เอเจนซีส์ - อดีตลูกจ้างซีไอเอที่ปัจจุบันทำงานอยู่กับบริษัทรับเหมาปฏิบัติงานให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ออกมาเปิดเผยตัวตนเมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) ว่า เขาเป็นคนเผยแพร่ข้อมูลความลับเกี่ยวกับ “ปริซึม” โปรแกรมปกปิดของรัฐบาลอเมริกันที่มุ่งสอดแนมผู้ใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจำนวนมากมายกว้างขวาง โดยเขาให้เหตุผลว่าต้องการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้คนทั่วโลก
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน วัย 29 ปี ผู้ซึ่งทำงานให้เอ็นเอสเอในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยอมเปิดเผยตัวตนอย่างสมัครใจในคลิปที่โพสต์บนเว็บไซต์ “เดอะการ์เดียน” ของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่เผยแพร่ข้อมูลรั่วไหลเกี่ยวกับโปรแกรมลับของสหรัฐฯ
สโนว์เดนบอกว่า เขาคิดอยู่นานก่อนที่จะเปิดเผยตัวตนและเรื่องราวสู่สาธารณชน เพราะเห็นว่าไม่สามารถปล่อยให้รัฐบาลสหรัฐฯ ย่ำยีความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในอินเทอร์เน็ต และเสรีภาพพื้นฐานของผู้คนทั่วโลก ด้วยระบบสอดแนมที่ถูกสร้างขึ้นอย่างลับๆ โดยใช้ชื่อว่า “ปริซึม” (PRISM)
อีกไม่นานต่อมา วอชิงตันโพสต์ของอเมริกา ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับที่สองที่ได้รายงานเกี่ยวกับโปรแกรมสอดแนมนี้ ก็เข้าร่วมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสโนว์เดน โดยผู้สื่อข่าวที่ได้เคยติดต่อกับเขาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ สิ่งที่วอชิงตันโพสต์รายงานนั้น รวมไปถึงการที่สโนว์เดนตระหนักและประเมินอนาคตของตนเองว่าจะต้องอยู่ในความมืดมนแน่นอนหลังจากมีการเผยแพร่ข้อมูลลับออกไป
“ผมเข้าใจดีว่าผมจะต้องได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง และการส่งข่าวสารข้อมูลนี้กลับคืนให้แก่สาธารณชนคือหลักหมายแห่งจุดจบสิ้นของผม” สโนว์เดนเขียนไว้เช่นนี้ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนที่แล้ว พร้อมกับเตือนผู้สื่อข่าววอชิงตันโพสต์ว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายเช่นเดียวกับตัวเขา
สโนว์เดนสำทับว่า ที่ตัดสินใจเผยแพร่ข้อมูลลับเนื่องจากหมดศรัทธากับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่สานต่อนโยบายสอดแนมของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
สโนว์เดน อดีตผู้ช่วยด้านเทคนิคของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้ทำงานให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติในฐานะลูกจ้างของบริษัทภายนอกที่มารับเหมาทำสัญญาปฏิบัติงานกับเอ็นเอสเอ รวมแล้วหลายบริษัททีเดียว เป็นต้นว่า เดลล์ อิงค์ และบูซ อัลเลน แฮมิลตัน สำนักงานที่ปรึกษาด้านการบริหารและเทคโนโลยีชื่อดังของอเมริกา
ทางด้าน บูซ อัลเลน แฮมิลตัน ได้ออกคำแถลงยืนยันว่า สโนว์เดนเข้าทำงานกับบริษัทยังไม่ถึง 3 เดือนดี พร้อมกับลั่นปากว่าจะให้ความร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ ในการสอบสวนข้อกล่าวอ้างอัน “น่าตกตะลึง” ของสโนว์เดน
ตัวสโนว์เดนนั้นบินไปยังฮ่องกงตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เดือนที่แล้ว หลังจากคัดลอกเอกสารชุดสุดท้ายที่เขาตั้งใจเปิดเผยจากสำนักงานของเอ็นเอสเอในฮาวาย โดยที่เดอะการ์เดียนสำทับว่า เขากบดานอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งของฮ่องกงนับแต่นั้น ทว่าล่าสุดไม่มีใครยืนยันได้ว่าสโนว์เดนอยู่ที่ใด
สำนักกงสุลสหรัฐฯ ในฮ่องกง รวมทั้งสำนักงานความมั่นคงของฮ่องกงต่างปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับสถานกงสุลไอซ์แลนด์ที่มีรายงานว่าสโนว์เดนต้องการขอลี้ภัย ขณะที่สมาชิกสภาอาวุโสของฮ่องกงที่สนับสนุนปักกิ่งคนหนึ่งบอกว่า สโนว์เดนควรที่จะออกจากฮ่องกงไป
ฮ่องกงนั้นทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตั้งแต่ที่ยังเป็นดินแดนในความปกครองของอังกฤษ อย่างไรก็ตาม หลังจากฮ่องกงกลายเป็นเขตบริหารพิเศษของจีนแล้ว ปักกิ่งมีอำนาจที่จะขัดขวางการดำเนินการดังกล่าวได้ หากเชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อนโยบายการป้องกันประเทศหรือนโยบายการต่างประเทศ
ในคำแถลงเมื่อวันอาทิตย์ (9) ซึ่งออกมาภายหลังจากที่สโนว์เดนเปิดเผยตัวตน สำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า กำลังประเมินความเสียหายจากการเปิดเผยข้อมูลของสโนว์เดน รวมทั้งได้ส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมอเมริกันดำเนินการแล้ว ขณะที่กระทรวงยุติธรรมยืนยันว่าเริ่มต้นการสอบสวนแล้ว ทว่าไม่ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน จากการที่เดอะการ์เดียน และวอชิงตันโพสต์เผยแพร่ข้อมูลเรื่องโปรแกรม “ปริซึม” ที่รั่วไหลออกมาคราวนี้ กำลังทำให้บรรยากาศในกรุงวอชิงตันร้อนระอุ โดยที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ แสดงความโกรธเกรี้ยว ส่วนโอบามาและผู้นำหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ พากันร้อนรนออกมาปกป้องโปรแกรมสอดแนมว่า มีความสำคัญจำเป็นในการปกป้องความปลอดภัยของอเมริกันชน
เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ ยืนยันเมื่อวันเสาร์ (8) ว่า เอ็นเอสเอใช้โปรแกรมปริซึมรวบรวมข้อมูลร่องรอยในการใช้อินเทอร์เน็ตนอกสหรัฐฯ ของพลเมืองต่างชาติที่ตกเป็นเป้าหมาย ขณะที่เดอะการ์เดียนรายงานว่า ยังมีโปรแกรมลับอีกโปรแกรมหนึ่ง ซึ่งใช้เพื่อรวบรวมบันทึกการใช้โทรศัพท์ของชาวอเมริกันเรือนล้านๆ
ในการให้สัมภาษณ์เอ็นบีซีนิวส์ที่ออกอากาศวันอาทิตย์ แคลปเปอร์กล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลลับครั้งนี้ว่า “น่าเศร้าใจ” และสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อศักยภาพด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ พร้อมยืนยันว่า ปริซึมช่วยให้สามารถสกัดแผนการโจมตีของผู้ก่อการร้ายได้ถึง 2 ครั้งในปี 2009
ทั้งนี้ ข่าวคราวเกี่ยวกับโปรแกรมสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐฯ นี้เผยแพร่ออกมาครั้งแรกในวันพุธ (5) ที่แล้ว เมื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่าเอ็นเอสเอกำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ของลูกค้าในสหรัฐฯ จำนวนนับล้านๆ รายของบริษัทเวอริซอน ภายหลังที่ได้รับอนุญาตตามคำสั่งลับของศาล
จากนั้นในวันต่อมา เดอะการ์เดียน และวอชิงตันโพสต์รายงานว่า เอ็นเอสเอ กับเอฟบีไอ (สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ) กำลังติดต่อเอาข้อมูลจากพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างเช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก และยาฮู เพื่อติดตามร่องรอยการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้คน ตามแผนการที่เรียกกันว่า “ปริซึม”
ถัดจากนั้น พวกบริษัทให้บริการต่ออินเทอร์เน็ตได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ปล่อยให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้ตามใจชอบ โดยพวกเขาทำตามสิ่งที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
ขณะที่เอ็นเอสเอต้องออกมาอธิบายว่า ในโปรแกรมปริซึมซึ่งใช้งานมานาน 6 ปีแล้วนั้น เอ็นเอสเอสามารถออกคำสั่งถึงพวกบริษัทอินเทอร์เน็ตต่างๆ เพื่อขอเข้าถึงบรรดาอีเมล, การแชตทางออนไลน์, ภาพ, ไฟล์, วิดีโอ และอื่นๆ ซึ่งอัปโหลดโดยผู้ใช้ที่เป็นต่างชาติได้ ทว่ารัฐบาลจะต้องได้รับการอนุญาตลับจากศาลให้ทำเช่นนั้นต่อเป้าหมายที่เป็นตัวบุคคลหรือหน่วยงานอันชัดเจนเสียก่อน
สำหรับโอบามานั้นได้ออกมาปกป้องระบบนี้ โดยกล่าวว่า อเมริกาต้องเลือกในการรักษาสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวกับการปกป้องประเทศจากการก่อการร้าย