xs
xsm
sm
md
lg

โลกก้าวย่างสู่ยุคภาวะช็อกด้านทรัพยากร (ตอนสอง)

เผยแพร่:   โดย: ไมเคิล ที แคลร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

World enters a resource-shock era
By Michael T Klare
26/04/2013

ท่านอาจยังไม่กล้าฟันธง แต่ตามการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และประชาคมข่าวกรองของสหรัฐอเมริกานั้น โลกได้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าท่านจะทราบหรือไม่ ท่านได้อยู่บนดาวเคราะห์โลกดวงใหม่ อันเป็นดาวเคราะห์ที่สะท้านด้วยภาวะช็อกทางด้านทรัพยากรอย่างแสนสาหัสชนิดที่มนุษยชาติไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนที่ 2 *

(ต่อจากตอนแรก)

ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ภาพที่ปรากฏต่อความรับรู้ก็ล้วนแต่ละม้ายคล้ายคลึงกัน คือ อุปทานของทรัพยากรไม่เคยจะสามารถก้าวหน้าได้ทันกับอุปสงค์ ความรับรู้ของผู้คนจึงมากมายไปด้วยความวิตกกังวล ความขุ่นเคือง ความรู้สึกเป็นศัตรู และการพิพาทบาดหมาง ทั้งนี้ อันที่จริงแล้ว นี่เป็นรูปการที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ตัวอย่างเช่น ในหนังสือเรื่อง Constant Battles (ศึกสงครามอันไม่เปลี่ยนแปลง) ของสตีเวน เลอ บลังก์ (Steven LeBlanc) ผู้อำนวยการฝ่ายเก็บรวบรวม ของพิพิธภัณฑ์พีบอดี้ว่าด้วยโบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยา (Peabody Museum of Archaeology and Ethnology) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนไว้ว่าอารยธรรมโบราณจำนวนมากมายเคยประสบศึกสงครามรุนแรงนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนทรัพยากร อันเป็นผลจากการเติบโตของประชากร ความล้มเหลวด้านการเกษตร หรือทุพภิกขภัยยืดเยื้อ

งานเขียนระดับยอดนิยมเรื่อง Collapse (การล่มสลาย) เขียนโดย จาเรด ไดมอนด์ (Jared Diamond) ก็ได้ทำการตรวจสอบหาแบบแผนร่วม ที่ปรากฏในกรณีของอารยธรรมชาวมายา (Mayan civilization) กับวัฒนธรรมอนาสซาซี (Anasazi culture) แห่ง หุบเขาลึก“ชาโก้” (Chaco Canyon) ในมลรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา

สำหรับตัวอย่างที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ มีดังเช่น การที่มีความวิตกกังวลว่าอาหารอาจมีไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูประชากรในบ้านเกิดของตนเองนั่นแหละคือปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้ารุกรานแมนจูเรียในปี 1931 และก็ทำให้เยอรมนีรุกรานโปแลนด์ในปี 1939 และสหภาพโซเวียตในปี 1941 ทั้งนี้ตามคำอธิบายที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง “The Taste of War” (รสชาติแห่งสงคราม) เขียนโดย ลิซซี่ คอลลิงแฮม (Lizzie Collingham)

นับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้อุปทานในสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานแทบทุกอย่างของโลก ได้เติบโตเพิ่มพูนขึ้นอย่างมากมายมหาศาลก็ตามที แต่พวกนักวิเคราะห์ก็ยังมองเห็นว่า ยังคงเกิดความขัดแย้งถึงขั้นสู้รบกันโดยที่เกี่ยวพันกับเรื่องทรัพยากร ตามอาณาบริเวณซึ่งวัสดุอันจำเป็นต่างๆ ยังคงขาดแคลนหายาก หรือตามพื้นที่ซึ่งเกิดความวิตกกังวลจากความไม่อาจไว้วางใจได้ว่าอุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานอาจจะขาดแคลนขึ้นมาในอนาคตหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากทีเดียวเชื่อว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นในดินแดนดาร์ฟูร์ (Darfur) ทางภาคตะวันตกของประเทศซูดาน ตลอดจนในบริเวณอื่นๆ ซึ่งเกิดสงครามขึ้นอยู่เรื่อยๆ ของภูมิภาคแอฟริกาเหนือนั้น มีแรงขับดันอย่างน้อยที่สุดก็บางส่วน มาจากการแก่งแย่งช่วงชิงกันระหว่างชนเผ่าต่างๆ ในทะเลทรายเพื่อการเข้าถึงแหล่งน้ำซึ่งเป็นสิ่งหายากในพื้นที่ โดยที่ในบางกรณีการแข่งขันกันเช่นนี้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อระดับของประชากรทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

รายงานว่าด้วยบทบาทของทรัพยากรธรรมชาติในความขัดแย้งถึงขั้นสู้รบกัน อันเป็นรายงานเมื่อปี 2003 ผลิตโดยโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (the United Nations Environment Programme) ระบุว่า “ภายในดินแดนดาร์ฟูร์ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้จบสิ้น และแรงกดดันด้านประชากรที่ทวีตัวไม่หยุดยั้ง เป็นส่วนหนึ่งในพลังที่ขับดันให้ดินแดนนี้ตกเข้าสู่สภาวะความรุนแรงและสภาพการณ์ที่ไร้กฎหมายหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนกว่า 300,000 ราย อีกทั้งการที่คนมากกว่า 2 ล้านชีวิตต้องพลัดถิ่นนับจากเมื่อปี 2003”

ในทำนองเดียวกัน ความกังวลใจถึงอุปทานที่จะถูกผลิตขึ้นมาในอนาคต ก็เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จุดชนวนให้ความขัดแย้งเปรี้ยงปร้างขึ้นเมื่อมีการแตะไปถึงประเด็นการเข้าถึงทรัพยากรน้ำมัน หรือการควบคุมแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล ตัวอย่างได้แก่ ในปี 1979 เมื่อการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านสามารถโค่นล้มพระเจ้าชาห์ กับเมื่อสหภาพโซเวียตบุกเข้าในอัฟกานิสถาน วอชิงตันเริ่มกลัวว่าไม่เร็วก็ช้า ตนอาจถูกปิดทางเข้าสู่แหล่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เชีย ณ จุดนั้นเอง ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ออกมาประกาศสิ่งที่เรียกกันว่า หลักการคาร์เตอร์ (Carter Doctrine)

คาร์เตอร์ประกาศย้ำไว้ในระหว่างกล่าวปราศรัยแถลงแสดงผลงานและนโยบายประจำปี (State of the Union) เมื่อปี 1980 ว่าการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่ขัดขวางการลำเลียงน้ำมันออกจากภูมิภาคริมอ่าวเปอร์เชีย จะถูกถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อ “ผลประโยชน์ซึ่งสำคัญยิ่งยวด” ของสหรัฐอเมริกา และจะถูกตอบโต้โดย “ทุกวิธีที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังทหาร”

หลักการดังกล่าวได้ถูกนำขึ้นมาใช้กล่าวอ้างโดยประธานาธิบดีจอร์จ บุชในปี 1990 เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การแทรกแซงของสหรัฐฯและพันธมิตรในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่หนึ่ง แล้วพอถึงยุคของประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ก็มีการอ้างความชอบธรรมด้วยประเด็นนี้อีกครั้งเมื่อปี 2003 ในคราวการรุกรานและยึดครองอิรัก ปัจจุบันนี้ มันยังคงเป็นหลักพื้นฐานสำหรับการที่สหรัฐฯ วางกำลังไว้สกัดกั้นไม่ให้อิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ อันเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางน้ำที่เชื่อมโยงอ่าวเปอร์เซียไปยังมหาสมุทรอินเดีย โดยมีน้ำมันซึ่งค้าขายกันด้วยการขนส่งทะเลกว่า 35% ของโลก ที่ต้องลำเลียงผ่านฮอร์มุซเพื่อส่งไปขายตามประเทศต่างๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ ความขัดแย้งอันเนื่องจากการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างจีนกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ผุดๆๆ ขึ้นมาชุดใหญ่ เฉียดๆ จะถึงจุดเดือดกันเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องราวจาการที่จีนพยายามเข้าควบคุมแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันเชื่อกันว่ามีอยู่มากมายมหาศาลใต้ทะเลจีนใต้ แม้การปะทะกันทางนาวีที่บังเกิดขึ้นมา ยังมิได้ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตอะไรมากมายใหญ่โต แต่ความเป็นไปได้อย่างแรงที่การเผชิญหน้าทางทหารจะขยายตัวบานปลายก็เป็นข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ในเวลานี้

สถานการณ์ละม้ายคล้ายคลึงกันนี้ ก็ได้เกิดขึ้นในทะเลจีนตะวันออกด้วย เมื่อจีนกับญี่ปุ่นเข้าประลองกำลังกัน หมายจะควบคุมแหล่งทรัพยากรใต้ทะเลอันประมาณค่ามิได้ ในเวลาเดียวกัน ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก อาร์เจนตินากับอังกฤษทะเลาะกันอีกคำรบหนึ่งถึงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (ผู้คนในอาร์เจนตินาเรียกหมู่เกาะนี้ว่า ลาส มัลบีนัส Las Malvinas) สืบเนื่องจากมีการค้นพบน้ำมันในน่านน้ำรอบหมู่เกาะ

สิ่งที่ย่อมจะเกิดตามมาคือ เมี่อมีความขัดแย้งที่ขับเคลื่อนด้วยเรื่องของทรัพยากร เหตุการณ์มีแต่จะทวีตัวขึ้นในกาลข้างหน้า ในเมื่ออุปสงค์นับวันแต่จะพุ่งสูง ขณะที่อุปทานถดถอยน้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้น พื้นที่ความขัดแย้งใดที่ยังมีทรัพยากรหลงเหลือ ดีกรีความขัดแย้งย่อมขยายมากขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในปี 2012 มีการเผยแพร่รายงานเรื่อง “Resources Futures” (อนาคตของทรัพยากร)โดยสถาบันชาธัม เฮาส์ (Chatham House สถาบันคลังสมองแห่งนี้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ และถือเป็นกลุ่มนักคิดชั้นนำของอังกฤษที่ได้รับการยอมรับนับถือระดับแถวหน้าของประเทศ) ในการนี้ ชาธัม เฮาส์แสดงความวิตกถึงปัญหาสงครามแย่งชิงทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ อาทิ ลุ่มแม่น้ำไนล์และลุ่มแม่น้ำจอร์แดน ซึ่งชนหลากหลายกลุ่ม อีกทั้งประเทศต่างๆ นานา ร่วมกันใช้แม่น้ำเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำหลักเพื่อการเลี้ยงชีพ ขณะที่แทบไม่มีใครเลยซึ่งครอบครองหนทางวิธีการที่จะพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ขึ้นมา

“เมื่อพิจารณาร่วมกับปัญหาอุปทานตึงตัวและการแก่งแย่งต่างๆ ประเด็นระคายใจที่พัวพันกับเรื่องของสิทธิในน้ำ สนนราคา และมลพิษ นับวันแต่จะขยายเป็นการทะเลาะวิวาทมากขึ้นเรื่อยๆ” รายงานฉบับนี้ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ โดยฟันธงด้วยว่า “ในพื้นที่ที่คนไม่ค่อยมีศักยภาพที่จะคุ้มครองรักษาทรัพยากรร่วมกัน หรือที่จะสร้างสมดุลย์ให้เกิดขึ้นแก่อุปสงค์ที่ขัดแย้งกัน หรือที่จะระดมการลงทุนใหม่ๆ มาพัฒนาแหล่งทรัพยากร ความตึงเครียดในปัญหาการแย่งชิงน้ำอาจปะทุขึ้นมาเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างดุเดือด

ไมเคิล แคลร์ เป็นอาจารย์ทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (peace and world security studies) อยู่ที่ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) เป็นผู้เขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง The Race for What's Left ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือปกอ่อนโดยสำนักพิมพ์ Picador นอกจากนั้นภาพยนตร์สารคดีที่สร้างขึ้นโดยอิงอาศัยหนังสือเรื่อง Blood and Oil ของเขา สามารถที่จะชมตัวอย่างและสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ www.bloodandoilmovie.com. สามารถติดตามเขาบนเฟซบุ๊กได้ที่ https://www.facebook.com/pages/Michael-Klare/316344375093469

(ข้อเขียนนี้เอเชียไทมส์ออนไลน์นำมาเผยแพร่โดยได้รับอนุญาตจาก TomDispatch)

(อ่านต่อตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น