ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างกระแสวิจารณ์ไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อสำนักงานความมั่นคงสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ถูกเปิดโปงว่าใช้อำนาจศาลสอดแนมข้อมูลการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของประชาชนนับล้านคน ข่าวที่รั่วไหลออกมานำไปสู่ข้อถกเถียงว่ารัฐบาลของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งเสรีภาพ” มีสิทธิ์อันชอบธรรมเพียงใดที่จะละลาบละล้วงข้อมูลการสื่อสารของพลเมืองเช่นนี้
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่กับบริษัทผู้รับเหมาปฏิบัติงานให้กับเอ็นเอสเอ ออกมาเปิดเผยตัวตนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน ว่าเป็นผู้เผยข้อมูลต่อหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนและวอชิงตันโพสต์ เกี่ยวกับโปรแกรมลับของรัฐบาลอเมริกันที่มุ่งสอดแนมข้อมูลการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง
ข้อมูลที่ สโนว์เดน นำมาเผยต่อสื่อประกอบด้วยคำสั่งลับจากศาลที่ให้อำนาจเอ็นเอสเอสั่งการบริษัท เวอไรซอน คอมมิวนิเคชันส์ อิงค์ ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของอเมริกา เปิดเผยข้อมูลการใช้โทรศัพท์ลูกค้าในช่วงเวลา 3 เดือน โดยจะตรวจสอบเฉพาะข้อมูล “เมตะดาตา” ซึ่งก็คือเวลา, สถานที่ และประเทศปลายทาง แต่ไม่รวมถึงเนื้อหาของการสนทนา
สโนว์เดน วัย 29 ปี ยังเอ่ยถึงโครงการลับที่ใช้ชื่อรหัสว่า “ปริซึม” (PRISM) ซึ่งเป็นการรวมรวมข้อมูลอีเมล, บทสนทนาออนไลน์ และการสื่อสารในรูปแบบอื่นๆจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ รวมถึง กูเกิล, เฟซบุ๊ก, ไมโครซอฟต์, ยาฮู, อเมริกันออนไลน์ และแอปเปิล
ข้อมูลที่สาธารณชนได้ทราบนั้นขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่วอชิงตันอ้างว่า ปฏิบัติการสอดแนมทุกครั้งจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่ใช่การล้วงข้อมูลพลเมืองอเมริกันอย่างกว้างขวางเช่นนี้
สโนว์เดน ให้เหตุผลว่า เขาไม่อาจทนเห็นหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ย่ำยีความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้คนทั่วโลก โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมาย Patriot Act ที่อนุญาตให้เอ็นเอสเอตรวจสอบแหล่งข้อมูลดิจิทัลเพื่อป้องกันแผนโจมตีต่างๆ หลังเกิดเหตุวินาศกรรมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001
เขาระบุด้วยว่า รู้สึกหมดศรัทธากับประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่สานต่อนโยบายสอดแนมของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช และทราบดีว่าอนาคตของตนหลังจากนี้คงจะมืดมนอย่างแน่นอน
โอบามา และผู้นำสภาคองเกรสต่างยืนยันว่า “ปริซึม” จำเป็นต่อการคุ้มครองชีวิตพลเมืองสหรัฐฯ และไม่ได้ขัดต่อกฎหมายอเมริกัน ขณะที่ เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการเอ็นเอสเอก็ได้ออกมาชี้แจงทุกคำถาม และระบุว่าการกระทำของ สโนว์เดน เป็นเรื่อง "น่าเศร้าใจ” ที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อศักยภาพด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ ทั้งยังยืนยันด้วยว่า “ปริซึม” ช่วยให้สหรัฐฯ สามารถสกัดแผนการโจมตีของผู้ก่อการร้ายได้ถึง 2 ครั้งในปี 2009
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำหลายแห่งชี้ว่า “ปริซึม” ไม่ได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างร้ายแรงเหมือนที่เดอะการ์เดียนและวอชิงตันโพสต์นำไปรายงาน และเอ็นเอสเอก็ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านเซอร์เวอร์ของบริษัทไอทีได้ตามชอบใจ แต่จะต้องร้องขอเพื่อเข้าถึงอีเมล, การสนทนาออนไลน์, ภาพ, ไฟล์, วิดีโอ, หรือสื่ออื่นๆที่อัปโหลดโดยผู้ใช้ในต่างประเทศ และเอ็นเอสเอจะต้องมีบุคคลเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การเปิดโปงครั้งนี้ก็สร้างความกตะลึงไม่น้อยแก่บรรดานักต่อสู้เพื่อเสรีภาพพลเมือง รวมไปถึง ส.ส.บางคนที่เคยสนับสนุน Patriot Act และกฎหมายอีกฉบับที่อนุญาตให้บริษัทโทรคมนาคมดักฟังการสื่อสารของประชาชนได้โดยปราศจากความผิด หากเป็นคำสั่งจากรัฐบาล
“นี่เป็นกฎหมายก็จริง แต่การตีความกฎหมายลักษณะนี้ทำให้ผมไม่สบายใจนัก... สำหรับผมมันคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเป็นการล่วงละเมิดโดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน” มาร์ก อูแดล วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต กล่าว
สโนว์เดน ซึ่งเดินทางไปยังเกาะฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ออกมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ว่า ตนพร้อมต่อสู้กับความพยายามใดๆของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะนำตัวกลับไปอเมริกาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ทั้งยังขอให้ “ศาลและประชาชนชาวฮ่องกงเป็นผู้ตัดสินชะตากรรม”
ฮ่องกงนั้นมีข้อตกลงกับสหรัฐฯในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตั้งแต่ที่ยังเป็นดินแดนในความปกครองของอังกฤษ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ฮ่องกงกลายมาเป็นเขตบริหารพิเศษของจีนแล้ว ปักกิ่งก็มีอำนาจที่จะขัดขวางการดำเนินการดังกล่าวได้ หากเชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อนโยบายการป้องกันประเทศ หรือนโยบายการต่างประเทศของจีนเอง
ด้านโฆษกประจำตัวประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็แบะท่าแล้วว่า มอสโกอาจพิจารณาให้ที่ลี้ภัยแก่ สโนว์เดน ขณะที่ จูเลียน แอสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” ก็ออกมายกย่องชายหนุ่มซึ่งมีอุดมการณ์และชะตากรรมไม่ต่างจากเขา และยอมรับว่าเคยติดต่อโดยตรงกับ สโนว์เดน ด้วย
สำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างประเมินความเสียหายจากการเปิดเผยข้อมูลลับครั้งนี้ รวมทั้งได้ส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการแล้ว ขณะที่กระทรวงยุติธรรมก็ยืนยันว่ากระบวนการสอบสวนกำลังเริ่มขึ้น
การกระทำของ สโนว์เดน ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษในสายตาผู้รักความโปร่งใสและผู้สนับสนุนลัทธิเสรีนิยมทั่วโลกในชั่วพริบตา โดยล่าสุดมีบุคคลซึ่งใช้นามแฝงว่า P.M. จากเมืองโรเชสเตอร์ มลรัฐนิวยอร์ก ยื่นคำร้องขออภัยโทษแก่ สโนว์เดน ผ่านทางเว็บไซต์ทำเนียบขาว พร้อมให้เหตุผลว่า “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ถือเป็นวีรบุรุษของชาติที่สมควรได้รับการอภัยโทษอย่างสมบูรณ์จากอาชญากรรมใดๆที่เขาได้กระทำ หรืออาจจะกระทำ เกี่ยวกับการเผยปฏิบัติการลับของเอ็นเอสเอ ” คำร้องนี้มีชาวอเมริกันเข้าชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 35,000 ราย ซึ่งหากมีผู้ลงชื่อสนับสนุนถึง 100,000 คนภายในวันที่ 9 กรกฎาคม ทำเนียบขาวก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับพิจารณา ก่อนส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญ และมีถ้อยแถลงตอบกลับอย่างเป็นทางการ ตามโครงการ “We the People” ของประธานาธิบดี โอบามา ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันสามารถสื่อสารกับรัฐบาลได้โดยตรง
สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (เอซีแอลยู) ยังได้ออกมาฟ้องร้องเอาผิดกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) โดยระบุว่า การติดตามข้อมูลโทรศัพท์ของประชาชนอย่างกว้างขวางถือว่าเกินเลยขอบเขตที่กฎหมาย Patriot Act อนุญาต และขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย
แน่นอนเหลือเกินว่า โปรแกรม “ปริซึม” คืออาวุธอันทรงประสิทธิภาพที่ช่วยให้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารได้อย่างกว้างขว้างที่สุด เพราะโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้แทบจะเรียกได้ว่า “ผูกขาด” โดยบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน แม้กระทั่งการสื่อสารระหว่างประเทศรูปแบบอื่นๆก็มักต้องผ่าน “ตัวกลาง” ในสหรัฐฯ ความจริงข้อนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกชาติหันมาให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนบริษัทไอทีในประเทศ เพื่อลดทอนอิทธิพลของอเมริกาลงบ้าง