xs
xsm
sm
md
lg

CIMB ชี้เออีซียังเกิดยาก จี้รัฐเพิ่มบทบาท คาดเลื่อนบังคับใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ซีไอเอ็มบี” ประเมิน AEC เกิดยาก ความคืบหน้าในทางปฏิบัติยังน้อย ประเทศสมาชิกไม่ตื่นตัวเข้าร่วม เหตุวัตถุประสงค์-กฎหมายไม่จูงใจ แนะภาครัฐของแต่ละประเทศควรมีบทบาทมากขึ้น

สถาบันวิจัยอาเซียน ซีไอเอ็มบี (CARI)ได้เผยแพร่รายงาน อุปสรรคสำคัญต่อการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งนำเสนอโดย ดร.เยิร์น ดอช (Jern Dosch) นักวิจัยอาวุโสของ CARI และศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University)

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า AEC มีโครงสร้างทางการเมือง กฎหมาย องค์กร และองค์ความรู้ที่ดี ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางการบูรณาการเศรษฐกิจระดับภูมิภาค แต่ในการปฏิบัติจริงนั้น ยังล่าช้ากว่าวัตถุประสงค์ และกำหนดเวลาที่วางไว้อย่างมาก

สำหรับด้านการค้าเสรีนั้น ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา การค้าภายในอาเซียนเพิ่มขึ้นเพียง 4.4% ของตัวเลขการค้าทั้งหมดของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งอเมริกา (American Mathematics Society - AMS) แต่ชะงักไปราว 25% ในช่วงปี 2546-2554 และการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรียังมีน้อย อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 2552 ถึง 2555 อาเซียนมีความคืบหน้าบ้างในการทำให้ระบบศุลกากรสอดคล้องกัน ขณะที่ “วัตถุประสงค์หลัก” ของนโยบาย และกฎหมายการแข่งขันไม่น่าจะทำให้เกิดกรอบกฎเกณฑ์ระดับภูมิภาคได้

นอกจากนี้ ภาครัฐประเทศสมาชิกอาเซียนควรเข้ามามีบทบาทในกระบวนการบูรณาการมากขึ้น และอาจต้องปรับเปลี่ยนกำหนดการบังคับใช้ AEC ที่เดิมคาดว่าจะเริ่มในปี 2558

“การบูรณาการทางเศรษฐกิจไม่อาจทำได้หากข้อตกลงไม่มีผลผูกมัด หากประเทศสมาชิกสามารถเลือกที่จะไม่เข้าร่วมในเวลาใดก็ได้ หรือไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ตกลงกันไว้ การบูรณาการก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ในระดับรัฐของประเทศสมาชิกขาดความสามารถในการตัดสินใจและช่องว่างในการปฏิบัติ ประเทศสมาชิกต่างหากที่เป็นอุปสรรคในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจ ไม่ใช่ตัวประชาคม” ดร.ดอชกล่าว

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าวว่า อาเซียนต้องเอาจริงเอาจังได้แล้ว ธุรกิจทั่วอาเซียนกำลังรอให้เกิด AEC อยู่ รายงานเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลของเรา แต่เพื่อตรวจสอบอย่างเป็นระบบว่าอะไรคือสิ่งที่ยังขาดไป และเพื่อหาช่องว่างที่สามารถปิดลงได้ ความสามารถในการสร้างรายได้ของอาเซียนนั้นไม่ใช่ปัญหาเลย แต่มันถึงเวลาที่เราจะต้องก้าวข้ามคำว่าวิถีแห่งอาเซียนไปได้แล้ว คำนี้ควรอยู่ในวัฒนธรรมของเราเท่านั้น แต่การร่วมมือร่วมใจบูรณาการควรทำโดยมีข้อตกลงผูกมัด
กำลังโหลดความคิดเห็น