xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มี‘งาน’มีแต่‘สงคราม’สำหรับ‘ชาวอัฟกานิสถาน’

เผยแพร่:   โดย: ฮาฟิซ อาหมัด มิอาเคล

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

No jobs, only war, for Afghans
By Hafiz Ahmad Miakhel
20/01/2011

รัฐบาลอัฟกานิสถานอ้างว่าตนเองกำลังทำทุกอย่างที่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพื่อให้การฝึกอบรมซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถหางานทำได้ รวมทั้งยังพยายามสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนด้วย อย่างไรก็ดี คำพูดเช่นนี้แทบไม่ได้ช่วยปลอบประโลมผู้ต้องการทำงานที่มีความสามารถและคุณสมบัติทว่าไร้เส้นสาย หรือพวกธุรกิจท้องถิ่นที่กำลังดิ้นรนหนักเพื่อรับมือกับการแข่งขันจากประดาสินค้านำเข้าราคาถูก

อัฟกานิสถาน - ชาห์บาซ (Shahbaz) ยืนอยู่ที่สี่แยก โคไต ซันกี (Kotai Sangi junction) ในกรุงคาบูล พร้อมกับชุดเครื่องมือของช่างก่อสร้างพร้อมพรัก เหมือนกับที่เขากระทำมาทุกๆ วัน ด้วยความหวังว่าใครสักคนจะมาว่าจ้างเขาไปทำงาน

“ผมมีครอบครัวที่มีสมาชิกตั้ง 9 คน ผมจำเป็นต้องหาเงินสักนิดสักหน่อยไปเลี้ยงดูลูกๆ ของผม” เขากล่าวกับ สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) “แต่ก็ไม่มีงานอะไรให้ผมทำเลย ผมมาที่นี่ในตอนเช้า แล้วก็กลับไปในตอนเย็นโดยที่ยังไม่ได้งาน”

มีชายอื่นๆ อีกเป็นร้อยๆ คน ที่ประพฤติตนเหมือนอย่างชาห์บาซซึ่งเวลานี้อายุ 60 ปี นั่นคือใช้เวลาในแต่ละวันของพวกเขาอยู่ที่สี่แยกต่างๆ ในเมืองหลวงของอัฟกานิสถานแห่งนี้ เสนอแรงงานของพวกเขาให้แก่ใครสักคนที่ยินดีจะว่าจ้างพวกเขา ชะตาชีวิตของพวกเขายังคล้ายคลึงกับผู้คนนับล้านๆ ทั่วทั้งอัฟกานิสถาน ผู้ซึ่งไม่สามารถหาเงินมาใช้เลี้ยงชีพ ในประเทศที่แสนจะยากจนและพินาศย่อยยับเพราะภัยสงครามแห่งนี้

รัฐบาลของพวกเขาบอกว่าเข้าใจดีถึงสถานการณ์ของผู้คนเหล่านี้ และก็กำลังทำทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อให้การฝึกอบรมที่จะช่วยเหลือให้คนเหล่านี้หางานทำได้ ตลอดจนหาทางสร้างตำแหน่งงานต่างๆ ให้แก่พวกเขา อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วรัฐบาลย่อมไม่สามารถที่จะควบคุมวิธีการดำเนินงานของภาคเอกชนได้

ขณะที่พวกนักวิจารณ์โต้แย้งว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานเองนั่นแหละที่มีส่วนสร้างปัญหาการว่างงานขึ้นมา จากการใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีซึ่งอนุญาตให้ธุรกิจต่างๆ นำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม แทนที่จะส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ จนทำให้อุตสาหกรรมในท้องถิ่นพังพินาศ

สำนักงานสถิติกลางของรัฐบาลแจ้งว่า นับถึงปี 2009 มีประชาชนราว 9 ล้านคนทั่วอัฟกานิสถานที่มีชีวิตความเป็นอยู่ในระดับยากจน “การที่มีประชาชน 9 ล้านคนต้องอยู่กันในระดับยากจนอย่างนี้ ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก และเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยสำหรับเรา ประชาชนเหล่านี้มีรายได้เพียงแค่วันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น” นี่เป็นคำพูดของ วาเซล นูร์ โมห์มันด์ (Wasel Nur Mohmand) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและกิจการสังคม

จำนวนประชากรของอัฟกานิสถานตามที่มีผู้รวบรวมขึ้นมาในช่วงหลังๆ มานี้ มีตั้งแต่ 26 ล้านคน จนถึง 28 ล้านคน ตัวเลขแรกนั้นมาจากการสำรวจของสำนักงานสถิติกลางแห่งชาติ ทว่าหน่วยงานนี้ไม่ได้นับจำนวนผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ตามพื้นที่บางแห่งของประเทศที่ยังไม่มีความปลอดภัย ขณะที่ตัวเลขหลังเป็นการประมาณการของสหประชาชาติซึ่งให้ไว้สำหรับปี 2009

รัฐมนตรีช่วยโมห์มันด์บอกว่า ในปัจจุบันมีประชาชนราว 3.5 ล้านคนซึ่งถูกจัดว่ามีความสามารถที่จะทำงานได้ทว่ายังเป็นคนว่างงาน ตัวเลขนี้เขากล่าวว่าเป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่

การรุกรานที่นำโดยสหรัฐฯในตอนปลายปี 2001 และการจัดตั้งคณะผู้บริหารประเทศภายหลังยุคตอลิบาน ได้ก่อให้เกิดความหวังขึ้นว่า เศรษฐกิจอัฟกานิสถานจะสามารถฟื้นตัวลืมหน้าอ้าปากได้เสียที หลังจากที่ประเทศตกอยู่ในภาวะการสู้รบและความขัดแย้งมาเป็นเวลาถึง 2 ทศวรรษ

บรรดาผู้ลี้ภัยที่หลบหนีไปอยู่ในปากีสถานและอิหร่าน เริ่มบ่ายหน้ากลับบ้าน ขณะที่ประเทศและองค์การต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาที่จะบริจาคความช่วยเหลือ และมีนักลงทุนบางรายเริ่มแสดงความสนใจต่อประเทศนี้ ทว่าความหวังดังกล่าวได้จางหายไปหมดในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่พวกตอลิบานกลับมีความเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ และรัฐบาลที่ได้รับการหนุนหลังจากฝ่ายตะวันตก ถูกฝ่ายต่างๆ มองว่าไร้ประสิทธิภาพและทุจริตคอร์รัปชั่น จนไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตหรือให้บริการสาธารณะต่างๆ ได้

“เมื่อเราต้องสูญเสียงานของเราไป เราก็ต้องเผชิญกับความยากจน มันเป็นมารดาของอาชญากรรมทั้งหลายทั้งปวงเลย” ไซเอด มาซูด (Sayed Masud) นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคาบูล กล่าวให้ความเห็น

ซาห์เออร์ เกาส์ (Zaher Ghaus) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารนิเทศและวัฒนธรรม ก็สำทับว่า การว่างงานนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย รวมทั้งเป็นตัวสร้างความยากจนข้นแค้น คนหนุ่มๆ อาจจะตัดสินใจอพยพไปอยู่ต่างแดนด้วยความหวังว่าจะไปหางานทำได้ พวกเขายังอาจจะหันไปหายาเสพติดผิดกฎหมาย หรือไม่ก็อาจจะไปเข้าร่วมกับพวกผู้ก่อความไม่สงบตอลิบาน

“เราสามารถพูดได้ว่า การว่างงานเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังปัญหาเหล่านี้ทั้งหมด” เขากล่าวต่อ

ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มแต่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำ การหางานให้คนหนุ่มๆ เหล่านี้ย่อมต้องถือว่าเป็นความจำเป็นอันเร่งด่วน ทว่า โกลัม ดาอุด โชอาอิบ (Gholam Daud Shoaib) นายกสมาคมเยาวชนแห่งปากีสถาน กล่าวในการประชุมครั้งหนึ่งที่กรุงคาบูลเมื่อเร็วๆ นี้ว่า พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกำลังละเลยทอดทิ้งปัญหานี้

รัฐมนตรีช่วยโมห์มันด์ยืนยันว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างกำลังพยายามที่จะสร้างตำแหน่งงานขึ้นมา โดยที่กระทรวงของเขาได้หางานให้แก่คนหนุ่มมากกว่า 2.5 ล้านคนในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้กำลังมีความใส่ใจกันมากเป็นพิเศษในเรื่องการทำให้คนหนุ่มๆ มีทักษะความชำนาญ โดยที่มีการจัดทำแผนงานการฝึกอาชีพต่างๆ ซึ่งรวมแล้วสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้คนถึง 108,000 คนในช่วงปี 2009-10

เขาระบุว่า คนหนุ่มๆ มักถูกปล่อยทิ้งเอาไว้นอกตลาดแรงงาน เนื่องจากพวกเขาไม่มีอะไรที่จะเสนอให้แก่พวกที่มีศักยภาพจะเป็นนายจ้างของพวกเขา

“ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนต่างก็พร้อมว่าจ้างคนที่มีทักษะความชำนาญต่างๆ” รัฐมนตรีผู้นี้กล่าว “คนหนุ่มๆ ของเราจำนวนมากไม่ได้มีทักษะความชำนาญเหล่านี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่มีงานทำ”

“เรามีแผนงานฝึกอาชีพที่ตั้งเป้าหมายจะฝึกอบรมคนหนุ่มๆ จำนวน 240,000 คนในทุกๆ จังหวัดเลย เราก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพไปแล้ว 24 แห่งทั่วทั้งอัฟกานิสถาน เพื่อเตรียมคนหนุ่มๆ ให้สามารถทำงานได้”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่ผู้ด้อยการศึกษาเท่านั้นที่พบว่ายากลำบากเหลือเกินในการหางานทำ

อาซาบุดดีน (Ashabuddin) สำเร็จการศึกษาจากคณะเกษตร ของมหาวิทยาลัยนันการ์ฮาร์ (Nangarhar) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้ว แต่จนกระทั่งเวลานี้เขาก็ยังเป็นคนว่างงาน ต้องไปช่วยบิดาของเขาทำงานในไร่นาของครอบครัว

“ในจำนวนนักศึกษา 83 คนที่เรียนจบในรุ่นของพวกผมนั้น มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้งานทำ เหลือนอกนั้นก็ยังคงเป็นคนว่างงาน” เขากล่าว “พวกที่มีเส้นสายสามารถติดต่อฝากฝังกับเจ้าหน้าที่มีอำนาจได้ ก็จะได้งานทำกัน แต่พ่อผมนะเป็นชาวไร่ชาวนา และผมก็ไม่รู้จักใครเลยในรัฐบาลหรือในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยให้ผมได้งานทำ”

เวลานี้อาซาบุดดีนรู้สึกเสียใจและเสียดายเวลาที่เขาใช้ไปในการศึกษาเล่าเรียน

“ประเทศนี้ไม่ได้ต้องการคนทำงานได้หรือมีความรู้อะไรหรอก” เขากล่าว “ที่นี่ต้องการแค่สงครามเท่านั้น ต้องการเพียงแค่นั้นแหละ”

พวกนักวิชาการอย่างอาจารย์มาซูด ยังกล่าวหารัฐบาลว่าล้มเหลวในการสนับสนุนพวกอุตสาหกรรมที่เพิ่งอยู่ในสภาพคลานเตาะแตะ ให้สามารถรับมือกับการแข่งขันจากภายนอก

ถึงแม้จะมีนักลงทุนรุ่นแรกๆ ก่อตั้งโรงงานต่างๆ ขึ้นในหลายๆ ส่วนของอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะในบริเวณที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยอย่างเช่นจังหวัดเฮรัต (Herat) ทว่ากิจการพวกเขาเหล่านี้จำนวนมากต่างเจ๊งกันไปแล้ว นักวิเคราะห์บอกว่าโรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่นเหล่านี้ไม่สามารถที่จะแข่งขันกับสินค้านำเข้า ซึ่งเอาเข้ามาชนิดไม่ต้องเสียภาษีโดยพวกพ่อค้าทรงอิทธิพลที่กำลังหาประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา พ่อค้าเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวเป็นอดีตขุนศึกที่กำลังหันมาเล่นการเมือง

อาจารย์มาซูดชี้ว่า ผลลัพธ์ก็คือโรงงานต่างๆ ต้องล้มละลายไป แม้กระทั่งในพื้นที่อย่างเช่น คาบูล และ เฮรัต และอัฟกานิสถานก็ได้กลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาอาศัยแต่สินค้านำเข้า แทนที่จะทำการผลิตด้วยตัวเอง

“รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบมีแต่การบริโภค ให้กลายเป็นเศรษฐกิจที่มีการผลิต” เขาบอก “จะต้องจัดตั้งโรงงานต่างๆ ขึ้นมา และประชาชนจะต้องมีงานทำ โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลบริหารจัดการเรื่องการเกษตรได้ดีแล้ว ชาวอัฟกานิสถานทุกๆ คนจะมีงานทำ”

รัฐมนตรีช่วยโมห์มันด์ยืนยันว่า รัฐบาลและภาคเอกชนได้ตกลงกันในเรื่องยุทธศาสตร์ร่วมที่จะสามารถลดอัตราคนว่างงานลงได้

“กระทรวงเกษตรเพียงกระทรวงเดียวก็สามารถทำให้คนหนุ่มๆ ถึง 80% มีงานทำ ขณะที่กระทรวงอื่นๆ อย่างกระทรวงการเหมืองแร่ และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม จะสามารถสร้างคนหนุ่มๆ ไปทำงานตามเหมืองและตามโรงงานได้”

ทางด้านรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการค้าและอตสาหกรรม โกลัม โมฮัมหมัด ไยลากี (Gholam Mohammad Yailaqi) กล่าวแสดงความเห็นพ้องว่า การสร้างงานและการมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ คือเรื่องที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ทว่าด้วยท่าทีที่มุ่งป้องกันตัวเองมากกว่ารัฐมนตรีช่วยโมห์มันด์ เขากล่าวว่าในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนั้น รัฐบาลไม่สามารถที่จะจัดระเบียบควบคุมภาคเอกชนได้

“เราได้เสนอคำแนะนำบางประการต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ ทว่าพวกเขาหยิบยกเรื่องตลาดเสรีขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้ง” เขากล่าว

ฮาฟิซ อาหมัด มิอาเคล เป็นนักข่าวฝึกหัดของ IWPR ในกรุงคาบูล สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น