xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 ฝึกสาธิตปฏิบัติการแก้ปัญหาก่อการร้ายสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - หน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 ฝึกสาธิตการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล ปฏิบัติการจู่โจมเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน

วันนี้ (28 พ.ค.) ที่สนามฝึกกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ค่ายนเรศวร) อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พล.ต.ท.สุรพงษ์ เขมะสิงคิ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เดินทางมาร่วมชมการฝึกซ้อม และให้กำลังใจชุดฝึกจำนวน 50 นาย ในการสาธิตการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล โดยการใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 เข้าทำการปฏิบัติการจู่โจมเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน ซึ่งได้ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายจี้จับกุมตัวไว้อยู่ในอาคาร

สำหรับเหตุการณ์สมมติที่เกิดขึ้นจริง คือ มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากประเทศ A พร้อมอาวุธครบมือ จี้จับตัวประกัน 4 คน ไว้ในอาคารสูง 3 ชั้น โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศ B ซึ่งตามนโยบายของทางการไทยไม่ยินยอมต่อข้อเรียกร้องของผู้การร้ายโดยเด็ดขาด แต่ให้มีความยืดหยุ่นในการเจรจา โดยเหตุการณ์ได้ดำเนินมาจนถึงจุดผกผัน การเจรจาไม่เป็นผล โดยผู้ก่อการร้ายได้เริ่มกระทำการรุนแรง เริ่มสังหารตัวประกัน จึงจำเป็นจะต้องใช้กำลังขั้นเด็ดขาดในการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ โดย ผบ.เหตุการณ์ได้ตัดสินใจที่จะใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 เข้าปฏิบัติการเข้าจู่โจมช่วยเหลือตัวประกันในครั้งนี้ ซึ่งมีการใช้กำลัง Assault Teams หรือทีมโจมตี 3 ทีม ในการเข้าปฏิบัติ ณ ที่หมาย ภายใต้การยิงคุ้มกันจาก Sniper Teams หรือทีมลาดตระเวนซุ่มยิงโดยการส่งกำลังเข้าปฏิบัติการของทีมโจมตีแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 หนึ่งทีมโจมตีส่งกำลังด้วยการ Fast Rope ทางอากาศยาน ส่วนที่ 2 ทีมโจมตี ส่งกำลังด้วยยานพาหนะ (รถโจมตี) ส่วนโจมตีทั้งทางอากาศ และภาคพื้นจะประสานการปฏิบัติ และเข้าโจมตีที่หมายในเวลาเดียวกัน โดยการเปิดฉากการยิงให้ส่วนซุ่มยิง ในช่วงเวลาของการเข้าโจมตีจะมีการเบี่ยงเบนความสนใจของคนร้ายในทิศทางตรงกันข้ามกับการส่งกำลังเข้าปฏิบัติการ โดยในครั้งนี้จะใช้ระเบิดแสงเสียงทางด้านทิศตะวันออกของอาคาร โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติภายในอาคาร คือ ทีมโจมตีจะเข้าแยกแยะเป้าหมายทำการสังหารคนร้าย และเข้าช่วยเหลือตัวประกัน

เมื่อทีมสามารถยึดครองพื้นที่ได้เรียบร้อยก็จะรายงานเข้ามาให้ส่วนควบคุมบังคับบัญชาทราบ ซึ่งการปฏิบัติการในครั้งนี้ ทีมโจมตีได้ตรวจพบวัตถุต้องสงสัย จึงจำเป็นที่จะต้องส่งตัวประกัน และทำการถอนตัวแบบเร่งด่วน และร้องขอให้ชุด EOD หรือชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดเข้าทำการพิสูจน์ทราบ และทำลายต่อไป

พ.ต.ท.ศักสิทธิ์ อินทชาติ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เปิดเผยว่า สำหรับการฝึกในวันนี้เป็นการฝึกของหน่วยนเรศวร 261 ในการช่วยเหลือตัวประกันในอาคาร โดยมีรูปแบบการปฏิบัติการพิเศษในครั้งนี้ ประกอบด้วย การส่งกำลังทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ และการโรยตัวด้วยฟาสต์ สโลปลงที่บริเวณดาดฟ้าของตัวอาคารตึก3 ชั้น

ส่วนการปฏิบัติการทางภาคพื้นดินจะมีการเข้าโจมตีด้วยรถยนต์โจมตี 2 ทีมปฏิบัติการ 1 ทีมจะรับผิดชอบชั้นที่ 2 อีก 1 ทีมจะรับผิดชอบด้านล่างเข้าในการอาคารช่วยเหลือตัวประกันเสร็จสิ้นก็จะทำการส่งตัวประกันออกมาทางด้านหน้าเนื่องจากพบว่ามีวัตถุระเบิดก็จะเรียกชุด EOD เข้ามาเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด และกำลังจะนำตัวประกันเข้าสู่ที่หมายอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การฝึกเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังพลให้มีความพร้อมในการรองรับกับสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานได้อย่างประสานสอดคล้องกับหน่วยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ด้านการก่อการร้ายของโลก ต่อเนื่องจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ในห้วง ค.ศ.1970 ทำให้โลกพบกับความหวาดกลัวจากการจับตัวประกัน การลอบสังหาร และการก่อวินาศกรรม โดยกลุ่มที่อ้างตัวเป็นผู้ก่อการร้ายหลายประเทศได้ตระหนักถึงความร้ายแรง โดยร่วมมือในการพิจารณาความแตกต่างของการกระทำนี้ ออกจากอาชญากรรมทั่วไป และร่วมการแก้ปัญหาการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่ได้เตรียมการรับมือต่อสถานการณ์เหล่านี้แต่อย่างใด

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นยึดเครื่องบินโดยสารจากประเทศอินโดนีเซีย มาลงในประเทศไทย โดยผู้ก่อการร้ายขบวนการคอมมานโดญิฮาด ของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2524 ซึ่งนำมาสู่การใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ โดยกำลังหน่วยจู่โจมของประเทศอินโดนีเซีย โดยไทยเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการร่วม เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2524 ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ตระหนักว่า ภัยคุกคามนี้ได้เข้ามาถึงแล้ว และจำเป็นต้องมีการเตรียมการรับมือต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล (นอก.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้หน่วยราชการเตรียมการที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเลขานุการ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสากล ทำหน้าที่พิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการก่อการร้ายหรือไม่ นำข้อมูลนำเรียน นอก. และจัดประชุมให้ข้อเสนอแนะแนวทางการรับมือต่อสถานการณ์นั้นๆ ต่อ นอก. โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน

“ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ทำหน้าที่เป็นหน่วยควบคุมทางยุทธการต่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ขั้นเตรียมการ ด้วยการจัดการฝึกเป็นส่วนรวมเป็นประจำทุกปี และเรียกระดมพลส่วนปฏิบัติการเมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายสากลขึ้น” พ.ต.ท.ศักสิทธิ์ กล่าว

พ.ต.ท.ศักสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษจำนวน 2 หน่วย ได้แก่ 1.หน่วยอรินทราช 26 สังกัด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 2.หน่วยนเรศวร 261 สังกัด กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รับผิดชอบทั่วประเทศ โดยการใช้กำลังเข้าปฏิบัติการทางยุทธวิธีจะต้องได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยตรง ซึ่งปัจจุบันหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 เป็นหน่วยระดับกองกำกับการ คือ กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ มีส่วนงานอำนวยการ 3 กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ 1 กองร้อยค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย และกลุ่มงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ที่มีภารกิจในการถวายความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้นำประเทศ และบุคคลสำคัญ ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติการสงครามพิเศษ ที่มีขีดความสามารถปฏิบัติการพิเศษในลักษณะของหน่วยจู่โจมต่อที่หมายด้วยความรวดเร็ว และเฉียบขาด ปฏิบัติการรบไม่ตามแบบได้เช่นเดียวกับกองร้อยรบพิเศษ ดำเนินกลยุทธ์ด้วยการปฏิบัติการทางน้ำได้อย่างจำกัดตามขีดความสามารถของเรือสนับสนุน ปฏิบัติการยุทธส่งทางอากาศ และการยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศได้ทั้งหน่วย จำกัดตามขีดความสามารถของอากาศยานสนับสนุน ให้การสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบได้ทั่วประเทศ ความเร็วในการสนับสนุนจำกัดตามยานพาหนะ และอากาศยานสนับสนุน ซึ่งกำลังส่วนล่วงหน้าเคลื่อนย้ายได้ภายใน 30 นาที และกำลังส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายได้ภายใน 2 ชม. นับแต่รับคำสั่ง และมีความอ่อนตัวในการปฏิบัติการร่วมผสมกับหน่วยอื่นได้

“ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีผลการปฏิบัติงานสำคัญ เช่น กรณีนักศึกษาพม่าบุกยึดสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 1-2 ตุลาคม 2542 ที่กรุงเทพมหานคร การช่วยเหลือตัวประกัน ณ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี อ.เมือง จ. ราชบุรี เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2543 การช่วยเหลือตัวประกันกรณีนักโทษกะเหรี่ยงเชื้อสายพม่า จับตัวผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2543 และนอกจากนั้น ยังได้รับภารกิจร่วมถวายความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั่วราชอาณาจักร รวมถึงร่วมรักษาความปลอดภัยบุคคล และสถานที่สำคัญ อันมีผลกระทบต่อชื่อเสียง และเกียรติภูมิของชาติอีกด้วย” พ.ต.ท.ศักสิทธิ์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น