xs
xsm
sm
md
lg

‘ฮุนเซน’ยังต้องเล่นบท‘ปฏิรูป’ถึงแม้ไม่แยแส‘ฝ่ายค้าน’

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ตัน เคียว

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A whiff of reform in Cambodia
By Peter Tan Keo
30/09/2013

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา ไม่ได้ประสบความลำบากอะไรนักในการกำจัดปัดเป่ากระแสข้อกล่าวหาที่ว่าพรรคของเขาทุจริตโกงการเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม ตลอดจนในการรับมือกับเรื่องที่ฝ่ายค้านคว่ำบาตรไม่ยอมเข้าร่วมการประชุมรัฐสภา ภายหลังการเลือกตั้งอันคู่คี่สูสีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พัฒนาการเช่นนี้บ่งบอกให้เห็นไปในทำนองที่ว่าเสียงโหวตของประชาชนจำนวนมหึมาที่เปลี่ยนข้างหันมาคัดค้านเขานั้นแทบไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนอะไรเลย กระนั้นก็ตาม การที่ฮุนเซนออกโรงมาเรียกร้องคณะรัฐบาลชุดใหม่ของเขาให้ดำเนินการปฏิรูปต่างๆ และแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน กลับกลายเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าผลการเลือกตั้งคราวนี้ได้ทำให้เขาต้องวิ่งพล่านไม่อาจที่จะอยู่เฉยๆ ได้

เมื่อพูดถึงเรื่องของกัมพูชาแล้ว พวกนักวิจารณ์ของสื่อมวลชนสำนักต่างๆ มักเน้นหนักพุ่งประเด็นไปยังสิ่งที่ผิด มากกว่าสนใจนำเสนอสิ่งที่ถูก ขณะที่กัมพูชายังคงต้องเดินกันไปอีกไกลกว่าที่จะสามารถบรรลุถึงรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันน่าเคารพนับถือได้นั้น ความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความหวังหลายๆ ประการซึ่งปรากฏขึ้นภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (สภาผู้แทนราษฎร) อันมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่น่าจะมีความหมายความสำคัญต่อไปในอนาคต

ในวันที่ 25 กันยายน ฮุนเซน ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาอย่างยาวนาน ได้จัดการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งคราวนี้ของเขาเป็นครั้งแรก ทั้งนี้การแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดนี้ของเขา ยังคงดำเนินไปอย่างราบรื่น ถึงแม้ฝ่ายค้านซึ่งก็คือพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodian National Rescue Party ใช้อักษรย่อว่า CNRP) ได้แสดงการประท้วงคัดค้านอย่างรุนแรง ถึงขั้นคว่ำบาตรไม่ยอมเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่นัดแรกในวันที่ 23 กันยายน

พรรคกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งนำโดยผู้นำฝ่ายค้านบารมีสูงอย่าง สม รังสี ประท้วงคัดค้านว่าผลการเลือกตั้งที่ประกาศกันออกมานั้นไม่ถูกต้องเพราะเต็มไปด้วยการทุจริต และฝ่ายค้านจึงปฏิเสธไม่ยอมร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาลจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระ เข้าทำการตรวจสอบข้อกล่าวหาอันมากมายกว้างขวางเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้งและความผิดปกติทั้งหลายทั้งปวง พรรคกู้ชาติกัมพูชายังได้จัดการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนหลายต่อหลายครั้ง โดยที่การชุมนุมแบบไม่ยืดเยื้อเช่นนี้บางหนมีผู้คนเข้าร่วมเป็นเรือนหมื่นทีเดียว

สม รังสี อ้างว่า การโกงเลือกตั้งนานารูปแบบ ซึ่งมีตั้งแต่การใช้ “ผี” มาลงคะแนน ไปจนถึงการที่กองกำลังรักษาความมั่นคงของทางการ ออกมาข่มขู่คุกคามผู้ออกเสียง เป็นสาเหตุทำให้พรรคกู้ชาติกัมพูชาของเขาไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติ ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระทว่าในทางเป็นจริงตกอยู่ใต้การครอบงำของพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party ใช้อักษรย่อว่า CPP) ของฮุนเซนนั้น ได้ออกมารับรองผลการเลือกตั้งที่ระบุว่า พรรคกู้ชาติกัมพูชาชนะได้ที่นั่งในสภาล่าง 55 ที่นั่งจากจำนวนที่นั่งทั้งสิ้น 123 ที่นั่ง ถ้าหากพรรคกู้ชาติกัมพูชาได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะแล้ว มันก็จะเป็นการใช้หนทางแบบประชาธิปไตยมาปิดฉากยุติการครองตำแหน่งของฮุนเซนที่ดำเนินมาถึง 28 ปี จนกลายเป็นผู้ที่นั่งเก้าอี้หัวหน้ารัฐบาลอย่างยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก

สำหรับผู้สังเกตการณ์ที่คุ้นเคยกับการเมืองของกัมพูชาแล้ว การประจันหน้ากันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลที่เกิดขึ้นในคราวนี้ ดูจะสอดคล้องกลมกลืนเป็นอันดีกับแบบแผนของการต่อรองกันภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถคาดทายได้ล่วงหน้าว่าจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยที่ฝ่ายค้านพยายามล็อบบี้เพื่อให้ฝ่ายตนได้รับแบ่งสรรครอบครองตำแหน่งที่ทรงอำนาจบ้าง ทั้งนี้ตัวฮุนเซนเองได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า พรรคกู้ชาติกัมพูชาพยายามต่อรองขอตำแหน่งใหญ่ๆ ระดับประธานสมัชชาแห่งชาติด้วยซ้ำ โดยที่ฮุนเซนได้พบปะเจรจากับ สม รังสี อย่างน้อย 3 ครั้ง รวมทั้งครั้งหนึ่งที่มีการหารือกันอย่างยาวนาน 5 ชั่วโมงเพื่อพยายามที่จะผ่าทางตัน ทว่าจวบจนกระทั่งล่วงเลยถึงเวลานี้แล้วก็ยังไม่บรรลุอะไร

ตั้งแต่ที่สหประชาชาติเข้ามาเป็นคนกลางจัดการเลือกตั้งในกัมพูชาเมื่อปี 1993 การเมืองกัมพูชาตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมายังคงแปดเปื้อนด้วยความรุนแรงทางการเมือง, การกล่าวหาเรื่องความไม่ปกติและการทุจริตคดโกงการเลือกตั้ง, การรัฐประหารยึดอำนาจอย่างนองเลือดในปี 1997, การเผชิญกับภาวะชะงักงันทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง, การจับมือเป็นรัฐบาลผสมที่ลงท้ายประสบความล้มเหลว, และการเที่ยวเร่ขายอำนาจเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันอย่างโจ๋งครึ่มไร้ความอับอาย ตลอดช่วงเวลาแห่งความผันผวนปั่นป่วนเหล่านี้ ฮุนเซนยังคงสามารถกุมอำนาจเอาไว้ในกำมืออย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างออกไปในปัจจุบันก็คือ การที่พรรคกู้ชาติกัมพูชาทำผลงานในการเลือกตั้งได้อย่างเข้มแข็งมากในคราวนี้ ดูเหมือนจะสั่นสะท้านสะเทือนพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซนทีเดียว ในเมื่อพรรคต้องสูญเสียที่นั่งไปกว่า 20 ที่นั่งให้แก่ฝ่ายค้านเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งทั่วไปคราวก่อนในปี 2008 แล้วจากนั้นเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง และภายใต้แรงกดดันทางการเมืองอันแรงกล้า ฮุนเซนก็ได้ประกาศมาตรการปฏิรูปจำนวนหนึ่งทั้งภายในพรรคของเขาและในรัฐบาล โดยอยู่ในรูปลักษณ์ของแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจะต้องกระทำตาม

ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 กันยายน ฮุนเซนได้เรียกร้องให้เหล่ารัฐมนตรีของเขาต้องดำเนินการปฏิรูป โดยบอกว่าการเปลี่ยนแปลงคือเจตนารมณ์ของประชาชน จากนั้นเขาก็ประกาศแนวทางปฏิบัติออกมาชุดหนึ่ง โดยที่รัฐมนตรีซึ่งไม่ปฏิบัติตามหรือไร้ประสิทธิภาพจะต้องถูกตำหนิและถูกเปลี่ยนตัว นอกจากนั้นฮุนเซนยังเรียกร้องให้พวกสมาชิกสภาแสดงความรับผิดชอบยอมรับการตรวจสอบของประชาชนอย่างแข็งขันยิ่งขึ้น ในการประชุมคราวนี้ ได้มีการระบุถึงประเด็นปัญหาอันสำคัญยิ่งยวดต่างๆ ตั้งแต่การใช้อำนาจโดยมิชอบ ไปจนถึงการเล่นพรรคเล่นพวก, การทุจริตคอร์รัปชั่น, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, ตลอดจนระบบตรวจสอบและคานอำนาจของรัฐสภา

แนวทางปฏิบัติที่ออกมาใหม่ข้อหนึ่งระบุว่า รัฐมนตรีคนไหนก็ตามถูกจับได้ว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ จะต้องถูกไล่เรียงให้รับความผิดตามกฎหมาย ขณะที่ฮุนเซนยังประกาศว่า พวกรัฐมนตรีที่ถูกพบว่า “ไม่มีผลงาน” จะถูกปลดถูกเปลี่ยนตัวทันที แล้วยังมีแนวทางปฏิบัติอีกข้อหนึ่งที่เน้นย้ำว่ารัฐบาลจะต้องไม่ส่งเสริมการเล่นพวกเล่นพ้อง ซึ่งหมายรวมไปถึงการระมัดระวัง “ไม่ให้เหล่าภริยาผู้ละโมบและเหล่าบุตรหลานที่ถูกตามใจจนเสียคน ออกมาขับรถยนต์หรูหราโฉบเฉี่ยว และสร้างความโกรธเกรี้ยวขุ่นเคืองขึ้นในสังคม”

ฮุนเซนออกโรงประกาศ “ปฏิรูป” เช่นนี้ มีความจริงจังแค่ไหน? บางคนบางฝ่ายตั้งคำถามอย่างระแวงสงสัยกันแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าบุตรชายคนเล็กของเขาดูเหมือนจะประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง แต่แล้วก็ยังคงสามารถคว้าที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติมาจนได้ นอกจากนั้นเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไป 28 กรกฎาคม พี่ชาย 2 คนของเขา ซึ่งได้แก่ ฮุน มาเนต (Hun Manet) กับ ฮุน มานิธ (Hun Manith) ก็เข้าอยู่ในเส้นทางฟาสต์แทร็ก ได้รับการเลือกเลื่อนเข้าสู่ตำแหน่งอาวุโสวงในของกองทัพกัมพูชา หลายๆ คนเชื่อว่า ฮุนเซน กำลังตระเตรียมบ่มเพาะ ฮุน มาเนต ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อถึงวันที่เขาต้องก้าวลงจากอำนาจในที่สุด

กระนั้นก็ตาม ยังคงมีแนวทางปฏิบัติข้อใหม่ๆ ซึ่งบ่งบอกว่าฝ่ายค้านในรัฐสภาจะได้รับอนุญาตให้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในสมัชชาแห่งชาติในเวลาใดก็ได้ อันเป็นการจัดวางเวทีสำหรับระบบการตรวจสอบและการคานอำนาจตามแบบประชาธิปไตยอันแท้จริง

ในเฟซบุ๊กและช่องทางสื่อสังคมอื่นๆ ก็มีการถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องเหล่านี้ ฮุนเซนนั้นแถลงว่ารัฐบาลของเขาไม่มีแผนการที่จะปิดเวทีอินเตอร์แอคทีฟเช่นนี้ ถึงแม้พวกชาวเน็ตระดับรากหญ้ากำลังใช้มันมาเปิดโปงความผิดปกติต่างๆ ในการเลือกตั้ง ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์เหล่านักการเมืองพรรคประชาชนกัมพูชา ตรงกันข้าม ฮุนเซนกลับแสดงท่าทีสนับสนุนส่งเสริมให้เหล่ารัฐมนตรีของเขาใช้สื่อสังคมเพื่อขยายการเข้าถึงและการติดต่อสื่อสารกับผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตเลือกตั้งต่างๆ

นอกจากนั้น มาตรการในการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นก็อยู่ในระเบียบวาระของฮุนเซนด้วย หนึ่งในแนวทางปฏิบัติใหม่เหล่านี้ก็คือ การประกาศว่าการตั้งด่านตรวจลอย แบบที่ไม่มีจุดตั้งด่านอันแน่นอนชัดเจน โดยจู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาตามท้องถนนในเมืองใหญ่ๆ อยู่เป็นประจำนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการอาศัยอำนาจการตรวจเอกสารของทางการไปในทางมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล ขณะที่แนวทางปฏิบัติใหม่อีกประการหนึ่ง อาจจะจัดอยู่ในข้อที่แปลกประหลาดที่สุด กล่าวคือระบุให้พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยุติการบังคับพวกข้าราชการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ต้องเข้าร่วมในงานเลี้ยงวันเกิดของเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยที่ในอดีตที่ผ่านมา บ่อยครั้งทีเดียวที่การไม่ไปปรากฏตัวในงานเลี้ยงเช่นนี้หมายถึงจะถูกนำชื่อขึ้นบัญชีดำของกระทรวง

ขณะที่แนวทางปฏิบัติที่ประกาศกันออกมาเหล่านี้ จำนวนมากทีเดียวไม่น่าที่จะมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดกวดขันอะไร แต่มันก็มีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ฮุนเซนมองว่าจำเป็นที่พรรคและรัฐบาลของเขาจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไข โดยที่น่าสังเกตด้วยว่าพรรคกู้ชาติกัมพูชาได้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของตน ด้วยการให้สัญญาที่จะจัดการกับประเด็นปัญหาเดียวกันเหล่านี้จำนวนมากทีเดียว อย่างไรก็ดี พวกช่างระแวงสงสัยทำถูกต้องแล้วที่ตั้งคำถามว่าสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นการปฏิรูปเหล่านี้ จะมีการนำไปปฏิบัติได้จริงๆ สักแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าฮุนเซนก็ได้เคยประกาศแนวทางปฏิบัติทำนองนี้มาแล้ว ในตอนเริ่มต้นวาระดำรงตำแหน่งของเขาในปี 2008 ทว่านับแต่นั้นมาก็ยังไม่มีหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวอะไรเลย

หากแนวทางปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีการจัดทำขึ้นเป็นกฎหมาย ตลอดจนถ้ายังไม่มีการนำออกกฎหมายซึ่งมีอยู่แล้วออกมาบังคับใช้กันอย่างจริงจัง มาตรการใหม่ๆ ทั้งหลายก็จะมีคุณค่าไม่แตกต่างอะไรจากประมวลจริยธรรมที่เก็บเอาไว้บนหิ้ง ซึ่งเหล่ารัฐมนตรีทั้งหลายพร้อมที่จะเพิกเฉยไม่แยแสกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ผู้มีสิทธิออกเสียงที่กำลังขุ่นเคืองและมีความตระหนักมีความสำนึกทางการเมืองเพิ่มขึ้นทุกที จะตอบโต้การที่รัฐบาลมองเมินประเด็นปัญหาสำคัญยิ่งยวดเหล่านี้กันเช่นไร ยังเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากและต้องคอยติดตามกันต่อไป แต่เราย่อมสามารถพูดได้ว่า หากยังไม่มีการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการบริหารปกครองกัมพูชาอย่างแท้จริงแล้ว พรรคประชาชนกัมพูชาก็น่าที่จะต้องขาดทุนในรูปลักษณ์ของการสูญเสียที่นั่งในสภาอย่างหนักหน่วงขึ้นอีก ในการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้าในปี 2018

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในส่วน “Speaking Freely ” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดทางให้เหล่านักเขียนรับเชิญสามารถแสดงความคิดเห็นของพวกตน โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

ปีเตอร์ ตัน เคียว เป็นนักวิเคราะห์อิสระและเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มโกลบอล สแตรเตจี เอเชีย (Global Strategy Asia) เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาชิคาโก และกำลังทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อเร็วๆ นี้ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของ เอเชีย อีโคโนมิก ฟอรั่ม (Asia Economic Forum) เขาได้ทำวิจัยสำรวจตรวจสอบเรื่องการฟื้นฟูบูรณะภายหลังผ่านพ้นความขัดแย้ง, การศึกษา, และการมอบอำนาจให้เยาวชน ในบรรดาประเทศที่เพิ่งใช้ระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียน ผู้สนใจสามารถติดตามบล็อกของเขาได้ที่ usaseanforum.blogspot.com หรือติดต่อกับเขาทางอีเมลได้ที่ petertankeo@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น