xs
xsm
sm
md
lg

“พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดมะกัน” ประท้วงใหญ่ขอ “ขึ้นค่าแรง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ในวันจันทร์(29) พนักงานร้านฟาสต์ฟูดชื่อดังในสหรัฐฯทั้ง แม็คโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง และเวนดี้ ต่างออกเดินประท้วงในมหานครนิวยอร์ก พร้อมกับอีก 7 เมืองใหญ่ที่รวมถึง ชิคาโก และดีทรอยต์ เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ ต่อชั่วโมง จากระดับค่าตอบแทนในปัจจุบันที่น้อยนิดเพียงชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์ ของพนักงานแม็คโดนัลด์

ในวันจันทร์(29) ที่ผ่านมา พนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดได้เริ่มออกเดินขบวนในนิวยอร์ก และอีก 7 เมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องขอค่าแรงขั้นต่ำที่อย่างน้อย 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง โดยผู้ประท้วงส่วนใหญ่ที่ทำงานในธุรกิจร้านอาหารจานด่วนมีค่าแรงไม่ถึง 11 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับที่นักเศรษฐศาสตร์เมืองลุงแซมระบุว่าเป็นระดับค่าตอบแทนที่อยู่ในระดับความยากจน โดยผู้เข้าร่วมการประท้วงต่างกล่าวว่า ไม่มีอะไรที่ต้องจะเสียอีกแล้วที่จะออกมาประท้วงในครั้งนี้

“การอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไรไม่ใช่เป็นทางเลือกที่ฉลาด เพราะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยค่าแรงเพียงแค่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง" คารีม สตาร์กส์ พนักงานแม็คโดนัลด์ ประจำสาขาในบรู๊คลิน มหานครนิวยอร์กกล่าว

ผู้จัดการประท้วงกล่าวว่าจำนวนพนักงานฟาสต์ฟู้ดที่เข้าร่วมการประท้วงที่ถนนฟูลตันสตรีท ในย่านดาวน์ทาวน์ของบรู๊คลินในครั้งนี้มีประมาณ 500 คน

ในขณะที่เดวอนเต เยทส์ พนักงานแม็คโดนัลด์ ประจำสาขาที่เมืองมิลวอกี กล่าวว่า เขาได้ค่าแรง 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และทำงานในกะสั้นๆ ราว 90 นาที จาก 9-20 ชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ ทั้งๆที่เขาต้องการที่มีชั่วโมงการทำงานที่มากกว่านั้น อีกทั้งต้องใช้เวลานานในการเดินทางเพื่อมาทำงานที่ต้องเสียค่ารถโดยสาร 4.50 ดอลลาร์

แต่ทว่าบรรดาบริษัทอาหารจานด่วนในอเมริกาต่างประกาศผ่านหน้าเต็มของหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ว่า หากทางบริษัทเพิ่มค่าแรงขึ้นตามการเรียกร้องในครั้งนี้ มันจะทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจไม่สามารถจ้างงานเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากในสหรัฐฯในสภาวะที่การหางานยังเป็นเรื่องที่ลำบากยิ่ง

ในการประท้วงของพนักงานฟาสต์ฟู้ดในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาสหภาพแรงงานอื่นๆ ตลอดจน ชุมชน และกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนา โดยการประท้วงได้จัดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งในชิคาโก, แคนซัส ซิตี, เซนต์หลุยส์, ดีทรอยต์, มิลวอกี,และฟลินต์ ในรัฐมิชิแกน พร้อมกันกับที่นิวยอร์ก

จากรายงานพบว่า ครอบครัวอเมริกันนับล้านต่างพากันดิ้นรนเพื่อที่จะอยู่รอดในค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯกำหนดที่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง หรือ อาจจะได้รับต่ำกว่านั้น ซึ่งเมื่อเที่ยบกับอัตราเงินเฟ้อแล้วปรากฏว่า ต่ำกว่า 22 % ในปี 1968 (9.27 ดอลลาร์) และ ต่ำกว่า 7% ในปี 2009 (7.78 ดอลลาร์) อ้างจากสถาบันนโยบายทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่าสมาชิกสภาคองเกรสระดับรัฐและระดับประเทศและรวมถึงผู้บริหารบริษัทต่างต้องการให้ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อช่วยให้ชาวอเมริกันที่ยังต้องดำรงชีพด้วยค่าแรงเพียงน้อยนิด โดยโอบามาต้องการให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 9 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

โดยล่าสุดมีผลสำรวจในสหรัฐฯ พบว่า 4 ใน 5 ของชาวอเมริกันต้องดิ้นรนในสภาวะที่ไม่มีงานทำ มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้าใกล้มาตรฐานความยากจนทุกขณะ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งสวัสดิการของรัฐ เช่น แสตมป์แลกอาหาร และจากการสำรวจพบว่ามีประชากรชาวอเมริกันราว 46.2 ล้านคน หรือ 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีชีวิตอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานความยากจนที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ระบุไว้

ในอดีตที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ได้ออกมาคัดค้านการปรับเพดานค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงของพนักงานในร้านอาหารเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดในการทำธุรกิจและอาจทำให้สูญเสียโอกาสทางการตลาดไปเมื่อต้องปรับราคาอาหารเพิ่มขึ้น

และเมื่อไม่นานมานี้บริษัทฟาสต์ฟู้ดหลายแห่งได้ปรับให้พนักงานในร้านที่เป็นพนักงานประจำให้เป็นพนักงานชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องจ่ายสวัสดิการเพิ่มเติม โดยเฉพาะสวัสดิการประกันสุขภาพหรือ "โอบามาแคร์" เป็นผลให้พนักงานในร้านฟาสต์ฟู้ดต้องกลายเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ที่อยู่ด้วยค่าแรงขั้นต่ำโดยที่ไม่มีสวัสดิการอันใดทั้งสิ้น ในชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง

นอกจากนี้ หลายบริษัทยังได้มีการทดลองนำระบบการสั่งอาหารและการจ่ายอาหารอัตโนมัติมาใช้ เพื่อหาทางประหยัดต้นทุนในค่าจ้างพนักงานอีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น