xs
xsm
sm
md
lg

โลกก้าวย่างสู่ยุคภาวะช็อกด้านทรัพยากร (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ไมเคิล ที แคลร์

World enters a resource-shock era
By Michael T Klare
26/04/2013

ท่านอาจยังไม่กล้าฟันธง แต่ตามการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และประชาคมข่าวกรองของสหรัฐอเมริกานั้น โลกได้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าท่านจะทราบหรือไม่ ท่านได้อยู่บนดาวเคราะห์โลกดวงใหม่ อันเป็นดาวเคราะห์ที่สะท้านด้วยภาวะช็อกทางด้านทรัพยากรอย่างแสนสาหัสชนิดที่มนุษยชาติไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนแรก *

ท่านอาจยังไม่กล้าฟันธง แต่ตามการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และประชาคมข่าวกรองของสหรัฐอเมริกานั้น โลกได้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าท่านจะทราบหรือไม่ ท่านได้อยู่บนดาวเคราะห์โลกดวงใหม่ อันเป็นดาวเคราะห์ที่สะท้านด้วยภาวะช็อกทางด้านทรัพยากรอย่างแสนสาหัสชนิดที่มนุษยชาติไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน

สภาพการณ์ดังกล่าวคือฝันร้ายสองเรื่องซ้อน ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรหมวดสำคัญๆ ที่อุบัติกระจายไปทั่วโลก และในอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายสุดๆ โดยที่ฝันร้ายฝาแฝดนี้เริ่มผนึกกำลังกัน และในหลายๆ ทศวรรษข้างหน้านี้ ก็มีแนวโน้มว่าจะนำมาสารพัดวิบัติการณ์ ไล่เรียงได้ตั้งแต่จลาจล การก่อกบฏ การแข่งขัน และความขัดแย้งอันร้ายแรงทั้งปวง

โฉมหน้าของปวงหายนะที่จะถาโถมเล่นงานมนุษย์ประหนึ่งคลื่นสึนามิอันโหดร้าย จะปรากฏรูปการณ์มาเป็นอย่างไรบ้างนั้น ยังยากจะเห็นกันได้อย่างชัดเจน กระนั้นก็ตาม พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าให้เตรียมใจที่จะต้องประสบกับเรื่องร้ายกาจอย่าง “สงครามแย่งชิงน้ำ” ด้วยเครื่องมือจำพวกระบบจัดการกับแหล่งน้ำอย่างเขื่อนกักเก็บน้ำตามแม่น้ำสายต่างๆ หรือเรื่องของจลาจลแย่งชิงอาหารที่ระบาดไปทั่วโลก ผ่านการจุดชนวนโดยสถานการณ์ราคาพุ่งทะยาน เรื่องของการย้ายถิ่นโดยผู้ลี้ภัยที่ต้องอพยพโยกย้ายหนีภัยสภาพอากาศอันแสนสาหัส (ซึ่งก็ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากกระแสต่อต้านคลื่นผู้ลี้ภัยในพื้นที่ซึ่งพวกเขาโยกย้ายเข้าไป) เรื่องของระบบสังคมล่มสลาย หรือกระทั่งการล่มสลายของรัฐชาติ ในช่วงต้นๆ ความปั่นป่วนประทุษร้ายกันเหล่านี้อาจจำกัดวงอยู่เฉพาะในแอฟริกา เอเชียกลาง และภูมิภาคต่างๆ ของโลกซีกใต้ซึ่งด้อยพัฒนาจัดๆ แต่ไม่ช้าไม่นาน ทุกหย่อมหญ้าของโลกใบนี้ ล้วนแต่ต้องถูกกระทบกันไปหมด

ในอันที่จะกระจ่างแจ้งถึงอานุภาพร้ายแรงของหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามานี้ เราจำเป็นที่จะตรวจสอบพลังที่กำลังผสานตัวจนสามารถออกฤทธิ์เดชเป็นมหันตภัยทั้งปวงได้

**การขาดแคลนทรัพยากรและการแย่งชิงทรัพยากร**

ขอเริ่มจากแนวโน้มความขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตสำคัญ ตั้งแต่ พลังงาน น้ำ ที่ดิน อาหาร และแร่ธาตุสำคัญ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สามารถนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคม การกระทบกระทั่งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไปจนถึงการก่อสงคราม

เราต้องย้ำกันไว้เลยว่าวิกฤตปะทุขึ้นได้โดยที่สถานการณ์ยังไม่ย่ำแย่ถึงกับว่าเดือดร้อนจะเป็นจะตายไปทุกหย่อมหญ้า เพียงแค่เกิดความขาดแคลนในระดับที่ตลาดไม่มีสินค้าตอบสนองตลาดผู้บริโภคที่ขยายตัวตามการเติบโตของเมืองอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอ นั่นก็สามารถจุดชนวนความวุ่นวายได้อย่างฉกาจฉกรรจ์แล้ว หรือถ้าเกิดการสูญพันธุ์หรือการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารอย่างเช่น พันธุ์พืช พันธุ์ปลา และพืชพรรณธัญญาหารต่างๆ ตามที่นักวิทยาศาสตร์ทำนายไว้ สถานการณ์การขาดแคลนทรัพยากรหล่อเลี้ยงมนุษยชาติก็เข้าขั้นวิกฤตร้ายแรงได้แน่นอนภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้

ในเวลาเดียวกัน ในโมงยามที่อารยธรรมโลกสมัยใหม่ได้ลามไปถึงทุกชุมชนมนุษย์ทุกหย่อมหญ้า เครื่องหล่อเลี้ยงชีพยุคใหม่ อาทิ น้ำมัน ยูเรเนียม ทองแดง ฯลฯ นับวันแต่จะจัดหามาใช้สอยได้ยากขึ้น หรือมีสนนราคาพุ่งแพงขึ้นอย่างมหาศาล วี่แววแนวโน้มของความขาดแคลนก็ออกอาการว่าจะกลายเป็นอาการว่าทรัพยากรมีอยู่ แต่ระบายผ่านอุปสรรคออกมาได้ทีละน้อย ไม่ทันต่อความต้องการใช้สอย ซึ่งก็คือการขาดแคลนซัปพลายเป็นครั้งคราว แต่ในคราวหนึ่งๆ ก็จะหมายถึงวิกฤตอันโกลาหลอย่างที่สุด

น้ำมัน – สินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดรายการหนึ่งภายในระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน นับเป็นตัวอย่างที่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง แม้ปริมาณอุปสงค์น้ำมันโลกสามารถขยายตัวได้อีกมากในหลายๆ ทศวรรษข้างหน้า แต่นักวิเคราะห์ยังกริ่งเกรงว่านั่นจะเพียงพอจะตอบสนองการเติบโตของชนชั้นกลางแห่งสังคมโลกได้หวาดไหวละหรือ ในเมื่อความต้องการใช้รถยนต์ย่อมจะพุ่งทะยานเคียงข้างไปกับการขยายตัวของขนาดแห่งชนชั้นกลางอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งหมายถึงจำนวนการใช้รถที่จะทวีตัวขึ้นอีกหลายล้านๆ คันในอนาคตอันใกล้นี้

ในรายงานแนวโน้มพลังงานโลก ปี 2011 (2011 World Energy Outlook) ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency - IEA) มีการทำประมาณการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันโลกจะกระฉูดไปถึงระดับ 104 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2035 รายงานระบุโอกาสที่จะหาผลิตภัณฑ์มาตอบสนองดีมานด์เหล่านี้ว่า ส่วนใหญ่จะต้องเอามาจากแหล่งน้ำมัน “นอกระบบปกติ” เช่น ทรายน้ำมัน (tar sands) ในแคนาดา, หินน้ำมัน (shale oil) ฯลฯ นอกจากนั้น จะต้องจัดหาน้ำมันจากแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ซึ่ง “ยังจะต้องเสาะหาให้พบ” และ “ยังจะต้องพัฒนาขึ้นมาใช้” อีกเป็นปริมาณ 55 ล้านบาร์เรลต่อวัน

แต่นักวิเคราะห์พากันเหน็บแนม ติเตียนอื้ออึงต่อประมาณการณ์ของ IEA นี้ โดยเห็นว่าเป็นการมองโลกแง่ดีจนเวอร์ พวกเขาชี้ว่าต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูง (เพราะพลังงานจะหายากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และต้นทุนการขุดเจาะนำขึ้นมาใช้ก็จะแพงยิ่งๆ ขึ้นไป) ปัญหาการต่อต้านคัดค้านจากฝายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม อุปสรรคจากเหตุการณ์สงคราม การฉ้อราษฎร์บังหลวง ไปจนถึงปัญหาอุปสรรคอื่นๆ อีกนานัปการ ล้วนแต่จะทำให้ยากเข็ญเกินกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มอุปทานน้ำมันได้สูงเสียดฟ้าดั่งตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้ศักยภาพการผลิตน้ำมันสามารถไปได้เกินกว่าระดับ 87 ล้านบาร์เรลต่อวันอันเป็นสถิติของปี 2010 กระนั้น เป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ถึง 104 ล้านบาร์เรลต่อวันจะเป็นอะไรที่ไม่มีวันบรรลุได้สำเร็จ และนั่นหมายถึงว่าผู้บริโภครายใหญ่ของโลกจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนพลังงาน

น้ำ ก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติอีกหนึ่งตัวอย่างที่ต้องตระหนักถึงแนวโน้มปัญหาการขาดแคลน ในแต่ละปี ธรรมชาติให้น้ำที่บริโภคได้เป็นปริมาณประมาณ 40,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร แต่ส่วนหนึ่งซึ่งสูงมากเป็นน้ำที่อยู่ในกรีนแลนด์ แอนตาร์คติกไซบีเรีย และพื้นที่ตอนในของลุ่มแม่น้ำอเมซอน ซึ่งมีดินแดนที่แทบจะไม่มีผู้คนไปใช้น้ำเหล่านั้น ดังนั้น ปริมาณน้ำในย่านที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นจึงมีความจำกัดอย่างเหลือเชื่อ

ในหลายหลากภูมิภาคที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงจัดๆ อุปทานด้านน้ำปรากฏอยู่ในระดับที่หร็อมแหร็มกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแอฟริกาเหนือ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง อันเป็นพื้นที่ซึ่งอุปสงค์ด้านน้ำขยายตัวต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในด้านขนาดของประชากร อัตราขยายตัวของเมือง อีกทั้งการผุดตัวขึ้นมากในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ด้วยเหตุนี้ สภาพการณ์ที่น้ำขาดแคลนจึงขยายตัวต่อเนื่อง

ไมเคิล แคลร์ เป็นอาจารย์ทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (peace and world security studies) อยู่ที่ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) เป็นผู้เขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง The Race for What's Left ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือปกอ่อนโดยสำนักพิมพ์ Picador นอกจากนั้นภาพยนตร์สารคดีที่สร้างขึ้นโดยอิงอาศัยหนังสือเรื่อง Blood and Oil ของเขา สามารถที่จะชมตัวอย่างและสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ www.bloodandoilmovie.com. สามารถติดตามเขาบนเฟซบุ๊กได้ที่ https://www.facebook.com/pages/Michael-Klare/316344375093469

(ข้อเขียนนี้เอเชียไทมส์ออนไลน์นำมาเผยแพร่โดยได้รับอนุญาตจาก TomDispatch)

(ติดตามอ่านต่อตอน 2 และตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น