(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Cambodian deadlock at crucial juncture
By Sebastian Strangio
13/09/2013
การประท้วงกำลังปะทุตัวขึ้นในกรุงพนมเปญ ภายหลังที่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และพรรคของเขาเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เท่ากับเป็นการโยนทิ้งข้ออ้างอันหนักแน่นของ สม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ว่าพวกเขาต่างหากเป็นฝ่ายมีชัย อย่างไรก็ตาม เป็นที่วาดหวังกันว่าการที่สมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ทรงเข้า “แทรกแซง” อาจจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีการประนีประนอมกันได้ ก่อนที่ความตึงเครียดจะยิ่งเขม็งเกลียวจนไปถึงจุดแห่งการแตกหักอย่างรุนแรง
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**การเข้าแทรกแซงของพระราชาธิบดี**
ในช่วงจังหวะเวลานี้เอง สมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ก็ทรงแทรกเข้ามา ในวันพฤหัสบดี (12 ก.ย.) 1 วันหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับประเทศภายหลังทรงเข้ารับการตรวจรักษาทางการแพทย์ในกรุงปักกิ่ง พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาพระองค์นี้ก็ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง สม รังสี และ ฮุนเซน มีเนื้อความเชื้อเชิญบุคคลสำคัญทั้งสองให้มาเข้าเฝ้าที่พระบรมมหาราชวังในวันเสาร์ (14 ก.ย.) เพื่อจะได้หารือกันถึงวิธีการที่จะช่วย “แก้ไขคลี่คลาย” ภาวะชะงักงันในปัจจุบัน จากการที่เวลานี้สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงเข้าแทรกแซงด้วยพระองค์เองแล้ว ทำให้พวกนักสังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยมองว่า กำลังจะมีการเจรจาทำความตกลงกันระหว่างฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาล และหนทางเช่นนี้แหละดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการผ่าทางตันคราวนี้ เจ้าชายศรีโสวัฒน์ โธมิโค (Sisowath Thomico) ซึ่งทรงมีฐานะทั้งเป็นสมาชิกในพระบรมราชวงศ์และเป็นสมาชิกของพรรคกู้ชาติกัมพูชา ได้ตรัสแสดงความเห็นว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอาจจะทรงพระราชทานหนทางที่จะสามารถก้าวออกจากประจันหน้าคราวนี้อย่างมีเกียรติแก่ทั้งสองฝ่าย “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยรักษาหน้าให้แก่ทั้งสองพรรค” เจ้าชายองค์นี้ตรัส
เรื่องการหาทางออกอย่างทรงเกียรตินี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเป็นพิเศษสำหรับฝ่ายค้านทีเดียว เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ความยุ่งยากลำบากของพรรคกู้ชาติกัมพูชาบังเกิดขึ้นจากการที่พรรคไปประกาศให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนทั้งเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงและการไม่ยอมประนีประนอม ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ถ้าหากไม่เผชิญหน้ากันก็จะต้องประนีประนอมกัน จึงจะสามารถเดินหน้ากันไปได้อย่างแท้จริง ถึงแม้พรรคฝ่ายค้านพรรคนี้สามารถทำคะแนนได้ดีขึ้นอย่างมากมายในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ทว่าอำนาจอิทธิพลทางการเมืองต่างๆ ยังคงอยู่ในกำมือของพรรคประชาชนกัมพูชาอย่างชัดเจน โดยภายในประเทศนั้น พรรคนี้ยังคงสามารถควบคุมทั้งกองทัพ, กรมตำรวจ, และสถาบันต่างๆ ในภาครัฐแทบทุกหน่วยงาน (หากไม่ถึงขั้นควบคุมได้หมดสิ้นทุกๆ หน่วยงานทีเดียว)
ในเวลาเดียวกัน พวกรัฐบาลของชาติตะวันตกก็ยังคงยึดมั่นอยู่กับแบบแผนเดิมๆ ที่เคยกระทำกัน กล่าวคือขณะที่ออกมาแสดงไปตามบทในการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งก็เร่งเร้าให้ทั้งสองฝ่ายกลับเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาต่อรอง พร้อมสำทับให้หลีกเลี่ยงอย่าได้เกิดการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง เป็นไปไม่ได้เอาเลยที่พวกรัฐบาลชาติตะวันตกเหล่านี้จะให้ความสนับสนุนข้ออ้างของพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ว่าตนเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง เพราะถึงอย่างไรพวกเขาก็ปรารถนาที่จะเห็นสถานะเดิมอันมีเสถียรภาพ มากกว่าความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองที่พยากรณ์คาดการณ์อะไรไม่ได้ ทั้งนี้พรรคกู้ชาติกัมพูชาดูเหมือนกำลังค่อยๆ เข้าอกเข้าใจอย่างซาบซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความเป็นจริงอันไม่น่าพิสมัยและไร้สีสันที่ว่า ในการเมืองแบบกัมพูชานั้น การใช้จุดยืนยึดมั่นอยู่ในหลักการทางกฎหมายและหลักการทางศีลธรรมอันสูงส่ง อย่างมากที่สุดก็เดินไปได้ไกลเพียงเท่านี้เอง
แกม เลย (Kem Ley) นักวิเคราะห์การเมืองอิสระที่ตั้งฐานในกรุงพนมเปญ แสดงทัศนะว่าการชุมนุมประท้วงแบบข้ามวันข้ามคืนของฝ่ายค้านที่กำหนดเริ่มต้นในวันอาทิตย์ (15 ก.ย.) อย่างไรเสียก็ไม่น่าที่จะสร้างความหวั่นไหวอะไรให้แก่พรรครัฐบาล ทว่าก็ยังคงมีผลดีในการช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของพรรคกู้ชาติกัมพูชาเมื่อถึงเวลาที่พรรคนี้ตัดสินใจนั่งลงเจรจาต่อรองกับพรรคประชาชนกัมพูชา ทั้งนี้เขาเสนอแนะว่าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยอมเข้าร่วมในคณะรัฐบาลชุดใหม่ พรรคกู้ชาติกัมพูชาน่าจะเรียกร้องขอมีบทบาทที่แข็งขันจริงจังมากขึ้นในกระบวนการตัดสินนโยบายของประเทศชาติ หรือขอให้มีการปฏิรูปพวกสถาบันภาครัฐอย่างเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ อย่างเป็นรูปธรรมเป็นชิ้นเป็นอัน
การที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นนี้ อาจจะทำให้พรรคกู้ชาติกัมพูชามีเหตุผลข้ออ้างสำหรับการรักษาหน้าเพื่อกลับเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา ทั้งนี้ สม รังสี เองได้เคยพูดเป็นนัยๆ เอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พรรคของเขาอาจจะเข้าร่วมการประชุมครั้งแรกของสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่ ถ้าหากพระเจ้าอยู่หัวทรงขอร้องเขาโดยตรง โดยที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีย่อมจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่อยู่แล้ว
การกล่าวเป็นนัยๆ เช่นนี้ถือว่าเป็นการที่ฝ่ายค้านแสดงท่าทีโอนอ่อนลงมาให้สาธารณชนพบเห็นเป็นครั้งแรก นักวิเคราะห์อย่างเช่น แกน เลย ถึงขนาดออกความเห็นว่า การที่สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จนิวัตพระนครในช่วงจังหวะเวลานี้ อาจจะเป็นสิ่งบ่งชี้ด้วยซ้ำว่าทั้งสองพรรคพร้อมแล้วที่จะเปิดการเจรจาต่อรองกัน หรือกระทั่งอาจจะสามารถทำความตกลงกันได้แล้วด้วยซ้ำ “ถ้าหากพรรคกู้ชาติกัมพูชาและพรรคประชาชนกัมพูชาไม่ได้ทำความตกลงกันไปแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็อาจจะไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศหรอก” เขาให้ทัศนะ [2]
การแก้ไขคลี่คลายปัญหาเช่นนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการหาทางออกตาม “แบบกัมพูชา” มิใช่เป็นเรื่องประหลาดผิดแผกธรรมดาอย่างไรเลย ในกัมพูชานั้น ปกติแล้วผลการเลือกตั้งคือจุดเริ่มต้นของกระบวนการทางการเมือง ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการทางการเมือง มันเป็นจุดที่พรรคและผู้นำทางการเมืองทั้งหลายจะก้าวกระโจนออกมาแสดงยิมนาสติกทางการเมืองและเดินเกมหมากรุกอันมากเล่ห์หลากชั้นเชิงซึ่งได้กลายเป็นลักษณะพิเศษแห่งชาติของประเทศนี้ไปแล้ว การเลือกตั้งทุกๆ ครั้งนับตั้งแต่คราวที่สหประชาชาติเข้ามาเป็นผู้ควบคุมดำเนินการเมื่อปี 1993 ล้วนแล้วแต่ตามมาด้วยการเจรจาต่อรองกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ที่แข่งขันชิงชัยกัน โดยที่ในท้ายที่สุดแล้วเจตนารมณ์ความปรารถนาของประชาชนกัมพูชามักจะถูกลิดรอนตัดทอนและถูกปรับแต่งให้เหมาะสมแก่การรองรับอภิสิทธิ์พิเศษของกลุ่มการเมืองและบุคคลทางการเมืองระดับนำทั้งหลาย
ถึงแม้ สม รังสี พูดจาด้วยถ้อยคำแข็งกร้าวว่าไม่ยอมประนีประนอมกับ ฮุนเซน แต่เมื่อสาวย้อนหลังไปในอดีตก็จะพบว่าตัวเขาเองได้เคยทำการประนีประนอมเช่นนี้มาแล้ว โดยที่ภายหลังการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2008 นั้น พรรคฝ่ายค้านซึ่งในเวลานั้นยังรู้จักกันในชื่อว่า “พรรคสม รังสี” (Sam Rainsy Party) ก็ประกาศคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาแห่งชาติทำนองเดียวกันนี้ แต่แล้วก็หักเลี้ยวยูเทิร์นกลับเข้าไปร่วมการเปิดประชุมวันแรกในนาทีสุดท้ายภายหลังการเปิดเจรจากับพรรครัฐบาล
ข้อตกลงคราวนั้นยังคงกลายเป็นแบบแผนที่ยึดถือกันอยู่ตลอดระยะเวลา 5 ปีถัดมา ถึงแม้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสมัชชาแห่งชาติชุดนั้น ตัว สม รังสี เองได้เดินทางออกไปอยู่นอกประเทศในลักษณะของการเนรเทศตนเองไปลี้ภัยพำนักที่กรุงปารีส หลังจากที่รัฐบาลฮุนเซนได้ตั้งข้อหาและฟ้องร้องเขาซึ่งตัวเขาเองระบุว่าเป็นการกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง สืบเนื่องจากการที่เขาไปถอนหลักเขตแดนตรงบริเวณชายแดนติดกับเวียดนาม และทำการตีพิมพ์เผยแพร่แผนที่ “ผิดๆ” ของบริเวณชายแดนกัมพูชา-เวียดนามอันแสนจะอ่อนไหวในทางการเมือง
ภายหลังจากพรรคฝ่ายค้านทำคะแนนได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นมากในการเลือกตั้งปีนี้ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นกอบเป็นกำจากสาธารณชนชาวกัมพูชารุ่นใหม่ๆ หนทางที่ สม รังสี และสหายของเขาจะเลือกเล่นในช่วงสองสามสัปดาห์ข้างหน้านี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเมืองของกัมพูชายิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมาเสียอีก
หมายเหตุผู้แปล
[2] ตามรายงานของสำนักข่าวเอพีและสำนักข่าวเอเอฟพี นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และ สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้าน ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ในวันเสาร์ (14ก.ย.) ณ ที่นั้น ผู้นำทางการเมืองของกัมพูชาทั้งสองได้พบพูดคุยแบบเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี ทั้งนี้สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงเร่งเร้าให้ทั้งคู่แก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งของพวกเขาในเรื่องผลการเลือกตั้ง โดยใช้วิธีการอันสันติเพื่อเห็นแก่เสถียรภาพของชาติบ้านเมือง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ถึงแม้ สม รังสี กล่าวในเวลาต่อมาว่า การพูดจากันระหว่างเข้าเฝ้าคราวนี้ถือเป็น “ก้าวแรก” ในการมุ่งไปสู่การยุติวิกฤตการณ์ อีกทั้งเป็นที่คาดหมายกันว่าทั้งคู่ยังจะพบปะเจรจากันอีกรอบหนึ่งในวันจันทร์ (16ก.ย.)
มีรายงานด้วยว่าสมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ยังได้ทรงเรียกร้องให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจากทั้งสองพรรคเข้าร่วมการประชุมวันแรกในวันที่ 23 กันยายนนี้ หลังจากที่ฝ่ายค้านประกาศว่าจะคว่ำบาตรไม่เข้าร่วม และ สม รังสี ยังกล่าวย้ำท่าทีเช่นนี้อีกระหว่างขึ้นปราศรัยต่อที่ชุมนุมของฝ่ายค้านในวันอาทิตย์ (15 ก.ย.)
เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com
Cambodian deadlock at crucial juncture
By Sebastian Strangio
13/09/2013
การประท้วงกำลังปะทุตัวขึ้นในกรุงพนมเปญ ภายหลังที่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และพรรคของเขาเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เท่ากับเป็นการโยนทิ้งข้ออ้างอันหนักแน่นของ สม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ว่าพวกเขาต่างหากเป็นฝ่ายมีชัย อย่างไรก็ตาม เป็นที่วาดหวังกันว่าการที่สมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ทรงเข้า “แทรกแซง” อาจจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีการประนีประนอมกันได้ ก่อนที่ความตึงเครียดจะยิ่งเขม็งเกลียวจนไปถึงจุดแห่งการแตกหักอย่างรุนแรง
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**การเข้าแทรกแซงของพระราชาธิบดี**
ในช่วงจังหวะเวลานี้เอง สมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ก็ทรงแทรกเข้ามา ในวันพฤหัสบดี (12 ก.ย.) 1 วันหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับประเทศภายหลังทรงเข้ารับการตรวจรักษาทางการแพทย์ในกรุงปักกิ่ง พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาพระองค์นี้ก็ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง สม รังสี และ ฮุนเซน มีเนื้อความเชื้อเชิญบุคคลสำคัญทั้งสองให้มาเข้าเฝ้าที่พระบรมมหาราชวังในวันเสาร์ (14 ก.ย.) เพื่อจะได้หารือกันถึงวิธีการที่จะช่วย “แก้ไขคลี่คลาย” ภาวะชะงักงันในปัจจุบัน จากการที่เวลานี้สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงเข้าแทรกแซงด้วยพระองค์เองแล้ว ทำให้พวกนักสังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยมองว่า กำลังจะมีการเจรจาทำความตกลงกันระหว่างฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาล และหนทางเช่นนี้แหละดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการผ่าทางตันคราวนี้ เจ้าชายศรีโสวัฒน์ โธมิโค (Sisowath Thomico) ซึ่งทรงมีฐานะทั้งเป็นสมาชิกในพระบรมราชวงศ์และเป็นสมาชิกของพรรคกู้ชาติกัมพูชา ได้ตรัสแสดงความเห็นว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอาจจะทรงพระราชทานหนทางที่จะสามารถก้าวออกจากประจันหน้าคราวนี้อย่างมีเกียรติแก่ทั้งสองฝ่าย “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยรักษาหน้าให้แก่ทั้งสองพรรค” เจ้าชายองค์นี้ตรัส
เรื่องการหาทางออกอย่างทรงเกียรตินี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเป็นพิเศษสำหรับฝ่ายค้านทีเดียว เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ความยุ่งยากลำบากของพรรคกู้ชาติกัมพูชาบังเกิดขึ้นจากการที่พรรคไปประกาศให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนทั้งเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงและการไม่ยอมประนีประนอม ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ถ้าหากไม่เผชิญหน้ากันก็จะต้องประนีประนอมกัน จึงจะสามารถเดินหน้ากันไปได้อย่างแท้จริง ถึงแม้พรรคฝ่ายค้านพรรคนี้สามารถทำคะแนนได้ดีขึ้นอย่างมากมายในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ทว่าอำนาจอิทธิพลทางการเมืองต่างๆ ยังคงอยู่ในกำมือของพรรคประชาชนกัมพูชาอย่างชัดเจน โดยภายในประเทศนั้น พรรคนี้ยังคงสามารถควบคุมทั้งกองทัพ, กรมตำรวจ, และสถาบันต่างๆ ในภาครัฐแทบทุกหน่วยงาน (หากไม่ถึงขั้นควบคุมได้หมดสิ้นทุกๆ หน่วยงานทีเดียว)
ในเวลาเดียวกัน พวกรัฐบาลของชาติตะวันตกก็ยังคงยึดมั่นอยู่กับแบบแผนเดิมๆ ที่เคยกระทำกัน กล่าวคือขณะที่ออกมาแสดงไปตามบทในการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งก็เร่งเร้าให้ทั้งสองฝ่ายกลับเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาต่อรอง พร้อมสำทับให้หลีกเลี่ยงอย่าได้เกิดการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง เป็นไปไม่ได้เอาเลยที่พวกรัฐบาลชาติตะวันตกเหล่านี้จะให้ความสนับสนุนข้ออ้างของพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ว่าตนเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง เพราะถึงอย่างไรพวกเขาก็ปรารถนาที่จะเห็นสถานะเดิมอันมีเสถียรภาพ มากกว่าความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองที่พยากรณ์คาดการณ์อะไรไม่ได้ ทั้งนี้พรรคกู้ชาติกัมพูชาดูเหมือนกำลังค่อยๆ เข้าอกเข้าใจอย่างซาบซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความเป็นจริงอันไม่น่าพิสมัยและไร้สีสันที่ว่า ในการเมืองแบบกัมพูชานั้น การใช้จุดยืนยึดมั่นอยู่ในหลักการทางกฎหมายและหลักการทางศีลธรรมอันสูงส่ง อย่างมากที่สุดก็เดินไปได้ไกลเพียงเท่านี้เอง
แกม เลย (Kem Ley) นักวิเคราะห์การเมืองอิสระที่ตั้งฐานในกรุงพนมเปญ แสดงทัศนะว่าการชุมนุมประท้วงแบบข้ามวันข้ามคืนของฝ่ายค้านที่กำหนดเริ่มต้นในวันอาทิตย์ (15 ก.ย.) อย่างไรเสียก็ไม่น่าที่จะสร้างความหวั่นไหวอะไรให้แก่พรรครัฐบาล ทว่าก็ยังคงมีผลดีในการช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของพรรคกู้ชาติกัมพูชาเมื่อถึงเวลาที่พรรคนี้ตัดสินใจนั่งลงเจรจาต่อรองกับพรรคประชาชนกัมพูชา ทั้งนี้เขาเสนอแนะว่าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยอมเข้าร่วมในคณะรัฐบาลชุดใหม่ พรรคกู้ชาติกัมพูชาน่าจะเรียกร้องขอมีบทบาทที่แข็งขันจริงจังมากขึ้นในกระบวนการตัดสินนโยบายของประเทศชาติ หรือขอให้มีการปฏิรูปพวกสถาบันภาครัฐอย่างเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ อย่างเป็นรูปธรรมเป็นชิ้นเป็นอัน
การที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นนี้ อาจจะทำให้พรรคกู้ชาติกัมพูชามีเหตุผลข้ออ้างสำหรับการรักษาหน้าเพื่อกลับเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา ทั้งนี้ สม รังสี เองได้เคยพูดเป็นนัยๆ เอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พรรคของเขาอาจจะเข้าร่วมการประชุมครั้งแรกของสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่ ถ้าหากพระเจ้าอยู่หัวทรงขอร้องเขาโดยตรง โดยที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีย่อมจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่อยู่แล้ว
การกล่าวเป็นนัยๆ เช่นนี้ถือว่าเป็นการที่ฝ่ายค้านแสดงท่าทีโอนอ่อนลงมาให้สาธารณชนพบเห็นเป็นครั้งแรก นักวิเคราะห์อย่างเช่น แกน เลย ถึงขนาดออกความเห็นว่า การที่สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จนิวัตพระนครในช่วงจังหวะเวลานี้ อาจจะเป็นสิ่งบ่งชี้ด้วยซ้ำว่าทั้งสองพรรคพร้อมแล้วที่จะเปิดการเจรจาต่อรองกัน หรือกระทั่งอาจจะสามารถทำความตกลงกันได้แล้วด้วยซ้ำ “ถ้าหากพรรคกู้ชาติกัมพูชาและพรรคประชาชนกัมพูชาไม่ได้ทำความตกลงกันไปแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็อาจจะไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศหรอก” เขาให้ทัศนะ [2]
การแก้ไขคลี่คลายปัญหาเช่นนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการหาทางออกตาม “แบบกัมพูชา” มิใช่เป็นเรื่องประหลาดผิดแผกธรรมดาอย่างไรเลย ในกัมพูชานั้น ปกติแล้วผลการเลือกตั้งคือจุดเริ่มต้นของกระบวนการทางการเมือง ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกระบวนการทางการเมือง มันเป็นจุดที่พรรคและผู้นำทางการเมืองทั้งหลายจะก้าวกระโจนออกมาแสดงยิมนาสติกทางการเมืองและเดินเกมหมากรุกอันมากเล่ห์หลากชั้นเชิงซึ่งได้กลายเป็นลักษณะพิเศษแห่งชาติของประเทศนี้ไปแล้ว การเลือกตั้งทุกๆ ครั้งนับตั้งแต่คราวที่สหประชาชาติเข้ามาเป็นผู้ควบคุมดำเนินการเมื่อปี 1993 ล้วนแล้วแต่ตามมาด้วยการเจรจาต่อรองกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ที่แข่งขันชิงชัยกัน โดยที่ในท้ายที่สุดแล้วเจตนารมณ์ความปรารถนาของประชาชนกัมพูชามักจะถูกลิดรอนตัดทอนและถูกปรับแต่งให้เหมาะสมแก่การรองรับอภิสิทธิ์พิเศษของกลุ่มการเมืองและบุคคลทางการเมืองระดับนำทั้งหลาย
ถึงแม้ สม รังสี พูดจาด้วยถ้อยคำแข็งกร้าวว่าไม่ยอมประนีประนอมกับ ฮุนเซน แต่เมื่อสาวย้อนหลังไปในอดีตก็จะพบว่าตัวเขาเองได้เคยทำการประนีประนอมเช่นนี้มาแล้ว โดยที่ภายหลังการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2008 นั้น พรรคฝ่ายค้านซึ่งในเวลานั้นยังรู้จักกันในชื่อว่า “พรรคสม รังสี” (Sam Rainsy Party) ก็ประกาศคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาแห่งชาติทำนองเดียวกันนี้ แต่แล้วก็หักเลี้ยวยูเทิร์นกลับเข้าไปร่วมการเปิดประชุมวันแรกในนาทีสุดท้ายภายหลังการเปิดเจรจากับพรรครัฐบาล
ข้อตกลงคราวนั้นยังคงกลายเป็นแบบแผนที่ยึดถือกันอยู่ตลอดระยะเวลา 5 ปีถัดมา ถึงแม้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสมัชชาแห่งชาติชุดนั้น ตัว สม รังสี เองได้เดินทางออกไปอยู่นอกประเทศในลักษณะของการเนรเทศตนเองไปลี้ภัยพำนักที่กรุงปารีส หลังจากที่รัฐบาลฮุนเซนได้ตั้งข้อหาและฟ้องร้องเขาซึ่งตัวเขาเองระบุว่าเป็นการกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง สืบเนื่องจากการที่เขาไปถอนหลักเขตแดนตรงบริเวณชายแดนติดกับเวียดนาม และทำการตีพิมพ์เผยแพร่แผนที่ “ผิดๆ” ของบริเวณชายแดนกัมพูชา-เวียดนามอันแสนจะอ่อนไหวในทางการเมือง
ภายหลังจากพรรคฝ่ายค้านทำคะแนนได้อย่างแข็งแกร่งขึ้นมากในการเลือกตั้งปีนี้ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นกอบเป็นกำจากสาธารณชนชาวกัมพูชารุ่นใหม่ๆ หนทางที่ สม รังสี และสหายของเขาจะเลือกเล่นในช่วงสองสามสัปดาห์ข้างหน้านี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเมืองของกัมพูชายิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมาเสียอีก
หมายเหตุผู้แปล
[2] ตามรายงานของสำนักข่าวเอพีและสำนักข่าวเอเอฟพี นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และ สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้าน ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ในวันเสาร์ (14ก.ย.) ณ ที่นั้น ผู้นำทางการเมืองของกัมพูชาทั้งสองได้พบพูดคุยแบบเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี ทั้งนี้สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงเร่งเร้าให้ทั้งคู่แก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งของพวกเขาในเรื่องผลการเลือกตั้ง โดยใช้วิธีการอันสันติเพื่อเห็นแก่เสถียรภาพของชาติบ้านเมือง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ถึงแม้ สม รังสี กล่าวในเวลาต่อมาว่า การพูดจากันระหว่างเข้าเฝ้าคราวนี้ถือเป็น “ก้าวแรก” ในการมุ่งไปสู่การยุติวิกฤตการณ์ อีกทั้งเป็นที่คาดหมายกันว่าทั้งคู่ยังจะพบปะเจรจากันอีกรอบหนึ่งในวันจันทร์ (16ก.ย.)
มีรายงานด้วยว่าสมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ยังได้ทรงเรียกร้องให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจากทั้งสองพรรคเข้าร่วมการประชุมวันแรกในวันที่ 23 กันยายนนี้ หลังจากที่ฝ่ายค้านประกาศว่าจะคว่ำบาตรไม่เข้าร่วม และ สม รังสี ยังกล่าวย้ำท่าทีเช่นนี้อีกระหว่างขึ้นปราศรัยต่อที่ชุมนุมของฝ่ายค้านในวันอาทิตย์ (15 ก.ย.)
เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com