xs
xsm
sm
md
lg

‘กัมพูชา’อยู่ใน‘ภาวะทางตัน’หลังเลือกตั้ง (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สตรังจิโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Post-poll deadlock tests Cambodian stability
By Sebastian Strangio
02/08/2013

ทั้งนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และ สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างประกาศอ้างว่าเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้จึงกำลังตกอยู่ในภาวะทางตันทางการเมือง แต่ทั้งนี้การที่สองฝ่ายจะกลับมาประนีประนอมกันนั้นยังคงมีความเป็นไปได้ และไม่ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปอย่างไรก็จะส่งผลสืบเนื่องอันยาวไกลต่อการเริงระบำทางการเมืองในแดนเขมรซึ่งย่างเข้าสู่ยุคที่มีพรรคสองพรรคใหญ่เผชิญหน้ากัน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พนมเปญ – การเมืองของกัมพูชากำลังเริ่มต้นบทเพลงแดนซ์จังหวะใหม่อย่างคึกคักเข้มข้น โดยคู่เต้นสำคัญที่เผชิญหน้ากันอยู่ก็คือ ฮุนเซน ผู้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอย่างยาวนาน กับ สม รังสี (Sam Rainsy) ผู้นำฝ่ายค้านที่เป็นปรปักษ์คนสำคัญที่สุดของเขาในปัจจุบัน การเริงร่ายโชว์สเต็ปของพวกเขามีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลสืบเนื่องอย่างยาวไกลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของแดนเขมรในหลายๆ สัปดาห์และหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป

ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียวนับตั้งแต่ที่พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party ใช้อักษรย่อว่า CNRP) ของ สม รังสี สามารถสร้างผลงานได้ดีอย่างน่าประหลาดใจในการเลือกตั้งระดับชาติอันดุเดือดเข้มข้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ฝ่ายค้านก็ได้เปิดการรุกโจมตีทางการเมืองด้วยการปฏิเสธไม่ยอมรับการประกาศผลเบื้องต้นของทางการที่ให้พรรครัฐบาลซึ่งคือพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party ใช้อักษรย่อว่า CPP) เป็นผู้ชนะได้ที่นั่งในสภา 68 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายค้านได้ 55 ที่นั่ง พร้อมกับเรียกร้องให้มีคณะสอบสวนที่ประกอบด้วยผู้แทนระดับนานาชาติ เข้าดำเนินการตรวจสอบความไม่ปกติต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีอยู่อย่างกว้างขวางโจ๋งครึ่ม
ในวันอังคาร (30ก.ค.) หลังจากการเลือกตั้งผ่านไปแค่ 2 วัน สม รังสี ก็ได้เพิ่มเดิมพันต่อรองของตน ด้วยการประกาศชัยชนะอย่างตรงไปตรงมา โดยอ้างว่าแท้ที่จริงแล้วพรรคของเขามีชัยคว้าที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรของกัมพูชา หรือที่เรียกขานกันอย่างเป็นทางการว่า สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ไปได้ 63 ที่นั่ง พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้ ฮุนเซน ก้าวลงจากตำแหน่ง ทั้งนี้ภายหลังจากใช้เวลานานปีในการต่อสู้คัดค้านฮุนเซน ผู้ซึ่งอยู่ในอำนาจมาจนถึงบัดนี้รวมเป็นเวลายาวนานถึง 28 ปีแล้ว ในที่สุดฝ่ายค้านของกัมพูชาที่เคยมีสภาพเป็นแค่ “ตัวป่วน” ทางการเมืองตลอดกาล ก็มองเห็นโอกาสอยู่เพียงแค่เอื้อมที่จะคว้าอำนาจบริหารประเทศมาไว้ในกำมือ

จากการที่ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังอ้างว่าตนเองเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง เวลานี้กัมพูชาจึงตกอยู่ในภาวะทางตันทางการเมือง ในอดีตนั้นช่วงเวลาที่การเมืองต้องกลายเป็นอัมพาตทำนองเดียวกันนี้ได้เคยบังเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1998 และปี 2003 เมื่อตอนที่พรรคประชาชนกัมพูชาประสบความล้มเหลวไม่สามารถคว้าชัยชนะได้ที่นั่งถึงสองในสามของสภา ซึ่งในเวลานั้นจำเป็นต้องได้มาจึงจะจัดตั้งจัดตั้งรัฐบาลได้ ปรากฏว่าในทั้ง 2 คราวนั้น สม รังสี ที่ในตอนนั้นเป็นหัวหน้าของพรรคการเมืองที่ตั้งชื่อตามนามของเขาเอง นั่นคือพรรคสม รังสี ได้จับมือกับสมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ (Prince Norodom Ranariddh) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ พระมหากษัตริย์ของกัมพูชา และเป็นผู้นำของพรรคฟุนซินเปก (Funcinpec) ซึ่งเป็นฝ่ายนิยมกษัตริย์ (royalist) พวกเขาพยายามขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาล ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเรียกร้องบีบเค้นให้ฮุนเซนต้องยอมอ่อนข้ออย่างที่สุด ทว่าในทั้งสองโอกาสดังกล่าว ในที่สุดแล้ว สมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ ก็แอบย่องไปทำความตกลงกับพรรคประชาชนกัมพูชาลับหลัง สม รังสี และตกลงเข้าร่วมรัฐบาลผสมโดยแลกเปลี่ยนกับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีตลอดจนตำแหน่งเกียรติยศที่ไม่ต้องลงแรงทำงานอื่นๆ

สำหรับคราครั้งนี้ การเป็นฝ่ายค้านของพรรคกู้ชาติกัมพูชาอยู่ในสภาพอันเข้มแข็งมากผิดแผกกับที่เคยเป็นมาในอดีต เหตุผลประการหนึ่งก็คือ ครั้งนี้ไม่ได้มีพรรคการเมืองซึ่งได้ที่นั่งมากเป็นอันดับ 3 ที่ฮุนเซนจะสามารถเกลี้ยกล่อมหว่านซื้อเอามาเป็นพวก ด้วยตำแหน่งอันมีเกียรติในรัฐบาลตลอดจนด้วยแรงจูงใจอันหวานหอมอย่างอื่นๆ คราวนี้กลับนับเป็นคราวแรกที่กัมพูชาเข้าสู่สภาพที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นระบบการเมืองแบบมีพรรคการเมือง 2 พรรคซึ่งต่างมีที่นั่งในสภาใกล้เคียงกัน อีกทั้งพรรคกู้ชาติกัมพูชาก็ดูจะมีความสามัคคีกันและมีพลังความกระตือรือร้น โดยที่กำลังขี่กระแสคลื่นแห่งความปรารถนาของประชาชนผู้เรียกร้องต้องการความเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งในเวลานี้จะทำให้พรรคของฮุนเซนยังคงมีที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งในสภาซึ่งเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้และยืดเวลาการกุมอำนาจของเขาเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 4 แต่เหล่านักวิเคราะห์มองว่า พรรคกู้ชาติกัมพูชาก็มีอำนาจที่จะคว่ำบาตรการเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่วาระแรก และขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

พรรคกู้ชาติกัมพูชายังได้รับการหนุนหลังอย่างกว้างขวางจากภาคส่วนต่างๆ ของสาธารณชนกัมพูชา ผู้ซึ่งแสดงออกด้วยการพากันออกมาอย่างมากมายล้นหลามเพื่อต้อนรับ สม รังสี ในวันที่เขาเดินทางกลับประเทศเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายหลังเนรเทศตนเองไปลี้ภัยในต่างแดนอยู่หลายปี ถึงแม้ตัว สม รังสี เองยังคงถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Committee ใช้อักษรย่อว่า NEC) ห้ามลงแข่งขันในการเลือกตั้งคราวนี้ แต่ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ที่พรรคกู้ชาติกัมพูชาจะออกมาประกาศยืนยันการกล่าวอ้างชัยชนะของตน ด้วยการจัดการชุมนุมประท้วงตามท้องถนน ตัว สม รังสี ได้ออกมาเตือนพรรคประชาชนกัมพูชาเอาไว้แล้วว่า ถ้าหากไม่ทำตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของเขาแล้ว ก็จะต้องเผชิญกับ “การชุมนุมเดินขบวนของประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลในระดับทั่วประเทศ”

ในส่วนของฮุนเซนนั้น หลังจากเก็บตัวเงียบอยู่ 3 วันภายหลังการเลือกตั้ง เขาก็ได้ออกมาแสดงปฏิกริยาแรกสุดด้วยลักษณะน้ำเสียงมุ่งประนีประนอมรอมชอม กล่าวคือ ระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญเมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม ฮุนเซนได้บอกกับพวกนักข่าวว่า เขายินดีที่จะให้มีคณะสอบสวนซึ่งประกอบด้วยหลายๆ ฝ่ายมาตรวจสอบเรื่องการเลือกตั้ง ถ้าหากคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติมีความปรารถนาที่จะแต่งตั้งคณะสอบสวนดังกล่าวขึ้นมา เขาบอกด้วยว่าพรรคของเขา “พรักพร้อมและเปิดกว้าง” ในการพูดจาหารือกับพรรคกู้ชาติกัมพูชา เกี่ยวกับตำแหน่งต่างๆ ของสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่

แต่หลังจากนั้นเพียงวันเศษๆ เขาก็งัดเอาไม้แข็งออกมาใช้บ้าง โดยในระหว่างที่พบปะกับพวกนักการทูตต่างประเทศในคืนวันพฤหัสบดี (1 ส.ค.) ฮุนเซน กล่าวเตือนพรรคกู้ชาติกัมพูชาว่า ถ้าหากคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติแล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะนำเอาที่นั่งซึ่งพรรคฝ่ายค้านนี้ได้รับอยู่ มาแบ่งสรรกันใหม่ให้แก่พวกพรรคการเมืองเล็กๆ อื่นๆ (ซึ่งไม่มีพรรคใดชนะได้ที่นั่งเลยในการเลือกตั้งวันที่ 28 กรกฎาคม) ในวันเดียวกันนั้นเอง คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นองค์การที่ตกอยู่ใต้การบงการชี้นิ้วของพรรครัฐบาล ก็ได้แถลงปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอให้มีการจัดตั้งคณะสอบสวนที่ประกอบด้วยหลายๆ ฝ่าย พร้อมๆ กับการข่มขู่ดังกล่าวนี้ ฮุนเซนได้เน้นย้ำว่าเขามีความยินดีที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพรรคกู้ชาติกัมพูชา และแสดงออกเป็นนัยๆ ว่าจะเสนอตำแหน่งสำคัญๆ ในสมัชชาแห่งชาติให้แก่พรรคนี้

ทั้งหมดเหล่านี้ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ควรคาดหมายกันได้อยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ฮุนเซนนั้นจะพยายามเปิดการเจรจาเกลี้ยกล่อมพวกที่คัดค้านเขา หาทางเสนอผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เพื่อจองจำผูกมัดฝ่ายค้านเอาไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว แล้วจากนั้นก็เดินหน้ากระบวนการที่จะทำให้เขากลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ ทว่าสำหรับในครั้งนี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีผู้นี้ยังคงกำลังโซซัดโซเซฟื้นตัวขึ้นมาจากการที่พรรคของเขาต้องสูญเสียที่นั่งไปจำนวนมาก (ในการเลือกตั้งคราวที่แล้วเมื่อปี 2008 พรรคของเขาชนะได้ที่นั่ง 90 ที่นั่งจากทั้งสภาซึ่งมีอยู่ 123 ที่นั่ง) ทางฝ่ายพรรคกู้ชาติกัมพูชากลับกำลังอยู่ในอาการยืนหยัดอย่างมั่นคง

“พวกเรานั้นยอมรับเรื่องการพูดจาหารือกัน แต่วัตถุประสงค์ของการพูดจาจะต้องเป็นไปเพื่อให้ได้ความจริงและเปิดเผยความจริงออกมา ถ้าหากได้น้อยกว่านี้เราก็จะไม่ยอมรับ” สม รังสี บอกกับวิทยุออสเตรเลีย (Radio Australia) ในวันพฤหัสบดี (1ส.ค.) ว่า “ความจริงตามที่พูดมานึ้ก็คือพรรครัฐบาลนั้น หลังจากปกครองกัมพูชามาถึง 34 ปี ได้กลายเป็นฝ่ายแพ้ไปแล้วในการเลือกตั้งคราวนี้ และการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยกำลังเดินเครื่องก้าวหน้าไปในกัมพูชา”

**อ่านความรู้สึกของประชาชนผิดพลาด**

การร้องเรียนของพรรคกู้ชาติกัมพูชาเกี่ยวกับความไม่ปกติต่างๆ ในการเลือกตั้งคราวนี้ ได้รับการขานรับประสานเสียงจากการสังเกตการณ์ของพวกกลุ่มอิสระสังเกตการณ์การเลือกตั้งส่วนใหญ่ ผู้ซึ่งบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อยที่สุดนับแต่การเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นโดยสหประชาชาติในปี 1993 แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่มีความยุติธรรมน้อยที่สุดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กระทั่งว่าหากพรรคกู้ชาติกัมพูชาสามารถที่จะเสนอหลักฐานข้อพิสูจน์อันเด็ดขาดมั่นคงว่าตนเองถูกปล้นชัยชนะ พรรคก็ยังจะต้องยอมรับและอยู่กับสภาพความเป็นจริงทางการเมืองอันยังมิได้เปลี่ยนแปลงไปของกัมพูชาอยู่นั่นเอง ถึงแม้การถดถอยหลังในการเลือกตั้งครั้งนี้ของเขาคือการสะท้อนให้เห็นว่าเขาอ่านอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง ทว่าฮุนเซนก็ยังคงเป็นผู้ควบคุมกลไกตำรวจ, ทหาร, ศาล, ข้าราชการ, และเครือข่ายการเมืองระดับชาติ ซึ่งฝังรากเหง้าอยู่ในทุกๆ หมู่บ้านและทุกๆ ตำบล สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขายังคงได้รับความสนับสนุนจากวงการธุรกิจส่วนใหญ่ ทั้งนี้มีข้อเปรียบเทียบว่าภายหลังที่พรรคฟุนซินเปกของสมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ได้รับชัยชนะเหนือพรรคประชาชนกัมพูชาแบบสุดเซอร์ไพรซ์ในการเลือกตั้งที่จัดโดยสหประชาชาติเมื่อปี 1993 แล้ว พรรคฟุนซินเปกก็ยังคงไม่สามารถบริหารประเทศได้หากไม่ยินยอมให้ฮุนเซนเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมอีกคนหนึ่งเคียงคู่กับสมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะคาดคิดว่าในเวลานี้ สม รังสี จะกระทำได้ในสิ่งซึ่งสมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ทำไม่ได้ในเวลานั้น

ด้วยเหตุฉะนี้ จึงแทบจะเป็นการแน่นอนทีเดียวว่าจะต้องมีการรอมชอมทางการเมืองในบางลักษณะขึ้นมา ทว่าคำถามยังอยู่ที่ว่า สม รังสี ยินดีที่จะประนีประนอมมากน้อยแค่ไหน? ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สม รังสี ได้สร้างสมชื่อเสียงเกียรติคุณในฐานะที่เป็นบุคคลผู้ยึดมั่นหลักการทว่ามักจะดื้อรั้น ภายหลังการเลือกตั้งในปี 1993 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคลัง และแล้วก็ถูกขับพ้นคณะรัฐมนตรีในอีก 1 ปีต่อมาจากการที่เขาโจมตีเล่นงานการทุจริตคอร์รัปชั่นของฮุนเซนและสมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ ผู้เป็น 2 นายกรัฐมนตรีร่วมในตอนนั้น ถึงปี 1995 สมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ถึงขั้นขับเขาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคฟุนซินเปก ซึ่งทำให้เข่าสูญเสียที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติไปด้วย นับแต่นั้นมา สม รังสี ก็กลายเป็นฝ่ายค้านเรื่อยมา โดยตั้งตนเองเข้าดำเนินภารกิจในการโค่นล้มฮุนเซนลงจากอำนาจและฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในกัมพูชา “ความรู้สึกประทับใจที่คุณมี (ต่อสม รังสี) ก็คือมีความยืดหยุ่นน้อยเหลือเกิน มีความยินดีประนีประนอมน้อยเหลือเกิน” นี่เป็นคำพูดของอดีตเอกอัครราชทูตฝ่ายตะวันตกผู้หนึ่งซึ่งเคยประจำอยู่ในกัมพูชาในช่วงทศวรรษ 1990

หลักการต่างๆ ที่ตัว สม รังสี ยึดมั่นเอาไว้อย่างเหนียวแน่นนั้น ยังแถมผสมผสานอยู่กับความมั่นอกมั่นใจซึ่งบ่อยครั้งอยู่ในระดับไร้เดียงสา เป็นความมั่นอกมั่นใจที่ว่าสหประชาชาติและพวกรัฐบาลฝ่ายตะวันตกพร้อมจะให้การหนุนหลังเขาอย่างเป็นรูปธรรมในการที่เขาดำเนินการต่อสู้กับฮุนเซนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อเดือนสิงหาคม 1998 ระหว่างการประท้วงที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง สม รังสี ไปไกลถึงขนาดเรียกร้องให้สหรัฐฯปลดนายกรัฐมนตรีผู้นี้ออกจากตำแหน่งด้วยการทิ้งระเบิดใส่คฤหาสน์ “ถ้ำเสือ” (tiger's lair) ของฮุนเซนซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ของกรุงพนมเปญ ช่วงระยะไม่กี่วันหลังๆ มานี้ เขาก็ได้เปิดการหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯและของยุโรป โดยคาดหมายได้ว่าเพื่อมุ่งหาความสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับแผนการภายหลังการเลือกตั้งของเขา

อย่างไรก็ดี ในทางเป็นจริงแล้วหลังจากการเลือกตั้งคราวก่อนๆ ในกัมพูชา พวกรัฐบาลต่างประเทศแทบไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวอะไรนอกเหนือจากการออกคำแถลงแสดง “ความเป็นห่วง” หรือไม่ก็ออกมาเรียกร้องอย่างแกนๆ ให้กัมพูชาดำเนินการปฏิรูป สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ พวกเขาได้ประกาศยอมรับผลการเลือกตั้งทุกๆ ครั้งนับตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาา แม้ว่าการเลือกตั้งเหล่านี้มักมีการแปดเปื้อนด้วยการหลั่งเลือดทางการเมืองก็ตามที

สำหรับในคราวนี้ ก็เป็นเช่นที่คาดหมายกันเอาไว้ สหรัฐฯได้ออกมาเรียกร้องให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับความไม่ปกติในการเลือกตั้ง ทว่า โสพัล เอียร์ (Sophal Ear) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Aid Dependence in Cambodia: How Foreign Assistance Undermines Democracy” (การพึ่งพาความช่วยเหลือในกัมพูชา: ความช่วยเหลือของต่างประเทศกำลังบ่อนทำลายประชาธิปไตยอย่างไร) ให้ความเห็นว่า จากการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ต่อสาธารณชน ล้วนบ่งบอกให้เห็นว่า วอชิงตัน “แทบไม่มีความตั้งใจ” ที่จะทำการแทรกแซงโดยตรงใดๆ ขณะที่พวกประเทศเฉกเช่น จีน, บังกลาเทศ, และฮังการี ต่างออกมาประกาศแล้วว่า การเลือกตั้งคราวนี้ “เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม” ด้วยซ้ำไป

“ผมทราบดีว่ามันไมใช่การแข่งขันกันเพื่อดูว่าใครได้รับความนิยมชมชื่นมากกว่ากันหรอก” เอียร์ กล่าว “ แต่ถ้าหากประชาคมระหว่างประเทศไม่ร่วมมือกันให้มากขึ้นแล้ว พรรครัฐบาลก็จะไม่มีความหวั่นไหวกลัวเกรงอะไรเลย”

เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น