เอเจนซีส์ - ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำในอเมริกาเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ที่ผ่านมาประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ต้องการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจาก 8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็น 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และพนักงานในร้านอาหารฟาสต์ฟูดเชนส์ต่างออกมาเดินขบวนเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ต่อเดือน ทำให้แมคโดนัลด์ คอร์ป อเมริกา มีคำตอบให้กับเรื่องนี้ ทางบริษัทได้โดยจับมือร่วมกับวีซ่า อิงก์ ออกคำแนะนำ พนักงานของบริษัทให้อยู่ได้ด้วยค่าจ้าง 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ผ่านเว็บไซต์และแผ่นพับ
เป็นเพราะค่าครองชีพในอเมริกานั้นสูงและมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การมีความจำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพ และบิลค่าไฟที่สูงลิ่วเนื่องจากสภาวะอากาศที่หนาว ตลอดจนต้องจ่ายค่าน้ำมันที่ต้องเติมเกือบทุกสัปดาห์ เพราะการขนส่งสาธารณะในเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกาแตกต่างจากเมืองในประเทศอื่นๆ เป็นผลทำให้แรงงานที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูด เช่น แมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิงส์ หรือร้านค้าขนาดยักษ์ เช่น วอลล์มาร์ต โฮมดีโป ต่างเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวัน
เป็นเพราะมีแรงกดดันทั้งฝ่ายลูกจ้างอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาทางรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เรียกร้องให้มีการเพิ่มเพดานเงินรายชั่วโมงขั้นต่ำ เป็นผลให้บริษัทที่ทำกำไรกว่าพันล้านดอลลาร์อย่างแมคโดนัลด์ คอร์ป ต้องจับมือกับสถาบันการเงิน วีซ่า อิงก์ ออกแผ่นพับและเว็บไซต์เพื่อให้คำแนะนำพนักงานในร้านในการจัดการรายจ่ายของตนเองเพื่อให้อยู่ได้ด้วยค่าแรงขั้นต่ำที่แมคโดนัลด์กำหนดไว้ โดยบริษัทเรียกแคมเปญนี้ว่า “Budget Journal”
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ต่างพากันวิจารณ์อย่างกว้างขวางในวิธีคิดและตัวอย่างการออมที่แมคโดนัลด์ และวีซ่าออมา เช่น พนักงานแมคโดนัลด์ที่มีรายได้ในงานหลัก (ร้านแมคโดนัลด์) อยู่ที่ 1,105 ดอลลาร์ต่อเดือน ต้องสามารถเมีเงินออมได้อย่างน้อย 100 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยเงินรายได้จะต้องไม่ถูกนำมาจ่ายบิลค่าไฟแต่อย่างใด (หมายความว่าเขาสามารถทนความหนาวได้ด้วยชั้นไขมันสะสมที่ได้จากการกินแฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์) หรือการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพด้วยเงินแค่ 20 ดอลลาร์ (ในขณะที่เบี้ยขั้นต่ำประกันสุขภาพของพนักงานแมคโดนัลด์อยู่ที่ 56 ดอลลาร์โดยประมาณ) ยังไม่รวมถึงแมคโดนัลด์เสนอให้พนักงานของตนเองรับทำงานที่อื่นเป็นงานที่ 2 เพื่อหารายได้เพิ่ม (เพราะแน่นอนว่าเงินที่ได้จากการทำงานในร้านอาหารแมคโดนัลด์ไม่พอกับรายจ่ายในแต่ละเดือน) ซึ่งเมื่อสรุปจากแผนการจัดการรายจ่ายส่วนตัวที่แมคโดนัลด์เสนอมานั้น ทำให้เข้าใจได้ว่าพนักงานแมคโดนัลด์ต้องมีรายได้ขั้นต่ำที่ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงเพื่อที่จะทำให้อยู่ได้
จากสถิติพบว่ามีคนจำนวนไม่มากนักที่สามารถอยู่ได้ด้วยค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐฯ ในปัจจุบันนี้ อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแรงงานแห่งชาติ หรือ BLS พบว่า 24% ของแรงงานขั้นต่ำในสหรัฐฯ จำนวนทั้งสิ้น 3.6 ล้าน คน ใน ปี 2012 อยู่ในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งหมายความว่าพวกเขาหรือเธอยังไม่ต้องรับภาระจ่ายทุกอย่างด้วยตนเอง
กลุ่มเรียกร้องสิทธิของผู้ถูกว่าจ้างในสหรัฐฯ “Low Pay Is Not Ok” ให้ความเห็นว่า เงินค่าจ้างขั้นต่ำ 7.25 ดอลลาร์ที่แมคโดนัลด์ให้นั้น มัน “รับไม่ได้” โดยสิ้นเชิง และยังท้าให้แมคโดนัลด์นั้นแจกแจงค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามความเป็นจริง โดยให้แม็คโดนัลประกาศหาที่พักที่สามารถเช่าได้ในราคา 600 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ที่พักอย่างเช่น อพาร์ตเมนต์ซอมซ่อในแมนฮัตตันมีค่าเช่าอย่างต่ำ 2,000 ดอลลาร์ต่อเดือน
นอกจากนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นที่มีค่าแรงขั้นต่ำ เช่น พนักงานดูแลเด็ก ที่มีรายได้โดยเลี่ยอยู่ที่ 19,099 ดอลลาร์ต่อปี และแคชเชียร์อยู่ที่ 20,101 ดอลลาร์ต่อปี พนักงานในร้านฟาสต์ฟูดมีรายได้โดยเฉลี่ยเพียง 18,564 ดอลลาร์ต่อปี
ในขณะที่ทางแมคโดนัลด์ออกมาโต้ว่าการออกแผ่นพับและเว็บไซต์นั้นว่า “เป็นแค่หนึ่งในทางเลือกที่ทางบริษัทฯ ต้องการสร้างความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน” เท่านั้น