หลอดอาหารมีความยาวประมาณ 10 นิ้ว ลักษณะคล้ายท่อกลวง ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบที่เชื่อมระหว่างลำคอและกระเพาะอาหาร เมื่อคนกลืนอาหาร ผนังของหลอดอาหารจะหดตัวดันอาหารลงสู่กระเพาะ มะเร็งหลอดอาหารเกิดขึ้นเมื่อเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด
มะเร็งหลอดอาหารเริ่มจากเยื่อบุชั้นในและโตออกสู่ผนังด้านนอก ถ้ามะเร็งกระจายผ่านผนังหลอดอาหาร สามารถเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอก และอวัยวะใกล้เคียง มะเร็งหลอดอาหารยังสามารถกระจายสู่ปอด ตับ กระเพาะอาหาร และส่วนอื่นๆของร่างกาย
มะเร็งหลอดอาหารมี 2 ชนิด คือ สแควมัส เซลล์ คาร์สิโนมา (squamous cell carcinoma) และ อดีโนคาร์สิโนมา (Adenocarcinoma)
Squamous cell carcinoma เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังหลอดอาหาร มักเกิดที่ส่วนต้นและส่วนกลางของหลอดอาหาร ส่วน Adenocarcinoma เกิดจากต่อมในส่วนปลายของหลอดอาหาร
• อาการของมะเร็งหลอดอาหาร
มะเร็งหลอดอาหารสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าค้นพบในระยะเริ่มต้น แต่เนื่องจากมะเร็งหลอดอาหารในระยะเริ่มต้นไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการ ดังนั้น โรคจึงมักถูกตรวจพบในระยะลุกลามแล้ว อาการที่พบบ่อยมีดังนี้
• กลืนอาหารลำบาก โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารแข็ง เช่น เนื้อสัตว์ ขนมปัง หรือผัก เมื่อก้อนมะเร็งโตไปอุดตันทางเดินอาหารมากแล้ว จะมีอาการกลืนไม่ลง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือของเหลวอื่นๆก็ตาม
• รู้สึกปวดตื้อๆ หรือแสบร้อนในช่องอก
• รู้สึกท้องอืด อาหารไม่ย่อย
• คลื่นไส้ อาเจียน
• สำลักอาหาร
• น้ำหนักตัวลดลง
• ไอหรือเสียงแหบ
• ปวดที่กระดูกซี่โครงส่วนบนหรือในลำคอ
การรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร
การรักษามะเร็งหลอดอาหารทั้ง 2 ชนิดคล้ายคลึงกัน ดังนี้
1. การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งหลอดอาหารที่ใช้บ่อยที่สุด แพทย์อาจจะผ่าตัดหลอดอาหารออก และต่อกระเพาะอาหารเข้ากับหลอดอาหารส่วนดีที่เหลืออยู่ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยยังสามารถกลืนอาหารได้ แพทย์อาจจะตัดต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดอาหารออกด้วย
ในกรณีที่ไม่สามารถตัดมะเร็งหลอดอาหารออกได้ตั้งแต่แรก การใช้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนการผ่าตัด เพื่อให้ก้อนเนื้อร้ายมีขนาดเล็กลง ก็อาจเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้เลย การใช้เคมีบำบัดและฉายแสงจะเป็นวิธีเดียวที่สามารถใช้ได้
แพทย์อาจจะทำดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยผู้ป่วยให้สามารถกินอาหารได้มากขึ้น และลดอาการจากการอุดตันของก้อนมะเร็ง
• สร้างทางเดินอาหารสู่กระเพาะอาหารใหม่ (Bypass) ถ้ามะเร็งอุดตันหลอดอาหาร และไม่สามารถผ่าตัดออกไปได้
• ใส่สายยางเข้าไปในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก ผ่านทางหน้าท้อง เพื่อใช้ในการให้อาหารเหลวแก่ผู้ป่วย
• ขยายหลอดอาหารที่ตีบ วิธีนี้อาจจะต้องทำหลายครั้ง เพราะก้อนเนื้อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
• ใส่ท่อหรือวัสดุถ่างขยายหลอดอาหารที่ตีบอยู่ เพื่อให้อาหารผ่านลงไปได้
• ใช้แสงเลเซอร์ทำลายก้อนเนื้อร้าย เพื่อลดอาการตีบตันของหลอดอาหาร
• ผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการกลืน อาจต้องได้สารอาหารทางเส้นเลือดหลายวัน ก่อนและหลังผ่าตัด ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อ ผู้ป่วยต้องเรียนรู้วิธีการไอ และการหายใจ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะปอดแฟบหลังการผ่าตัด
2. การฉายแสง
การฉายแสงเป็นการใช้เอกซเรย์ หรืออนุมูลที่มีพลังงานสูงฆ่าเซลล์มะเร็ง การฉายแสงอาจมาจากเครื่องที่อยู่นอกร่างกาย หรือจากท่อกัมมันตรังสีที่ฝังอยู่ในร่างกายใกล้ตำแหน่งของมะเร็ง
ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสง อาจมีอาการอ่อนเพลีย บริเวณที่ได้รับการฉายแสงอาจเป็นผื่นแดงและแห้ง การฉายแสงบริเวณหน้าอกและคออาจทำให้เจ็บคอ คอแห้ง และไอได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจลำบากระหว่างการฉายแสงได้
3. เคมีบำบัด
เคมีบำบัดเป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ยาอาจให้ทางปากหรือฉีดเข้าเส้นเลือด ยาเคมีบำบัดจะเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปทั่วร่างกายเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
ยาเคมีบำบัดมักจะใช้หลังการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีโอกาสของการกลับมาเป็นโรคซ้ำสูง ยาเคมีบำบัดยังเป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารในระยะลุกลามด้วย
ยาเคมีบำบัดทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ จึงทำให้เกิดอาการข้างเคียง ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของยาที่ใช้ ผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อโรคง่ายขึ้น อ่อนเพลีย ผมร่วง เจ็บปากและคอ และคลื่นไส้อาเจียน
อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงเหล่านี้ สามารถบรรเทาได้ด้วยยา และจะหายไปเมื่อหยุดการรักษา
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งหลอดอาหาร
สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งหลอดอาหาร ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ ดังนี้
1. อายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-70 ปี มีความเสี่ยงสูงสุด
2. เพศ เพศชายมีความน่าจะเป็นโรคมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า
3. บุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคมากขึ้น
4. เหล้า ผู้ที่ดื่มเหล้ามากมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous Cell Carcinoma เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย
5. Barrett’s esophagus เป็นภาวะที่เกิดในผู้ที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดอาหาร โดยเกิดจากกรดในกระเพาะอาหารย้อนขึ้นมาทำลายเซลล์บุผนังหลอดอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งชนิด Adenocarcinoma ได้
6. อาหาร การกินอาหารที่มีผัก ผลไม้ และแร่ธาตุต่ำ ทำให้สามารถเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคได้
7. โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินพิกัด และไขมันในร่างกายสูง มีโอกาสเป็นโรคได้มากขึ้น
(ข้อมูลจากส่วนหนึ่งของเอกสารคู่มือประชาชน
ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์)