xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมใน‘อัฟกานิสถาน’ล้มตายเมื่อเจอสินค้านำเข้าราคาถูก

เผยแพร่:   โดย: ชาห์ปูร์ ซาเบอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Heart’s industry wilts amid cheap imports
By Shahpoor Saber
15/06/2011

เฮรัต เมืองใหญ่ทางภาคตะวันตกของอัฟกานิสถาน เป็นเมืองที่ค่อนข้างสงบปลอดจากศึกสงคราม จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่จะเจริญรุ่งเรือง ทว่าพวกพ่อค้านักธุรกิจที่เมืองนี้กำลังโวยวายว่า ความสามารถที่จะเติบโตของพวกเขากำลังถูกทำลายจากสินค้านำเข้าราคาถูกและคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิหร่านและปากีสถาน ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลกรุงคาบูลตอบโต้ยืนกรานว่า นโยบายภาษีของทางการไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมในเฮรัตต้องล้มหายตายจากไปเป็นแถบๆ

เฮรัต, อัฟกานิสถาน – บรรดาเจ้าของโรงงานในเมืองเฮรัต ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของอัฟกานิสถาน พากันร้องทุกข์ว่า พวกเขากำลังถูกบังคับให้ต้องล้มเลิกธุรกิจ สืบเนื่องจากนโยบายอันผิดพลาดบกพร่องของรัฐบาล ที่เปิดทางให้สินค้าต่างชาติทะลักทลายเข้ามาในประเทศ และทอดทิ้งพวกเขาให้อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถแข่งขันในตลาด

เมืองเฮรัตเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัยจากศึกสงครามของอัฟกานิสถาน จึงเป็นหนึ่งในไม่กี่บริเวณของประเทศที่มีการลงทุนเป็นจำนวนมากทีเดียวในด้านอุตสาหกรรมการผลิต อย่างไรก็ตาม เวลานี้เกือบครึ่งหนึ่งของโรงงาน 300 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นในเมืองนี้เมื่อปี 2005 กำลังต้องปิดกิจการ ส่วนที่เหลือก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ร่อแร่

ในตอนแรกทีเดียว ธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ดำเนินไปได้ดี โรงงานต่างๆ สามารถจำหน่ายสินค้าของพวกเขาไปได้ทั่วอัฟกานิสถาน และทำให้เกิดการจ้างงานซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเมืองเฮรัตต้องการเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ยิ่งเวลาผ่านไปโรงงานเหล่านี้กลับพบว่า พวกเขาไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าที่ทะลักเข้ามาอย่างมากมายมโหฬารจากต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปากีสถานและอิหร่าน

จังหวัดเฮรัตที่มีเมืองเฮรัตเป็นเมืองเอก อยู่ในฐานะเป็นปากประตูสำคัญที่สุดของการค้าระหว่างอัฟกานิสถานกับอิหร่าน ดังนั้นจึงได้เห็นสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านรายนี้หลั่งไหลเข้ามามากเป็นพิเศษ ปริมาณสินค้านำเข้าจากอิหร่านสู่อัฟกานิสถานได้พุ่งพรวดพรวดเป็นจรวดเหินหาว จากระดับเพียงไม่กี่ร้อยล้านดอลลาร์เมื่อ 2 ปีก่อน สู่ระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณที่ผ่านมา (เม.ย.2010 – มี.ค.2011)

ฮามิดดุลเลาะห์ คอเดม (Hamidullah Khadem) ประธานสหภาพนักอุตสาหกรรมของจังหวัดเฮรัต รายงานว่า จากการที่โรงงานต่างๆ ต้องล้มละลายและปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เวลานี้เหลืออยู่เพียง 170 แห่งที่ยังคงดำเนินงานอยู่

นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวโทษว่า ปัญหานี้มีต้นเหตุมาจากนโยบายการค้าเสรีของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ซึ่งเปิดทางให้ผู้นำเข้าสามารถนำเอาสินค้าประเภทเดียวกับที่มีการผลิตตามโรงงานต่างๆ ภายในประเทศอยู่แล้วเข้ามาขายได้ ถึงแม้ไม่ได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอะไรนักหนา ขณะที่พวกผู้ผลิตท้องถิ่น ซึ่งต้องดำเนินงานในบรรยากาศทางธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านต่างๆ มากมาย จึงไม่สามารถที่จะแข่งขันกับสินค้าอิมพอร์ตได้

ในเวลาเดียวกัน พวกที่มีศักยภาพจะเป็นนักลงทุน ก็กำลังถูกดึงดูดด้วยเสน่ห์ของการได้ผลกำไรอย่างรวดเร็วจากการค้าสินค้านำเข้า แทนที่จะต้องรอคอยผลประโยชน์ในระยะยาวไกลกว่า ถ้าหากจะลงทุนตั้งวิสาหกิจอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นในอัฟกานิสถาน

สถานการณ์เช่นนี้สร้างความโกรธกริ้วให้แก่พวกนักธุรกิจท้องถิ่น ผู้ซึ่งกล่าวประณามนโยบายการค้าเสรีว่า เป็นเรื่องผิดพลาดโดยสิ้นเชิงที่ประเทศอย่างอัฟกานิสถานซึ่งเศรษฐกิจยังอ่อนแอมากเช่นนี้ จะนำนโยบายลักษณะนี้มาใช้

“พวกอิหร่านขนเอาสินค้าคุณภาพต่ำและล้าสมัยของพวกเขามาทุ่มใส่ตลาดของเราด้วยราคาต่ำๆ” คอเดม กล่าวอย่างมีอารมณ์ “ด้วยการกระทำเช่นนั้น พวกเขาก็กำลังทำให้โรงงานของเราต้องล้มละลาย แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลอัฟกานิสถานก็ไม่มีมาตรการอะไรเลยในการควบคุมตลาด และไม่ได้ให้การสนับสนุนใดๆ ทั้งสิ้นแก่นักอุตสาหกรรม”

ความพินาศพังครืนของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปท้องถิ่น ปรากฏให้เห็นชัดภายในตลาดเราะห์มานี (Rahmani Market) ของเมืองเฮรัต ผู้ที่กำลังจำหน่ายข้าวของอยู่ที่นั่นคนหนึ่ง คือ ฟาริด อาหมัด (Farid Ahmad) สาธยายให้ฟังเรื่องที่พวกขนมหวาน, เส้นพาสตา, ซอสมะเขือเทศ,, และข้าวของอื่นๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ได้หายหน้าหายตาไปจากชั้นวางสินค้าของร้านรวงทั้งหลายในตลาด

“คนที่มาจ่ายตลาดต่างถามหาสินค้าพวกนี้นะ แต่น่าเศร้าใจมาก สินค้าเหล่านี้ทุกอย่างเลยถูกแทนที่ด้วยสินค้าอิหร่านที่มีคุณภาพแย่มาก” เขากล่าว “เชื่อผมซี่ ตอนที่ผมยังได้ซอสมะเขือเทศกุลชิน (Gulchin ซึ่งผลิตในอัฟกานิสถาน) มาขายนะ ผมสามารถขายได้หมดเลยภายในเวลาสองสามวัน แต่ตอนนี้ผมได้มาแต่ซอสมะเขือเทศทำในอิหร่าน และผมก็กำลังกลุ้มใจมากกับวันหมดอายุของมัน เพราะมีลูกค้าน้อยลงเยอะเลยที่พร้อมจะซื้อมันไปใช้”

ฮะยี อับดุล กอฟาร์ ฮาชิมซาดะห์ (Hajji Abdul Ghafar Hashimzadah) เจ้าของโรงงานผู้หนึ่งที่ถูกบังคับให้ต้องปิดกิจการ เล่าว่าเขาต้องเสียเงินไปราว 200,000 ดอลลาร์ จากจำนวน 550,000 ดอลลาร์ที่เขาลงทุนไปในการตั้งโรงงานเบเกอรี

“เราตัดสินใจผิดพลาดอย่างมโหฬารเลยที่มาลงทุนที่นี่ เราคิดว่ารัฐบาลและประชาชนจะสนับสนุนเรา” เขากล่าว “แต่ไม่มีใครสนับสนุนเราเลย ไม่มีใครสักคนที่จะหยุดยั้งสินค้านำเข้าคุณภาพต่ำจากเมืองนอก ไม่มีใครสักคนที่จะขึ้นภาษีพวกสินค้านำเข้า ตรงกันข้ามพวกเขากลับขึ้นภาษี, ขึ้นค่าธรรมเนียม, รวมทั้งขึ้นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เก็บเอาจากเรา”

หะยี โตเรียไร (Hajji Torialai) ซึ่งเป็นรองประธานสหภาพนักอุตสาหกรรม และก็เป็นรองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองเฮรัตด้วย มีความเห็นว่าโครงสร้างภาษีในปัจจุบันมีความผิดพลาดบกพร่องอย่างสุดๆ

“รัฐบาลอัฟกานิสถานจัดเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ภายในประเทศในอัตราราวๆ 30% แต่กลับเก็บ (ภาษีศุลกากร) เพียงแค่ 2% ถึง 4% จากสินค้าต่างประเทศที่นำเข้ามา ด้วยเหตุนี้นักอุตสาหกรรมของเราจึงถูกบีบคั้นอย่างหนักหนาสาหัสเหลือเกินจากภาษี รวมทั้งจากการขู่เข็ญกรรโชกในรูปแบบต่างๆ และนั่นจึงทำให้พวกเขาต้องปิดกิจการกันเป็นแถวๆ”

โตเรียไรเชื่อว่า หนทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาก็คือ จะต้องยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากวัตถุดิบนำเข้าที่พวกโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตในท้องถิ่นต้องใช้ และลดอัตราภาษีที่เก็บจากผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่โรงงานเหล่านี้ทำออกมา

รองประธานสหภาพนักอุตสาหกรรมเมืองเฮรัตผู้นี้ ก็เหมือนๆ กับพวกที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลคนอื่นๆ นั่นคือมีความสงสัยข้องใจว่ามันจะต้องมีอะไรมากไปกว่าเพียงแค่การไม่เข้าอกเข้าใจความเป็นไปในทางเศรษฐกิจเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงกำไรอันมากมายมหาศาลซึ่งสามารถทำได้จากการค้าสินค้านำเข้า

“พวกที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของท่านประธานาธิบดี ไม่ได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมกับท่านเลย พวกเขาถ้าไม่มีพฤติกรรมในลักษณะมุ่งประสงค์ร้าย ก็เป็นว่าพวกเขามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศอื่นๆ แน่นอนเลย เพราะพวกเขากำลังสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมที่เพิ่งเดินเตาะแตะของเรา” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม โฆษกของกระทรวงการคลังได้ตอบโต้กลับต่อความคิดเห็นที่ว่าโครงสร้างด้านภาษีอากรของประเทศมีความบกพร่องผิดพลาด โฆษกอาซิส ชามส์ (Aziz Shams) บอกว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาขึ้นอัตราภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าสำเร็จรูปนำเข้า ตราบใดที่สินค้าประเภทเดียวกันที่ทำในประเทศยังไม่สามารถผลิตออกมาให้มีปริมาณเพียงพอ

“ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศของเราไม่สามารถสนองความต้องการที่มีอยู่ในทั่วทุกจังหวัดของอัฟกานิสถาน การผลิตในเฮรัตนั้นไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการแม้ในจังหวัดเดียวด้วยซ้ำ” เขากล่าว “ถ้าหากเรารู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศสามารถที่จะสนองความต้องการในอัฟกานิสถานได้อย่างเพียงพอแล้ว เราก็จะพยายามขึ้นอัตราภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ไม่อย่างนั้นแล้ว มันก็มีแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนของอัฟกานิสถานเท่านั้น”

ชามส์ยังตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การปล่อยให้เกิดตลาดเสรีกำลังสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศที่เศรษฐกิจยังย่ำแย่อย่างอัฟกานิสถาน โดยโฆษกกระทรวงการคลังผู้นี้บอกว่า “ระบบนี้สร้างปัญหาบางอย่างบางประการขึ้นมาจริงๆ แต่มันไม่ใช่เป็นสาเหตุที่ทำให้พวกโรงงานในเฮรัตต้องเจ๊งหรอก”

เขากล่าวหาว่า พวกเจ้าของโรงงานที่ดำเนินงานต่อไปไม่ไหว เป็นพวกที่ก่อนจะตั้งธุรกิจขึ้นมานั้น ไม่ได้ศึกษาวิจัยตลาดอย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนั้นเขายังหยิบยกปัจจัยด้านอื่นๆ เป็นต้นว่า ปัญหาเรื่องความปลอดภัย, การค้าของเถื่อน, ตลอดจนปัญหาชายแดนอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ข้อโต้แย้งต่างๆ ดังกล่าวของโฆษกผู้นี้ ดูจะหมดน้ำหนักลงไปมากพอดู จากประสบการณ์จริงของการขึ้นภาษีศุลกากรที่เก็บจากเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปรับขึ้นมาเป็น 40% ปรากฏว่าความเคลื่อนไหวเช่นนั้นทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มท้องถิ่นมีความเข้มแข็งขึ้นเป็นอย่างมาก จนถึงจุดที่ว่าในเวลานี้อุตสาหกรรมนี้อยู่ในฐานะที่แข็งแรงมากทีเดียว

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมีความเห็นว่า การปล่อยให้มีการค้าเสรีแบบไม่บันยะบันยังอะไรกันเลย กำลังส่งผลทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นประเทศผู้บริโภคสินค้านำเข้า เวลานี้การค้าต่างประเทศอยู่ในภาวะที่ขาดดุลอย่างมหาศาล โดยตามการประมาณการเมื่อเร็วๆ ระบุว่า ปริมาณการนำเข้าตกปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์ เปรียบเทียบกับการส่งออกซึ่งอยู่แค่ 500 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้โดยยังไม่พูดถึงเรื่องสินค้าเถื่อนซึ่งมีจำนวนสูงมากทั้งขาเข้าและขาออก

มีร์ ยาคุบ มาชุฟ (Mir Yaqub Mashuf) นักเศรษฐศาสตร์ในเมืองเฮรัต มีทัศนะว่า การใช้ยุทธศาสตร์แบบนักแทรกแซงตลาดให้มากขั้น จะช่วยให้อัฟกานิสถานหลีกเลี่ยงความเลวร้ายสุดๆ ของนโยบายปล่อยเสรีสำหรับทุกๆ คนที่กำลังใช้อยู่ ขณะเดียวกันก็จะต้องเพิ่มความโปร่งใสขึ้นอย่างมาก ในเรื่องของยอดรวมภาษีที่จัดเก็บจากผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นและจากสินค้านำเข้า

มาชุฟมองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะประณามสถานการณ์ในเวลานี้ว่าเป็นความผิดของพวกประเทศเพื่อนบ้าน หรือเที่ยวเสนอแนะว่าประเทศเหล่านี้กำลังพยายามบ่อนทำลายศักยภาพทางเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานอย่างจงใจ

“ทุกประเทศต่างต้องการหลีกเลี่ยงการขาดทุนและให้ได้กำไร” เขากล่าว “เราไม่สามารถสั่งการให้พวกต่างประเทศทั้งหลายอย่าได้ส่งสินค้ามายังอัฟกานิสถาน แต่เราจำเป็นที่จะต้องจัดทำนโยบายต่างๆ ซึ่งจะลดความต้องการในสินค้าต่างประเทศลง และกระตุ้นส่งเสริมความต้องการผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ”

ชาห์ปูร์ ซาเบอร์ เป็นผู้สื่อข่าวในเฮรัต ที่ผ่านการฝึกอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความ ขัดแย้ง, วิกฤต, และการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น