xs
xsm
sm
md
lg

‘ธนบัตรปลอม’ระบาดหนักใน‘อัฟกานิสถาน’

เผยแพร่:   โดย: อับโดล วาเฮด ฟารามาร์ซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Afghan currency under attack
By Abdol Wahed Faramarz
06/03/2012

เงินตราของอัฟกานิสถานกำลังถูกบ่อนทำลายด้วยธนบัตรปลอมซึ่งมีคุณภาพดี จนกระทั่งยากแก่การจำแนกแยกแยะยิ่งกว่าในอดีตเป็นอันมาก ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่บอกว่า น่าจะมีรัฐบาลต่างชาติเกี่ยวข้องพัวพันกับกโลบายอันตรายที่จะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อนี้

กระแสธนบัตรปลอมระลอกใหม่กำลังโถมกระหน่ำใส่อัฟกานิสถาน จนกระทั่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นในสกุลเงินตราของประเทศ และทำให้ตลาดเงินอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงปั่นป่วน เจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานหลายๆ รายระบุ

ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) ต้องการที่จะให้อัฟกานิสถานลดการใช้สกุลเงินตราต่างประเทศ ทว่าชาวอัฟกันหลายต่อหลายคนที่ IWPR (Institute for War and Peace Reporting สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ) สัมภาษณ์สอบถามต่างกล่าวว่า พวกเขาลังเลไม่ค่อยอยากจะใช้ธนบัตรอัฟกานี (afghani) ของอัฟกานิสถานกันหรอก ถ้าหากยังแน่ใจว่ามีเงินปลอมแพร่ระบาดอยู่เต็มไปหมดดังเช่นในเวลานี้ ขณะที่พวกนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การที่มี “เงินพิเศษ” ปริมาณมากๆ หมุนเวียนอยู่ในระบบเช่นนี้ อาจจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ

ถึงแม้ธนบัตรอัฟกานีปลอมจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่ในช่วงหลังๆ นี้ปรากฏว่าธนบัตรราคาสูงๆ ก็มีการปลอมกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แถมยังทำออกมาอย่างมีคุณภาพ จนกระทั่งพวกนักค้าเงินตรามากประสบการณ์ก็ยังประสบความลำบากในการตรวจตราแยกแยะ

ในอดีต ธนบัตรที่นิยมปลอมแปลงกันมักจะเป็นธนบัตรชนิดฉบับละ 50 อัฟกานี และ 100 อัฟกานี ซึ่งเทียบกับดอลลาร์อเมริกัน ก็จะมีมูลค่าราว 1 ดอลลาร์ และ 2 ดอลลาร์ตามลำดับ ทว่าธนบัตรปลอมรุ่นใหม่ๆ ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดในช่วง 4 เดือนหลังสุดนี้ เป็นชนิดฉบับละ 500 และ 1,000 อัฟกานี

“แม้กระทั่งพวกพ่อค้ารับแลกเงินที่ใช้เครื่องที่ตรวจแบงก์ปลอมได้ ก็ยังเสียท่าถูกหลอกเป็นบางครั้งบางคราว ดังนั้นพวกเขาเลยต้องใช้วิธีตรวจแบงก์ที่ได้มากันทีละใบ ทุกๆ ใบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียเวลามาก” อามิน จาน โคสตี (Amin Jan Khosti) ประธานสหภาพผู้ค้าเงินตราอิสระ (Independent Union of Currency Traders) ในตลาดเงิน ชาห์ซาดา (Shahzada) ในกรุงคาบูล บอกกับ IWPR

ณ ตลาด ชาห์ซาดา หนุ่มใหญ่วัย 55 ปีนาม โมฮัมหมัด นาอิม (Mohammad Naim) กำลังอยู่ในอาการโกรธแค้น ภายหลังสูญเสียเงินไป 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากนำเงินก้อนนี้ไปแลกเปลี่ยนกับเงินตราอัฟกานิสถาน ปรากฎว่าเงินอัฟกานีทั้งหมดที่ได้มาเป็นเงินปลอม เพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ต่างประเทศได้ส่งเงินสดมาให้ผู้ใช้แรงงานผู้ยากจนผู้นี้เพื่อช่วยเหลือเขาชำระหนี้สินต่างๆ แต่เมื่อเขานำเงินอัฟกานีที่แลกมาไปจ่าย ก็ปรากฏว่าธนบัตรเหล่านั้นคือสิ่งไร้ค่า

“พวกเจ้าหนี้ไม่ยอมรับเงิน บอกว่าแบงก์พวกนี้เป็นแบงก์ปลอม แล้วตอนนี้ผมก็ตามหาคนที่ผมแลกเงินด้วยไม่เจอแล้ว” เขากล่าว พร้อมกับคร่ำครวญว่า “รัฐบาลควรต้องช่วยเหลือจ่ายเงินที่ผมเสียไปคืนให้ผมนะ ธนาคารชาติควรต้องรับผิดชอบแลกแบงก์พวกนี้คืนให้ผม จะมาถือว่าเป็นความผิดของผมได้ยังไง? ทำไมรัฐบาลไม่หาทางป้องกันไม่ให้เกิดการโกงกันแบบนี้ขึ้นมา?”

รัฐบาลประธานาธิบดีคาร์ไซนั้น พยายามที่จะทำให้เงินตราสกุลอัฟกานีเข้มแข็งขึ้น หนึ่งในความพยายามดังกล่าวนี้ได้แก่การที่คาร์ไซได้ลงนามประกาศใช้กฤษฎีกาประธานาธิบดีฉบับหนึ่งเมื่อปลายปี 2011 เรียกร้องให้บรรดาหน่วยงานรัฐบาลและข้าราชการทั้งหลายหลีกเลี่ยงการใช้เงินตราต่างประเทศ ทั้งนี้ในอัฟกานิสถานนั้น มีการใช้เงินรูปีปากีสถาน และเงินเรียลอิหร่านกันอย่างแพร่หลายทั่วไปตั้งแต่ตอนต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา และมีการใช้เงินดอลลาร์อเมริกันในการทำธุรกรรมสำคัญๆ แทบทั้งหมดตั้งแต่ปี 2001

ชาวเมืองคาบูลต่างบอกว่า รู้สึกหวาดระแวงไม่อยากรับเงินอัฟกานิสถาน เนื่องจากมีเงินปลอมระบาดหนักเหลือเกิน

มารีอา (Maria) ซึ่งทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เธอไม่ต้องการใช้เงินอัฟกานีอีกต่อไปแล้ว

“เมื่อตอนที่ตลาดยังไม่มีเงินอัฟกานีปลอม ฉันก็ชอบแลกเงินเดือนของฉัน (ที่ได้รับเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ) ให้เป็นเงินอัฟกานี แล้วเอาไปฝากในบัญชีธนาคารของฉัน แต่ตอนนี้ฉันต้องการเปิดบัญชีแบบดอลลาร์อเมริกันแล้ว เพราะเงินอัฟกานีเชื่อถือไม่ได้เลย” เธอบอก

เจ้าหน้าที่หลายๆ คนพูดว่า เงินปลอมเหล่านี้ทำกันนอกอัฟกานิสถาน โดยที่บางคนเชื่อว่าปากีสถานผู้เป็นเพื่อนบ้านนี่แหละ อาจจงใจใช้เงินอัฟกานีปลอมเหล่านี้มาบ่อนทำลายเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน

นูรัลเลาะห์ เดลาวารี (Nurullah Delawari) ผู้ว่าการธนาคารชาติของอัฟกานิสถาน เป็นคนหนึ่งที่บอกว่าธนบัตรปลอมพวกนี้มาจากประดารัฐเพื่อนบ้าน ถึงแม้เขาไม่ยอมระบุให้ชัดเจนว่ามาจากประเทศใดบ้าง โดยกล่าวแต่เพียงว่า “ธนบัตรเหล่านี้ทำขึ้นมาด้วยฝีมือของกลุ่มคนที่มีความชำนาญมาก และใช้เทคโนโลยีทันสมัยก้าวหน้ามาก”

ขณะที่ ซายเอด มาซูด (Sayed Masud) นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคาบูล (Kabul University) แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เขาบอกว่า “เรื่องนี้เป็นการกระทำที่ต้องการทำให้เศรษฐกิจอัฟกานิสถานไร้เสถียรภาพ และทำให้ประชาชนเลิกเชื่อถือไว้วางใจเงินอัฟกานี เพื่อทำให้เงินนี้สูญเสียมูลค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินตราของปากีสถาน”

สำหรับสถานเอกอัครราชทูตปากีสถานในกรุงคาบูล ปฏิเสธไม่ขอออกความคิดเห็นใดๆ เมื่อ IWPR พยายามสอบถามในเรื่องเกี่ยวกับเงินปลอมนี้

ขณะที่ อีมาล ฮาชอร์ (Emal Hashor) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อมวลชนของธนาคารชาติ แถลงว่า ทางธนาคารชาติได้ส่งหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทย, ผู้ว่าการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจของจังหวัดต่างๆ, ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่ชายแดน ขอให้พวกเขาดำเนินการสกัดกั้นเงินปลอมที่ไหลทะลักเข้ามา

ณ ตลาดเงินของกรุงคาบูล โคสตี ประธานสหพันธ์ผู้ค้าเงินตราอิสระบอกว่า ผู้ที่ต้องการแลกเงินควรใช้บริการของร้านแลกเงินที่เป็นหลักเป็นฐาน แทนที่จะไปแลกกับพวกที่เตร็ดเตร่อยู่ในถนน

พวกผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนก็แนะนำว่า ประชาชนสามารถตรวจธนบัตรปลอมได้ด้วยตนเอง ถ้าหากคอยสังเกตตรวจตราสิ่งที่ผิดปกติ ผู้ว่าการธนาคารชาติ เดลาวารี บอกว่า จุดที่สำคัญที่สุดก็คือ แถบฟอยล์สีทองในธนบัตร ซึ่งธนบัตรปลอมจะไม่สามารถสะท้อนแสงออกมาเป็นสีต่างๆ 7 สีได้ ส่วนพ่อค้าเงินตราที่มีชื่อว่า ดาอุด (Daud) กล่าวแนะนำเพิ่มเติมว่า ธนบัตรปลอมยังมีสีที่ดูมืดดูดำกว่า และมีความลื่นมากกว่าธนบัตรอัฟกานีของจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูบตรงแถวๆ ตราของธนาคารชาติ

โมจาเฮด (Mojahed) เจ้าของภัตตาคาร บอกว่า ธนบัตรปลอมชนิดฉบับละ 500 อัฟกานี ที่ด้านหลังจะไม่มีเส้นบางๆ เส้นหนึ่ง ขณะที่ธนบัตรปลอมชนิด 1,000 อัฟกานี ก็ไม่มีคำว่า “1000” ที่มุมด้านซ้ายมือ

“ผมเคยเจอแบงก์แบบนี้ในเวลาที่รับเงิน หลายครั้งหลายหนแล้ว” เขากล่าว

อับโดล วาเฮด ฟารามาร์ซ เป็นผู้สื่อข่าวในกรุงคาบูล ที่ได้รับการอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และความเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น