xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลอัฟกานิสถานมีความโปร่งใสด้านงบประมาณมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: อับโดล วาเฮบ ฟารามาร์ซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Afghan government finances more open
By Abdol Wahed Faramarz
11/02/2011

รัฐบาลอัฟกานิสถานที่ขึ้นชื่อฉาวโฉ่เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น กำลังมีการปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว โดยที่ความโปร่งใสด้านงบประมาณของประเทศก็ได้รับการปรับเลื่อนอันดับให้ดีขึ้น หลังจากที่พวกผู้บริจาคนานาชาติได้ตั้งเงื่อนไขผูกพันการช่วยเหลือทางการเงินเข้ากับความพยายามที่จะทำให้ได้ตามเกณฑ์ในด้านต่อต้านการทุจริต กระนั้นก็ตาม ปรากฏว่ากรณีการทุจริตรับสินบนยังเพิ่มขึ้นมาเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2007 และพวกข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ถูกกล่าวโทษกันมากขึ้น

อัฟกานิสถานมีความก้าวหน้าไปมากทีเดียวในด้านการอ้าประตูเปิดการเงินการคลังของภาครัฐบาลให้สาธารณชนเข้าพินิจพิจารณาตรวจสอบ แต่กระนั้นก็ยังคงมีข้อน่าห่วงกังวลฉกรรจ์ๆ เกี่ยวกับการทุจริตฉ้อฉลในการบริหารราชการอีกหลายๆ ประการ ทั้งนี้ตามความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญ

ในการสำรวจประจำปีว่าด้วยความโปร่งใสทางด้านงบประมาณของนานาชาติ ซึ่งจะมีการให้คะแนนประเทศต่างๆ ตั้งแต่แย่สุดอยู่ที่ 0 ไปจนถึงสูงสุดที่ 100 ปรากฏว่าอัฟกานิสถานได้แต้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21 ในปี 2010 จากที่เคยได้เพียง 8 คะแนนเมื่อปี 2008 นอกจากนั้นในจำนวน 94 ประเทศที่ได้รับการเฝ้าติดตามเพื่อจัดทำเป็น “ดัชนีงบประมาณโปร่งใส” (Open Budget Index) ดังกล่าวนี้ ปรากฏว่าปี 2010 อัฟกานิสถานอยู่อันดับ 73 ดีขึ้นกว่าในปี 2006 ถึง 15 อันดับทีเดียว

“ถึงแม้ยังคงล้าหลังชาติส่วนใหญ่ใน 94 ประเทศที่ทำการสำรวจ แต่อัฟกานิสถานก็ได้แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามอย่างสำคัญที่จะเพิ่มความโปร่งใสด้านงบประมาณ เพื่อให้พลเมืองได้มีโอกาสในการไล่เรียงเอาผิดรัฐบาลในเรื่องการบริหารจัดการเงินทุนสาธารณะ” องค์กรเฝ้าระวังความซื่อสัตย์สุจริตแห่งอัฟกานิสถาน (Integrity Watch Afghanistan หรือ IWA) กลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่นของอัฟกานิสถาน ระบุในรายงานของตน

ในเรื่องความโปร่งใสทางด้านงบประมาณนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) ให้คำจำกัดความไว้ว่า คือ “การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านการคลังที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเต็มที่ ตามกำหนดเวลาและในลักษณะที่เป็นระบบ”

ระหว่างการประชุมหารือที่กรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว บรรดาผู้บริจาคความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ได้ให้สัญญาว่าจะจ่ายความช่วยเหลือของพวกเขาเป็นจำนวน 50% ผ่านทางรัฐบาลอัฟากนิสถาน ถ้าหากรัฐบาลนี้สามารถกระทำตามเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดเอาไว้ เป็นต้นว่า การประกาศใช้กลไกเพื่อความโปร่งใส และการลดการทุจริตคอร์รัปชั่น

ถึงแม้กระทรวงการคลังของอัฟกานิสถานมีการจัดทำเอกสารสำคัญๆ ทางด้านงบประมาณอยู่แล้ว ทว่าเอกสารบางส่วนก็ไม่ได้รับการเผยแพร่อย่างทันกาล สืบเนื่องจากปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคล รวมทั้งการปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญของผู้บริจาคความช่วยเหลือ รายงานของ IWA ระบุเอาไว้ในอีกคอนหนึ่ง

โมฮัมหมัด มอสตอฟา มัสตูร์ (Mohammad Mostafa Mastur) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแถลงว่า การที่เรื่องความโปร่งใสทางด้านงบประมาณมีความก้าวหน้าเช่นนี้ เนื่องมาจากความพยายามของทางกระทรวงในด้านการจัดเตรียม, จัดหา, และเผยแพร่เอกสารงบประมาณต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเก็บรวบรวมตัวเลขกระแสเงินสดรายปี, รายงานรอบครึ่งปี และรายงาน ณ สิ้นปี, ตลอดจนรายงานการสอบบัญชีงบประมาณ

“ก่อนหน้านี้ ถึงแม้เรามีความพร้อมอยู่แล้วที่จะเผยแพร่เอกสารเหล่านี้ แต่เราก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น เนื่องจากเรายังไม่ทราบไม่เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการจัดทำงบประมาณระหว่างประเทศ” เขาบอก

มัสตูร์กล่าวด้วยว่า ความโปร่งใสในด้านงบประมาณ จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนการทำศึกเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชั่น “เมื่องานของพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่ได้ถูกถือเป็นความลับอีกต่อไป มันก็ย่อมจะทำให้พวกเขาบังเกิดความกลัว และป้องกันไม่ให้พวกเขารับสินบน และยักยอกฉ้อโกงงบประมาณรัฐบาล”

อย่างไรก็ตาม ความโปร่งใสกระเตื้องดีขึ้นเพียงประการเดียว ย่อมไม่เพียงพอที่จะต่อสู้เล่นงานการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ รัฐมนตรีช่วยผู้นี้กล่าวยอมรับ พร้อมกับบอกด้วยว่า ประมาณการกันว่าอัฟกานิสถานมีความสูญเสียเนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่นราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี

การทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่ข้าราชการ ยังคงเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญๆ ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) เผชิญอยู่ในเวลานี้ รวมทั้งเป็นจุดที่ทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานเกิดการขัดแย้งหนักที่สุดกับประชาคมระหว่างประเทศ ในปี 2010 องค์การความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ซึ่ง IWA เป็นองค์กรหนึ่งในเครือนี้ ได้จัดให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นหนักข้อที่สุด ถัดจากโซมาเลียเท่านั้น

ยามา ตอราบี (Yama Torabi) ผู้อำนวยการของ IWA ชี้ว่า การรับสินบนดูเหมือนจะกำลังเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จากผลการสำรวจทั่วประเทศที่ IWA ทำไว้สำหรับปี 2010 บ่งบอกออกมาว่าการรับสินบนมีเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวทีเดียวนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา

อับดุล อาซิซ อาร์ยายี (Abdul Aziz Aryayi) เจ้าหน้าที่อาวุโสในหน่วยงานปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สำนักงานระดับสูงเพื่อการกำกับตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (High Office of Oversight and Anti-corruption) กล่าวว่า ถึงแม้การกระเตื้องดีขึ้นในด้านความโปร่งใสจะถือเป็นสัญญาณในทางบวก แต่ “ยังคงมีเรื่องที่น่าวิตก จากการมีกรณีทุจริตของข้าราชการระดับล่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”

อาร์ยายีระบุว่า ในปีที่แล้วสำนักงานของเขาตรวจสอบพบกรณีที่เชื่อว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นรวม 200 กรณี และได้ส่งเรื่องไปยังสำนักอัยการสูงสุดแล้ว กรณีเหล่านี้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องมีทั้ง “ข้าราชการระดับสูงและระดับล่าง”

เขาบอกว่า สำนักงานของเขากำลังปฏิบัติงานในด้านต่างๆ กันหลายๆ ด้านเพื่อต่อสู้กับการทุจริตฉ้อฉล เป็นต้นว่า การปฏิรูปในด้านกฎหมาย, การทำให้การให้บริการต่างๆ ของภาครัฐดำเนินไปอย่างสะดวกง่ายดาย, การเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างองค์กรของรัฐบาล, และการจัดตั้งสาขาของสำนักงานขึ้นในต่างจังหวัดรวมทั้งสิ้น 3 สาขา

อย่างไรก็ดี สำหรับสามัญชนชาวอัฟกานิสถานจำนวนมากแล้ว พวกเขาเชื่อว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่ติดตรึงฝังแน่นเกินกว่าที่มาตรการดังกล่าวเหล่านี้จะสามารถแก้ไขอะไรได้

ชามโซลเลาะห์ (Shamsollah) ผู้พำนักอยู่ในกรุงคาบูลผู้หนึ่ง ให้ความเห็นว่า พวกผู้บริจาคต่างชาติควรเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ที่รับเงินทุนของพวกเขาให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมกับบอกด้วยว่า ขณะที่ความโปร่งใสทางด้านงบประมาณอาจป้องกันไม่ให้พวกข้าราชการชั้นผู้น้อยทุจริตคอร์รัปชั่นได้ก็จริง แต่จะเป็นเรื่องลำบากยากเย็นกว่ามากที่จะเล่นงานพวกบุคคลผู้ทรงอำนาจ เป็นต้นว่า อดีตหัวหน้านักรบมุญะฮีดีน

“ในทางเป็นจริงแล้ว รัฐบาลก็ประกอบด้วยตัวบุคคลดังกล่าวนี้นั่นเอง” เขาบอก “ตราบใดที่ยังไม่ทำให้หลักการปกครองโดยใช้กฎหมาย (หลักนิติธรรม) มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นแล้ว ตราบนั้นก็ยังคงมีความปั่นป่วนวุ่นวายกันต่อไป”

อับโดล วาเฮบ ฟารามาร์ซ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ผ่านการฝึกอบรมจาก สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น