เอเจนซี/เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ลงแรงใช้ความพยายามเมื่อวันจันทร์ (1 ก.ค.) ในการรับรองสร้างความมั่นใจให้แก่บรรดาชาติพันธมิตรทางยุโรป ซึ่งกำลังโกรธเกรี้ยวจากรายงานข่าวที่ว่าถูกสหรัฐฯ แอบสอดแนมล้วงความลับ แต่เขาก็ระบุด้วยว่าพวกหน่วยข่าวกรองต่างๆ ในโลกล้วนแล้วแต่กำลังพยายามเจาะค้นสืบเสาะให้ทราบความคิดของชาติอื่นๆ ทั้งพวกที่เป็นปรปักษ์กันและพวกที่เป็นมิตรกัน อย่างไรก็ตาม ทางด้านประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ออกมาเตือนในวันเดียวกันว่า พฤติการณ์ของวอชิงตันกำลังเป็นภัยคุกคามการเจรจาหารือเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับสหรัฐฯ
สหภาพยุโรป (อียู) ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ เร่งรีบอธิบาย ภายหลัง แดร์ สปีเกลนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อดังของเยอรมนี รายงานว่าวอชิงตันกำลังแอบสอดแนมล้วงความลับของอียู โดยที่มีการดักฟังโทรศัพท์และลักลอบเข้าสู่ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในหน่วยงานต่างๆ ของอียู ทั้งที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน, สหประชาชาติ และกระทั่งที่กรุงบรัสเซลส์ ทั้งนี้ บรรดาผู้นำอียูต่างระบุว่าหากข่าวนี้เป็นความจริงแล้วพฤติการณ์ของสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องน่าตกใจมาก
สเตฟเฟน ไซแบร์ก โฆษกรัฐบาลเยอรมนี แถลงว่า เยอรมนีได้แจ้งต่อทำเนียบขาวว่า มี “ความตระหนกตกใจ” และ “มีความไม่ชอบใจเป็นอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับพฤติการณ์ที่สื่อกล่าวหาว่าสหรัฐฯกระทำ
“ยุโรปและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนกัน เป็นเพื่อนมิตรกัน เป็นสหายกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกันต้องเป็นพื้นฐานของความร่วมมือกันในระหว่างเรา และความไว้เนื้อเชื่อใจกันต้องได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาในเรื่องเช่นนี้” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว และย้ำว่า “นี่ไม่ใช่ยุคสงครามเย็นอีกต่อไปแล้ว”
สำหรับประธานาธิบดีออลลองด์ของฝรั่งเศสบอกว่า พฤติการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และกล่าวว่ามันอาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับฝรั่งเศสตลอดจนกระทั่งอียูโดยรวม
“เราเรียกร้องให้เรื่องนี้ต้องยุติลงในทันที” ออลลองด์กล่าว “การเจรจาหรือการทำธุรกรรมใดๆ ในทุกๆ แวดวงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้เลย จนกว่าเราจะได้รับการค้ำประกันเช่นนี้ (ว่าสหรัฐฯ จะหยุดการแอบสอดแนมล้วงความลับ) ทั้งนี้ไม่เพียงเฉพาะสำหรับฝรั่งเศส หากแต่ยังสำหรับสหภาพยุโรปโดยรวมด้วย”
คำพูดของเขาสอดรับกับการแถลงของ วิเวียน เรดดิง กรรมาธิการฝ่ายการยุติธรรมของยุโรป ซึ่งเตือนว่าการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอียูกับสหรัฐฯ อาจจะตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากอียูไม่สามารถที่จะเจรจาต่อรองด้วยได้ “ถ้าหากเกิดมีข้อสงสัยข้องใจใดๆ ขึ้นมาว่า พวกหุ้นส่วนของเรากำลังแอบติดตั้งเครื่องดักฟังในสำนักงานของคณะผู้เจรจาของฝ่ายยุโรป”
ทั้งนี้ การเจรจารอบแรกในเรื่องข้อตกลงนี้ กำหนดนัดหมายกันว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 8 เดือนนี้ที่กรุงวอชิงตัน
สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาทางสื่อมวลชนเช่นนี้ สำนักงานของโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นฝ่ายบริหารของอียู ได้แถลงในวันจันทร์ว่า บาร์โรโซสั่งการให้ทำการตรวจสอบและเคลียร์สำนักงานต่างๆ ทุกอย่างของอียูในทั่วโลก ให้ปลอดพ้นจากการถูกแอบดักฟังถูกสอดแนมล้วงข้อมูล
ทางด้านโอบามา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเยือนแทนซาเนีย ได้กล่าวให้คำมั่นว่าจะส่งมอบข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับข้อกล่าวหาการแอบสอดแนมสืบความลับนี้ ไปให้แก่เหล่าพันธมิตรในยุโรป ตามที่ฝ่ายอียูเรียกร้องต้องการ โดยที่เขาระบุว่าวอชิงตันเองก็กำลังตรวจสอบประเมินข้อกล่าวหาเหล่านี้อยู่ว่าเป็นความจริงหรือไม่เพียงใด
แต่โอบามาก็ร่ายยาวว่า “หน่วยข่าวกรองทุกๆ แห่ง ไม่เพียงแต่เฉพาะของเราเท่านั้น แต่หน่วยข่าวกรองทุกๆ แห่งของยุโรป หน่วยข่าวกรองทุกๆ แห่งของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยข่าวกรองที่ไหนก็ตามที นี่คือสิ่งหนึ่งที่พวกเขากำลังพยายามจะทำ นั่นคือ พวกเขากำลังพยายามที่จะทำความเข้าใจโลกให้ดีขึ้นกว่านี้ และกำลังพยายามที่จะทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองหลวงต่างๆ ทั่วโลกให้ดีขึ้นกว่านี้ โดยที่อาศัยแหล่งที่มาต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้ผ่านทางหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ หรือข่าวโทรทัศน์เอ็นบีซีนิวส์”
“ถ้าหากไม่มีความพยายามที่จะทำเรื่องเช่นนี้แล้ว หน่วยข่าวกรองก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย และผมสามารถรับประกันกับพวกคุณได้ว่า ในเมืองหลวงต่างๆ ของยุโรปนั้น ก็มีคนที่รู้สึกสนอกสนใจเรื่องอย่างเช่น ถ้าหากไม่ใช่เรื่องที่ว่าผมรับประทานอะไรบ้างเป็นอาหารเช้า อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นเรื่องที่ว่าผมเตรียมประเด็นพูดคุยอะไรเอาไว้บ้างถ้าหากในที่สุดแล้วผมเกิดพบปะหารือกับพวกผู้นำของพวกเขา นี่แหละคือวิธีที่พวกหน่วยข่าวกรองทำงานกัน”
ก่อนหน้านี้ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ออกมาพูดในทำนองเดียวกันนี้ ระหว่างที่เขาเข้าร่วมการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมอาเซียน ที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ในวันจันทร์ โดยเขาบอกว่า สหรัฐฯไม่ใช่ประเทศเดียวเท่านั้นที่กำลังใช้ “กิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก” เพื่อพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง
การเปิดโปงกิจกรรมและโปรแกรมแอบสอดแนมของอเมริกา โดยฝีมือของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างบริษัทรับเหมาทำงานด้านการปฏิบัติการให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของสหรัฐฯ กำลังสร้างความขุ่นเคืองขึ้นทั้งในสหรัฐฯและในต่างแดน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ กับการเคารพสิทธิส่วนบุคคล
ในรายงานข่าวของแดร์ สปีเกล เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งบอกว่าเขียนขึ้นโดยได้รับข้อมูลลับจากสโนว์เดนเป็นบางส่วนด้วยนั้น ระบุว่า เอ็นเอสเอได้แอบติดตั้งเครื่องดักฟังในสำนักงานต่างๆ ของอียู ตลอดจนสามารถแอบเจาะเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในของอียู
ต่อมาในวันอาทิตย์ นิตยสารเยอรมันฉบับนี้รายงานเพิ่มเติมว่า ในเดือนปกติหนึ่งๆ หน่วยงานด้านข่าวกรองสำคัญของสหรัฐฯ แห่งนี้ แอบสอดแนมการติดต่อทางโทรศัพท์, การรับส่งอีเมล, และการรับส่งข้อความ ในเยอรมนี รวมแล้วประมาณ 500ล้านครั้ง มากกว่าที่กระทำกับชาติพันธมิตรยุโรปรายอื่นๆ และใกล้เคียงกับปริมาณการแอบสอดแนมที่เอ็นเอสเอกระทำในจีนหรือในอิรัก
ขณะที่หนังสือพิมพ์การ์เดียน ของอังกฤษ เสนอข่าวในวันอาทิตย์ว่า สถานเอกอัครราชทูตของฝรั่งเศส, กรีซ และอิตาลี ในสหรัฐฯ ต่างตกเป็น “เป้าหมาย” ในการปฏิบัติการสอดแนมของเอ็นเอสเอ โดยที่ “เป้าหมาย” ดังกล่าวนี้ซึ่งมี 38 ชาติ ยังมีดังเช่น ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, เกาหลีใต้, อินเดีย, และตุรกี เป็นต้น
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นั้น เมื่อเดินทางถึงบรูไนในวันจันทร์ ก็ได้พบปะกับ แคเธอรีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู ซึ่งก็เข้าร่วมการประชุมของอาเซียนเช่นเดียวกัน โดยที่เคร์รีแถลงในเวลาต่อมาว่า แอชตันได้หยิบยกประเด็นเรื่องสหรัฐฯถูกกล่าวหาแอบสอดแนมอียูนี้ ขึ้นมาสอบถามเขา ซึ่งเขาตอบไปว่าสหรัฐฯจะแจ้งข้อมูลให้ทราบหลังการตรวจสอบแล้ว แต่ตัวเขาอยู่ระหว่างเดินทางเยือนต่างแดน จึงยังไม่อาจตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด
เคร์รียังกล่าวในการแถลงข่าวที่บรูไนว่า “ผมจะต้องพูดว่าทุกๆ ประเทศในโลกซึ่งกำลังเกี่ยวข้องมีปฏิสัมพันธ์ในกิจการระหว่างประเทศ และในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ ต่างก็มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ จำนวนมากมายเพื่อพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของตน และก็มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารทุกๆ ประเภทซึ่งมีคุณประโยชน์สำหรับเรื่องนี้ ทั้งหมดที่ผมทราบก็คือ มั่นไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรเลยสำหรับประเทศจำนวนมาก”