xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอัฟกันไม่เชื่อมั่นกองทัพอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: กอล อาหมัด เอห์ซาน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Afghan forces under threat in Helmand
By Gol Ahmad Ehsan
09/01/2012

กองทัพอัฟกานิสถานเพิ่งรับมอบอำนาจการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยในอีกหลายๆ พื้นที่ของจังหวัดเฮลมานด์ (Helmand) จากทางกองกำลังนานาชาติ แต่ก็ชาวบ้านบางคนในจังหวัดทางภาคใต้ที่ประสบปัญหาหนักหน่วงแห่งนี้ แสดงความวิตกกังวลว่า พวกเขาคงยังไม่สามารถแบกรับงานนี้ได้ และดังนั้นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ พวกตอลิบานจะกลับมาผงาดอีกครั้งด้วยความแข็งแกร่งยิ่งกว่าในอดีต

เฮลมานด์ - ขณะที่กองทหารและกองตำรวจชาวอัฟกันเตรียมตัวพื่อเข้ารับมอบอำนาจการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยจากกองทหารนานาชาติ ก็มีชาวบ้านส่วนหนึ่งของจังหวัดเฮลมานด์ อันเป็นจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศซึ่งประสบปัญหาหนักหน่วง รู้สึกวิตกกังวลว่า กองกำลังความมั่นคงของฝ่ายรัฐบาลที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ๆ เหล่านี้ ยังมือไม่ถึงและไม่สามารถที่จะแบกรับงานนี้ได้

หลังจากที่พื้นที่บางส่วนของเฮลมานด์ รวมทั้งเมืองลัชคาร์ กาห์ (Lashkar Gah) เมืองเอกของจังหวัดนี้ ได้เปลี่ยนมาอยู่ในการควบคุมของอัฟกานิสถานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2011 ตอนนี้การส่งมอบอำนาจควบคุมระยะที่สองก็ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ในครั้งนี้พื้นที่ซึ่งกองกำลังนานาชาติจะโอนความรับผิดชอบให้แก่ฝ่ายอัฟกัน ได้แก่ อีก 3 อำเภอของจังหวัดเฮลมานด์ ซึ่งก็คือ มาร์จาห์ (Marjah), นัด อาลี (Nad Ali), และ นาวา (Nawa) รวมทั้ง 4 จังหวัดในภาคเหนืออันประกอบด้วย บาลค์ (Balkh), ไดคอนดี (Daikondi), ทาคาร์ (Takhar), และ ซามันกาน (Samangan ) ตลอดจนจังหวัดนิมรอซ (Nimroz) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และเมืองสำคัญๆ อย่างเช่น จาลาลาบัด (Jalalabad), เชเบอร์กาน (Sheberghan), ไฟซาบัด (Faizabad), กัซนี (Ghazni ), และ ไมดาน ชาห์ร (Maidan Shahr) เช่นเดียวกับจังหวัดคาบูล (Kabul)

ถึงแม้ในเวลานี้เฮลมานด์ไม่ได้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนจากการสู้รบอันดุเดือดอย่างชนิดที่เคยเกิดขึ้นอยู่เสมอเมื่อ 3 ปีก่อนอีกแล้ว แต่ชาวบ้านก็พูดกันว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยยังไม่ได้ดีถึงขนาดที่จะเป็นหลักประกันว่าการส่งมอบอำนาจจะประสบความสำเร็จ

พวกเขากล่าวว่า หลังจากการส่งมอบอำนาจการดูแลเมืองลัชคาร์ กาห์ แล้ว เมืองนี้ก็ได้ถูกโจมตีจากมือระเบิดฆ่าตัวตายจำนวนหนึ่ง ดังนั้นการถอนตัวของทหารต่างชาติจากอำเภอชนบทอีก 3 แห่งคราวนี้ จึงน่าจะเปิดทางให้พวกตอลิบากลับเข้ามาเคลื่อนไหวในบริเวณเหล่านั้น หลังจากที่พวกเขาเคยถูกขับไล่ออกไป โดยในบางท้องที่ก็ถูกผลักไสเพียงระดับบางส่วน แต่บางท้องที่ก็ถูกขับไล่ไปจนหมดสิ้น

อับดุล ฮาดี (Abdul Hadi) ชาวเมืองลัชคาร์ กาห์ ผู้หนึ่งบอกว่า การส่งมอบอำนาจเช่นนี้ถือเป็นเรื่องดี ทว่าสำหรับเฮลมานด์แล้วต้องถือว่าทำเร็วเกินไปหน่อย เนื่องจากในจังหวัดนี้ยังมีอยู่บางพื้นที่ซึ่งพวกตอลิบานสามารถควบคุมเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ แถมในพื้นที่อื่นๆ ฝ่ายรัฐบาลยังเพียงแค่ยึดครองศูนย์ชุมชนเมืองใหญ่ๆ เอาไว้ได้เท่านั้น

“ถ้ากระบวนการถ่ายโอนอำนาจเกิดขึ้นในตอนนี้ ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะส่งผลทำให้เกิดการนองเลือดขึ้นในหมู่ประชาชนชาวเฮลมานด์” อับดุล ฮาดี กล่าว “ในเวลาอย่างเช่นในเวลานี้ ผมคิดว่าการส่งมอบเรื่องการรักษาความปลอดภัย ก็มีความหมายไม่ต่างอะไรกับการทรยศหักหลังครั้งใหญ่”

ทางด้าน ซาเลห์ โมฮัมหมัด (Saleh Mohammad) ซึ่งอยู่ที่อำเภอนัด อาลี บอกว่า ตอนที่กองทหารต่างชาติยังคงอยู่ในเฮลมานด์ กองกำลังทหารและตำรวจของอัฟกานิสถานก็ไม่เห็นได้เคยพยายามที่จะทำงานรักษาความปลอดภัย ยิ่งเมื่อไม่มีกองทหารต่างชาติด้วยแล้ว ก็ยิ่งมองไม่เห็นทางเลยว่าพวกเขาจะทำหน้าที่เช่นนี้ได้

“ผมคิดว่าทันทีที่กระบวนการถ่ายโอนอำนาจเสร็จสิ้นลง การสู้รบก็จะดุเดือดเข้มข้นขึ้นในเฮลมานด์” เขากล่าว “เป็นความจริงอยู่หรอกที่กองตำรวจและกองทัพอัฟกันเวลานี้ได้รับการฝึกอบรมดีขึ้นกว่าในอดีต แต่พวกเขายังไม่ได้ติดอาวุธและปืนใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ในการป้องกันการโจมตีของตอลิบาน”

โมฮัมหมัด ลาอิก ซาร์เฟรัซ (Mohammad Laiq Sarferaz) ซึ่งเคยรับราชการเป็นนายทหารในกองทัพอัฟกานิสถานที่หนุนหลังโดยสหภาพโซเวียตในยุคทศวรรษ 1980 ให้ความเห็นว่า กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน ( Afghan National Army ใช้อักษรย่อว่า ANA) และ กองตำรวจแห่งชาติอัฟกานิสถาน (Afghan National Police ใช้อักษรย่อว่า ANP) ไม่มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเหมือนกับที่ศัตรูของพวกเขาซึ่งเป็นพวกก่อความไม่สงบ มีกันอยู่

“กองทหารและกองตำรวจเหล่านี้ถูกแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มๆ (แยกตามเชื้อชาติและแยกตามฝักฝ่าย) และ .. พวกเขายังถือเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขาและของกลุ่มพวกเขาเป็นอันดับแรก ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องตรงกันกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ” เขากล่าว “จุดที่สำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือ กองกำลังพวกนี้ไม่ได้มีแรงจูงใจในการสู้รบเหมือนกับที่พวกตอลิบานมี”

ซาร์เฟรัซแจกแจงว่า ขณะที่พวกตอลิบานมีความเชื่อว่าพวกเขากำลังทำสงครามเพื่อศรัทธาความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา ตลอดจนเพื่ออัฟกานิสถานที่เป็นอิสระเสรี กองทหารและกองตำรวจรัฐบาลกลับยังคงไม่มีความชัดเจนว่าพวกเขากำลังสู้รบเพื่ออะไร “ถ้าหากกองทัพไม่ได้รับการอธิบายให้ชัดเจนว่าอะไรคือความรักชาติ และอะไรคือจุดมุ่งหมายของการทำสงครามละก้อ พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยได้หรอก” เขากล่าวต่อ

มาติอุลเลาะห์ (Matiullah) ซึ่งเดิมทีอาศัยอยู่ในอำเภอมาร์จาห์ กล่าวว่า ถึงแม้อำเภอของเขาเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการส่งมอบอำนาจดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัย แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกมั่นใจที่จะออกจากเมืองลัชคาร์ กาห์ ซึ่งถึงอย่างไรก็มีความปลอดภัยมากกว่า และกลับไปยังบ้านเดิมของเขา มาติอุลเลาะห์ก็เหมือนๆ กับผู้คนจำนวนมากในเฮลมานด์ เขาแทบไม่มีความเชื่อมั่นในบุคลากรของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน และกองตำรวจแห่งชาติอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นคนที่มาจากที่อื่นๆ ไม่ใช่คนท้องถิ่น และถึงแม้ในมาร์จาห์ยังมีกองกำลังตำรวจหน่วยเสริมซึ่งเกณฑ์จากคนในท้องถิ่นปฏิบัติการอยู่ เขาก็ไม่คิดว่ากองกำลังดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยลำพังได้

“ในอำเภอมาร์จาห์ กองกำลังของอัฟกานิสถานและกองกำลังนานาชาติจำนวนเป็นหมื่นๆ คน ได้เคยเปิดการปฏิบัติการซึ่งกินเวลาเป็นเดือนๆ รวมทั้งเป็นที่ขึ้นชื่อลือฉาวในระดับระหว่างประเทศด้วย แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น ในมาร์จาห์ก็ยังคงไม่ค่อยมีความมั่นคงสักเท่าไรเลย ถ้าหากกองทหารต่างชาติถอนตัวออกจากอำเภอนี้ไป คนของกองตำรวจและคนของกองทัพซึ่งจริงๆ แล้วเป็นพวกโจรพวกขโมย จะสามารถต้านทานพวกตอลิบานได้หรือ เราไม่เชื่อถือไว้ใจกองกำลังอาวุธพวกนี้หรอก ตั้งแต่ก่อนที่พวกตอลิบานจะมาแล้ว พวกเขา (กองทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาล) ก็มีแต่ปล้นชิงลักขโมยพวกเรา พวกนี้นะเป็นพวกติดกัญชา เป็นพวกเมายา”

จริงๆ แล้วกองทหารและกองตำรวจของฝ่ายรัฐบาล มีขวัญกำลังใจในระดับที่ต่ำมาก ด้วยเหตุนี้อัตราหนีทัพจึงสูงมาก

“เราไม่รู้เลยว่าใครเป็นมิตรของเราและใครเป็นศัตรูของเรา” นายทหารผู้หนึ่งของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน ซึ่งได้หนีทัพตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนก่อน บอกเล่าโดยขอให้สงวนนามของเขา “วันหนึ่งประธานาธิบดีของเราพูดว่า พวกตอลิบาน … คือศัตรูของเรา แล้วอีกวันหนึ่งเขากลับเรียกพวกนี้ว่าเป็นพี่น้องของเรา พวกอเมริกันก็เหมือนกัน มองว่าพวกตอลิบานเป็นศัตรูของพวกเขาอยู่วันหนึ่ง แต่แล้วพวกเขากลับเปิดการเจรจาใต้ดินกับพวกนี้ และบอกว่าพวกนี้ไม่ใช่ศัตรูของพวกเขาหรอก

“ทหารมากมายเลยที่เหมือนๆ กับผม คือรู้สึกสับสนไปหมดว่าพวกเขากำลังจะสู้รบกับใครกันแน่ แล้วทำไมพวกเขาต้องไปสู้รบด้วย และพวกเขากำลังสู้รบเพื่อใคร”

รัฐบาลและพวกเจ้าหน้าที่ดูแลความมั่นคง ต่างพากันปฏิเสธเสียงแข็งต่อกระแสความรู้สึกความเข้าใจที่ว่า ทหารในกองทัพขาดความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว และเคว้งคว้างขาดทิศทาง

เป็นต้นว่า โมฮัมหมัด กูลับ มันกัล (Mohammad Gulab Mangal) ผู้ว่าการจังหวัดเฮลมานด์ บอกว่า “เมื่อตอนที่มีการโอนอำนาจรับผิดชอบความมั่นคงปลอดภัยไปในเขตเมืองลัชคาร์ กาห์ มาให้แก่กองทหารและกองตำรวจชาวอัฟกันนั้น ชาวบ้านต่างแสดงความวิตกและไม่ไว้วางใจเลยว่าจะสามารถรักษาความมั่นคงปลอดภัยในเมืองนี้เอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันฝ่ายปรปักษ์ของเราก็พยายามสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมา เพื่ออวดโอ่ให้เห็นว่าการถ่ายโอนอำนาจนั้นประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม กองกำลังอัฟกันอันกล้าหาญของเราก็สามารถที่จะป้องกันเหตุการณ์ไม่ว่าชนิดไหนทั้งนั้น”

มันกัลยืนยันว่า กองทหารและกองตำรวจอัฟกันได้รับการฝึกอบรมอย่างดีและอาวุธยุทโธปกรณ์ก็พรักพร้อม ดังนั้น “เรามีความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไม่ว่าจะในลักษณะไหนก็ตาม เราต้องการให้ประชาชนกลับมีความมั่นใจขึ้นมาอีกว่า จะไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น”

ในช่วงหลังๆ มานี้ ทั้งกระทรวงกลาโหมที่เป็นผู้ดูแลกองทัพ และกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้ดูแลตำรวจ ต่างพากันเร่งรัดกระบวนการรับทหารและตำรวจใหม่ๆ ซาฮีร์ อาซีมี (Zahir Azimi) โฆษกของกระทรวงกลาโหมแถลงว่า ปัจจุบันกำลังพลในกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานมีจำนวน 180,000คน และจะเพิ่มเป็น 195,000 คนภายในเดือนตุลาคม 2012 ขณะที่เจ้าหน้าที่ในกระทรวงบอกด้วยว่า เมื่อถึงสิ้นปี 2014 ซึ่งกองทหารนานาชาติมีกำหนดที่จะถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานนั้น กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานจะมีกำลังพลเป็น 240,000 คน

นายพล ชีร์ชาห์ (Shirshah) ผู้บัญการกองทหารเหล่าไมวันด์ (Maiwand Corps) ในกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดเฮลมานด์ ยอมรับว่าหน่วยทหารต่างๆ ในจังหวัดยังไม่ได้มีอาวุธทุกๆ อย่างตามที่พวกเขาต้องการ แต่ก็ยืนยันว่าสภาพเช่นนี้จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งมอบอำนาจดูแลรักษาความปลอดภัยแต่อย่างใด

“ในเฮลมานด์ เรามีการจัดวางแผนการที่ดีมากๆ เอาไว้แล้ว และการร่วมมือประสานงานกันระหว่างกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน, กองตำรวจแห่งชาติอัฟกานิสถาน, ตลอดจน กรมรักษาความมั่นคงแห่งชาติอัฟกานิสถาน (Afghan National Security Directorate) ก็เป็นไปอย่างดีเยี่ยม เราสามารถรับมอบความรับผิดชอบเรื่องความมั่นคงปลอดภัยจากกองกำลังต่างชาติได้อย่างแน่นอน และผมอยากจะขอให้ประชาชนได้มั่นอกมั่นใจเถิดว่า จะไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น เรากำลังจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ” เขาบอก

โมฮัมหมัด ฮาคิม อันการ์ (Mohammad Hakim Angar) ผู้บัญชาการตำรวจในจังหวัดเฮลมานด์ กล่าวเสริมว่า “ผมสามารถให้ความมั่นใจได้ว่า ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลเลย เพราะกองกำลังของเรานั้นมีความเข้มแข็งมาก และมีความสามารถที่จะรักษาความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่นี้ได้อย่างแน่นอน”

กอล อาหมัด เอห์ซาน เป็นผู้สื่อข่าวในจังหวัดเฮลมานด์ ประเทศอัฟกานิสถาน ที่ได้รับการอบรมจาก IWPR ทั้งนี้สถาบันเพื่อการรายงานข่าวสงครามและสันติภาพ (Institute for War and Peace Reporting ใช้อักษรย่อว่า IWPR) เป็นองค์การไม่แสวงกำไรที่มุ่งพัฒนาสื่อมวลชนในดินแดนที่เป็นแนวหน้าของความขัดแย้ง, วิกฤต, และการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น