xs
xsm
sm
md
lg

‘ตอลิบาน’ใช้นโยบายที่ ‘ยืดหยุ่น’มากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ข่าน โมฮัมหมัด ดานิชจู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Taliban try soft power
By Khan Mohammad Danishju
11/04/2011

ชาวอัฟกานิสถานซึ่งพำนักอาศัยในพื้นที่ควบคุมของกลุ่มตอลิบาน กำลังพูดกันว่าเวลานี้การศึกษากลายเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่สิ่งที่ถูกคัดค้านขัดขวางเหมือนแต่ก่อนแล้ว ส่วนบรรดาบุรุษก็ไม่ถูกตามเล่นงานอีกต่อไปถ้าหากตัดเล็มหรือแม้แต่โกนเคราตัวเอง กระทั่งการขู่เข็ญกรรโชกก็เกิดขึ้นน้อยลงกว่าแต่ก่อน ในขณะที่ดูจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่พวกเขาจะกลับไปปรองดองกับรัฐบาลกรุงคาบูล การที่กลุ่มตอลิบานหันมาใช้นโยบายใหม่ๆ ที่ “มีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น” เช่นนี้ ก็ดูเหมือนกับกำลังเป็นการเสนอตัวเอง ให้เป็นหนทางเลือกทางการเมืองที่น่าเลือกอีกหนทางหนึ่ง

คาบูล – พวกผู้เชี่ยวชาญในอัฟกานิสถานกำลังพูดกันว่า ตอลิบานกำลังใช้แนวทางนโยบายที่อ่อนตัวลงกว่าในอดีต ไม่ว่าจะในประเด็นเรื่องการศึกษา หรือโครงการฟื้นฟูบูรณะต่างๆ โดยที่ท่าทีใหม่เช่นนี้เป็นเพียงกโลบายทางยุทธวิธีเพื่อให้สามารถชนะใจได้รับความสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น

แนวทางนโยบายที่อ่อนตัวลงดังกล่าวนี้ เห็นตัวอย่างได้จากการที่สื่อมวลชนอัฟกานิสถานรายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของผู้นำตอลิบายรายหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ระบุว่า ขบวนการของเขาไม่ได้คัดค้านการศึกษา และจะปกป้องคุ้มครองโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งพวกเขาควบคุมอยู่

คำแถลงดังกล่าวนี้ได้รับการต้อนรับอย่างยินดีจากกระทรวงศึกษาธิการในกรุงคาบูล และจากประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ผู้ซึ่งกล่าวในระหว่างให้โอวาทแก่พวกบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยว่า “ถ้าหากมีข้อพิสูจน์ว่า มุลลาห์ โอมาร์ (Mullah Omar ผู้นำกลุ่มตอลิบาน) ได้ออกคำสั่งต่อพวกตอลิบานในช่วงหลังๆ มานี้จริงๆ ว่าอย่าได้ขัดขวางเด็กๆ ที่ต้องการเข้ารับการศึกษาแล้ว ผมก็ยินดีที่จะขอบคุณเขา”

ทางด้าน ซาบิอูเบาะห์ โมจาเฮด (Zabiullah Mojahed) โฆษกของตอลิบาน ได้บอกกับสถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) ระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรศํพท์ว่า ขบวนการของเขาไม่ได้ต่อต้านคัดค้านการศึกษา และเรื่องนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างหนักแน่น

“ตอลิบานเป็นลูกหลานของประชาชน พวกเขาเกิดขึ้นมาจากประชาชนนั่นเอง” เขาบอก “ตอลิบานใช้ความพยายามเรื่อยมาเพื่อให้ใกล้ชิดกับประชาชนของพวกเขา และได้รับความสนับสนุนจากประชาชนของพวกเขา”

ขณะที่ผู้คนซึ่งกำลังพำนักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ใต้การควบคุมของตอลิบาน ก็รายงานว่าในระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบปฏิบัติอันเข้มงวดเหมือนกองทหารของพวกผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนี้จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองเรื่องนี้ว่าเป็นสัญญาณประการหนึ่งที่บอกให้ทราบว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนี้กำลังทำตนเองให้พรักพร้อมสำหรับการเข้ามีบทบาททางการเมืองภายในอัฟกานิสถานให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

เมื่อก่อนตอนที่ตอลิบานเข้าปกครองอัฟกานิสถานในช่วงระหว่างปี 1996 ถึง 2001 นั้น โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ รับเฉพาะนักเรียนนักศึกษาชาย ขณะที่สตรีและเด็กผู้หญิงมักถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการศึกษา ในเวลานั้น ตอลิบานแถลงแก้ต่างว่า พวกเขาไม่ได้คัดค้านการให้การศึกษาแก่สตรี เพียงแต่ไม่ยอมรับชั้นเรียนที่ทั้งสองเพศเข้าเรียนปะปนกัน

หลังจากที่ตอลิบานถูกขับไล่ตกลงจากอำนาจในปี 2001 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้งหลายก็มักเข้าโจมตีโรงเรียน จุดไฟเผาและบังคับให้สถานศึกษาต่างๆ ต้องปิดตัวเองลง อย่างไรก็ตาม ระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ กลับมีรายงานว่าโรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่พวกเขาปฏิบัติการอยู่ ได้รับอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่

รอฮิมุลลาห์ (Rahimullah) คุณพ่อผู้หนึ่งที่พำนักอาศัยอยู่ในเขตอันดาร์ (Andar) ของจังหวัดกอซนี (Ghazni) ทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน เล่าว่าเขาเคยถูกบังคับให้ต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพราะตอลิบานสั่งปิดโรงเรียนซึ่งลูกๆ ของเขาร่ำเรียนอยู่ แล้วเขามีความปรารถนาที่จะให้ลูกๆ ได้รับการศึกษา จึงต้องอพยพออกมาอยู่ที่อื่น อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะไม่นานมานี้ เขาสามารถที่จะกลับไปพำนักอาศัยในพื้นที่เดิม เมื่อโรงเรียนต่างๆ ที่นั่นได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้อีกครั้งหนึ่งแล้ว

“พวกผู้อาวุโสขอร้องให้ตอลิบานอนุญาตให้เปิดโรงเรียนขึ้นมาใหม่” เขาเล่า “พวกนั้นก็ตกลงยินยอมตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วว่า ควรจะให้โรงเรียนต่างๆ เปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง เด็กๆ ลูกหลานของเราต่างดีอกดีใจกันมาก มันเหมือนกับพวกเขากำลังมอบความสุขของทั่วทั้งโลกเลยมาให้แก่เด็กๆ”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีครูบาอาจารย์และกระทั่งนักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยถูกหน่วยติดอาวุธสังหารทิ้ง ถึงแม้ไม่ค่อยมีกลุ่มใดๆ ออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบการกระทำเหล่านี้ก็ตามที

อาลี ข่าน (Ali Khan) อาจารย์ผู้หนึ่งของโรงเรียนมัธยมตอนกี (Tangi high school) ในเขตไซเอด อะบัด (Sayed Abad) ของจังหวัดวอร์ดัค (Wardak) บอกว่า เขาเคยหลบหนีทิ้งบ้านเรือนของตนเองไปเนื่องจากหวาดผวาว่ากำลังตกเป็นเป้าที่จะถูกสังหาร แต่ในเวลานี้เขาได้กลับมาทำงานของเขาอีกครั้งหนึ่ง

“พวกเราไม่ทราบหรอกว่าทำไมตอลิบานจึงได้กลับมามีความยืดหยุ่นมากขึ้นเช่นนี้” เขากล่าว “ผมต้องหนีออกจากบ้านเพราะผมเป็นครูและผมรู้สึกกลัวมาก แต่มาในเวลานี้ตอลิบานกลับกำลังส่งเสริมสนับสนุนพวกเราให้กลับมายังโรงเรียนและสอนหนังสือ”

ท่าทีอันยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นของตอลิบานไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงด้านการศึกษาเท่านั้น เมื่อก่อนนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต่างๆ เคยปฏิบัติการรบกวนและขัดขวางโครงการฟื้นฟูบูรณะต่างๆ ในหลายๆ ส่วนของประเทศ ทว่าเวลานี้พวกเขาดูเหมือนกำลังหันมาอนุญาตให้เดินหน้าโครงการหลายๆ โครงการต่อไปได้

โมฮัมหมัด ชารีฟ ฮาคิมซาดะห์ (Mohammad Sharif Hakimzadah) ผู้ว่าการจังหวัดคะปิซา (Kapisa) ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงคาบูล แถลงว่าในเวลานี้พวกตอลิบานไม่ได้ดำเนินการแทรกแซงขัดขวางโครงการต่างๆ ที่นั่นอีกแล้ว

ทางด้าน รอมัล (Romal) ผู้พำนักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมิราเคล (Mirakhel) ในเขตตอก็อบ (Tagab) ของจังหวัดคะปิซา ก็เล่าว่า ในอดีตพวกตอลิบานปฏิเสธไม่ยอมให้ตัวแทนของพวกองค์กรนอกภาครัฐบาล (non-governmental organization หรือ NGO) เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพวกเขายึดครองอยู่ อีกทั้งยังฆ่าคนงานตลอดจนยามรักษาความปลอดภัยที่ทำงานในโครงการเช่นนี้ด้วยซ้ำ

ทว่าในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ท่าทีของเขาเปลี่ยนแปลงไป รอมัลบอก

“ผมเป็นคนหนึ่งที่กำลังทำงานให้องค์กรเอ็นจีโอแห่งหนึ่ง โดยกำลังสร้างสะพานและขุดบ่อน้ำต่างๆ พวกตอลิบานมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักมากในพื้นที่ดังกล่าว แต่พวกเขาไม่ได้มารบกวนเราเลย” เขาเล่าต่อ

พวกตอลิบานยังเคยมีระเบียบข้อกำหนดอันเข้มงวดอย่างอื่นๆ เป็นต้นว่า การบังคับให้ผู้ชายต้องไว้เครา และการห้ามฟังเพลง ทว่าท่าทีต่อเรื่องต่างๆ เหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน

รอฮุลลาห์ (Rohullah) จากเขตไซเอด อะบัด ในจังหวัดวอร์ดัค เล่าว่า เวลานี้ตอลิบานไม่ติดตามเล่นงานผู้ชายที่ตัดเล็มเครา หรือกระทั่งโกนเคราของตัวเองทิ้งอีกต่อไปแล้ว

“ดูสิ ผมตัดเคราของผมจนสั้นจู่เลย” เขากล่าว “มีผู้ชายบางคนโกนเคราทิ้งจนคางเกลี้ยงเกลาเลยด้วยซ้ำ แต่พวกตอลิบานก็ปล่อย ไม่ได้มายุ่งกับเรา พวกเขาเคยห้ามไม่ให้คนฟังเพลง แต่ตอนนี้พวกเขาทำตัวเหมือนพวกเขาเป็นคนหูหนวกเมื่อได้ยินเสียงเพลงเสียงดนตรีดังขึ้นมา”

รอฮุลลาห์บอกว่า พัฒนาการที่น่ายินดีอีกประการหนึ่งได้แก่การที่พวกผู้ก่อความไม่สงบยุติการขู่กรรโชกตบทรัพย์จากชาวบ้านร้านถิ่น แบบที่พวกเขาเคยกระทำมาในอดีต

พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักวิเคราะห์ทางการเมืองเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงท่าทีเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงยุทธวิธีอย่างใหม่

อับดุล อะลิม เฟได (Abdul Alim Fedai) ผู้ว่าการจังหวัดวอร์ดัคเชื่อว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบกำลังถูกบีบคั้นให้ต้องยอมอ่อนข้อในบางเรื่องบางประการ เนื่องจากเจอทั้งการที่กองกำลังนำโดยองค์การนาโตเข้าโจมตีพวกเขาอย่างหนักหน่วงเข้มข้น ผสมกับการที่รัฐบาลอัฟกานิสถานเองก็รุกทางการเมืองด้วยการก่อตั้งคณะกรรมการระดับสูงว่าด้วยสันติภาพ (High Peace Council) ขึ้นมาสำรวจหาลู่ทางในการก้าวเดินไปสู่การปรองดองในชาติ

“ถ้ารัฐบาลและกองกำลังพันธมิตรดำเนินนโยบายต่างๆ ในปัจจุบันของพวกตนอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แล้ว พวกตอลิบานจำนวนมากเลยก็จะต้องแยกตัวแตกออกมาจากหัวหน้านักรบและผู้นำของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย” เฟไดบอก

ขณะที่ อับดุล กอฟูร์ ลิวัล (Abdul Ghafur Liwal) ผู้อำนวยการของศูนย์ศึกษาภูมิภาคแห่งอัฟกานิสถาน (Afghanistan Regional Studies Center) กลับเชื่อว่า ตอลิบานกำลังเลือกใช้นโยบายที่มุ่งผลในทางปฏิบัติ เพื่อที่จะได้สามารถเสนอตนเองในฐานะเป็นหนทางเลือกหนทางหนึ่งซึ่งน่าเลือกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“ถ้าหากตอลิบานต้องการตระเตรียมพื้นฐานสำหรับอนาคตทางการเมืองที่ดีขึ้นกว่าในอดีตแล้ว พวกเขาก็จะต้องสั่งสมเพาะสร้างอำนาจอาญาสิทธิ์ของพวกเขา และเอาชนะใจทำให้ตนเองเป็นที่นิยมชื่นชอบของประชาชน” เขาระบุ “นี่คือเหตุผลที่พวกเขาเริ่มหันมาใช้ท่าทีที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น”

นัสรุลลาห์ สตาเนคไซ (Nasrullah Stanekzai) อาจารย์ด้านนิติศาสตร์เห็นด้วยกับการวิเคราะห์เช่นนี้

“ท่าทีอันยืดหยุ่นของตอลิบานเป็นสิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำ” เขากล่าว “พวกเขาต้องการทำให้ประชาชนหนุนหลังพวกเขา เพื่อการกำหนดฐานะทางการเมืองของพวกเขาเองในอนาคต ไม่ว่าในที่สุดแล้วพวกเขาจะได้ขึ้นครองอำนาจโดยวิธีการเจรจาหรือโดยการปฏิบัติการทางทหารก็ตามที”

ข่าน โมฮัมหมัด ดานิชจู เป็นผู้สื่อข่าวในกรุงคาบูล ที่ได้รับการอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น