“ไม่ผ่า ยังไงๆอั๊วก็ไม่ผ่า ขนาดผ่าไส้ติ่งอั๊วยังเจ็บแทบตาย”
“ไม่ผ่าไม่หายนะเฮีย เดี๋ยวเป็นมาก เฮียต้องเดินขาลาก ตีกอล์ฟไม่ไหวนะเฮีย”
“โอ๊ย มีวิธีอื่นที่ไม่ต้องผ่าไหมวะ!”
“มีเฮีย….ไม่ผ่าก็ต้องเจาะ!!”
“ไอ้หยา!”
ในบางกรณี อาการที่เกิดจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทขานี่ แพทย์อาจจะพิจารณารักษา โดยการเจาะที่เรียกว่า Nucleoplasty ซึ่งเป็นนวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ ทำในกรณีที่เหมาะสม แต่ก่อนอื่นมารู้จักโรคนี้กันก่อน เริ่มจาก…
หมอนรองกระดูกสันหลังคืออะไร? กระดูกสันหลังของเรานั้นประกอบด้วย กระดูกจำนวน 24 ข้อ โดยจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังขั้นอยู่ระหว่างข้อต่อกระดูกนั้น เพื่อทำหนน้าที่รองรับแรงกระแทก และให้ความยืดหยุ่นเวลาเคลื่อนไหว ทั้งก้ม-เงย หมุนซ้าย-ขวา
ลักษณะรูปร่างของหมอนรองกระดูกสันหลัง จะเป็นวงกลมๆ โดยมีขอบเป็นพังผืดเหนียว แข็งแรง ประกอบด้วยเส้นใยประสานกัน เหมือนกับเส้นใยเหล็กหรือผ้าใบ ส่วนภายในตรงกลางจะมีของเหลวคล้ายกับเจลลี่ ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ถ่ายรับและกระจายน้ำหนักที่กดลงจากด้านบน และเมื่อหมอนนั้นรับน้ำหนักมากเกินไป จะเกิดการฉีกขาดของพังผืดเส้นใยขอบนอก ทำให้สารเหลวคล้ายเจลลี่นั้นเคลื่อนตัวออกมาภายนอก ไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง จึงปวดร้าวไปตามแนวฃองเส้นประสาทนั้น ที่พบมากคือ ปวดร้าวจากหลังลงไปตามขา ไปถึงน่องหรือหลังเท้าข้างใดข้างหนึ่ง
เมื่อเกิดอาการปวดหลังและขา จากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท จะมีวิธีการรักษาดังนี้
•รักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ การให้คำแนะนำ พัก งดการนั่งนานๆ ห้ามยกของหนัก ห้ามก้มๆเงยๆ ใช้ยา กายภาพบำบัด และใส่อุปกรณ์พยุงหลัง
•การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์
•การรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่ โดยไม่ต้องผ่าตัด (Nucleoplasty)
การรักษาโดยวิธี Nucleoplasty (Coblation) โดยการใช้คลื่น RF (Radio Frequency) ซึ่งเป็นคลื่นที่มีความร้อนประมาณ 40-70°c ไปสลายส่วนฃองหมอนรองกระดูกสันหลัง ที่เคลื่อนมากดทับเส้นประสาท โดยไม่มีการทำลายหรือทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งหัวเข็มที่ปล่อยคลื่น RFจะมีขนาดเล็กเท่าเข็มฉีดยาเบอร์ 17 สอดผ่านผิวหนังเข้าไปในหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ Fluoroscope ช่วยนำทาง เพื่อความแม่นยำ
ข้อดีของการรักษาโดยวิธี Nucleoplasty คือ
•ใช้เวลาแค่ 20-30 นาที ในการรักษาด้วยวิธีนี้
•ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
•ไม่มีแผลผ่าตัด
•หลังจากการรักษาแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถอุ้มถุงกอล์ฟได้
•ผลดีในการรักษามากกว่า 80%
“อย่างนี้อั๊วยอมให้หมอเจาะก็ไดั…ว่าแต่ไม่เจ็บแน่นะโว๊ย!” เฮียแกยอมเพราะคงกลัวไม่ได้เล่นกอล์ฟอีกแน่เลย!