เอเอฟพี - ทารกที่เกิดจากมารดาอ้วนมีโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในช่วงวัยผู้ใหญ่มากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 35 ผลวิจัยที่เผยแพร่วันนี้ (14) ระบุ
นักวิจัยในสกอตแลนด์ได้ข้อสรุปจากการติดตามชีวิตประชากรจำนวน 37,709 คนที่เกิดจากมารดา 28,540 คน ในช่วงระหว่างปี 1950 และปี 1976 กลุ่มทดลองเหล่านี้มีอายุระหว่าง 34-61 ปีขณะทำการศึกษา และนักวิจัยยังได้รวมรวบข้อมูลเด็ก 6,551 คนที่เสียชีวิตไปก่อนงานวิจัยจะเริ่มด้วย
มารดาร้อยละ 21 เป็นผู้ที่มีน้ำหนักที่เกิน ซึ่งหมายถึงมีค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย หรืออัตราส่วนสูงเทียบกับน้ำหนัก 25 ต่อ 29.9 ขณะที่มารดาร้อยละ 4 เป็นโรคอ้วน และมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ที่ 30 หรือมากกว่าในช่วงที่คลอดบุตร
“ทารกที่เกิดจากมารดาอ้วนและน้ำหนักเกิน มีโอกาสร้อยละ 35 และร้อยละ 11 ตามลำดับที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี เมื่อเทียบกับทารกที่เกิดจากมารดาน้ำหนักปกติ” รีเบกกา เรย์โนลด์ส ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอ้วนจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เผย
ทีมวิจัยยังพบว่า เด็กที่เกิดจากมารดาอ้วนมีความเสี่ยงร้อยละ 42 ที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจในช่วงวัยผู้ใหญ่
“ผลวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า สภาวะภายในมดลูกมีผลกระทบระยะยาวต่อความเสี่ยงที่ทำให้บุตรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”
ขณะที่วิจัยอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า สภาวะในมดลูกมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของบุตร และอาจส่งผลต่อความอยากอาหารและการเผาผลาญด้วย
อย่างไรก็ดี ปัจจัยอื่นๆ ในช่วงหลังคลอด เช่น การรับประทานอาหาร, การออกกำลังกาย หรือพันธุกรรมที่มีแนวโน้มทำให้เกิดโรคอ้วน ก็อาจเป็นสาเหตุให้บุตรมีปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน
“การปรับน้ำหนักของมารดาช่วงตั้งครรภ์ให้เหมาะสมนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน” ทีมวิจัยเผย โดยให้เหตุผลว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงตั้งครรภ์ในอังกฤษอยู่ในสภาวะอ้วน
“เราจำเป็นต้องให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตที่ดีแก่เด็กๆที่เกิดจากมารดาอ้วน และเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ เช่น ความดันเลือด น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และการสูบบุหรี่” เรโนลด์ส กล่าวเพิ่มเติม
รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรผู้ใหญ่ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปมีน้ำหนักเกินมาตรฐานถึง 1,400 ล้านคนในปี 2008 หรือเกือบ 2 เท่าจากสถิติในปี 1980
ประชากรผู้ใหญ่กว่า 1 ใน 3 ของมีน้ำหนักมากเกินในปี 2008 และร้อยละ 11 เป็นโรคอ้วน ทุกปีจะมีคนวัยผู้ใหญ่อย่างน้อย 2,800,000 คนเสียชีวิตจากโรคที่มาสาเหตุจากความอ้วน
เรโนลด์สชี้ว่า “เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะมารดาที่อยู่ในงานวิจัยของเราเป็นโรคอ้วนเพียง 4% ซึ่งน้อยกว่าระดับปัจจุบันมาก”
“หากความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนของมารดากับผลกระทบต่อสุขภาพบุตรในวัยผู้ใหญ่เป็นจริง ในขณะที่จำนวนมารดาอ้วนเพิ่มขึ้นทุกวัน ย่อมหมายความว่า บุตรที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรและมีปัญหาทางโรคหัวใจก็จะเพิ่มขึ้นด้วย”
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความอ้วนของมารดาและแนวโน้มที่บุตรจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั้น ควรต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียดต่อไป
“เป็นไปได้ว่า ผลวิจัยพบความสัมพันธ์เช่นนี้ เนื่องจากทารกที่เกิดจากมารดาอ้วนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนตาม จึงเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากขึ้นด้วย” ซูซาน โอแซน จากมูลนิธิโรคหัวใจอังกฤษระบุ