xs
xsm
sm
md
lg

‘การเมืองกัมพูชา’มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สตรังจิโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Cambodian deadlock at crucial juncture
By Sebastian Strangio
13/09/2013

การประท้วงกำลังปะทุตัวขึ้นในกรุงพนมเปญ ภายหลังที่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และพรรคของเขาเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เท่ากับเป็นการโยนทิ้งข้ออ้างอันหนักแน่นของ สม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ว่าพวกเขาต่างหากเป็นฝ่ายมีชัย อย่างไรก็ตาม เป็นที่วาดหวังกันว่าการที่สมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ทรงเข้า “แทรกแซง” อาจจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีการประนีประนอมกันได้ ก่อนที่ความตึงเครียดจะยิ่งเขม็งเกลียวจนไปถึงจุดแห่งการแตกหักอย่างรุนแรง
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
พนมเปญ – ภายหลังประสบกับภาวะทางตันทางการเมืองอยู่เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติของกัมพูชาก็ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า ฮุนเซน ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งแห่งชาติที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งเต็มไปด้วยข้อพิพาทและความคับข้องใจ การป่าวประกาศเรื่องนี้ในวันที่ 8 กันยายน แทบไม่ได้ก่อให้เกิดความประหลาดใจอะไรนัก ถึงแม้พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodian National Rescue Party's ใช้อักษรย่อว่า CNRP) ที่เป็นฝ่ายค้านได้พยายามออกมาร้องเรียนกล่าวอ้างอย่างดุเดือดโผงผางว่า การเลือกตั้งคราวนี้มีความผิดปกติอย่างมากมายกว้างขวางซึ่งสร้างความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมให้แก่พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party ใช้อักษรย่อว่า CPP) ของฮุนเซน ที่เป็นผู้ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานเต็มทีแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ ก็เฉกเช่นเดียวกับพวกสถาบันและองค์การจำนวนมากของภาครัฐกัมพูชา นั่นคือถูกฝ่ายต่างๆ มองว่าไม่ได้มีความเป็นอิสระความเป็นตัวของตัวเองอะไรเลย หากแต่รอคอยรับฟังคำสั่งเดินหน้าถอยหลังจากพรรคประชาชนกัมพูชาเท่านั้นเอง และการกระทำของคณะกรรมการในคราวนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากการเดินไปตามบทที่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว กล่าวคือ เป็นการประกาศให้การรับผลการเลือกตั้งชั่วคราวที่แถลงออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งระบุให้พรรคประชาชนกัมพูชาได้ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly ชื่ออย่างเป็นทางการของสภาผู้แทนราษฎรกัมพูชา) เป็นจำนวน 68 ที่นั่ง และพรรคกู้ชาติกัมพูชาได้ 55 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติทั้งสิ้น 123 ที่นั่ง จากการตัดสินในขั้นสุดท้ายเช่นนี้ ย่อมเท่ากับคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติได้ปฏิเสธไม่รับฟังคำร้องเรียนอย่างยาวเหยียดจัดเต็มเป็นชุดใหญ่ของพรรคกู้ชาติกัมพูชา ตลอดจนของ สม รังสี (Sam Rainsy) ผู้เป็นประธานพรรค ผู้ซึ่งระบุว่าแท้ที่จริงแล้วพรรคของเขาต่างหากเป็นผู้ชนะโดยควรจะได้ครองที่นั่งรวม 63 ที่นั่ง อันเกินกว่าจำนวนกึ่งหนึ่งของสภาไปเล็กน้อย
ในทัศนะของผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก การโวยวายร้องทุกข์เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ของฝ่ายค้าน เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและมีน้ำหนักไม่ใช่น้อย เป็นต้นว่า กลุ่มพันธมิตรองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ของกัมพูชาจำนวน 21 องค์กรได้จัดทำรายงานการประเมินผลการเลือกตั้งขึ้นมาฉบับหนึ่งและนำออกเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีข้อสรุปว่า เนื่องจากมีความไม่ปกติอย่างใหญ่โตเกิดขึ้นมากมาย ผลการเลือกตั้งที่รับรองโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติจึงไม่ได้ “สะท้อนให้เห็นอย่างเต็มที่ถึงความปรารถนาของผู้ออกเสียงลงคะแนน”
รายงานการประเมินผลฉบับนี้พบว่า มีรายชื่อผู้ออกเสียงจำนวนเป็นพันๆ ชื่อทีเดียวได้ถูกลบและถูกเปลี่ยนเสียใหม่ และผู้ออกเสียงจำนวนมากรายงานว่าเมื่อเดินทางถึงหน่วยเลือกตั้งแล้วกลับปรากฏว่ามีคนอื่นเข้าไปใช้สิทธิในนามของตนเองก่อนแล้ว นอกจากนั้นยังตรวจพบว่าบัญชีรายชื่อผู้ออกเสียงมีชื่อที่ซ้ำๆ กันมากกว่า 300,000 ชื่อ ทั้งหมดเหล่านี้ต่างเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้ออ้างของพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ว่า เนื่องจากมีการรณรงค์เตรียมการล่วงหน้าเพื่อการทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้ชาวกัมพูชามากกว่า 1 ล้านคนทีเดียวไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเองได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันเลือกตั้งจนกระทั่งถึงเวลานี้ แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงดุลทางการเมืองซึ่งดำรงอยู่ในกัมพูชาได้เลย ตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคกู้ชาติกัมพูชาได้ออกมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มีคณะทำงานที่เป็นอิสระเข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้ง แต่พรรคประชาชนกัมพูชาคัดค้านเสียงแข็งซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดหมายกันไว้แล้ว ในทางตรงกันข้าม พรรคกู้ชาติกัมพูชาก็ไม่ยอมรับคำเชื้อเชิญของพรรคประชาชนกัมพูชา ที่จะให้เปิดการพูดจาหารือทางการเมืองกันในเรื่องการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ หากแต่ยืนกรานเรียกร้องว่าฮุนเซนจะต้องก้าวลงจากอำนาจเสียที
ครั้นเมื่อ สม รังสี แถลงว่าพรรคของเขาจะจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้ง รัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการเพิ่มกำลังรักษาความมั่นคงรอบๆ กรุงพนมเปญ รวมทั้งจัดการโชว์การฝึกซ้อมของกำลังตำรวจปราบจลาจลจำนวนหลายร้อยคนโดยเห็นได้ชัดว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อข่มขวัญฝ่ายค้าน กระนั้นก็ตาม พรรคกู้ชาติกัมพูชาก็ได้จัดการชุมนุมขนาดใหญ่ๆ ขึ้นหลายครั้งเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้ง รวมทั้งคราวที่จัดขึ้นในวันที่ 7 กันยายนซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 20,000 คน ทว่ายังไม่มีการชุมนุมครั้งใดเลยที่กล้าเดินขบวนออกมาจากเขต “สวนเสรีภาพ” (Freedom Park) ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งเดียวในเขตนครหลวงที่ฝ่ายรัฐบาลกำหนดให้ใช้เป็นที่ชุมนุมประท้วงได้
อย่างไรก็ดี การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 กันยายน กำลังทำให้การประท้วงของฝ่ายค้านซึ่งยังดูเหมือนเป็นเพียงเกมล่อหลอกวิ่งไล่จับกันแบบเบาะๆ ขยับขับเคลื่อนเข้าสู่ระยะใหม่ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญขึ้นมา เพราะในทันทีทันใดนั้น ฝ่ายค้านก็ประกาศว่าจะจัดการชุมนุมประท้วงแบบ “ข้ามวันข้ามคืน” เป็นเวลา 3 วันเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน โดยที่ สม รังสี ยังกำลังข่มขู่ด้วยว่าจะท้าทายไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ซึ่งห้ามไม่ให้เดินขบวนออกจากเขตสวน หรือเดินขบวนผ่านไปตามถนนสายต่างๆ ในพนมเปญขณะเดียวกัน พรรคกู้ชาติกัมพูชายังแถลงว่าจะทำการประท้วงคว่ำบาตรการประชุมนัดแรกของสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะหยุดยั้งถ่วงเวลาการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ของพรรคประชาชนกัมพูชา
ทางด้านพรรคประชาชนกัมพูชาได้ตอบโต้ ด้วยการออกคำเตือนฉบับใหม่ๆ ในเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะโดยมิได้รับอนุญาต นอกจากนั้นยังตักเตือนพวกองค์กรเอ็นจีโอทั้งหลายว่าอย่าได้สนับสนุนการประท้วงของฝ่ายค้าน ตลอดจนระบุว่ามีสิทธิที่จะนำเอาที่นั่งในรัฐสภาของพรรคกู้ชาติกัมพูชามาจัดสรรใหม่ หากขืนประท้วงไม่เข้าประชุมสมัชชาแห่งชาติเพื่อขัดขวางการจัดตั้งคณะรัฐบาล

ในตอนเช้าวันศุกร์ที่ 13 กันยายน มีผู้พบระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็กลูกหนึ่งที่บริเวณใกล้ๆ อาคารสมัชชาแห่งชาติในกรุงพนมเปญ และต้องให้พวกผู้เชี่ยวชาญด้านกับระเบิดนำเอาไปทำลายทิ้ง ขณะเดียวกันก็ปรากฏว่ามีการพบลูกกระสุนปืนเอ็ม 79 จำนวน 3 ลูกที่บริเวณใกล้ๆ กับสวนเสรีภาพอันเป็นสถานที่ซึ่งอนุญาตให้จัดการชุมนุมได้ เมื่อสถานการณ์พัฒนาจนเคร่งเครียดขึ้นเช่นนี้จึงกำลังทำให้อุณหภูมิทางการเมืองพุ่งปริ๊ดขึ้นมาก่อนหน้ากำหนดการชุมนุมประท้วงข้ามวันข้ามคืนของฝ่ายค้านในวันอาทิตย์ (15 ก.ย.) ลาว มอง ฮาย (Lao Mong Hay) นักวิเคราะห์ที่ทำงานด้านการวิเคราะห์การเมืองกัมพูชามายาวนาน ให้ความเห็นว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือพรรคประชาชนกัมพูชากำลังส่งข้อความไปถึงฝ่ายค้านว่า “จะยอมรับหรือว่าจะยอมเสีย” –กล่าวคือจะยอมเข้าเป็นร่วมรัฐบาลโดยดีหรือว่าจะยอมถูกริบถูกลิดรอนหมดสิ้นบทบาทไปเลย[1]
หมายเหตุผู้แปล

[1] ตามรายงานของสำนักข่าวเอพีและสำนักข่าวเอเอฟพี การชุมนุมของฝ่ายค้านในกรุงพนมเปญวันอาทิตย์ (15ก.ย.) มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนราว 20,000 คน ณ สวนเสรีภาพ ที่ใช้เป็นจุดชุมนุมหลักในคราวนี้ โดยที่รัฐบาลยินยอมให้การชุมนุมดำเนินต่อไปได้ ถึงแม้เคยออกมาปรามก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านยังได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ชุมนุม โดยเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่หรือจัดการเลือกตั้งใหม่ พร้อมกับย้ำว่าพรรคของเขาจะไม่ยอมหารือเรื่องการแบ่งปันอำนาจหรือเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาล หากไม่มีการสะสางข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ปกติต่างๆ ในการเลือกตั้งเสียก่อน
นอกจากการชุมนุมซึ่งดำเนินไปอย่างสันติในจุดชุมนุมหลักที่สวนเสรีภาพแล้ว ยังมีผู้สนับสนุนฝ่ายค้านเรือนพันกระจายออกมาเดินขบวนไปตามถนนสายต่างๆ ในหลายๆ ส่วนของกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นการท้าทายคำเตือนของทางการ ทว่าตำรวจดูเหมือนจะได้รับคำสั่งไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว และส่วนใหญ่ก็ปล่อยให้พวกเขาเดินกันต่อไปได้
อย่างไรก็ดี การเดินขบวนได้กลับกลายเป็นความรุนแรงในช่วงบ่ายๆ เมื่อผู้เดินขบวนราว 200 คนพยายามที่จะพังเครื่องกีดขวางของตำรวจที่ประกอบด้วยลวดหนามและแผงกั้นถนน ซึ่งจัดวางขึ้นมาตามแนวฝั่งแม่น้ำในด้านตะวันออกของพนมเปญเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนขบวนไปยังพระบรมมหาราชวัง ตำรวจได้ยิงเครื่องฉีดน้ำและจากนั้นก็ใช้ระเบิดควัน โดยผู้เดินขบวนตอบโต้ด้วยการขว้างก้อนหิน, รองเท้า, และวัตถุอื่นๆ มีรายงานว่าตำรวจรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บเพราะถูกตีด้วยเหล็กท่อนเล็กที่บริเวณศีรษะ ส่วนผู้ประท้วงก็บาดเจ็บไป 3 คน ไม่นานนักหลังเกิดเหตุปะทะขึ้นมา สม รังสี ได้เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุนี้และเรียกร้องฝูงชนซึ่งถึงตอนนั้นได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเกือบ 1,000 คน ให้อยู่ในความสงบและกลับมาสมทบกำลังกับจุดประท้วงหลัก
ครั้นถึงช่วงกลางคืนวันอาทิตย์ ได้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกเหตุการณ์หนึ่ง โดยตำรวจได้ยิงระเบิดควันเพื่อขับไล่กลุ่มผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพยายามรื้อถอนเครื่องกีดขวางที่ตำรวจวางกั้นสะพานลอยในบริเวณใจกลางเมืองซึ่งเป็นเส้นทางมุ่งหน้าไปยังที่ทำการของพรรคฝ่ายค้าน เจ้าหน้าที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนของกัมพูชาหลายคนยืนยันว่า กำลังฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนเข้าไปในกลุ่มฝูงชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปคนหนึ่ง และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 2 คน
ถึงแม้เกิดเหตุรุนแรงแทรกขึ้นมาเช่นนี้ แต่พวกนักวิเคราะห์ทางการเมืองยังคงมองว่า การชุมนุมประท้วงของฝ่ายค้านที่กำหนดจะเดินหน้าข้ามวันข้ามคืนเป็นเวลา 3 วันนั้น จุดประสงค์สำคัญที่สุดก็คือเพื่อปลุกปลอบชโลมใจพวกผู้สนับสนุนที่โกรธแค้น รวมทั้งเพิ่มอำนาจต่อรองของฝ่ายค้านในการเจรจากับฮุนเซน

เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
‘การเมืองกัมพูชา’มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ (ตอนจบ)
การประท้วงกำลังปะทุตัวขึ้นในกรุงพนมเปญ ภายหลังที่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซน และพรรคของเขาเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เท่ากับเป็นการโยนทิ้งข้ออ้างอันหนักแน่นของ สม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ว่าพวกเขาต่างหากเป็นฝ่ายมีชัย อย่างไรก็ตาม เป็นที่วาดหวังกันว่าการที่สมเด็จพระราชาธิบดีนโรดมสีหมุนี ทรงเข้า “แทรกแซง” อาจจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีการประนีประนอมกันได้ ก่อนที่ความตึงเครียดจะยิ่งเขม็งเกลียวจนไปถึงจุดแห่งการแตกหักอย่างรุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น