xs
xsm
sm
md
lg

‘สงคราม’เป็นเรื่องตลกที่‘หมู่บ้านสงบศึก’ในอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: ไมวันด์ ซาฟี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

War’s a farce in Afghan truce village
By Maiwand Safi
30/03/2011

เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่าไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ ดังนั้นกองกำลังของตอลิบานและของรัฐบาลอัฟกานิสถานในเขตอะลาไซ จึงตัดสินใจที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ กระทั่งตกลงกันในเรื่องให้เดินทางเข้าไปซื้อข้าวของในตลาดกันคนละช่วงเวลา อีกทั้งมีการผงกศีรษะทักทายกันเมื่อผ่านด่านตรวจถนนของอีกฝ่ายหนึ่ง เวลานี้พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบยังคงมีความคิดเห็นแตกแยกกันอยู่ในประเด็นที่ว่า สภาพที่เป็นอยู่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้คือตัวแบบสำหรับข้อตกลงสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในทางการบริหารปกครองกันแน่

จังหวัดคะปิซา, อัฟกานิสถาน – เขตอะลาไซ (Alasay) ในจังหวัดคาปิซา ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงคาบูล กำลังมีการทำความตกลงกันชนิดผิดแผกไปกว่าธรรมดา โดยที่พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลและพวกตอลิบานต่างทำเป็นหลับหูหลับตาไม่สนใจการดำรงคงอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่ง

เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่าไม่มีฝ่ายใดสามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ ทั้งคู่จึงเสมือนกับว่าได้ตัดสินใจที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติเท่าที่เงื่อนไขต่างๆ จะเอื้ออำนวยให้

หน่วยจรยุทธ์ตอลิบานและกำลังตำรวจรัฐบาล ซึ่งต่างมีอาวุธครบครันกันทั้งสองฝ่าย สามารถเดินเตร่ไปรอบๆ ตลาดกลางแจ้งในย่านใจกลางของเขตนี้โดยที่ไม่ได้ไปกวนใจอีกฝ่ายหนึ่ง มีการพูดจาร่ำลือกันว่าพวกเขายังไปร่วมงานแต่งงานและงานศพที่อีกฝ่ายหนึ่งจัดขึ้นด้วยซ้ำ

และเพื่อทำให้ความสัมพันธ์คลายความตึงเครียดลงไปอีก ตลอดจนเป็นการขจัดความอิหลักอิเหลื่อใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้จึงได้มีการทำความตกลงกันให้พวกผู้ก่อความไม่สงบไปตระเวนจ่ายตลาดซื้อข้าวของกันในช่วงเช้า ส่วนกองกำลังความมั่นคงฝ่ายรัฐบาลก็จะทำกันในช่วงบ่าย

“วิธีนี้ดีขึ้นกว่าเก่ามาก” เรซา (Reza) พ่อค้าแผงลอยในตลาดบอกกับ สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) “เพราะเมื่อก่อนเราเคยหวาดผวาว่าพวกเขาอาจจะเปิดฉากยิงใส่กันเมื่อไหร่ก็ได้ มันจึงเป็นเรื่องดีที่ตอนนี้พวกเขาจะมาตลาดคนละเวลากันจะได้ไม่ต้องเจอกัน”

ตำรวจท้องถิ่นผู้หนึ่ง ซึ่งขอร้องให้สงวนนามของเขา เล่าให้ฟังว่าตนเองต้องเข้าไปยังย่านใจกลางของเขตเป็นประจำทุกวัน โดยเดินทางจากหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของเขาซึ่งเวลาตกอยู่ในความควบคุมของพวกตอลิบานอย่างสมบูรณ์แล้ว ทว่าพวกนั้นก็ไม่เคยสร้างความลำบากยุ่งยากอะไรให้เขาเลย ถึงแม้เขาจะมีอาวุธปืนและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ติดตัวอยู่เป็นประจำ

“ตามเส้นทางผมก็เจอะเจอพวกตอลิบาน เราจะทักทายอะไรกันไปตามเรื่อง บางครั้งเรายังพูดตลกเล่นมุกเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของเราด้วยซ้ำไป เนื่องจากเราทั้งหมดต่างก็เป็นคนในท้องถิ่นด้วยกันทั้งนั้น พวกเขาจึงไม่รบกวนพวกเรา และพวกเราก็ไม่ไปรบกวนพวกเขา เรามีการทำความตกลงกันอย่างไม่เป็นทางการ”

มีร์ซามัน มันกาไร (Mirzaman Mangarai) หัวหน้าตำรวจของเขตอะลาไซ บอกว่า ข้อตกลงไม่รุกรานก้าวร้าวใส่กันและกันเช่นนี้ คือการยอมรับโดยปริยายว่าแต่ละฝ่ายต่างไม่สามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งในทางการทหารได้

“ผมมีกำลังทหาร 20 นาย และตำรวจ (สวมเครื่องแบบ) อีก 20 นาย” เขากล่าว “เราต้องการที่จะบังคับใช้กฎหมายนะครับ แต่เราไม่ได้มีสมรรถนะที่จะทำอย่างนั้นได้ ในทำนองเดียวกัน พวกตอลิบานก็ไม่มีสมรรถนะที่จะขับไล่เราออกไปเหมือนกัน ในความเป็นจริงแล้ว เราต่างไม่ต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่งมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้หรอก เนื่องจากเราต่างเป็นตัวแทนของระบบ 2 ระบบที่แตกต่างกัน”

ข้อตกลงสงบศึกโดยปริยายดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลงานของคณะผู้นำอย่างไม่เป็นทางการในเขตอะลาไซ ซึ่งเป็นพื้นที่ในหุบเขาท่ามกลางเทือกเขาสูง คณะผู้นำอย่างไม่เป็นทางการเหล่านี้ก็คือพวกผู้อาวุโสของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งได้รวมตัวกันทำข้อตกลงในทางปฏิบัติกับพวกผู้ก่อความไม่สงบมาได้หลายปีแล้ว โดยที่นับแต่นั้นก็มีการยึดถือทำตามข้อตกลงกันอย่างเคร่งครัดพอสมควรเรื่อยมา

เนื่องจากพวกผู้อาวุโสของชุมชนท้องถิ่น เป็นผู้ที่มีอิทธิพลบารมีในการแต่งตั้งหัวหน้าผู้บริหารปกครองของเขตตลอดจนหัวหน้าตำรวจประจำเขต เจ้าหน้าที่ของทางการในตำแหน่งเหล่านี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงไป และอยู่ในสภาพเสมือนกับได้ลงนามในข้อตกลงไม่รุกรานกันนี้ไปด้วย

ทางด้าน มุลลาห์ โมฮัมหมัด (Mullah Mohammad) หัวหน้าผู้บริหารปกครองของเขตอะลาไซ ออกมาอธิบายย้ำว่าการทำข้อตกลงดังกล่าวอยู่ในลักษณะไม่เป็นทางการ ไม่ได้มีการจัดทำเป็นเอกสารอะไรออกมาทั้งสิ้น เขายังเน้นด้วยว่าคณะผู้บริหารปกครองของเขากำลังทำตามนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง ในเรื่องการกระตุ้นส่งเสริมให้พวกผู้ก่อความไม่สงบออกมามอบตัว

“พวกสมาชิกของฝ่ายค้านติดอาวุธเหล่านี้ อยู่กันในบริเวณห่างจากตลาดอะลาไซไม่กี่เมตร ถึงแม้บางครั้งพวกเขาก็เข้าไปซื้อหาข้าวของต่างๆ ในตลาด แต่เราก็ไม่มีการต่อสู้กัน” เขากล่าว “ตอนนี้ด้วยการประสานงานร่วมมือกับพวกผู้อาวุโสของเผ่า และการดำเนินการตามกระบวนการสร้างสันติภาพ เราก็ได้เริ่มใช้ความพยายามในการเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวพวกสมาชิกฝ่ายค้านเหล่านี้ให้ยอมวางอาวุธ และเข้ามอบตัวต่อรัฐบาล”

อย่างไรก็ดี คนอื่นๆ ที่ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นกับ IWPR ดูจะให้ความสนใจน้อยกว่าเขาในเรื่องของการที่จะเอาชนะตอลิบาน อีกทั้งยังแสดงท่าทีว่าพวกเขารู้สึกพออกพอใจอย่างที่สุดแล้วกับการจัดทำข้อตกลงแบบที่ทุกฝ่ายต่างไม่ต้องมาเสี่ยงตาย โดยที่กีดกันไม่ให้อิทธิพลทางการเมืองจากภายนอกเขตเข้ามายุ่งเกี่ยว

“พวกเราทำการฆ่าฟันกันในนามของตำรวจ, ทหาร, และตอลิบาน เนื่องจากพวกเราถูกชักจูงโน้มน้าวจากคนอื่นๆ ให้ทำแบบนั้น” หัวหน้าหมู่บ้านคนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ที่จะออกนาม กล่าวแสดงทัศนะ “ถ้าหากมีตำรวจสักคนหนึ่ง, ทหารสักคนหนึ่ง, หรือสมาชิกกลุ่มตอลิบานสักคนหนึ่ง ต้องถูกฆ่าตายแล้ว ทุกผู้ทุกคนในอัฟกานิสถานก็จะต้องเกิดความเจ็บปวดเกิดความรู้สึกสูญเสียกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ พวกเราที่เป็นผู้อาวุโสของเขตอะลาไซ จึงได้ทำข้อตกลงขึ้นมา ซึ่งทำให้เวลานี้ทุกๆ คนในพื้นที่ของเราสามารถอยู่กันอย่างสันติได้”

หัวหน้าหมู่บ้านผู้นี้ชี้ว่า ในขณะนี้พวกตอลิบานจะไม่โจมตีเล่นงานสมาชิกของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน (Afghan National Army ใช้อักษรย่อว่า ANA) หรือกองกำลังตำรวจแห่งชาติอัฟกานิสถาน ยกเว้นในกรณีที่กองกำลังความมั่นคงเหล่านี้ถูกชี้นำโดยกองทหารระหว่างประเทศ ให้มาเปิดการรุกใหญ่เพื่อเล่นงานพวกเขาเท่านั้น

กองกำลังนานาชาตินำโดยนาโต (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) ในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองกำลังระหว่างประเทศช่วยเหลือการรักษาความมั่นคง (International Security Assistance Force ใช้อักษรย่อว่า ISAF) ในอัฟกานิสถาน นั้น ได้เคยเปิดปฏิบัติการทางทหารมาหลายครั้งแล้วเพื่อกวาดล้างพวกผู้ก่อความไม่สงบให้ออกไปจากเขตอะลาไซในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทว่าก็ไม่เคยประสบความสำเร็จถึงขั้นสามารถสถาปนาอำนาจควบคุมตลอดทั่วทั้งพื้นที่ได้อย่างสิ้นเชิง ISAF และ ANA ได้จัดตั้งที่มั่นและค่ายทหารขึ้นมาหลายแห่ง รวมทั้งได้กำหนดลาก “เส้นแห่งการรวมศูนย์กำลัง” (line of consolidation) ขึ้นที่บริเวณเหนือย่านใจกลางของเขตอะลาไซ ทว่าถัดออกมาทางด้านเหนือและด้านตะวันออก เป็นพื้นที่เทือกเขาสูงชันทุรกันดาร ซึ่งทำให้กองกำลังความมั่นคงเหล่านี้ประสบความยากลำบากมากแม้เพียงแค่การผลักไสขับไล่พวกผู้ก่อความไม่สงบ โดยยังไม่ต้องพูดถึงการยึดครองพื้นที่เอาไว้ให้ได้เป็นเวลายาวนาน –การมองภาพสถานการณ์ช่นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงความคิดเห็นของพวกชาวอัฟกานิสถานท้องถิ่นที่ IWPR ได้สัมภาษณ์สอบถามเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ในเอกสารลับของทางการทหารสหรัฐฯซึ่งถูกนำออกมาเผยแพร่โดยเว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” อีกด้วย

IWPR ได้สนทนากับทหาร ANA ผู้หนึ่งซึ่งถูกส่งมาประจำกันอยู่ในพื้นที่แถบนี้ โดยที่เขาแสดงท่าทีว่าไม่ค่อยเต็มใจที่จะเข้าร่วมในความพยายามปราบปรามกวาดล้างการก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นภารกิจที่เขาได้รับการคาดหมายว่าจะต้องเข้ามีส่วนปฏิบัติการอย่างเต็มที่

ทหารผู้นี้อธิบายว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานไม่ว่าในอดีตหรือในปัจจุบันนี้ ต่างก็เป็นการสู้รบเพื่อประโยชน์ของประเทศอื่นๆ ทั้งสิ้น เขากล่าวต่อไปว่า “ตอลิบานก็เป็นพี่น้องของเราเหมือนกัน พวกเขามีข้อเรียกร้องบางอย่างบางประการ ซึ่งควรที่จะรับฟังความต้องการของพวกเขา พวกเขาไม่ได้บ้าคลั่ง พวกเขาไม่ได้กำลังต่อสู้โดยไม่ได้หวังอะไรหรอก”

“ผมหวังว่าตอลิบานกับกองกำลังของรัฐบาลจะสามารถทำข้อตกลงทำนองเดียวกับที่มีอยู่ที่นี่ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งหมด เพื่อที่พวกศัตรูตัวจริงของประเทศเราจะได้ถูกทอดทิ้งให้เหลือแต่พวกเขากันเองเท่านั้น” เขาบอก

ทางด้านเจ้าหน้าที่ตอลิบานผู้หนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะให้เอ่ยนามก็กล่าวว่า ขณะที่การทำสงครามกับกองกำลังนานาชาติจะต้องดำเนินเรื่อยไปจนกว่าพวกนั้นจะถูกขับไล่ออกไปจากอัฟกานิสถาน แต่สำหรับข้อตกลงสงบศึกในเขตอะลาไซ ทางฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจะยังคงยึดมั่นปฏิบัติตาม ยกเว้นแต่จะถูกโจมตีเล่นงานเท่านั้น

“เราตัดสินใจที่จะไม่แตะต้องกองกำลังฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากความผูกพันทางด้านเชื้อชาติของพวกเรา เนื่องจากความเคารพนับถือที่เรามีต่อพวกผู้อาวุโสของเผ่าและต่อศาสนาอิสลาม และก็เนื่องจากพวกเราล้วนแต่เป็นชาวอัฟกานิสถานและเป็นชาวมุสลิม แต่ถ้าพวกเขาโจมตีเราโดยได้รับคำสั่งจากกองกำลังต่างชาติแล้ว เราก็จะโจมตีพวกเขาและฆ่าพวกเขาเสีย”

ทำนองเดียวกับผู้ให้สัมภาษณ์บางรายที่เป็นฝ่ายรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตอลิบานผู้นี้ก็ขีดเส้นแบ่งอันชัดเจนระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ “การที่ตอลิบานเห็นชอบกับข้อตกลงนี้ ไม่ได้หมายความว่าเรายอมรับระบบอันเสื่อมทรามเน่าเฟะ หรือพวกฆาตกรระหว่างประเทศนะ ทั้งหมดนี้มีความหมายเพียงว่าตอลิบานไม่ต้องการฆ่าเพื่อนตาดำๆ ที่เป็นชาวอัฟกานิสถานของพวกเขาเท่านั้นเอง”

สำหรับพวกนักวิเคราะห์ทางด้านการทหารและการเมืองชาวอัฟกานิสถาน ข้อตกลงสงบศึกที่อะลาไซเป็นเสมือนปริศนาที่ยากแก่การตัดสินแบบฟันธง มันคือตัวแบบสำหรับการจัดทำข้อตกลงสันติภาพในขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก หรือมันเป็นเพียงแค่ความชะงักงันของการประจันหน้ากันซึ่งไม่ได้มีนัยสำคัญในวงกว้างเอาเลย?

ไฮ สุไลมานเคล (Hai Sulaimankhel) นายพลเกษียณอายุ ยืนกรานว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่อะลาไซ คือการสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของการบริหารปกครองและการบังคับใช้กฎหมาย

“สถานการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นชัดถึงความอ่อนแอของรัฐบาล รัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่นั่นได้” นายพลเกษียณอายุผู้นี้กล่าว “ประชาชนเข้าไปหาฝ่ายค้านเพื่อให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของพวกเขา ดังนั้น มันจึงกำลังมีรัฐบาล 2 รัฐบาลในทางเป็นจริง และนั่นคือผลสำเร็จอันใหญ่หลวงของฝ่ายค้าน”

เขาบอกด้วยว่า พวกตอลิบานยอมทำข้อตกลงสันติภาพระดับท้องถิ่นเช่นนี้ก็เพื่อประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้น แต่นั่นจะไม่สามารถหยุดยั้งให้พวกเขาเปิดฉากทำการรุกเมื่อพวกเขาเห็นว่าจะให้ประโยชน์แก่พวกเขามากกว่า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกผู้หนึ่ง ได้แก่ อับดุล กอฟูร์ ลิวัล (Abdul Ghafur Liwal) ผู้อำนวยการของศูนย์ศึกษาภูมิภาคแห่งอัฟกานิสถาน (Afghanistan Regional Studies Center) ไม่เห็นด้วยกับทัศนะของท่านนายพล เขาโต้แย้งว่าวิธีไหนก็ตามที่สามารถหยุดยั้งการนองเลือดได้ก็ล้วนแต่ต้องถือเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น

“เมื่อเสียงปืนสงบเงียบลง ความมีเหตุมีผลและตรรกะก็จะกลับเข้ามามีบทบาท” เขาบอก “ผมแน่ใจมากว่าข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการเช่นนี้กำลังจะบังเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งกำลังมีความตระหนักขึ้นมาว่า สงครามไม่ใช่เป็นหนทางออกที่ดีเลย”

ไม่เหมือนกับนายพลสุไลมานเคล ทางลิวัลกลับมองว่าถ้าหากข้อตกลงสงบศึกเช่นนี้มีผลบังคับยาวนานออกไป ก็จะเป็นผลประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐบาลด้วย เนื่องจากจะเป็นการเปิดทางให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถทำงานต่างๆ ของตนได้โดยไม่ถูกขัดขวาง

ไมวันด์ ซาฟี เป็นผู้สื่อข่าวในจังหวัดคะปิซา ที่ได้รับการอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น