xs
xsm
sm
md
lg

ป้อมอายุ 900 ปีของอัฟกานิสถานกำลังถูก ‘คุกคาม’

เผยแพร่:   โดย: ซาฮิล มันกัล

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Medieval Afghan fort under threat
By Sahil Mangal
19/04/2013

ชาวเมืองการ์เดซ ทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน กำลังจับจ้องให้ความสนใจกับป้อมเก่าแก่อายุ 900 ปีที่ปัจจุบันอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหมของประเทศ จุดมุ่งหมายของพวกเขาเป็นไปในทางสันติโดยแท้ นั่นคือ พวกเขามองว่ามันเป็นสถานที่ทางวัฒนธรรมแห่งสำคัญ ซึ่งได้ถูกทอดทิ้งและอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยความเสียหายจากการสู้รบซึ่งเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา และกำลังมีอันตรายที่มันจะยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกจากการที่กองทัพยังคงเข้าไปใช้สถานที่แห่งนี้อยู่ โดยหนทางแก้ปัญหาที่น่าจะเป็นผลดีก็คือ ทำให้มันกลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว

ชาวอัฟกันหลายร้อยคนไปชุมนุมกันที่ป้อมบาลา ฮิสซาร์ (Bala Hissar fortress) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเมืองการ์เดซ (Gardez) ทางภาคใต้ของประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองวันเริ่มต้นเทศกาลปีใหม่ตามประเพณีที่เรียกกันว่าวัน “นาวรูซ” (Nowruz) สมาชิกของหลายๆ ครอบครัวรวมตัวกันเพื่อทำการฉลอง ขณะที่พวกหนุ่มๆ พากันแสดงการเต้นรำแบบประเพณีที่เรียกกันว่า “อัตตัน” (attan) ไปตามจังหวะของเสียงกลอง ทว่าก็เหมือนอย่างในปีก่อนๆ ที่ผ่านมา พวกเขาต่างรู้สึกหงุดหงิดผิดหวังที่พบว่า พวกเขาถูกห้ามปรามไม่ให้เข้าไปยังปราสาทของป้อมแห่งนี้

ป้อมโบราณแห่งนี้สร้างขึ้นมาเป็นเวลา 900 ปีแล้ว นามของมัน “บาลา ฮิสซาร์” แปลว่า “ปราสาทสูง” และจนถึงบัดนี้ด้วยจุดที่ตั้งของมัน ป้อมบาลา ฮิสซาร์ ยังคงถูกใช้เพื่อความได้เปรียบในทางทหาร จึงทำให้กลายเป็นสถานที่ห้ามบุคคลภายนอกเข้า และควบคุมโดยกระทรวงกลาโหมอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ดี พวกชาวบ้านชาวเมืองท้องถิ่น เช่นเดียวกับพวกเจ้าหน้าที่ข้าราชการในจังหวัดปักเตีย (Paktia) ซึ่งเมืองการ์เดซสังกัดอยู่ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ป้อมแห่งนี้ควรอยู่ในมือของทางการผู้รับผิดชอบฝ่ายพลเรือน ที่สามารถอนุรักษ์มันให้ปลอดพ้นจากการพังทลายเสียหายยิ่งขึ้นไปกว่านี้ และปรับปรุงให้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในเวลาที่มีความสงบและความมั่นคงมากขึ้นแล้ว

เฮจราตุลเลาะห์ (Hejratullah) ชาวเมืองการ์เดซคนหนึ่งบอกว่า การที่ทหารยังคงใช้ป้อมบาลา ฮิสซาร์ ทำให้กลายเป็นภัยคุกคามต่อป้อมแห่งนี้ต่อไปไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงควรที่จะมอบโอนให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองกิจการวัฒนธรรมของจังหวัดปักเตีย

“โบราณสถานทางประวัติศาสตร์อย่างนี้ควรที่จะต้องทำการฟื้นฟูบูรณะและอนุรักษ์เอาไว้ ในฐานะที่เป็นสิ่งซึ่งสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของพวกเรา” เขากล่าว “แต่ช่างโชคร้ายเหลือเกิน โบราณสถานพวกนี้กลับกำลังเสียหายสูญสิ้นไปเรื่อยๆ”

ถึงแม้เมื่อมองดูจากภายนอก แนวกำแพงอันสูงตระหง่านของตัวป้อมแห่งนี้ยังดูอยู่ในสภาพดี ทว่าปรมาณหนึ่งในสามของโครงสร้างต่างๆ ที่อยู่ข้างในปราสาทแห่งนี้กลับได้รับความเสียหายไปแล้ว ทั้งจากฤทธิ์เดชของแผ่นดินไหวหลายต่อหลายครั้ง และจากสงครามที่ดำเนินมา 3 ทศวรรษในอัฟกานิสถาน

“ความเสียหายส่วนใหญ่เลยมีสาเหตุมาจากการที่มีกองทหารเข้าไปตั้งอยู่ในป้อมบาลา ฮิสซาร์ นั่นเอง เป็นต้นว่า ระหว่างการยึดครองของรัสเซีย (ในช่วงทศวรรษ 1980), พวกนักรบมุญาฮีดีน (mujahideen) ก็คอยยิงจรวดเข้าไปที่ป้อม” อุสมาน ชาวเมืองการ์เดซอีกผู้หนึ่งบอก “ทีนี้พอพวกมุญาฮีดีนเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน (ในปี 1992) พวกเขาก็ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ระเบิดพวกรถถังทิ้ง จะได้เอาเศษเหล็กหลังจากการระเบิดออกมาขายในปากีสถาน การระเบิดในตอนนั้นเป็นเหตุให้บาลา ฮิสซาร์ มีรอยแตกรอยร้าวเยอะแยะไปหมดทีเดียว”

ประมาณ 1 ปีหลังจากกองกำลังอาวุธที่นำโดยสหรัฐฯเข้ารุกรานและยึดครองอัฟกานิสถานในปี 2001 ป้อมแห่งนี้ได้กลายเป็นฉากของสมรภูมิการสู้รบครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง ระหว่างกองกำลังของ ปาชา ข่าน ซาดรัน (Pacha Khan Zadran) ผู้ว่าการจังหวัดปักเตีย กับผู้บัญชาการนักรบอีกคนหนึ่งที่เป็นคู่แข่งขันช่วงชิงอำนาจกัน

โบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่เคยอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงทั่วทั้งอัฟกานิสถาน ต้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากฤทธิ์เดชของอาวุธสมัยใหม่ในการสู้รบที่เกิดขึ้นระยะหลังๆ มานี้ ป้อมกอลา-เย จังกี (Qala-ye Jangi fort) ในนครมาซาร์-อี ชาริฟ (Mazar-e Sharif) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศ ถูกระเบิดเสียหายอย่างร้ายแรง เมื่อตอนที่กองทหารดำเนินการปราบปรามการลุกฮือของพวกนักโทษตอลิบานที่ถูกคุมขังอยู่ที่นั่นในปี 2001 สถานที่แห่งนั้นก็เช่นเดียวกับป้อมบาลา ฮิสซาร์ ในปัจจุบันยังคงถูกใช้งานโดยกองทัพอัฟกานิสถาน

นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ อะเรฟอุลเลาะห์ ฮัก-ปารัสต์ (Arefullah Haq-Parast) ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายที่บังเกิดขึ้นกับป้อมกอลา-เย จังกี ตลอดจนโบราณสถานแห่งอื่นๆ อย่างเช่น พระราชวังดารุลอะมาน (Darulaman Palace) ในกรุงคาบูล ซึ่งอยู่ในสภาพพังยับเยิน และบอกว่าจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ถ้าหากคิดที่จะรักษาสถานที่เหล่านี้เอาไว้

“มันไม่มีเหตุผลเอาเสียเลยที่จะต้องนำกองทหารเข้าไปตั้งประจำอยู่ในโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เห็นกันอยู่แล้วว่าสถานที่ดังกล่าวจำนวนมากในทั่วทั้งประเทศได้ถูกทำลายไปเพราะการที่ทหารเข้าไปตั้งอยู่”เขาบอก “หลังจากที่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะแล้ว ป้อมบาลา ฮิสซาร์ ควรที่จะเป็นเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาและตั้งแสดงโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของจังหวัดปักเตีย ซึ่งไม่เพียงแต่จะอนุรักษ์ป้อมแห่งนี้เอาไว้ได้เท่านั้น แต่ยังจะทำให้มันกลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย”

โมฮัมหมัด เชฟา โมชเฟก (Mohammad Shefa Moshfeq) ผู้อำนวยการกองกิจการวัฒนธรรมและสารสนเทศของจังหวัดปักเตีย เห็นพ้องด้วยว่าในสภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำการอนุรักษ์ป้อมแห่งนี้

“เรากำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพในปัจจุบันของโบราณสถานแห่งนี้” เขากล่าว พร้อมกับเปิดเผยต่อไปว่า หน่วยงานของเขาได้ทำหนังสือเสนอแนะให้ขอรับโอนป้อมแห่งนี้ ไปถึงกระทรวงต้นสังกัดในกรุงคาบูลแล้ว รวมทั้งติดต่อกับกองทหารในท้องถิ่นเพื่อขอให้อำนวยความสะดวกสำหรับการมอบโอนนี้ด้วย

ทางด้าน พันเอก อาหมัด จาน โมคเลส (Ahmad Jan Mokhles) ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่กอ
พัน 203 ซึ่งประจำการอยู่ในป้อมแห่งนี้ แถลงว่า ได้ส่งหนังสือร้องขอดังกล่าวต่อไปยังกระทรวงกลาโหมแล้ว

“เราจะทำตามคำสั่งของกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะเป็นไปในทางใดก็ตาม” เขาบอก “เรื่องทรัพย์สินส่วนไหนเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงไหนกันแน่ เวลานี้ยังไม่ได้มีการขีดเส้นแบ่งอย่างชัดเจน ดังนั้น เราจะตัดสินใจในทันทีที่เราได้รับคำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้”

ขณะที่ คาอิสตา จาน อะฮาดี (Khaista Jan Ahadi) สมาชิกคนหนึ่งของสภาจังหวัดปักเตีย เปิดเผยว่า เธอได้เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่กับความพยายามของหลายๆ ฝ่ายที่จะหาทางทำให้ป้อมบาลา ฮิสซาร์ หลุดออกจากการควบคุมของฝ่ายทหาร

“สมาชิกสภาของเราหลายๆ คนทีเดียว ได้ไปเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและสารสนเทศ ไซเอด มัคดูม ราฮีน (Sayed Makhdoom Raheen) เมื่อปีที่แล้ว และเขาให้สัญญาว่าจะต้องหาทางทำให้อำนาจการควบคุมเปลี่ยนมาอยู่ที่กระทรวงของเขา ทว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น” เธอกล่าว

ส่วน อับดุล อาฮัด อับบาซี (Abdul Ahad Abbasi) อธิบดีกรมอนุรักษ์โบราณสถาน ของกระทรวงวัฒนธรรมและสารสนเทศ แจกแจงรายละเอียดว่า ทางกระทรวงกำลังมีการเจรจากับกระทรวงกลาโหมแล้วในเวลานี้ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมอบโอนความรับผิดชอบในการดูแลป้อมบาลา ฮิสซาร์

“มีกฤษฎีกาของประธานาธิบดีฉบับหนึ่งว่าด้วยการมอบโอนป้อมบาลา ฮิสซาร์ ทั้งที่อยู่ในเมืองการ์เดซ และที่อยู่ในกรุงคาบูล (ที่เมืองหลวงของอัฟกานิสถานก็มีป้อมอีกแห่งหนึ่งที่ใช้ชื่อ บาลา ฮิสซาร์ เช่นเดียวกัน) เตรียมไว้แล้ว แต่ทางกระทรวงกลาโหมยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการในเรื่องนี้” เขากล่าว “พวกผู้บริจาคจะไม่ให้เงินทุนสำหรับโครงการฟื้นฟูบูรณะอะไรหรอก ถ้าหากยังมีกองทหารเข้าไปตั้งค่ายอยู่ในโบราณสถานทางประวัติศาสตร์อย่างนี้ นี่จึงเป็นปัญหาเมื่อถึงเวลาที่จะต้องลงมือใช้ความพยายามเพื่อบูรณะสถานที่เหล่านี้”

พวกชาวเมืองการ์เดซชี้ว่า ป้อมที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองของพวกเขายังกำลังเผชิญภัยคุกคามอีกด้านหนึ่ง จากการที่มีผู้ไปปลูกสร้างบ้านเรือนหลังใหม่ๆ อย่างผิดกฎหมายตามลาดเขาของภูเขาซึ่งเป็นสถานที่ตั้งป้อมแห่งนี้

“ผมไปแจ้งความเรื่องนี้ที่สถานีตำรวจ แต่พวกเขาบอกว่านี่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขา” รามัตอุลเลาะห์ ราฮิมไซ (Ramatullah Rahimzai) ชาวบ้านผู้หนึ่งเล่า “แต่เมื่อผมไปร้องเรียนกับกองทัพอัฟกานิสถาน พวกเขาก็พูดเหมือนกันเลยว่าเรื่องอย่างนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่พวกเขาได้รับมอบหมาย ดังนั้นลงท้ายแล้วผมก็เลยยอมแพ้เสียเอง”

ในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดปักเตียนั้น ก็ระบุว่าพวกเขาแทบทำอะไรไม่ได้เลยในการปกป้องคุ้มครองบาลา ฮิสซาร์ ถึงแม้รองผู้ว่าการจังหวัด อับดุล วาลี ซาฮี (Abdul Wali Sahi) ให้สัญญาว่าจะลงมือดำเนินการเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ผิวดินรอบๆ ป้อมทางประวัติศาสตร์แห่งนี้เกิดการพังทลายต่อไปอีก

“ก่อนที่เราจะเริ่มต้นทำแผนการอย่างอื่นๆ ทั้งหมด เรากำลังจะรีบไปปลูกต้นไม้ในบริเวณไหล่เขาที่อยู่ข้างๆ ป้อมบาลา ฮิสซาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้มันพังทลายมากไปกว่านี้ รวมทั้งยังจะทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นพื้นที่สีเขียวด้วย” เขาบอก

ซาฮิล มันกัล เป็นผู้สื่อข่าวในภาคใต้ของอัฟกานิสถาน ที่ได้รับการอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และความเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น