มเติมขึ้นมา อย่างเช่น การซื้อหาของขวัญกลับมาบ้าน พวกผ้าและเสื้อผ้าสำหรับละหมาด ตลอดจนการเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยง” เขากล่าว “ต้องใช้เงินใช้ทองกับเรื่องพวกนี้มากกว่าที่ใช้กับพิธีฮัจญ์จริงๆ เสียอีก แล้วถ้าหากคุณไม่ทำเรื่องพวกนี้ คนเขาก็จะนินทาว่าร้ายคุณ”

ฮิจราตุลลาห์ เอคตะยาร์ เป็นผู้สื่อข่าวในนันการ์ฮาร์ ที่ได้รับการอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และความเปลี่ยนแปลง
อัฟกานิสถาน‘ดงทุ่นระเบิด’สำหรับผู้บริสุทธิ์
ในอัฟกานิสถานทุกๆ เดือนจะต้องมีผู้คนที่สูญเสียขาไปเพราะทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคลอย่างน้อยที่สุด 45 คนโดยเฉลี่ย ภายใต้อนุสัญญากรุงออตตาวาของสหประชาชาติ ได้มีการวางกำหนดการเอาไว้ว่า ดินแดนแห่งนี้จะต้องปลอดจากเจ้าสัตว์ร้ายนี้แบบที่ยังมีฤทธิ์มีเดชทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายอยู่ ให้ได้ภายในสิ้นปี 2013 อย่างไรก็ตาม ดังที่บรรดาเหยื่อซึ่งกำลังทดลองสวมใส่ขาเทียมต่างก็ตระหนักเป็นอันดี กระบวนการของการเก็บกวาดเครื่องมือทำร้ายเข่นฆ่าชนิดนี้ช่างมีความคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน ภายในประเทศที่มีทุ่นระเบิดติดตั้งเอาไว้รอคอยผู้เคราะห์ร้ายเป็นจำนวนมากมายที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น